การปิดกั้น-คุกคามยังคงอยู่: ส่องปรากฏการณ์ชุมนุมรอบเดือน ม.ค. ก่อนเส้นทางสู่วันเลือกตั้ง

เดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านไป เป็นอีกเดือนหนึ่งที่สถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเมื่อมีการออกมาชุมนุมและแสดงออกของประชาชนเพื่อคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ  สถานการณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่แน่นอนของการกำหนดวันเลือกตั้ง กระทั่งความเกรงว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือการล้มการเลือกตั้งเกิดขึ้น

เดิมทีก่อนสิ้นปี 2561 นั้น ทั้งรัฐบาลและคณะกรรมการเลือกตั้งต่างย้ำถึงการเตรียมกำหนดวันเลือกตั้งไว้ในวันที่ 24 ก.พ. 62 และคาดว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ตั้งแต่ในช่วงหลังปีใหม่ แต่ภายหลังมีการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงวันที่ 4-6 พ.ค. 62 ก็ส่งผลทำให้รัฐบาลกล่าวอ้างว่าจำเป็นต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อพระราชพิธี จนยังไม่มีการประกาศ พรฎ. และวันเลือกตั้งออกมาตามกำหนดเดิม

ภายหลังสถานการณ์ความคลุมเครือและไม่แน่นอนดำเนินไปกว่ายี่สิบวัน ก็มีการประกาศ พรฎ.การเลือกตั้ง ส.ส. ในที่สุด เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 และ กกต. ก็กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค. 62

การเคลื่อนไหวชุมนุมในช่วงต้นปีนี้ ยังเกิดขึ้นภายหลังเมื่อเดือน ธ.ค. 61 มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทำให้การชุมนุมทางการเมืองซึ่งถูกควบคุมสั่งห้ามมาตลอดหลังการรัฐประหาร 4 ปีครึ่ง ไม่ถือเป็น “ความผิด” อีกต่อไป

แต่ก็ไม่ได้ความหมายว่าการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมทางการเมืองนี้จะสิ้นสุดลงไปด้วยแต่อย่างใด เมื่อ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐ ยังดำเนินการหลายประการที่ส่งผลเป็นการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยพิจารณาได้จากสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนคนอยากเลือกตั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา

การชุมนุมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ วันที่ 6 ม.ค. 62 (ภาพโดย Banrasdr Photo)

การชุมนุมเรียกร้องการไม่เลื่อนเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างน้อย 41 ครั้ง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 23 ม.ค. 62 ปรากฎกิจกรรมและการชุมนุมของประชาชนกลุ่มที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้กำหนดวันเลือกตั้งตามกำหนดเดิม ทั้งหมดอย่างน้อย 41 ครั้ง ในพื้นที่ 21 จังหวัดทั่วประเทศ

หากแบ่งตามภูมิภาค ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกิจกรรมเกิดขึ้นภูมิภาคละ 6 จังหวัด (ภาคกลาง: กรุงเทพ, อยุธยา, นนทบุรี, สมุทรปราการ, นครปฐม และปทุมธานี) (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ขอนแก่น, อุบลราชธานี, มหาสารคาม, สกลนคร, นครราชสีมา และอุดรธานี)

ภาคเหนือใน 4 จังหวัด  (เชียงใหม่, พะเยา, แพร่, และเชียงราย) ภาคใต้ใน 3 จังหวัด (นครศรีธรรมราช, สงขลา, และปัตตานี) และภาคตะวันออกใน 2 จังหวัด (ระยอง และชลบุรี) ส่วนจังหวัดที่มีกิจกรรมหรือการชุมนุมมากที่สุด คือกรุงเทพมหานคร จำนวนอย่างน้อย 8 ครั้ง

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ วันที่ 6 ม.ค. 62 (ภาพโดย Banrasdr Photo)

ขณะเดียวกัน ยังมีการชุมนุมหรือการแถลงข่าวของกลุ่มที่คัดค้านการเลือกตั้ง หรือคัดค้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง อีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ การแถลงข่าวของสภานักศึกษารามคำแหง, การชุมนุมของกลุ่มสามัคคีก่อนเลือกตั้ง และกรณีกลุ่มสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ ร้องเรียน กกต.ขอให้ พรฎ.เลือกตั้งเป็นโมฆะ

