ตรวจพยานสหพันธรัฐไท จำเลยปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสืบพยานนัดแรก พ.ย. 62

11 ก.พ. 62 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดา มีนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีสหพันธรัฐไท เพื่อสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน โดยคดีนี้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 5 คน ในข้อหายุยงปลุกปั่นฯ และอั้งยี่ ที่มีพฤติการณ์เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท จำเลยเดินทางมาศาล 3 คนและให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี ศาลจึงให้นัดสืบพยานนัดแรก 19 พ.ย. 62 ขณะเดียวกันศาลยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับและยึดหลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกันตัวของจำเลยที่ไม่มาศาล 

13.00 น. ผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 5 จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ได้แก่ กฤษณะ (สงวนนามสกุล) เทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ประพันธ์ (สงวนนามสกุล) วรรณภา (สงวนนามสกุล) และจินดา (สงวนนามสกุล) ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 โดยจำเลย 3 จาก 5 รายนี้เคยถูกควบคุมตัวถึง 2 ครั้งหลังจากที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องข้อหา (อ่านเพิ่มเติมที่: ตำรวจคุมตัว 2 จำเลยคดีเสื้อสหพันธรัฐไท จากร้านแมคฯ อ้างแค่นำตัวมาซักถามเรื่องนัดชุมนุมวันนี้

จำเลย 2 รายไม่เดินทางมารายงานตัวต่อศาล 

เมื่อเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีพบว่า จำเลยที่มารายงานตัวต่อศาลมีจำนวน 3 คน และอีก 2 คน คือ จินดา และประพันธ์ ไม่เดินทางมาศาลตามนัด ทนายความของจินดาได้แถลงต่อศาลว่า จำเลยถูกเจ้าหน้าทหารคุมตัวไปควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 และได้ทำหนังสือยื่นเพื่อติดตามตัวจำเลยมาศาลตามนัดหมาย แต่ได้รับแจ้งว่าได้มีการปล่อยตัวจำเลยไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าไปที่ใด

ขณะที่ญาติก็ไม่สามารถติดต่อจินดาได้ ขณะที่นางประพันธ์จำเลยอีกรายที่ไม่เดินทางมาศาล ก็ไม่สามารถติดตามตัวมาได้เช่นกัน ศาลเห็นว่าจำเลย 2 ราย มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับมาพิจารณาคดี และให้ถือว่านายประกันผิดสัญญาให้ปรับนายประกันเต็มสัญญาโดยให้ยึดเงินสด 200,000 บาท ตามสัญญาประกัน และให้จำหน่ายคดีของทั้งสองเป็นการชั่วคราว

จำเลยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ด้านทนายความแถลงแนวทางต่อสู้

ต่อมา ศาลดำเนินการตรวจพยานหลักฐานในคดีของจำเลย 3 คนที่เหลือ ศาลสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความ โจทก์ได้ส่งบัญชีพยาน ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกสารที่อ้างเป็นพยาน ส่วนใหญ่พบว่าเป็นบันทึกการซักถาม บันทึกการสอบสวน และวีซีดีที่บันทึกถ้อยคำของจำเลยและรายการที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท ขณะที่ทางจำเลยได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้อ้างตัวเองเป็นพยาน

ทนายความได้แถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยทุกคนต่างไม่รู้จักกันมาก่อน ขณะที่วันเกิดเหตุที่ถูกจับกุม จำเลยทุกคนไม่ได้ไปแจกเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสหพันธรัฐไท และได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเดินทางไปควบคุมตัวจากที่บ้านไปไว้ที่ค่ายทหาร ซึ่งจำเลยทุกคนไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ศาลให้ทั้งฝ่ายกำหนดวันสืบพยาน โดยได้ข้อสรุปนัดสืบพยานโจทก์ 3 นัด และฝ่ายจำเลย 3 นัด โดยเริ่มสืบพยานนัดแรกวันที่ 19 พ.ย. 62

ในเดือนธ.ค. 61 จำเลย 3 คน ในคดีนี้ ได้ถูกควบคุมตัวไปที่สน.ลาดพร้าว คือ เทอดศักดิ์และประพันธ์ ซึ่งได้สวมเสื้อสีดำและติดริบบิ้นสีแดง ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐไท จึงได้นำตัวทั้งสองไปทำบันทึกประจำวันไว้ ขณะที่จินดา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกดำเนินคดีก่อนจะได้ประกันตัวออกมา ได้ถูกควบคุมตัวออกจากบ้านพักที่จังหวัดชลบุรี โดยทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 ในวันที่ 8 ธ.ค. 62 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เธอจะถูกควบคุมตัว ก่อนที่จะไม่เดินทางมารายงานตัวต่อศาลในวันนี้ 

ไม่เพียงแค่จำเลยทั้ง 5 คน ที่ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไปพบที่พัก หรือกระทั่งมีการตั้งข้อหาจากแนวคิดสหพันธรัฐไท จากการติดตามและรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีกรณีคล้ายคึงกันเป็นจำนวนมากเช่นกรณีของรานี (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 วันนี้ โดยเมื่อคืนวันที่ 7 ธ.ค. 61 เวลาประมาณ 20.15 น. มีทหารในเครื่องแบบและตำรวจสวมเสื้อกั๊กมาขอค้นบ้าน อ้างว่าเธอขัดคำสั่ง คสช. โดยไม่แสดงหมายค้น อ้างอำนาจตามมาตรา 44 แต่รานีไม่ยินยอมให้เข้าค้นเนื่องจากเป็นยามวิกาล ภายหลังเจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับ โดยบอกว่า จะมาแจ้งข้อหาในวันรุ่งขึ้น (อ่านเพิ่มเติมใน: ทหารตำรวจควบคุม-คุกคาม คนเสื้อดำอย่างต่อเนื่อง 9 คนยังไม่ได้รับการปล่อยตัว)

ขณะที่ในเดือนม.ค. 62 มีประชาชนถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร อีกอย่างน้อย 17 ราย ถูกควบคุมตัวมาจากหลายจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี แพร่ กำแพงเพชร อุดรธานี ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า และบางกรณีได้มีการตั้งข้อหาไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติมใน: กองปราบแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น+อั้งยี่ กรณีหญิงอุบลฯ สูงวัยสวมเสื้อดำ)

 

X