ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.

“เขาจะตัดสินหรือยัง” “มารอบนี้ตัดสินแล้วใช่ไหม” สองประโยคที่จำเลยถามทนายความเสมอ เมื่อเจอหน้ากันในวันนัดสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ

“อีกนานเลยนะ กว่าจะนัดสืบพยานครั้งต่อไป น้องชายก็ติดคุกไปเรื่อย ๆ เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า ไม่ยุ่งอีกแล้วการเมือง”[1]  คำพูดหนึ่งของญาติผู้ต้องหาในคดีตระเตรียมการก่อการร้ายและคดีโอนเงินจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา ยังกังวานในความรับรู้ของเหล่าผู้สังเกตการณ์คดี ณ ศาลทหารกรุงเทพ

เหตุ “เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” เป็นเงื่อนไขเริ่มต้นที่ระบุอยู่ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557) เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร นัยยะหนึ่งของการได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย คือ ความรวดเร็วในการจัดการคดีในเขตอำนาจของตน แต่หากเราพิจารณาอย่างใกล้ชิดถึงความสำคัญของนัยยะนี้ “ความรวดเร็วของการพิจารณาคดี” ที่ควรจะเป็น ควรหมายถึง “ความมีประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาคดีตลอดสาย (A custody chain)” ตั้งแต่ชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชั้นการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ และชั้นการพิจารณาคดีขององค์กรศาล อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านพ้นเข้าปีที่ 5 ของการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง (คสช.) กลับปรากฏข้อเท็จจริงในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์และนัยยะของประกาศฉบับนี้ โดยกระบวนการพิจารณาคดีตลอดสายในศาลทหารนั้นแท้จริงดำเนินไปด้วย “ความล่าช้า”

.

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

ประกาศ คสช. ฉบับนี้ คือ ประกาศ คสช. เรื่องความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร อันหมายถึงการกำหนดให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือรับราชการทหารต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งความผิดที่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้พิจารณาในศาลทหาร ประกอบด้วย ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107-112 ซึ่งรวมถึงความผิดฐาน “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”,  ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113-118  และความผิดตามประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นการกระทําที่เกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรและระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ รวมถึง ความผิดในข้อหา มีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 50/2557

ต่อมาแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. จะออก “คําสั่งหัวหน้า คสช.ที่  55/2559” ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารโดยอ้างว่าประชาชนต่างมีเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือที่ดีในการนําประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่คําสั่งนี้กลับไม่ครอบคลุมคดีที่อัยการทหารสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้และคดีที่กําลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหาร อีกความหมายหนึ่ง คือ พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีคดีโดยมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 12 ก.ย. 59 ก่อนคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 มีผลใช้บังคับ ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารต่อไป โดยกรมพระธรรมนูญ ให้ข้อมูลว่าระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 61 มีคดีของพลเรือนอย่างน้อย 281 คดี[2] ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร

ในส่วน คดีของพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีทั้งหมด 58 คดี มีจำนวนพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารรวมแล้วถึง 111 คน[3] แบ่งเป็นคดีที่พิพากษาแล้ว 31 คดี ซึ่งเป็นคดีที่จำเลยรับสารภาพถึงจำนวน 18 คดี, คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 25 คดี มีจำนวนพลเรือน 60 คน ยังอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร โดย 8 คดี มีนัดพิจารณาคดีในเดือนนี้[4] และคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 2 คดี มีผู้ต้องหาถึง 16 คน โดย 5 คน ยังเป็นผู้ต้องหาในทั้งสองคดี ซึ่งหมายความว่า บุคคลทั้ง 16 คน อาจถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร หากคดีของพวกเขาถูกสั่งฟ้องโดยอัยการศาลทหารในอนาคต

.