รูปแบบการคุกคาม-ปิดกั้นการชุมนุม

แม้การชุมนุมทางการเมืองจะไม่ถือเป็น “ความผิด” อีกต่อไป แต่มาตรการต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ปิดกั้นและแทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการทำกิจกรรมทางการเมือง ยังคงมีในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งพอประมวลได้ดังต่อไปนี้

1. อ้างใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไม่อนุญาตให้จัดชุมนุม ใช้ควบคุมตัว หรือใช้ดำเนินคดี

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุค คสช. กลายเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมจัดการการใช้เสรีภาพการชุมนุมมาคู่ขนานกับคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว และยังถูกใช้ต่อเนื่องมา โดยกฎหมายกำหนดให้มีการ “แจ้ง” การชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่การ “ขออนุญาต” จากเจ้าหน้าที่ (ดู ข้อควรรู้ในการชุมนุมสาธารณะ)

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในบางพื้นที่กลับมีการไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม เช่น กรณีเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีนัดหมายทำกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งที่ท่าน้ำนนท์และที่สำนักงาน กกต. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 62 โดยผู้จัดได้มีการแจ้งการชุมนุมไปยัง สภ.เมืองนนทบุรีล่วงหน้า แต่เจ้าหน้าที่กลับมีหนังสือตอบกลับมาว่า “ไม่อนุญาตให้ชุมนุมในที่สาธารณะ” และต่อมาหลังกิจกรรม ตำรวจยังมีการออกหมายเรียกผู้จัดกิจกรรมจำนวน 4 คน ให้ไปรับทราบข้อหากล่าวหาเรื่องการ “ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต” อีกด้วย

ภาพกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งในจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 62

หรือในกรณีกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ของนายเอกราช อุดมอำนวย พ่อค้าที่จะโกนหัวประท้วงและอดข้าวจนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปที่ สน.พญาไท โดยอ้างถึงการที่เขาแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมง แม้ต่อมาไม่ได้มีการดำเนินคดี แต่นายเอกราชก็ต้องเปลี่ยนสถานที่และวันเวลาในการทำกิจกรรมเป็นที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 8 ม.ค. แทน

นายเอกราช อุดมอำนวย ถูกปล่อยตัวจาก สน.พญาไท (ภาพโดย thapanee ietsrichai)

ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการบ่ายเบี่ยงไม่รับการแจ้งการชุมนุม ทั้งที่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ในการรับแจ้ง เช่น กรณีกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษา ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ม.ค. หลังผู้จัดไปแจ้งการชุมนุมในครั้งแรก ผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่นกลับไม่รับแจ้งการชุมนุม โดยอ้างว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวอาจจะผิด พ.ร.บ.จราจรฯ และอาจมีคนแจ้งความว่ากิจกรรมกีดขวางทางจราจร และพยายามให้ผู้จัดไปแจ้งกับทางมหาวิทยาลัยแทน แต่ในภายหลังเมื่อนักศึกษาผู้จัดไปแจ้งการจัดกิจกรรมอีกครั้ง ก็ยินยอมรับแจ้งการชุมนุมไว้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานว่าในการแสดงออกเรื่องการ “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” ของกลุ่มประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองในอีกพื้นที่หนึ่งทางภาคเหนือ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้จัดกิจกรรมด้วยเช่นกัน

2. เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการชุมนุมกำหนดเงื่อนไข ที่มีแนวโน้มเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม

ในหลายกรณี แม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่หลังรับแจ้งการชุมนุมกลับมีการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมในหลายรูปแบบ ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจ อาทิเช่น

