การเลือกตั้งใต้เงา คสช.: อัพเดตสถานการณ์คุกคามนักการเมือง

 

เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ ก่อนถึงวันเลือกตั้งที่ประชาชนเฝ้ารอ แต่ในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ซึ่งทำให้สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งร้อนระอุ โดยเฉพาะท่าทีของกองทัพต่อนักการเมือง และคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติของศาลรัฐธรรมนูญ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมเป็นรายงานอัพเดตสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง โดยจับตาไปที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงการกระทำที่ยังไม่รู้ว่าเกิดจากบุคคลใด ที่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นเป้าหมายในการจำกัดเสรีภาพ โดยศูนย์ทนายความฯ เห็นว่า การคุกคามหรือการจำกัดเสรีภาพของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมืองด้วยเช่นกัน

อ่านรายงานก่อนหน้านี้

 

ทหารไม่ตกกระแส ใกล้โค้งสุดท้ายเลือกตั้งยังมีบทบาทสูง

  • 22 ก.พ. 62 นคร มาฉิม ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เพจเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารยุติการข่มขู่คุกคาม โดยระบุว่าตนถูกบุคคลคอยขับรถประเภทต่าง ๆ ติดตามอยู่ตลอดเวลาระหว่างหาเสียง เช่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 62 ได้มีรถยนต์สีดำไม่ทราบทะเบียน คอยติดตามในขณะกำลังลงพื้นที่ปราศรัยที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และวันที่ 22 ก.พ. มีรถยนต์นิสสัน ทะเบียน “กต 3323 เพชรบูรณ์” จอดประกบทีมงานระหว่างหาเสียงโดยไม่ยอมลงจากรถ เมื่อเห็นทีมงานถ่ายรูป จึงรีบขับรถออกไป และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นรถของนายทหารยศร้อยโทสังกัดค่ายเอกาทศรถ กองทัพภาคที่ 3

ต่อมาวันที่ 28 ก.พ. 62 พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 39 ได้เข้าพบรองผู้กำกับฝ่ายสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยระบุว่า ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่าในวันที่ 22 ก.พ. นายทหารยศร้อยโทคนดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จึงไม่ได้ไปคุกคามตามที่นายนครอ้าง อย่างไรก็ตาม นายนคร ยังให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวเป็นความจริง และยังยืนยันให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการติดตามคุกคาม

  • 27 ก.พ. 62 โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงชี้แจงความจำเป็นต้องมีเกณฑ์ทหาร พร้อมทั้งกล่าวว่า ไม่อยากให้พรรคการเมืองนำประเด็นนี้ไปหาเสียงเป็นนโยบายแบบลอย ๆ การแถลงดังกล่าว แม้อาจดูเป็นเรื่องการชี้แจงธรรมดา แต่หากพิจารณาทหารในฐานะข้าราชการประจำที่ต้องพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนแล้ว การแถลงดังกล่าวกลับเป็นการแสดงบทบาทในทางตรงข้าม และส่งผลเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพในการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองอีกด้วย
  • 28 ก.พ. 62 หลังมีกรณี กกต.จังหวัดเลย ขอให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคสามัญชน เปลี่ยนสปอตหาเสียงของพรรคที่ขอรับการสนับสนุนจัดสรรเวลาจากสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดเลย โดยให้ตัดคำว่า “เผด็จการทหาร” และ “โซ่ตรวน” ออก แต่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคยืนยันไม่ตัดออก จนเป็นเหตุให้ กกต.จ.เลย ห้ามเปิดสปอตหาเสียงดังกล่าวในวิทยุกระจายเสียง ผู้สมัครจึงนำไปเปิดเฉพาะในการวิ่งรถหาเสียง มีข้อมูลว่ามีทหารในเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ขี่รถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ตามสังเกตการณ์รถหาเสียงของพรรคสามัญชนด้วย
  • 4 มี.ค. 62 ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ 3-4 นาย เดินตามสังเกตการณ์และถ่ายภาพ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และทีมผู้สมัคร ส.ส. ขณะเดินหาเสียงที่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งในขณะพักทานข้าวกลางวัน ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รู้สึกถูกรบกวนและถูกคุกคาม จึงเดินเข้าไปสอบถามและกล่าวกับนายทหารคนหนึ่งว่า “อย่ามายุ่ง”