ลักษณะการพิจารณาคดีที่ล่าช้าในศาลทหาร

ศูนย์ทนายความฯ แบ่งลักษณะการพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อยาวนานที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. คดีที่มีความล่าช้าด้วยเหตุทางกระบวนการพิจารณาอันเกี่ยวเนื่องด้วยการรัฐประหาร และ 2. คดีที่มีความล่าช้าด้วยเหตุเฉพาะการเลื่อนการสืบพยานโจทก์ โดยข้อมูลนี้มาจากการสังเคราะห์ข้อมูลในคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความฯ ทั้ง 58 คดี และมีขอบเขตการนับจำนวนวันที่ล่าช้า “ระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 57 – 15 มี.ค. 62” ซึ่งในบางคดีอาจมีเหตุให้เกิดความล่าช้าได้มากกว่าหนึ่งเหตุ

ลักษณะความล่าช้าประเภทแรกเกิดจากเหตุทางกระบวนการพิจารณาอันเกี่ยวเนื่องด้วยการรัฐประหาร ประกอบด้วย 3 สาเหตุหลัก กล่าวคือ ก) การพิจารณาเขตอำนาจศาล ระหว่างศาลทหารและศาลพลเรือน กรณีนี้ จำเลยประสงค์ให้มีการตรวจสอบประกาศ คสช. ที่กำหนดให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และโต้แย้งว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหา เกิดขึ้นก่อน คสช. ออกประกาศให้การกระทำนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร  การพิจารณาคดีเหล่านั้นโดยศาลทหารจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ มีคดีที่จำเลยยื่นโต้แย้งเขตอำนาจศาลทหาร จำนวน 7 คดี  ข) การไต่สวนทางการแพทย์ในรายผู้ป่วยจิตเภท (Schizophrenia) เนื่องจากคดีที่มีข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยมีอาการทางจิต จึงขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจ, รักษา และประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ตามระเบียบคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ที่สถานพยาบาลอันให้บริการแก่ผู้ต้องหาที่มีความผิดปกติทางจิตและผู้ป่วยนิติจิตเวช[5] กรณีดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความฯ รวม  3 คดี  และ ค) กระบวนพิจารณาที่ไม่ปกติของศาลทหารอันเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีในเวลาอันสมควร จำนวน 7 คดี โดยเหตุขัดข้องมาจากการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารในหลายขั้นตอน อันได้แก่ การเบิกตัวและส่งตัวจำเลยที่ถูกคุมขังในคดีอื่นมาพิจารณาคดีที่ศาลทหาร, การยื่นคำขอให้เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องด้วยเหตุการตัดพยานสำคัญในคดีที่อาจนำมาสู่การพิจารณาคดีที่เป็นผลร้ายต่อจำเลยในคดีนั้น, การโต้แย้งกับผู้พิพากษาศาลทหารต่อการตัดพยานหลักฐานที่สำคัญของจำเลยที่เป็นพลเรือน รวมถึง ความล่าช้าที่ไม่ทราบสาเหตุจากการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการและศาลทหารเองในการออกคำสั่งต่อคดีในขั้นตอนชั้นสอบสวนสั่งฟ้อง และกำหนดวันนัดพิจารณาในขั้นตอนชั้นศาล แสดงได้ดังตารางต่อไปนี้

