ความหวังในการค้นหาความจริง: กรณีการหายไปของสุรชัยเเละคนสนิท

ข่าวการหายตัวไปของนายสุรชัย (แซ่ด่าน) ด่านวัฒนานุสรณ์และคนสนิทอีก 2 คน จากที่พักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 ก่อนที่จะปรากฎว่า พบศพคนสนิทของนายสุรชัย ที่บริเวณตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง ใน ต.อาจสามารถ อ.เมือง และ ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 นั้น สร้างความห่วงกังวลให้กับนานาชาติถึงความโหดร้ายของการใช้มาตรการทั้งการฆ่าและการอุ้มหาย ส่วนในประเทศไทย ข่าวและการรับรู้รับทราบถึงชะตากรรมของบุคคลทั้งสาม กลับปรากฏในพื้นที่ของสื่อมวลชนน้อยมาก อีกทั้งเมื่อสถานะของทุกศพคือผู้ลี้ภัยทางการเมือง ยิ่งสร้างความสับสนในการทำความเข้าใจถึงสิทธิในทางกฎหมายของผู้ตายและญาติซึ่งยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย

          (จากซ้ายไปขวา) ‘ภูชนะ’ หรือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์(แช่ด่าน) และ ‘กาสะลอง’ หรือ ไกรเดช ลือเลิศ ภาพจาก ประชาไท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ตลอดทั้งบันทึกข้อมูลของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ สร้างความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงขอนำเสนอหลักการระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองบุคคลซึ่งถูกกระทำในลักษณะดังกล่าว ตลอดทั้งรวบรวมกลไกทางกฎหมายที่สนับสนุนให้ญาติหรือบุคคลสามารถใช้เพื่อค้นหาความจริงในเหตุการตายของบุคคลนั้น ดังนี้

ผู้ลี้ภัยทางการเมือง การทรมาน และการอุ้มหาย

“ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” หรือผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง (Political Asylum) เป็นประเภทหนึ่งของกลุ่มผู้ลี้ภัย ซึ่งตามนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ระบุว่าหมายถึง “บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวจากการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต เนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง” ซึ่งในกรณีของนายสุรชัยและ2คนสนิทซึ่งใช้นามแฝงว่า “กาสะลอง” นั้น มีข้อมูลที่แสดงว่าทั้งสองเดินทางออกจากประเทศไทยไปหลังทหารประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค. 2557 ก่อนเกิดการรัฐประหาร2557 เพียง 2 วัน ส่วน “ภูชนะ” คนสนิทอีกคน ออกนอกประเทศไทยหลังรัฐประหารได้ไม่นาน  เนื่องด้วยกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีซึ่งมีโทษทางอาญาโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกคุกคามต่อชีวิตในรูปแบบอื่น เพราะเหตุที่บุคคลทั้งหมดมีความเชื่อทางการเมืองที่ขัดแย้งกับแนวทางของทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นแล้ว หากพิจารณาตามกรอบนิยามผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาข้างต้น นายสุรชัย ภูชนะ และกาสะลอง จึงอาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้

ทั้งสามคนเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มผู้ขอลี้ภัยทางการเมืองที่เดินทางออกจากประเทศไทยไปในช่วงเวลาเดียวกันและด้วยเหตุผลคล้ายกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลอย่างทางการแสดงจำนวนของบุคคลกลุ่มนี้  อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในสถานะดังกล่าวไม่น้อยกว่า 86 ราย  ซึ่งบางส่วนได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว แต่บางส่วนยังอยู่ในระหว่างการยื่นคำขอกับประเทศนั้นๆ หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR)

ส่วน “การทรมาน”และ“การอุ้มหาย” เป็นคำอธิบายอย่างง่ายให้เห็นถึงลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่รัฐทำต่อบุคคลหนึ่ง “การทรมาน” หมายถึงการละเมิดต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย และความมั่นคงปลอดภัยของผู้ที่ถูกทรมาน ด้วยการกระทําใดก็ตามต่อบุคคล โดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคําสารภาพ  ลงโทษ ข่มขู่ ขู่เข็ญ หรือเพราะเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ และกระทำโดยการยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐ แต่ไม่รวมถึงการลงโทษตามกฎหมาย และ “การอุ้มหาย” หรือ  “การหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ  ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