ทหารติดตามสังเกตการณ์การหาเสียงของพรรคเสรีรวมไทยที่ จ.ปราจีนบุรี (ภาพโดย Spring News)

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงของทหาร อันนำมาซึ่งการคุกคามซึ่งพุ่งเป้าไปที่ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ยิ่งขึ้น โดยนอกจาก พ.ท.ปกิจ ผลฟัก ผู้บังคับกองร้อยรักษาความสงบ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ปราจีนบุรี นายทหารคนดังกล่าว จะเข้าแจ้งความดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่แล้ว ทีมโฆษก คสช. ยังออกมาแถลง วิจารณ์การกระทำของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่าเป็นการดูหมิ่นหยามเกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นทหาร พร้อมทั้งยืนยันว่ากองทัพบกจะปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นกองทัพบก และปกป้องกำลังพล

ขณะเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทอีกข้อหาหนึ่งด้วย จากการให้สัมภาษณ์สื่อพูดถึงเครื่องหมายซึ่งติดอยู่บนเครื่องแบบทหารของ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วยข้อความไม่เหมาะสม

ตามมาด้วยการนำนายทหารระดับสูงกว่า 700 นาย กล่าวคำปฏิญาณ จะรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ และเกียรติยศศักดิ์ศรีของทหาร ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษ ในวันที่ 7 มี.ค. 62 พร้อมทั้งมอบประกาศประกาศชมเชย พ.ท.ปกิจ ว่าเป็นผู้มีความอดทน อดกลั้น ซึ่งการปฏิญาณตนดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า เป็นการสื่อเป็นนัยว่า กองทัพจะไม่ยอมอยู่ใต้รัฐบาลหลังเลือกตั้งที่ไม่ใช่เนื้อเดียวกับพวกเขา

ไม่เพียงเท่านั้น วันเดียวกัน กองทัพภาค 1 ได้นำภาพพร้อมข้อความของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อปี 56 ระบุว่า “ถ้าไม่มีปฏิวัติครั้งที่แล้ว ผมก็คงไม่ได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจ” ขึ้นจอแอลอีดี บริเวณแยกกระทรวงศึกษา ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงดึกก่อนที่จะดับไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการดิสเครดิต พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ในฐานะนักการเมืองแล้ว ยังแสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่าของกองทัพด้วย

จอแอลอีดีหน้ากองทัพภาคที่ 1 บริเวณแยกกระทรวงศึกษา (ภาพจากเพจวิวาทะ V2)

ภายใต้ท่าทีเหล่านี้ ทหารสร้างความชอบธรรมให้การกระทำที่เป็นการคุกคามนักการเมืองว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย ซึ่งปฏิบัติต่อนักการเมืองทุกพรรคเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้ถูกติดตามจะรู้สึกตรงกันข้าม และรู้สึกถูกละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว ต้องไม่ลืมว่าตลอด 4 ปีกว่าภายใต้การติดตามประชาชนของ คสช. หลายครั้งนำมาซึ่งการดำเนินคดีในภายหลัง จึงเกิดเป็นความหวาดระแวงของผู้ที่ถูกทหารติดตามไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือประชาชนทั่วไป

  • 9 มี.ค. 62 เจ้าหน้าที่ทหารจาก กอ.รมน. ติดตามสังเกตการณ์การลงพื้นที่หาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคสามัญชน
  • 14 มี.ค. 62 กลุ่มสารวัตรทหารอากาศเข้าขัดขวางไม่ให้นายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ เข้าไปหาเสียงในโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย แม้จะมีการพูดคุยอธิบายว่า ผู้สมัครได้ทำหนังสือขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากรองผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันไม่อนุญาต โดยอ้างว่าเป็นเขตทหาร และให้ไปคุยกับนายทหารยศนาวาอากาศเอกคนหนึ่งในค่ายเท่านั้น โฆษกกองทัพอากาศได้ออกมาชี้แจงกรณีนี้ว่า กองทัพอากาศมีแนวปฏิบัติให้พรรคการเมืองที่จะเข้ามาหาเสียงในพื้นที่ของกองทัพอากาศจะต้องทำหนังสือขออนุญาตก่อน ทั้งนี้ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยอยู่ในพื้นที่ของกองทัพอากาศ แม้พรรคการเมืองขออนุญาตทางโรงเรียนแล้ว ก็ต้องขออนุญาตกองทัพอากาศด้วย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทุกพรรค
  • 15 มี.ค. 62 นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดลพบุรี พรรคเพื่อไทย ร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ว่า มีชายแต่งกายคล้ายทหารจำนวน 5 – 6 คน บุกเข้าไปในบ้านตนโดยไม่มีหมายค้น อ้างว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาตรวจสอบรถที่ใช้อยู่ว่ามีรถของทางราชการหรือไม่ โดยการตรวจสอบก็ไม่พบรถราชการแต่อย่างใด นายสุชาติระบุว่าในวันก่อนหน้านั้นตนได้ไปร้องเรียน กกต. ให้ตรวจสอบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โฮชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัฐ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กรณีการปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ ที่ จ.ลพบุรี จึงอาจเป็นที่มาของการถูกบุกเข้าค้นดังกล่าว