เหตุกรณีจำนวนวันที่ล่าช้า (นับตั้งแต่วันที่มีเหตุ จนถึงวันนัดครั้งถัดไปในคดีนั้นๆ)
ก) การพิจารณาเขตอำนาจศาล ระหว่างศาลทหารและศาลพลเรือน1. คดีพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 58 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ โดยจำเลยเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม  นักศึกษา ทนายความ และผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนเมื่อปี พ.ศ. 2553  (ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง)683 วัน
 2. คดีสิรภพ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นนักเขียนบทกลอนและบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ หลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดีจากการเขียนบทกลอนและเผยแพร่ข้อความทางสื่อออนไลน์  (ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ม. 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ม. 14 (3))617 วัน
 3. คดีชุมนุมหน้าหอศิลป์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 ของนักศึกษาเนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร (ข้อหาฝ่าฝืนประกาศหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป)515 วัน
 4. คดีครอบครองระเบิด RGD5  ในคดีนี้มีเพียงคำซัดทอดของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งเท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐยังพยายามสอบถามจำเลยเพื่อเชื่อมโยงไปถึงขบวนการความรุนแรงทางการเมืองใต้ดิน และมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกจับกุม  (ข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิด, ฝ่าฝืนประกาศ คสช.)417 วัน
 5. คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ของนักศึกษา/นักกิจกรรม 7 คน ที่ถูกฟ้องจาก กิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เพื่อตรวจสอบการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 58 ( ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป)369 วัน
 6. คดีพลเมืองรุกเดิน นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกดำเนินคดีจากการ เดินเท้าจากบ้านคนเดียวไปรายงานตัวที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม (ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และฝ่าฝืนประกาศ คสช.)249 วัน
 7. คดีฐนกร (สงวนนามสกุล) คดีนี้จำเลยถูกฟ้อง 3 กรรม คือ ข้อหายุยงปลุกปั่น จากการแชร์ผังการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งจัดทำโดยเพจ NDM, ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการกดไลค์เพจที่ถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์, และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงถึงสุนัขทรงเลี้ยง162 วัน
ข) การไต่สวนทางการแพทย์ในรายผู้ป่วยจิตเภท1. คดีนายฤาชา (สงวนนามสกุล) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำเลยโพสต์ภาพข้อความโดยคิดว่าตนเป็นร่างทรงพระแม่ธรณี –> มีเหตุความล่าช้า ทั้งจากการเรียกไต่สวนแพทย์ และจำเลยเองไม่สามารถต่อสู้คดีได้417 วัน
 2. คดีนายประจักษ์ชัย (สงวนนามสกุล) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการที่จำเลยยื่นหนังสือขอให้ปลดพระมหากษัตริย์ –> มีเหตุความล่าช้าจากการเรียกไต่สวนแพทย์381 วัน
 3. คดีนางบุปผา (นามสมมุติ) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำเลยหลงผิดว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสายลับและต้องรักษากฎมณเฑียรบาล —> มีเหตุความล่าช้า ทั้งจากการรอผลการวินิจฉัยของแพทย์ และต่อมาศาลเรียกแพทย์ไต่สวนไม่ได้328 วัน
ค) กระบวนพิจารณาที่ไม่ปกติของศาลทหารอันเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีในเวลาอันสมควร  
ค.1. ศาลพลเรือนไม่ส่งตัวจำเลยมาศาลทหาร1. คดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ชูป้ายค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น  (ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป)110 วัน
ค.2 จำเลยขอให้เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา โดยรอการพิจารณาคดีในนัดถัดไปอย่างยืดเยื้อ2. คดีนายธเนตร อนันตวงษ์ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ (ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550)210 วัน
ค.3 มีข้อโต้แย้งเรื่องศาลทหารให้ตัดพยานหลักฐานสำคัญ3. คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ของนักศึกษา/นักกิจกรรม 7 คน298 วัน
ค.4 ใช้ระยะเวลานานในการส่งฟ้อง หรือกำหนดวันนัดที่ทิ้งช่วงห่างเป็นเวลานานระหว่างวันสอบคำให้การถึงวันตรวจพยานหลักฐาน4. คดีแจกใบปลิวประชามติ ที่บางเสาธง เพื่อรณรงค์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 คดีนี้มีการแยกฟ้องจำเลย โดยในคดีของนายรังสิมันต์ โรม มี ระยะเวลาระหว่างวันฟ้องถึงวันสอบคำให้การทิ้งช่วงห่างกันนานที่สุด –>

 

(ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และ พ.ร.บ. ประชามติฯ  พ.ศ. 2559)

210 วัน
 5. คดีนายจือเซง  แซ่โค้วหรือสมอล บัณฑิต อานียา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์  จากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559   ในงานเสวนาของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มีระยะเวลานานระหว่างนัดฟ้องถึงนัดสอบคำให้การ และนัดสอบคำให้การถึงนัดตรวจพยานหลักฐาน

 

( ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ม. 112 ประมวลกฎหมายอาญา)

304 วัน
 6. คดี “จ้า” ของพัฒน์นรี (สงวนนามสกุล) หรือแม่ “จ่านิว” มีระยะเวลานานระหว่างนัดฟ้องถึงนัดสอบคำให้การ และนัดสอบคำให้การถึงนัดตรวจพยานหลักฐาน

 

(ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550)

240 วัน
 7. คดีครอบครองระเบิด RGD5 กรณีล่าช้าในส่วนระยะเวลาระหว่างวันฟ้องถึงวันนัดพร้อม210 วัน

.

ลักษณะความล่าช้าในศาลทหารประเภทที่สอง มีสาเหตุมาจากการเลื่อนการสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยคดีที่มีการเลื่อนสืบพยานโจทก์ตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 8 คดี  เหตุแห่งการเลื่อนคดีที่นำมาอ้างมากที่สุด คือ การตามพยานที่เป็นพลเรือนให้มาศาลไม่ได้ นอกจากนี้ พยานที่เป็นข้าราชการเองมักติดราชการอื่นหรือย้ายสถานที่ทำงานใหม่ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการส่งหมายเรียกมาเป็นพยานที่ศาล ข้อสังเกตอีกประการ คือ คดีที่มีการเลื่อนสืบพยานโจทก์มักเป็นคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และคดีที่เกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ถูกใช้กันมากหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557

.