  • การแจ้งให้เปลี่ยนสถานที่ชุมนุม ทั้งที่สถานที่มีการแจ้งจัดการชุมนุมไม่ใช่สถานที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือการชุมนุมไม่มีแนวโน้มกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานของสถานที่ตามที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดไว้ (ดูสถานที่ต้องห้ามที่ ข้อควรรู้ในการชุมนุมสาธารณะ) ได้แก่ กรณีนักศึกษา ม.บูรพา จัดกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 17 ม.ค. หลังจากแจ้งการชุมนุมกับ สภ.แสนสุข ทางตำรวจได้มีการแจ้งให้ผู้จัดเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมจากหน้ามหาวิทยาลัยเป็นที่อื่น โดยอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของสถานที่ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมบริเวณดังกล่าว ซึ่งผู้จัดยืนยันว่าไม่พบเอกสารห้ามจัดกิจกรรมจากทางมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่ในที่สุดผู้จัดต้องย้ายการชุมนุมไปจัดภายในมหาวิทยาลัยแทน
  • การให้เปลี่ยนเวลาการชุมนุมและจำกัดเวลาลง ได้แก่ กิจกรรมของนักศึกษาและนักวิชาการที่ จ.อุบลราชธานี วันที่ 13 ม.ค. เมื่อมีการแจ้งการชุมนุมในช่วงเวลา 17.00-21.00 น. ทางตำรวจได้กำหนดเวลาจัดการชุมนุมใหม่เป็นเวลา 15.00-16.00 น. ทั้งที่ผู้จัดไม่ได้ระบุเวลาจัดช่วงนั้นแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องการอาจมีกลุ่มบุคคลไม่หวังดีเข้ามาก่อความวุ่นวาย ยากต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงกำหนดให้อยู่ในกรอบเวลาที่อนุญาตเท่านั้น
  • การจำกัดรูปแบบการชุมนุมโดยการไม่ให้เดินรณรงค์ แต่ให้ทำกิจกรรมอยู่ในที่ใดที่หนึ่งแทน ได้แก่ กรณีกลุ่มนักศึกษา-ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรม Walk to Vote เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เดิมมีการกำหนดกิจกรรมเดินเท้าจากวัดพระสิงห์ไปยังข่วงประตูท่าแพ แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการชุมนุมอนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณประตูท่าแพเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนขบวน โดยอ้างว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้สัญจรไปมา
  • การกำหนดลักษณะกิจกรรมโดยห้ามไม่ให้มีลักษณะต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. โดยมีการอ้างถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ด้วย ได้แก่ กรณีกิจกรรม Walk to Vote ที่ข่วงประตูท่าแพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการชุมนุมยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้จัดชุมนุมระมัดระวังการแสดงออกที่อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับดังกล่าว และต้องไม่มีการแสดงป้ายต่างๆ ที่ต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช.

กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 62

3. กฎหมายลหุโทษอื่นๆ ถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาดำเนินคดีหรือปิดกั้นการชุมนุม โดยเฉพาะข้อหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งกลายเป็นภาระอีกประการหนึ่งที่ผู้จัดการชุมนุมต้องมีการแจ้งใช้เครื่องขยายเสียงต่อสำนักงานเขตในกรุงเทพ และต่อเทศบาลหรืออำเภอในต่างจังหวัด และในกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง ข้อหาลหุโทษเช่นนี้มักจะถูกนำขึ้นมาใช้เพื่อจับผิดหรือควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด

ในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ​  เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62 หลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเรียกแกนนำผู้จัดการชุมนุมไปดำเนินคดีในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องเสียค่าปรับจากข้อหาดังกล่าว

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าล้อมผู้ชุมนุม เพื่อจับกุมในเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงดังเกินกำหนด เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 62 (ภาพโดยข่าวสดออนไลน์)

หรือในช่วงท้ายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.62 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการนำกำลังหลายสิบนายเข้าล้อมยึดและตรวจสอบเครื่องขยายเสียง โดยกล่าวหาว่าการชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียงดังเกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ 115 เดซิเบล  ทำให้เกิดการปะทะกับผู้ชุมนุม และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ  ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำเครื่องขยายเสียงและเชิญตัวแกนนำการชุมนุมไปยัง สน.ลุมพินี แม้ผู้จัดชุมนุมจะชี้แจงว่าเสียงไม่ได้ดังเกินกว่ากำหนด แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมีการยึดเครื่องเสียง นำไปลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนคืนให้ในอีกหลายวันถัดมา โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวในท้ายที่สุด

นอกจากนั้นในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ทางผู้ทำกิจกรรมยังระบุว่าเครื่องขยายเสียงที่ได้จัดเตรียมไว้ในกิจกรรม ได้ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไม่ให้เดินทางเข้ามาในที่ชุมนุมตั้งแต่ในช่วงเช้า ทั้งในกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ยังถูกเข้มงวดเรื่องกำลังของเครื่องเสียงที่ใช้อย่างผิดปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมของเขตเดินทางมาติดตามและตรวจวัดการใช้กำลังเสียงด้วยตนเอง