 

ไม่หนุน คสช. เจอ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

  •  4 มี.ค. 62 หลัง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการโพสต์ข่าวในเว็บไซต์ one31news.com ระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรี ดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท โดยใช้งบสวัสดิการในตำแหน่ง พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ออกหมายเรียก พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประชาชนรวม 6 ราย ซึ่งแชร์ข่าวดังกล่าว เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน  ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) กรณีนี้ พล.ท.พงศกร ให้สัมภาษณ์ว่า การแชร์ข่าวดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง แต่เมื่อทราบว่าเป็นข่าวปลอมก็ลบออกหลังแชร์ไปเพียง 3 นาที  อย่างไรก็ตาม พล.ท.พงศกร เห็นว่า โพสต์ดังกล่าว ไม่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งความเอาผิด อาจเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง
  • 8 มี.ค. 62 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีผู้ดูแลเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ฐานเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา จากกรณีที่เว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่ได้แชร์คลิปที่พรรคอนาคตใหม่จัดแถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากยูทูบ

 

ไล่จับนักการเมือง: ภารกิจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

  • 27 ก.พ. 62 ตำรวจนำหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ตที่ 96/2559 ลงวันที่ 11 ก.พ. 59 เข้าจับกุมตัว นายยศวัฒน์ ธีรัตม์วัฒนากุล ผู้สมัคร ส.ส. จ.ตรัง พรรคอนาคตใหม่ ในข้อหาฉ้อโกง ขณะออกหาเสียงในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จากนั้นนำตัวขึ้นรถกลับไปดำเนินคดีที่จังหวัดภูเก็ตทันที ทั้งที่หมายจับดังกล่าวออกในปี 59 แต่ตำรวจท้องที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก่อนหน้านี้ โดยพรรคอนาคตใหม่ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า เป็นคดีเก่าตั้งแต่ปี 58-59 โดยนายยศวัฒน์ พร้อมหุ้นส่วนได้กู้ยืมเงินฝ่ายโจทก์ แต่หุ้นส่วนไม่ได้ชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเจรจาชำระค่าเสียหายในคดีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 59 และโจทก์ก็ตกลงจะถอนฟ้องคดีดังกล่าว แต่ปรากฏว่า เมื่อนายยศวัฒน์เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.ตรัง ตำรวจก็นำหมายจับที่ค้างอยู่มาติดตามจับกุม มีการตั้งข้อสังเกตเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ ทั้ง กกต.เองก็ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในวันลงสมัครเลือกตั้ง และประกาศรับรองผู้สมัครแล้ว
  • 4 มี.ค. 62 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แถลงผลการดำเนินการกรณีที่มีการที่แชร์ข่าว พล.อ.ประวิตร ใช้งบดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนทราบว่ามีผู้เผยแพร่และส่งต่อข่าวปลอมดังกล่าว 6 ราย โดยมี พล.ท.พงศกร รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ด้วย และพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกทั้ง 6 ราย มีผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 4 ราย ขั้นตอนต่อไปจะออกหมายเรียก พล.ท.พงศกร และประชาชนอีก 1 ราย เป็นครั้งที่ 2 หากยังไม่มาพบ ก็จะขอหมายจับต่อไป อย่างไรก็ตาม พบว่า หมายเรียกดังกล่าวออกหมายในวันที่ 4 มี.ค. 62 และระบุให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 มี.ค. 62 จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกหมายเรียกเป็นครั้งที่ 2 เป็นที่น่าสังเกตว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ระบุถึงขั้นตอนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และส่งผลเป็นการลดความน่าเชื่อถือให้กับ พล.ท.พงศกร