กรณีจำนวนนัดทั้งหมดจำนวนครั้งที่เลื่อน

(% จำนวนครั้งที่เลื่อนต่อจำนวนนัดทั้งหมด)

จำนวนวันที่เลื่อนเหตุแห่งการเลื่อนการสืบพยานโจทก์
1. คดี 112 สิรภพ (สงวนนามสกุล)22 นัด8 ครั้ง

 

(36%)

679 วันพยานโจทก์ซึ่งเป็นพลเรือนไม่มาศาล (ทั้ง 8 ครั้ง )
2. คดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา35 นัด10 ครั้ง

 

(28.5%)

611 วัน-พยานทหารติดราชการอื่น (2 ครั้ง)

 

-ติดตามพยานที่เป็นพลเรือนให้มาศาลไม่ได้ บางรายได้รับหมายแล้วแต่ไม่เดินทางมาเป็นพยานให้อัยการ (8 ครั้ง)

3. คดี 112 อัญชัญ (สงวนนามสกุล) จากการแชร์คลิปบรรพตฯ จำนวน 29 กรรม และเป็นคดีที่เกิดระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ต้องห้ามอุทธรณ์/ฎีกาในศาลทหาร20 นัด8 ครั้ง

 

(40%)

600 วันเลื่อนโดยโจทก์ 6 ครั้ง ด้วยเหตุ

 

-พยานตำรวจและพลเรือนติดราชการ (4 ครั้ง)

-พยานพลเรือนไม่มาศาลเนื่องจากส่งหมายไม่ได้ (1 ครั้ง)

-พยานพลเรือนไม่มาศาลโดยไม่ทราบเหตุ (1 ครั้ง)

4. คดีก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญา – จำเลยทั้ง 14 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปาระเบิดบริเวณศาล จำเลยบางรายร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัวของทหาร42 นัด12 ครั้ง

 

(28.5%)

502 วัน-พยานตำรวจติดราชการเร่งด่วน (6 ครั้ง)

 

-โจทก์ไม่สามารถตามพยานพลเรือนที่ตนเองอ้างมาสืบพยานได้ บางรายเสียชีวิต และติดธุระจำเป็น (5 ครั้ง)

5. คดี 112 นายประจักษ์ชัย (ผู้ป่วยจิตเภท)21 นัด6 ครั้ง

 

(28.5%)

485 วันพยานตำรวจไม่มาศาล อ้างเหตุป่วย, ติดราชการ และไม่ได้รับหมาย (4 ครั้ง)
6. คดีครอบครองระเบิด RGD525 นัด10 ครั้ง

 

(40%)

480 วัน-พยานตำรวจไม่มาศาล เนื่องจากย้ายสถานที่ทำงาน จึงไม่ได้รับหมาย และไม่มาศาลแม้ได้รับทราบนัดแล้ว (7 ครั้ง)

 

-พยานทหารย้ายสถานที่ทำงาน (2 ครั้ง)

7. คดี 112 นายจือเซง  แซ่โค้วหรือสมอล บัณฑิต อานียา21 นัด6 ครั้ง

 

(28.57%)

452 วันโจทก์ติดตามพยานไม่ได้ และพยานตำรวจเกษียณราชการ (4 ครั้ง)
8. คดี 112 นายธารา (สงวนนามสกุล) จากการแชร์คลิปบรรพตฯ จำนวน 6 คลิป และเป็นคดีที่เกิดระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ต้องห้ามอุทธรณ์/ฎีกาในศาลทหาร10 นัด

 

(จำเลยรับสารภาพ)

5 ครั้ง

 

(50%)

415 วันพยานทั้งทหารและพลเรือนไม่มาศาล (3 ครั้ง)

.