4. การเรียกบุคคลไปพูดคุยโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แม้คำสั่งเรื่องการห้ามการชุมนุมทางการเมืองจะถูกยกเลิกไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดูแลการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด แต่ทหารยังคงเข้ามาติดตามกิจกรรมทางการเมือง หรือพยายามเรียกตัวบุคคลไปพูดคุยด้วยเพื่อควบคุมการทำกิจกรรม

อาทิเช่น กิจกรรมของกลุ่มสตรีในจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่เดิมจะจัดการชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัด แต่เมื่อผู้ทำกิจกรรมไปถึง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เชิญตัวไปพูดคุย พร้อมกับข้าราชการในจังหวัดติดตามไปคุยด้วย โดยระบุเรื่องการไม่ได้ขออนุญาตทำกิจกรรม และการแสดงออกขอให้ทำในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ราชการ ทางผู้ทำกิจกรรมค้านการเลื่อนเลือกตั้งจึงย้ายไปทำกิจกรรมหน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชนแทน

ภาพกลุ่มสตรีในจังหวัดขอนแก่นทำกิจกรรมบริเวณหน้าตึกคอม 13 ม.ค. 62 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

หรือกรณีสมาชิกพรรคสามัญชนจังหวัดแพร่ ที่ออกมาชูป้ายบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่เพียงคนเดียว เมื่อวันที่ 13 ม.ค. หลังทำกิจกรรม เขาก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเชิญตัวไปพูดคุย และมีการขอตรวจค้นรถจักรยานยนต์ที่ขับมาทำกิจกรรม เมื่อไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด จึงค่อยให้เดินทางกลับได้

5. เจ้าหน้าที่ทหารจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่มีการนัดหมายชุมนุม ซึ่งส่งผลเป็นรบกวนและทำให้การทำกิจกรรมเกิดอุปสรรค เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 มีการจัดเวทีคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือกรณีผู้ประสบภัยจากพายุปาบึกในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการแจ้งการจัดชุมนุม Walk to Vote บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการจัดเวทีคู่ขนานขณะทำกิจกรรม

 

ภาพเวทีของ มทบ.33 ในเวลาเดียวกับที่มีการจัดกิจกรรม Walk to Vote เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารนำรถน้ำของเทศบาลมาฉีดน้ำบริเวณป้ายหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น ทำให้มีน้ำเจิ่งนอง ส่งผลเป็นอุปสรรคในการใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวทำกิจกรรม

ภาพการนำน้ำมาฉีด ก่อนการชุมนุมของนักศึกษา ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ม.ค.

6. เจ้าหน้าที่รัฐติดตามตัวถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน และการขอไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม ช่วงก่อนหน้าการนัดหมายชุมนุมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีรายงานการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสันติบาลเข้าติดตามแกนนำหรือผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมหลายคนถึงที่บ้าน

อาทิเช่น ก่อนการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งที่สกายวอล์คอนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจและสันติบาล มีการติดตามแกนนำหลายคน เช่น นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายอานนท์ นำภา, นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, นางพะเยาว์ อัคฮาด, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล มีการสอบถามว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ และมีการขอแต่ละคนไม่ให้ไปร่วมการชุมนุม

เมื่อมีการนัดหมายชุมนุมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งที่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 8 ม.ค. 62 นักกิจกรรมอาทิเช่น อนุรักษ์ เจนตะวนิชย์ หรือพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลมาพบที่บ้าน สอบถามเรื่องการชุมนุมเช่นกัน

เช่นเดียวกับก่อนการชุมนุมที่ราชประสงค์อีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค. 62 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือนักกิจกรรมมากกว่า 9 คน ยังถูกเจ้าหน้าที่ไปติดตามตัวถึงที่บ้านหรือทำงาน ที่สำคัญอาทิเช่น กรณีตำรวจสันติบาล 2 คน ไปที่บริษัทภายในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ขอพบ 3 นักสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งนี้หรือไม่ โดยระบุด้วยว่าช่วงนี้อยากให้บ้านเมืองสงบ

ขณะเดียวกัน ภายหลังการชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังได้มีการเข้าติดตามผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมถึงที่บ้าน เช่น กรณีของว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ สมาชิกพรรคสามัญชนแพร่ สามวันถัดมาหลังออกมาทำกิจกรรมหน้าศาลากลาง ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจำนวน 2 นาย เดินทางไปพบที่บ้าน โดยพยายามสอบถามเรื่องการไปร่วมกิจกรรมชุมนุมต่างๆ และระบุว่า ถ้าจะทำกิจกรรม ขอให้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ก่อน  หรือกรณีการทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดพะเยา ก็มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดตามตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเตือนเรื่องการออกไปชุมนุมด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่สันติบาลเดินทางมาที่บ้านของว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ สมาชิกพรรคสามัญชนจังหวัดแพร่

