การฟ้องคดี CMU06: คำสั่งตามอำเภอใจของหัวหน้าคสช. ถึงความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรม

แม้จะมีการยกเลิก “ความผิด” ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 61 ด้วยการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ข้อ 1 (7) ซึ่งศูนย์ทนายฯ ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เป็นคำสั่งที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล รุกคืบตีความจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทั้งยังตอกย้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ถือเป็นเพียง “สิ่งเสมือนกฎหมาย” และเป็นการสร้างปัญหาต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว   

อ่านทบทวนได้จาก  >> 1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติ และ “3 ปี สิ่งเสมือนกฎหมาย” ให้อำนาจทหารกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ ในนาม “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58”

.

.

หากเข้ารับการอบรมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ภาระทางคดีจบลง?

ระหว่างที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่นั้น มีคดีที่ประชาชนร่วมกิจกรรมการชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 61 “CMU06”

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้พบเห็นประเด็นปัญหาและการบังคับใช้กฎหมายอีกประการหนึ่งจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 นี้ เรื่องการกำหนดให้คดีอาญาเลิกกันเมื่อผู้กระทำผิดสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขแล้ว ในข้อ 12 ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเอาไว้ และในวรรคสองของความผิดนี้ ระบุไว้ว่า

ถ้อยความนี้หากจะแปลภาษากฎหมาย ออกมาให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุด ก็อาจแปลได้ว่า “หากยอมรับการอบรมกับเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว คดีจะถือว่ายุติลง”

อธิบายเพิ่มเติมในมุมมองทางนิติศาสตร์ คือหากถือเสมือนว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 เป็น “กฎหมาย” ฉบับหนึ่ง ทั้งยังเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาด้วยแล้ว การจะตีความเพื่อบังคับใช้ ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับกฎหมายอาญาอื่น ๆ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงต้องบังคับใช้ด้วยความระมัดระวังและมีความแน่นอนต่อทุก ๆ กรณีเสมอกัน

จากหลักการดังกล่าว เมื่อนำมาใช้พิจารณาคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 วรรคสอง หากมีผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว และผู้ถูกกล่าวหาได้ยินยอมเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อกำหนดจนเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมถือว่าคดีอาญาเลิกกัน ผู้ต้องหาที่ผ่านการอบรมจากเจ้าพนักงานดังกล่าว ย่อมไม่มีภาระผูกพันทางคดีอีกต่อไป

.

ข้อกำหนดที่ไม่เคยมีมาก่อนและไม่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรม

แต่อย่างใดก็ดี กระบวนการยุติธรรมโดยปกติก่อนการรัฐประหารนั้น ไม่เคยมีคำว่า “คดีเลิกกัน” ในความหมายและรูปแบบที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ได้กำหนดไว้ คือการเข้ารับการอบรมกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย (ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ทหาร) เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยหลังการอบรมจะมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ แม้ว่าตอนท้ายของคำสั่งจะระบุว่า ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่หากพิจารณาเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 ที่กำหนดให้คดีอาญาเลิกกันได้ ก็พบความไม่สอดคล้องกัน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 ระบุถึงคดีอาญาที่เลิกกันในคดีความผิดที่มีเพียงโทษปรับอย่างเดียว หรือในคดีความผิดลหุโทษ คือมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยที่กฎหมายกำหนดให้สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เนื่องจากมองว่าความผิดลหุโทษ เป็นความผิดที่มีไว้เพื่อป้องกันหรือระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลมิให้ลุกลามจนเกินกว่าเหตุ แต่สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ที่กำหนดโทษไว้ให้จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นโทษทางอาญาที่สูงกว่าความผิดลหุโทษ ทำให้ไม่สามารถที่จะทำการเปรียบเทียบปรับเพื่อให้คดีอาญาเลิกกันได้ ตามมาตรา 37

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 วรรคสองนี้ จึงอาจถือว่าเป็นการกำหนดคำสั่งขึ้นมาตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงความสอดคล้องกับบทบัญญัติในกฎหมายหลัก อย่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้ในทางปฏิบัติประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่นักกฎหมายเอง ไม่อาจทราบได้ว่าผลของ “คดีอาญาเลิกกัน” ในข้อ 12 วรรคสองนี้จะเป็นเช่นไร ยิ่งไปกว่านั้นการกำหนดกฎหมายเช่นนี้ ทำให้การเริ่มหรือยุติคดีขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ทหาร แทนที่จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งขัดต่อหลักความแน่นอนของกฎหมายอาญา

.

ทำให้เกิดผลอันแตกต่างภายหลัง “อบรม” ด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 วรรคสอง

กรณีตัวอย่างก่อนหน้านี้ คือในช่วงที่มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีเป็นจำนวนมากต่อผู้ที่ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อหวังตรวจสอบการทำประชามติให้เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ปราบโกงจับตาการออกเสียงประชามติ

มีผู้ถูกกล่าวหาในหลายกรณียินยอมเข้ารับการอบรมตามเงื่อนไขในวรรคสอง ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน ทำให้หลังจากการอบรมกระบวนการดำเนินคดีเหล่านั้นได้สิ้นสุดลง เช่น กรณี 19 เสื้อแดงอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกง, 12 ชาวบ้านหนองบัวลำภู เข้าอบรมหลังถ่ายรูปกับป้ายปราบโกง และ 23 ชาวบ้านเด่นชัย จ.แพร่ ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกง เป็นต้น

.

.