ทั้งนี้ ทนายความของศูนย์ทนายความฯ[6] สะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้การเลื่อนนัดสืบพยานเกิดขี้นบ่อยครั้งและเป็นประจำ ซึ่งสร้างภาระทางคดีให้กับจำเลยเป็นอย่างมากนี้เกิดจาก

  • นโยบาย “นัดต่อนัด” ของศาลทหาร โดยเมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานลำดับแรก ศาลจึงนัดสืบพยานลำดับต่อไป หากพยานลำดับแรกไม่มาศาลก็จะไม่มีการสืบพยานในนัดนั้น โดยไม่สามารถสืบพยานลำดับต่อไปแทนได้ ศาลยังไม่พิจารณาตัดพยานที่ไม่มาศาลซ้ำซากทิ้งไปด้วยเหตุไม่มีความสำคัญต่อคดี อีกทั้งในแต่ละนัดจะกำหนดให้สืบพยานกัน “เพียงครึ่งวัน” เท่านั้น นโยบาย “นัดต่อนัด” นี้ แตกต่างจากระบบของศาลยุติธรรมที่กำหนดให้การนัดพิจารณาคดีเป็น “การนัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง” ที่กำหนดวันสืบพยานของคู่ความไว้ล่วงหน้าแน่นอน และหากมีเหตุต้องเลื่อนการพิจารณาในนัดนั้นจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเท่านั้น เช่น ป่วย ซึ่งโดยปกติศาลยุติธรรมจะพิจารณาอย่างเคร่งครัดในเรื่องการเลื่อนคดี อันสอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 (1) และมาตรา 179 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า ม. 8 (1) จำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม และม. 179 ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้และกฎหมายอื่น ศาลจะดำเนินการพิจารณาตลอดไปจนเสร็จโดยไม่เลื่อนก็ได้ถ้าพยานไม่มา หรือมีเหตุอื่นอันควรต้องเลื่อนการพิจารณา ก็ให้ศาลเลื่อนคดีไปตามที่เห็นสมควร
  • ระบบการบริหารงานของศาลทหารที่ยังมีระบบการเรียกพยานบุคคลมาเบิกความไม่เต็มระบบ ศาลทหารมีเพียงบริการออกหมายเรียกพยานของคู่ความให้มาศาลดังเช่นที่ศาลยุติธรรมได้กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ แต่ศาลทหารยังไม่มีระบบให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายรายงานผลการส่งหมายกลับเข้าสำนวนคดีเหมือนศาลยุติธรรม ที่จะทำให้คู่ความทราบก่อนวันนัดหรือในวันนัดได้ว่าส่งหมายเรียกพยานรายนั้นได้หรือไม่ หากส่งไม่ได้เกิดจากสาเหตุใด ดังเช่นที่ หากนัดใดอัยการทหารที่ออกหมายไม่สามารถติดตามพยานมาสืบได้ ทั้งจำเลยและทนายความจะไม่มีโอกาสได้ทราบล่วงหน้าและต้องเสียวันนัดพิจารณานั้นไป 1 วันต่อการเลื่อนสืบพยาน 1 ครั้ง
  • การไม่ออกหมายจับพยานและการฟ้องคดีพยานที่ไม่มาตามหมายเรียก ศาลทหารไม่ได้กำหนดโทษให้พยานบุคคลปากสำคัญที่ไม่มาศาลตามหมายนัด โดยการออกหมายจับและเอาตัวมากักขังไว้เพื่อให้เบิกความอันเป็นข้อสำคัญของคดีในเวลาอันควร ซึ่งแตกต่างจากศาลยุติธรรมที่กำหนดให้มีกระทำดังกล่าว ไว้ในมาตรา 111 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 170 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า ม.111 อนุ 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลเห็นว่าคำเบิกความของพยานที่ไม่มาศาลเป็นข้อสำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี เมื่อศาลเห็นว่าพยานได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้ว จงใจไม่ไปยังศาลตามเวลาที่กำหนดไว้ หรือจงใจหลบเสีย ศาลจะสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีไปและออกหมายจับและเอาตัวพยานกักขังไว้จนกว่าจะได้เบิกความตามวันเวลาที่เห็นสมควรได้ แต่ไม่ลบล้างโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และม. 170 ประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และบางกรณี “พยานฝ่ายโจทก์ขออนุญาตเลื่อนนัด” เอง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะพยานทราบวันนัดตามหมายเรียกจากอัยการอยู่ก่อนแล้ว

.