กรณีของภูชนะและกาสะลอง แม้จะยังไม่มีการสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิต แต่พิจารณาจากสภาพศพทั้งสองที่พบว่าถูกทุบที่ใบหน้าจนไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ลำคอถูกรัดด้วยเชือกป่านขนาดใหญ่ ถูกใส่กุญแจมือไขว้ด้านหน้า และผ่าท้องเอาอวัยวะภายในออกจนหมดก่อนใส่แท่งคอนกรีตเข้าไปในด้านในเพื่อถ่วงศพให้จมลงในแม่น้ำ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าทั้งสองถูกทรมานก่อนจะถูกฆ่าจนเสียชีวิต นอกจากนี้ ทั้งสองคนพร้อมทั้งนายสุรชัยยังถูกนำตัวไปจากที่พักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในลักษณะที่อาจเป็นการจับกุม กักขัง หรือลักพาตัวโดยไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อได้เป็นระยะเวลาราว 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีผู้พบศพดังกล่าว ในส่วนของนายสุรชัยนั้นจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม และมีแต่เพียงคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 ว่าทราบจากแหล่งข่าวความมั่นคงว่านายสุรชัยยังมีชีวิตอยู่และยังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จึงถือว่าทั้งหมดยังถูกปกปิดชะตากรรมด้วยความเพิกเฉยจากทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาว และเป็นผู้เสียหายจากการถูกบังคับให้สูญหายอีกด้วย

เจ้าหน้าที่กู้ศพขึ้นมจากแม่น้ำโขง บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขง บ้านสำราญเหนือ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม ภาพจาก 77ข่าวเด็ด

แม้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การทรมานและการอุ้มหายจะเป็นการกระทำที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด และรัฐไม่อาจอ้างภาวะสงครามหรือสภาพคุกคามที่จะเกิดสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ขึ้นเป็นเหตุผลสำหรับการทรมานและการอุ้มหายได้ แต่ในระบบกฎหมายภายในของทั้งประเทศไทยและลาว ซึ่งลงนามไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (อนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสญโดยถูกบังคับฯ) และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ) กลับยังไม่บัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญา ไม่บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ในการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวโดยตรง หรือกำหนดสิทธิให้แก่เหยื่อหรือญาติของเหยื่อของผู้ถูกทรมาน หรือถูกอุ้มหาย (ดู “ประเทศไทย: ปฏิบัติตามขั้นตอนสุดท้ายของการรับรองอนุสัญญาคนหาย ออกกฎหมายเพื่อลงโทษการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย”) อย่างไรก็ตาม ภายใต้การลงนามและการให้สัตยาบันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว รัฐไทยและลาวต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการทำลายวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับฯ และต้องปฏิบัติตามข้อบทในพันธกรณีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ นับตั้งแต่วันที่ให้สัตยาบัน

ดังนั้นแล้ว แม้ยังไม่มีการบัญญัติให้การกระทำข้างต้นเป็นความผิดอาญา แต่ทั้งรัฐไทยและลาวต้องดำเนินการสอบสวนถึงการเสียชีวิตและการหายสาบสูญไปของผู้ลี้ภัยทั้ง 3 คน อย่างน้อยที่สุดตามกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ตาย ผู้สูญหาย และญาติของบุคคลดังกล่าวต่อไป