  • 6 มี.ค. 62 น.ส.อรุณี ชำนาญยา ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดพะเยา พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อให้ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนการทุจริตเลือกตั้ง พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ในพื้นที่ จ.พะเยา นอกจากจะมีการทุจริตเลือกตั้งรุนแรง ตนเองก็ถูกตำรวจพยายามยัดเยียดข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดี และตนเองจะได้ออกจากสนามการแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้
  • 13 มี.ค. 62 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปฉช.ตร.) นำกำลังตำรวจตรวจค้น 24 จุด ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นการเข้าตรวจยึด อายัดทรัพย์สินของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดพะเยา พรรคเพื่อไทย ในความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” โดยมีการแถลงข่าวว่า ในปี 59 นายวิสุทธิ์กับพวก ได้ชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนในหุ้นน้ำมัน แต่ประชาชนกลุ่มผู้เสียหายไม่ได้รับค่าตอบแทน ผู้เสียหายเคยร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแล้ว แต่ศาลยกฟ้องนายวิสุทธิ์ ต่อมามีกลุ่มผู้เสียหายรายใหม่นำพยานหลักฐานมาร้องทุกข์กับ ศปฉช.ตร. นำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหานายวิสุทธิ์ และคนสนิทเพิ่มเติม พร้อมทั้งอายัดทรัพย์สินของนายวิสุทธิ์กับพวก มูลค่ากว่า 170 ล้านบาท

 

ราชการไทยเอาไงแน่

  • 6 มี.ค. 62 นายอำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่อนุญาตให้พรรคพลังประชารัฐใช้สถานที่ สนามหน้าที่ว่าการ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเวทีปราศรัยหาเสียง โดยให้เหตุผลว่าเป็นแนวนโยบายจากที่ประชุมสำนักเลขาธิการ คสช. ที่สั่งการห้ามมิให้ใช้สถานที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่สุดท้ายนายอำเภอท่าตะเกียบได้มีหนังสือลงวันที่ 12 มี.ค. อนุญาตให้ใช้สนามดังกล่าว โดยอ้างถึงมติ ครม. วันที่ 29 ม.ค. 62 ที่ให้หน่วยราชการต่าง ๆ สนับสนุนกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐได้ไปเช่าพื้นที่เอกชนไว้แล้ว โดยกรณีนี้พรรคพลังประชารัฐได้ร้องเรียนไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ให้ตั้งกรรมการสอบสวนนายอำเภอท่าตะเกียบ โดยเห็นว่าอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีมติ ครม. 29 ม.ค. 62 แต่พรรคการเมืองบางพรรคก็ยังประสบปัญหาในการหาสถานที่เปิดเวทีปราศรัย  ดังเช่น กรณีพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เปิดเวทีปราศรัยจากผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี

 

บุคคลปริศนาทำลายบรรยากาศการหาเสียง

  • 3 มี.ค. 62 เวลาประมาณ 21.30 น. นางประภัสสร ชูทอง ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อชาติ ถูกยิงขู่ที่หน้าบ้านพักส่วนตัวเป็นจำนวน 5 นัด โดยนางประภัสสรได้เข้าแจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
  • 8 มี.ค. 62 เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานทำป้ายหาเสียงและวัสดุสำหรับติดตั้งป้ายของ น.ส.อัคลีมา คลังเพชร ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดสระแก้ว พรรคเสรีรวมไทย ทำให้ท่อนไม้ยูคาลิปตัสสำหรับทำโครงป้ายและบริเวณโรงเรือนประกอบโครงป้ายได้รับความเสียหาย ก่อนหน้านั้น 1 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ป้ายนโยบายของพรรคที่เตรียมนำไปติดตั้งได้หายไป ภายหลังจึงพบว่า ถูกนำไปทิ้งไว้ห่างออกไป 1 กม. และป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคก็ถูกกรีดทำลายที่บริเวณชื่อของ พล.ต.ต.เสรีพิศุทธ์ เหตุเหล่านี้เกิดขึ้นหลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เดินทางลงพื้นที่เพื่อช่วยลูกพรรคหาเสียงที่ จ.ปราจีนบุรี และกล่าวตำหนิเจ้าหน้าที่ทหารที่มาติดตามสังเกตการณ์ นอกจากเหตุการณ์ที่ จ.สระแก้ว หลายเขตในกรุงเทพฯ ก็พบว่า ป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.พรรคเสรีรวมไทยจำนวนหลายสิบป้ายถูกกรีดทำลายหรือใช้สีสเปรย์มาพ่นทับในจุดที่เป็นภาพของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ หัวหน้าพรรค ในขณะที่ป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันไม่ถูกทำลายไปด้วย เช่น บริเวณรอบกรมทหารราบที่ 11 เขตบางเขน และบริเวณถนนทหาร เขตดุสิต