ผลร้ายจากการพิจารณาคดีที่ยาวนาน

การพิจารณาคดีที่ล่าช้าไม่ว่าด้วยเหตุใดดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้คดีของจำเลยซึ่งเป็นพลเรือนอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารด้วยระยะเวลายาวนานอย่างไม่ควรจะเป็น โดยที่ศาลทหารมีปัญหาทั้งในเรื่องการขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดีเพราะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม ยังผลให้เกิดปัญหาอันกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยโดยตรง

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ พบว่า จำเลยได้รับผลกระทบจากการพิจารณาคดีที่ยาวนานนี้ใน 3 ลักษณะ กล่าวคือ

1) ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว มีจำนวนถึง 4 คดี จากจำนวนทั้งหมด 58 คดี โดยมีคดีที่ล่าช้าที่สุดของศาลทหาร คือ คดีนายสิรภพ  ที่ปัจจุบันถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดียาวนานถึง 4 ปี 8 เดือน หรือรวมแล้ว 1,634 วัน สิรภพไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวแม้จะยื่นคำประกันตัวถึง 7 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 61 โดยวางเงินประกันถึง 500,000 บาทแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ หากอัญชัญ ไม่ได้รับการประกันตัวในคดี 112 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 61 เธอจะถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีมากกว่า 3 ปี 9 เดือน หรือ 1,380 วัน

.

ผลร้าย: ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว
กรณีระยะเวลาที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี (ข้อมูล ณ 15 มี.ค. 62)
1. คดี 112 สิรภพ (สงวนนามสกุล)4 ปี 8 เดือน (1,634 วัน)
2. คดีครอบครองระเบิด RGD54 ปี 6 เดือน (1,584 วัน)
3. คดีก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญา ( จำเลย 5 คนจากทั้งหมด 14 คนยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว)4 ปี (1,471 วัน)
4. คดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา4 ปี (1,462 วัน)
* หมายเหตุ คดี 112 อัญชัญ (สงวนนามสกุล) (จำเลยเพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 61)3 ปี 9 เดือน (1,380 วัน)

.

2) จำเลยตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้คดีจบลงอย่างรวดเร็วและให้ศาลทหารพิจารณาลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ในการต่อสู้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงและคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี พบว่า มี 3 คดีที่จำเลยรับสารภาพในระหว่างการสืบพยานโจทก์ เพราะไม่สามารถอดทนต่อระยะเวลาที่เนิ่นนานของกระบวนการพิจารณาของศาลทหาร และจำเลยเองพิจารณาว่าบรรยากาศทางการเมืองไม่มีทิศทางเปิดกว้างอันจะส่งให้คำพิพากษาเป็นผลดีกับตนได้ โดยจำเลยถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 504 วัน, 414 วันและ 395 วัน ตามลำดับ ก่อนเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ

.

ผลร้าย: จำเลยตัดสินใจรับสารภาพเพราะไม่สามารถอดทนต่อระยะเวลาที่เนิ่นนานจากกระบวนการพิจารณาของศาลทหาร
กรณีจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัวก่อนรับสารภาพ
1. คดี 112 นายธารา (สงวนนามสกุล)504 วัน
2. คดี 112 นายวิชัย (สงวนนามสกุล) ถูกดำเนินคดี จากการปลอมเฟสบุ๊คเพื่อโพสต์ข้อความ414 วัน
3. คดี 112 นายสมัคร (สงวนนามสกุล) ผู้ป่วยทางจิตเวช ถูกดำเนินคดี จากการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ในที่สาธารณะ395 วัน

.

3) เสีย “ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี” เป็นจำนวนมาก ทั้งเงินประกันตัวของจำเลยในคดีศาลทหาร และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลในกรณีที่จำเลยได้รับการประกันตัว  ในส่วนของเงินประกันตัวนั้น โดยที่ศาลทหารไม่มีระเบียบให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งศาลอาจมีดุลพินิจให้ปล่อยตัวจำเลยในระหว่างพิจารณาโดยไม่ต้องมีหลักประกันได้ในกรณีที่มีอัตราโทษต่ำกว่า 5 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้ทุกคดีที่ขึ้นสู่ศาลทหาร จำเลยต้องหาหลักทรัพย์มายื่นประกอบคำร้องขอประกันตัว ทั้งนี้ ข้อมูลของคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความฯ ที่เคยยื่นขอประกันตัวในศาลทหารจำนวน 32 คดี มี 25 คดีที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 1,008,000 บาท หรือ รวมเป็นหลักทรัพย์ใน 25 คดี กว่า 7,060,000 บาท เงินประกันดังกล่าวนี้เป็นภาระอันหนักอึ้งที่จำเลยแต่ละคนซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาต้องหามาเพื่อใช้แลกกับอิสระภาพให้ตนเองซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ

.