การชันสูตรพลิกศพ และสิทธิในการทางกฎหมายของญาติผู้ถูกอุ้มหาย

เมื่อพิจารณาตามระบบกฎหมายภายในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีกฎหมายเฉพาะอันเป็นการอนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ หรือแก้ไขกฎหมายเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังไม่ดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับฯ จึงไม่สามารถเริ่มต้นร้องทุกข์ สอบสวน และฟ้องร้องในความผิดฐานกระทำทรมานหรือบังคับบุคคลสูญหายได้ แต่ยังมีกลไกทางกฎหมายบางมาตราที่ช่วยค้นหาความจริงเบื้องต้นในกรณีของ 2 ผู้ลี้ภัยซึ่งถูกพบว่าเสียชีวิต เพราะเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติในรูปแบบที่ถูกผู้อื่นทำให้ตาย โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 149 และ 150 กำหนดให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ในกรณีนี้คือ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม และสถานีตำรวจภูธรธาตุพนม และแพทย์ต้องทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ด้วยการตรวจดูศพภายนอกเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใครและหาสาเหตุของการตาย พร้อมทั้งจัดทําบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 30 วัน โดยต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้ ก่อนการชันสูตรพลิกศพ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ญาติทราบด้วย และหากพนักงานสอบสวนหรือแพทย์ผู้ทำการชันสูตรฯ เห็นว่าต้องผ่าศพเพื่อหาสาเหตุของการตายก็สามารถสั่งให้ผ่า หรือแยกชิ้นส่วนของศพก็ได้

เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว มาตรา 154 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังบัญญัติให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ผู้ทำการชันสูตรฯ จัดทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเท่าที่ทราบได้ ซึ่งหากพบว่าเป็นการตายจากสาเหตุถูกคนทำร้าย อันเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ก็ต้องจัดให้มีการสอบสวนต่อไป

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดที่ปรากฏตามรายงานข่าวคือ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 หลังมีการเปิดเผยผลการตรวจดีเอ็นเอโดยสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ยืนยันบุคคลว่า ศพที่พบที่ จ.นครพนม คือ “ภูชนะ” และ “กาสะลอง” ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ ทางตำรวจจะได้มีการประสานเจ้าหน้าที่ทำการชันสูตรหาสาเหตุการตายโดยละเอียด เพื่อประกอบการสอบสวนติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และเร่งเรียกญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระบวนการชันสูตรพลิกศพเพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ แม้จะมีความชัดเจนว่า การเสียชีวิตของคนสนิททั้งสองของนายสุรชัยมีสาเหตุจากการกระทำความผิดทางอาญา แต่ยังไม่มีความชัดเจนในทางสอบสวนจนถึงปัจจุบัน ว่าเป็นความผิดที่กระทำลงนอกราชอาณาจักรหรือไม่ แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีรายงานข่าวว่า ผู้ลี้ภัยทั้งสองหายตัวไปจากที่พักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และต่อมาพบศพทั้งสองในพื้นที่จังหวัดนครพนมของประเทศไทย จึงอาจเป็นไปได้ว่าหากการสอบสวนแล้วพบว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทย เช่น มีการสั่งให้กระทำการดังกล่าวมาจากประเทศไทย หรือผลของการกระทำความผิดเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องให้อัยการสูงสุดหรือผู้แทนเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน ทั้งนี้ ระหว่างที่รอคำสั่งดังกล่าว พนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหาย (ในกรณีนี้คือภรรยาของกาสะลอง หรือบุตรของภูชนะ) เข้าร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหา สามารถเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนได้

ส่วนกระบวนการสำหรับญาติของนายสุรชัย ซึ่งมีเพียงนางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้เป็นภรรยาเท่านั้นที่ยังติดตามข่าวการหายตัวไปของสามี แม้ว่านางปราณีจะให้สัมภาษณ์ว่า “เชื่อว่า” นายสุรชัยเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อยังไม่พบศพของนายสุรชัยก็ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการชันสูตรพลิกศพได้ นอกจากนี้ ตามมาตรา 5 (2) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังไม่เปิดช่องให้นางปราณีที่เป็นภรรยาของนายสุรชัยซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม ไม่พบว่าเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ มีอำนาจจัดการแทนนายสุรชัยตามสิทธิหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น นางปราณีจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนนายสุรชัยตามมาตรา 5 (2) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคววามอาญา ที่จะร้องทุกข์ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งตนเห็นว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดี ถอนฟ้องคดีนี้ รวมถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา อีกทั้งยังไม่สามารถยอมความในคดีอื่นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับนายสุรชัยได้

อย่างไรก็ตาม นางปราณียังมีสิทธิที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในไทยและในสาธารณรัฐประชาชนลาวดำเนินการสอบสวนถึงเหตุการหายตัวไปของนายสุรชัยได้ แต่ทั้งนี้ หนทางในการติดตามเพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลลาวค้นหาตัวนายสุรชัยนั้น ย่อมประสบทั้งอุปสรรคในการเดินทาง การเข้าถึงข้อมูล และการสื่อสารด้านภาษา จึงยิ่งทำให้การค้นหาความจริงในคดีอาญาของนายสุรชัยในกรณีนี้ยากขึ้น

นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย ในกิจกรรมไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตทั้งสองคนและสุรชัยที่ขณะนี้ยังไม่พบศพ ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2562

ส่วนในทางคดีแพ่ง นางปราณียังไม่คงไม่มีสิทธิจัดการทรัพย์สินของนายสุรชัยจนกว่าจะมีการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนระหว่างที่ยังไม่พบตัวนายสุรชัย และหากนายสุรชัยไม่กลับมาและไม่มีผู้ใดทราบข่าวเกี่ยวกับนายสุรชัยเลยจนครบหนึ่งปีนับแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็นหรือทราบข่าวมาเป็นครั้งสุดท้าย นางปราณีอาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของนายสุรชัยได้ (ดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 48) และท้ายที่สุดแล้ว นางปราณีอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายสุรชัยเป็น “คนสาบสูญ” ได้ เมื่อครบเวลาห้าปี นับแต่วันที่นายสุรชัยไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครรู้แน่ว่านายสุรชัยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาดังกล่าว และเมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนั้น ในทางกฎหมายจะถือว่านายสุรชัยถึงแก่ความตายในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนั่นเอง (ดูประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 61)

ผลของการที่ศาลสั่งให้บุคคลใดก็ตามกลายเป็นคนสาบสูญจะทำให้ทายาท เช่น สามี ภรรยา หรือบุตร สามารถจัดการกับทรัพย์สินของบุคคลนั้นได้ในฐานะที่เป็นมรดกของผู้ตาย แต่ในคดีอาญานั้น ยังไม่มีแนวทางที่ศาลจะยอมรับให้ผู้มีอำนาจจัดการแทนสามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้ โดยเฉพาะในคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและข่มขืนใจผู้อื่น ซึ่งก็คือทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไป โดยพบเห็นล่าสุดว่าถูกบังคับให้ขึ้นรถไปเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าวในช่วงกลางคืนของวันที่ 12 มี.ค. 2547 บริเวณริมถนนรามคำแหง ในคำพิพากษาของศาลยังระบุด้วยว่าพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจนว่าทนายสมชายถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ หรือจนกระทั่งเสียชีวิต ดังนั้น ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ผู้เป็นภรรยา รวมถึงบุตรของทนายสมชาย จึงไม่ใช่ผู้ที่จะเข้าขอเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจยื่นฎีกาในคดีนี้ด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั้งไทยและลาว จะยังสามารถใช้กรอบกฎหมายภายในประเทศเพื่อสอบสวนหาสาเหตุของการเสียชีวิตและผู้กระทำความผิด หรือติดตามตัวบุคคลได้ แต่การได้มาซึ่งความจริงจากกลไกเหล่านั้นต้องอาศัยการติดตามจากญาติและความสนใจของสังคม เพื่อให้พนักงานสอบสวนเปิดเผยผลการชันสูตรพลิกศพและสาเหตุของการตาย ตลอดทั้งเร่งรัดและแจ้งความคืบหน้าในการติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ การมุ่งหวังให้รัฐทั้งสองดำเนินการภายใต้กรอบพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มุ่งเรียกร้องให้รัฐเคารพ ปกป้อง และคุ้มครอง สิทธิในชีวิต ร่างกาย และความมั่นคงปลอดภัยของผู้ลี้ภัยทั้ง 3 คน รวมทั้งผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ยังเป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องต่อไป

ในขณะเดียวกัน กลไกค้นหาความจริงที่ยืนยันสิทธิที่จะรู้ความจริงของญาติของบุคคลดังกล่าว ยังเอื้อให้เฉพาะกรณีที่พบผู้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น แต่ยังไม่เอื้อให้ญาติของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการให้สัตยาบันในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสญโดยถูกบังคับฯ จึงเป็นหนทางที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อรองรับและป้องกันการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงอย่างการทรมานและการอุ้มหายต่อไป

 

X