ป้ายหาเสียงพรรคเสรีรวมไทยรอบกรมทหารราบที่ 11 ถูกทำลายเฉพาะรูป พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ (ภาพโดยมติชน)

  • ข่าวการทำลายป้ายหาเสียงมีปรากฏให้เห็นแทบทุกวันในการเลือกตั้งครั้งนี้ และแทบทุกพรรคที่ได้รับความเสียหาย โดยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 62 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า มีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้วจำนวน 90 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นการทำลายป้ายหาเสียง ซึ่งติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้น้อยมาก
  • 14 มี.ค. 62 นางอรุณี ชำนาญยา ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดพะเยา พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวระบุว่า ผู้สมัครของพรรคถูกติดตามและข่มขู่ โดยมีชายชุดดำขับรถประกบระหว่างลงพื้นที่อยู่ตลอด ซึ่งเมื่อตรวจสอบรถแล้วพบว่าเป็นคันเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนป้ายทะเบียนเท่านั้น
  • 15 มี.ค. 62 น.ส.เบญจวรรณ สาละมนต์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดสุโขทัย พรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยถึงกรณีที่รถหาเสียงของพรรค 2 คัน ถูกเจาะลมยางล้อหน้าระหว่างจอดอยู่ที่บ้านทีมงานในช่วงกลางคืน ตรวจสอบแล้ววัสดุที่ใช้เจาะเป็นตะปู โดยที่รถทั้งสองคันยังจอดไว้อยู่คนละบ้าน จึงไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ เบญจวรรณระบุว่าก่อนหน้านี้ยังเคยพบกระสุนปืนวางไว้ที่บ้านของตน และป้ายหาเสียงที่ติดตั้งไว้ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย

 

ชงศาลยุบ ทษช. ใน 3 วัน ตรวจสอบโต๊ะจีน พปชร.เกือบ 3 เดือน ส่วนกรณีอื่นยังไม่คืบ

  • 7 มี.ค. 62 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้ง 13 คน เป็นเวลา 10 ปี จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อรวม 268 คน ถูกตัดโอกาสไม่ได้ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง รวมทั้งถูกตัดโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นผู้แทนของประชาชน ทั้งยังเป็นการตัดทางเลือกของประชาชนที่พอใจในนโยบายและท่าทีทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งประกาศตัวชัดเจนว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ทั้งนี้ หากทบทวนกลับไปที่กระบวนการทำงานของ กกต. ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็สามารถมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า 2 มาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 61 มีการยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบงานเลี้ยงโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ แต่ กกต.ใช้เวลาเกือบ 3 เดือน ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงผลการตรวจสอบว่า ไม่มีความผิดเข้าข่ายยุบพรรค ขณะที่กรณีอื่น ๆ ที่มีผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชารัฐ ทั้งก่อนและหลังกรณีพรรคไทยรักษาชาติ กกต.ยังไม่มีมติหรือความคืบหน้าใด ๆ แม้ว่าผู้ร้องจะเข้าเร่งรัด กกต. ให้เร่งตรวจสอบโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่ตรวจสอบพรรคไทยรักษาชาติแล้วหลายครั้ง กรณีที่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ได้แก่