7. การเข้าจับตาสอดส่องและจัดทำข้อมูลผู้จัดการชุมนุม ในแทบทุกกิจกรรมการชุมนุม ยังคงมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเข้าจับตา จำนวนมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่มีการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของกิจกรรม และติดตามสังเกตการณ์การชุมนุมโดยตลอด

การดำเนินการจับตาของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการเฝ้าระวังรักษา “ความปลอดภัย” ของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นการเข้าเก็บข้อมูลการชุมนุม และข้อมูลของผู้ชุมนุมโดยเฉพาะ โดยมีการเข้าขอข้อมูลผู้จัดกิจกรรมหรือการเจาะจงถ่ายภาพบุคคลในการชุมนุม ทั้งเจ้าหน้าที่ยังมีมุมมองที่เห็นว่ากิจกรรมการชุมนุมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความมั่นคง”

กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 62

ตัวอย่างเช่น กรณีการชุมนุมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ก่อนเริ่มกิจกรรมได้มีสันติบาลเข้าขอชื่อสกุล และเบอร์โทรผู้จัดกิจกรรม และสอบถามรายละเอียดกิจกรรม หรือการชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีตั้งโต๊ะตรวจและถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จะเข้าร่วมชุมนุม โดยมีการอ้างถึง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ทั้งยังมีการระบุว่าผู้ที่ไม่มีบัตร ไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้

รวมทั้งกรณีการชุมนุมของกลุ่มสตรีในจังหวัดขอนแก่นบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครองเข้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีบุคคลนอกเครื่องแบบคอยเดินถ่ายภาพบุคคลและสื่อมวลชนที่มาทำข่าวการชุมนุม ทั้งเจ้าหน้าที่มีการกล่าวห้ามสื่อมวลชน ไม่ให้นำเสนอข่าวกิจกรรมนี้อีกด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะตรวจบัตรผู้เข้าร่วมการชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น

8. มหาวิทยาลัยในหลายพื้นที่ก็เข้าไปมีส่วนในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วย เช่น กรณีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อทางนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมไปยื่นหนังสือถึงอธิการบดี เพื่อขออนุญาตใช้สถานที่บริเวณบึงสีฐานทำกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง กลับได้รับการตอบจดหมายจากรองอธิการบดีว่า “เนื่องจากอาจมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงไม่สามารถอนุญาตได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายความมั่นคง” ทำให้กลุ่มนักศึกษาต้องขยับไปทำกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยแทน

กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดกิจกรรมรณรงค์ “#ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา”  เดิมจะใช้ลานกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยในการทำกิจกรรม แต่ผู้จัดได้ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยเรียกพบ เนื่องจากกิจกรรมจะมีการทำในนามชมรมต้นสังกัด และทางชมรมไม่ได้แจ้งผู้บริหาร โดยทางมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยให้จัดกิจกรรม เมื่อนักศึกษายังยืนยันจะจัดกิจกรรม จึงได้เปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรม และไม่ใช่ชื่อชมรมของมหาวิทยาลัย

ป้ายที่ถูกนำมาติดขณะนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาจะทำกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง

ทางด้านมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังนายกองค์การนักศึกษานัดแถลงข่าวสนับสนุนเรื่องการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 62 แต่แล้วกลับมีการประกาศยกเลิกก่อนการแถลงไม่กี่ชั่วโมง โดยอธิการบดีที่เป็นสมาชิก สนช. ระบุต่อมาว่าไม่ได้สั่งห้ามกิจกรรม แต่ขอความร่วมมือไม่อยากให้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งนอกมหาวิทยาลัย

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะติดตามกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 62

อีกทั้ง พื้นที่ของมหาวิทยาลัยและสถานศึกษานั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่กลับยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ เข้าไปติดตามภายในมหาวิทยาลัย คอยสอดส่อง ถ่ายภาพนิ่ง-ภาพเคลื่อนไหวของการทำกิจกรรม ส่งผลเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการทำกิจกรรมในสถานศึกษา

 

X