แต่ในคดี “CMU06” ที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 6 ราย โดยในชั้นพนักงานสอบสวนเมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดให้กับอัยการ เพื่อทำการพิจารณาสำนวนคดีและมีความเห็นต่อไป

ระหว่างที่อัยการยังไม่มีความเห็นในคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ต้องเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการทุก ๆ เดือน ซึ่งผู้ต้องหาบางรายอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดและบางรายยังคงเป็นนักศึกษา ทำให้เกิดภาระทางคดีที่ต้องแบกรับอยู่ไม่น้อย

จนเวลาผ่านไปราว 6 เดือน ที่ผู้ต้องหาต้องเดินทางมารายงานตัวที่สำนักงานอัยการ แต่ทางอัยการยังไม่มีความเห็นในทางคดี ทำให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักศึกษา จำนวน 2 ราย เลือกตัดสินใจเข้ารับการอบรมตามเงื่อนไขในวรรคสองของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 โดยหวังให้ภาระทางคดีได้สิ้นสุดลง

ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อภายหลังจากผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ยินยอมเข้ารับ “การอบรม” จากเจ้าหน้าที่ทหารภายในค่ายทหารจนแล้วเสร็จ กลับพบว่าภาระทางคดียังไม่ได้จบลงแต่อย่างใด เมื่ออัยการในคดีดังกล่าวระบุว่าผู้ต้องหาที่เข้ารับการอบรมแล้ว ยังคงต้องเดินทางมารายงานตัวต่ออัยการทุกเดือน เช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ที่ยืนยันต่อสู้คดี จนกว่าอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในส่วนของผู้ที่เข้ารับการอบรม ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ไม่ได้ระบุขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการให้คดีเลิกกันทางกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับอัยการเองก็ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งให้ “คดีเลิกกัน” ได้ จึงต้องใช้วิธีการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดี ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

.

เหตุไม่คาดฝัน เมื่ออัยการส่งฟ้องคดี CMU06 ทั้งสองข้อกล่าวหา แม้กฎหมายยกเลิกไปแล้ว

เรื่องราวความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 62 อธิบดีอัยการภาค 5 ได้อนุญาตให้อัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในคดี CMU06 ทั้ง 6 รายในข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/61 ข้อ 1(7) และศาลหรืออัยการในคดีอื่น ๆ ได้มีคำสั่งให้ยุติคดีจากข้อกล่าวหาดังกล่าวไปแล้วอย่างน้อย 7 คดี  

ยิ่งไปกว่านั้นคือในกรณีของผู้ต้องหาจำนวน 2 รายที่ได้เข้ารับการอบรมกับเจ้าหน้าที่ทหารเป็นที่เรียบร้อยแล้วยังถูกฟ้องร้องรวมเข้ามาในคดีด้วย มีเพียงการระบุสั้น ๆ ในคำฟ้องว่าผู้ต้องหาทั้งสองเป็นผู้ “ซึ่งได้เข้ารับการอบรมสำเร็จตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 วรรคสอง” ทำให้ผู้ต้องหาทั้งหมดยังคงมีภาระผูกพันในการต่อสู้คดีและต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายเหล่านี้ต่อไปอีก

.

.

อำนาจตามอำเภอใจที่ห่อหุ้มอุ้มชูไว้ด้วยปืน

ตัวอย่างในข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขให้ “คดีอาญาเลิกกัน” ด้วยการอบรมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 วรรคสองนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่ไม่สอดคล้อง ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ได้มีฐานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมปกติ ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมปกติเองก็อยู่ในอาการครึ่ง ๆ กลาง ๆ ว่าจะทำอย่างไรต่อกรณีที่เกิดขึ้น

ด้วยสภาวะที่ไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของคำสั่งคสช.หรือหัวหน้าคสช. ซึ่งถูกถือเป็นสิ่งเสมือนกฎหมายนี้ได้ ทำให้เกิดการลากโยงกฎหมายหรืออำนาจที่พอจะมีอยู่แล้ว เพื่อนำมาปรับให้เกิดผลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 วรรคสองนี้ขึ้นได้จริง

กระบวนการลากโยงกฎหมายเช่นนี้ จะส่งผลให้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” กลายเป็นเพียงเครื่องมือที่รองรับอำนาจของคณะรัฐประหารและเจ้าหน้าที่ทหาร มิใช่เครื่องมือถ่วงดุลอำนาจ ตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือแม้แต่เป็นเครื่องมือที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

สิ่งนี้ตอกย้ำให้เห็นปัญหาของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ที่ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการกฎหมายอาญา ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีความกว้างขวางและไม่ชัดเจน ทั้งถ้อยคำในกฎหมายและวิธีการจะปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เกิดเป็นช่องว่างที่หากใครมีอำนาจก็สามารถหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเล่นงานบุคคล หรือกลุ่มคนที่ตนเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามได้

หากใช้จินตนาการของนักกฎหมายคนหนึ่งไปให้สุดทางแล้ว ว่าขณะนี้ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารถือปืน เข้ามายึดอำนาจไปจากประชาชนและตั้งตนเองเข้ามาบริหารประเทศ ไม่มีปืนจากภาษีประชาชนในมือเจ้าหน้าที่ทหารรับรองว่าคำสั่งนี้คือกฎหมายอยู่ เราคงจะเห็นว่าคำสั่งนี้แทบจะไม่มีสภาพบังคับใช้ได้เลย มองอย่างไรก็เป็นได้เพียง “สิ่งเสมือนกฎหมาย” ที่มีปืนห่อหุ้มอุ้มชูมันไว้

.

X