    • 15 ก.พ. 62 นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกรณีพรรคพลังประชารัฐถูกครอบงำโดยบุคคลอื่น, ใช้ตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อเป็นคุณหรือโทษต่อผู้สมัคร, ใช้นโยบายของรัฐเพื่อจูงใจในการหาเสียง และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยเนื่องจากเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งได้อำนาจการปกครองมาจากการรัฐประหาร และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
    • 18 ก.พ. 62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ กรณีเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกฯ, กรณีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรคก่อนเป็นสมาชิกพรรค เข้าข่ายให้บุคคลอื่นครอบงำพรรค และกรณีจัดโต๊ะจีน
    • 14 มี.ค. 62 นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดลพบุรี พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกรณีพรรคพลังประชารัฐปราศรัยหาเสียงที่ จ.ลพบุรี โดยเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ยินยอม ปล่อยปละละเลยให้พรรคพลังประชารัฐ แสวงหาประโยชน์จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ในส่วนของพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. กกต.ก็ดูมีความกระตือรือร้นในการตรวจสอบกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้ยุบพรรค ดังเช่น
    • 25 ก.พ. 62 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค กรณีเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่เผยแพร่ประวัติของนายธนาธร ผิดพลาด เข้าข่ายหลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง  และกรณีนายปิยบุตร ไปปราศรัยที่ จ.สกลนคร ในลักษณะว่า หน่วยงานรัฐและสื่อมวลชนบางกลุ่มร่วมมือกันทำให้คนอีสานเป็นตัวตลก และไม่มีความรู้ เข้าข่ายใส่ร้ายด้วยความเท็จ โดย กกต.มีมติในกรณีแรก เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา (ใช้เวลา 17 วัน) ให้ยุติเรื่อง เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่สามารถรับฟังได้ว่านายธนาธรกระทำความผิด
    • 8 มี.ค. 62 นายอาณัศ ช้างอินทร์ ทนายความ ร้องเรียนต่อ กกต. จังหวัดเลย ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวหาว่า สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค หลอกลวง จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครของตน กรณีขึ้นเวทีปราศรัยที่ จ.เลย กล่าวว่า ถ้าเลือกเพื่อไทยแล้วจะได้ ศุกร์ไกล จันทร์สว่าง ซึ่งเป็น สจ. จังหวัดเลย เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งที่ไม่มีรายชื่อของ ศุกร์ไกล ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เพียงไม่กี่วัน กกต.มีคำสั่งรับเรื่องร้องเรียน และตั้งกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวแล้ว
    • นอกจากนี้ กกต.ยังมีกรณีการตรวจสอบพรรคเพื่อไทย โดยที่ไม่มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน แต่เป็นกรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นเอง คือ กรณีที่ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอคอลมายังแกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจเข้าข่ายยินยอมให้บุคคลอื่นครอบงำพรรค โดย กกต.ตั้งกรรมการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานกรณีนี้แล้ว

 

การปฏิบัติงานโดยองคาพยพของรัฐและ คสช. ตลอดจนองค์กรอิสระซึ่งมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อันเป็นมรดก คสช. มีผลเป็นการคุกคามนักการเมืองและพรรคการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวมา ทั้งการติดตามสังเกตการณ์ขณะลงพื้นที่หาเสียง การแถลงข่าวและแสดงพลังตอบโต้ ดิสเครดิตนักการเมือง เขตทหารห้ามหาเสียงก่อนได้รับอนุญาต การแจ้งความดำเนินคดี จับกุมตามหมายจับคดีเก่า และการเลือกปฏิบัติในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยหันกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ครั้งนี้ ไม่อาจเรียกได้ว่า เสรีและเป็นธรรม

ไม่เพียงเท่านั้น การแสดงตนโดย คสช.เอง และองค์กรแวดล้อมว่า คสช.อยู่เหนือรัฐ เหนือการตรวจสอบ ทั้งการแต่งตั้งคนใน คสช.เองเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. เพื่อให้มามีส่วนในการโหวตเลือกนายกฯ ที่มี หัวหน้า คสช.เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ หรือแม้แต่คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีมติเป็นเอกฉันท์ออกมาล่าสุดว่า หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้เรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตกไป ก็ยิ่งตอกย้ำให้ประชาชนเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ภายใต้การยึดอำนาจเกือบ 5 ปีของ คสช. และในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ช่องทางร่วมจับตาการเลือกตั้ง

  • เครือข่าย We Watch สมัครเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ที่ https://wewatchthailand.org/register_volunteer
  • เครือข่าย FFFE (เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ) รายงานการเลือกตั้ง โดยการใส่แฮชแท็ก #จับตาการเลือกตั้ง62 #FFFE และดาวน์โหลดแบบฟอร์มสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ที่ https://goo.gl/SVuukV
  • มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) แจ้งทุจริตการเลือกตั้งที่ Line@PNET NATIONAL CENTER (สมัครโดยใช้ ID:pnet)

 

X