“ความล่าช้า” ที่ย้อนแย้งกับข้ออ้างของ คสช.  

หากทบทวนถึงเหตุผลและนัยยะที่ยกมาอ้างในการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 แล้ว หนึ่งในนัยยะหนึ่งคือ “ความรวดเร็ว” ในการจัดการคดีที่เกี่ยวข้องในยุคที่รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจ แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึง “ความล่าช้า” ในการพิจารณาคดีด้วยเหตุข้อขัดข้องทางกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวเนื่องด้วยการรัฐประหารและเหตุเฉพาะจากการเลื่อนการสืบพยานฝ่ายโจทก์ เหตุผลที่ยกมาอ้างดังกล่าวจึงไม่เป็นจริง ดังนั้น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 จึงไม่มีความชอบธรรมต่อไปในการบังคับใช้

แม้ต่อมา คสช. ได้ยกเลิกประกาศนี้แล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 59 ด้วยคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559  ทำให้การกระทำที่เป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ, ความผิดในหมวดความมั่นคงบางประเภท, ความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. และคดีเกี่ยวกับอาวุธ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารอีก แต่อย่างไรก็ตาม การยกเลิกให้พลเรือนขึ้นศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ไม่รวมถึงคดีที่ได้ฟ้องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงการกระทำความผิดในลักษณะที่กล่าวมาในระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 12 ก.ย. 59 ยังคงอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารต่อไป ข้อเท็จจริงที่ยังมีการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร อีกจำนวน 25 คดี และจำนวนพลเรือน 60 คน ที่ยังอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารในความดูแลของศูนย์ทนายความฯ นี้ แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องถึงความไม่ชอบธรรมต่อการบังคับใช้อำนาจที่ไม่อาจบรรลุผลได้ และยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลถึงความด้อยประสิทธิภาพที่จะเข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair Trial) ของผู้ถูกดำเนินคดีอาญาอีกด้วย

การพิจารณาคดีที่เป็นธรรมรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (3) (ค) (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) โดยสิทธิหนึ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ได้ประกันสิทธิไว้ให้ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา คือ “การได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้า” ผ่านทนายความที่ตนเองเลือกในทุกขั้นตอน ทั้งชั้นตำรวจ อัยการและในชั้นศาล เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไทยในฐานะรัฐภาคี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธะกรณีเหล่านี้ อย่างน้อยโดยการบริหารงานยุติธรรมที่คำนึงถึงหลักการได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยไม่ชักช้านี้[7] ซึ่งในศาลยุติธรรมมีการกำหนดระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมเร่งรัดการพิจารณาคดีอาญาให้รวดเร็ว เพื่อลดปัญหาคดีล้นศาลในแต่ละปี และเพื่อลดภาระทางคดีและค่าใช้จ่ายของคู่ความ มาตรการดังกล่าว คือ การจัดระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่ความ และการกำหนดวันนัดพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่อง[8] อันสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมาตรการเหล่านี้ขาดหายไปจากการบริหารงานยุติธรรมของศาลทหาร แม้ไม่สามารถเปรียบเทียบสถิติเป็นจำนวนระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาคดีประเภทเดียวกันระหว่างศาลยุติธรรมและศาลทหารได้ในความเรียงฉบับนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎถึง “ความล่าช้า” ในการพิจารณาคดีข้างต้นในศาลทหารนำมาสู่ข้อสรุปได้ว่า ไทยไม่สามารถประกันสิทธิถึงการพิจารณาโดยไม่ชักช้าตามกฎหมายระหว่างประเทศได้จากการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

การคลี่คลายความไม่ชอบธรรมจากการอ้างเหตุที่ไม่อาจบรรลุผลได้ในนามของความรวดเร็วและการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี ตลอดจนถึงการประกันสิทธิได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้า คือ คสช. ต้องยกเลิกการนำพลเรือนเข้าสู่การพิจารณาในศาลทหารโดยเด็ดขาด ไม่ว่ามูลเหตุแห่งการกระทำความผิดนั้นจะเกิดขึ้นก่อนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 55/2559 จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ก็ตาม พร้อมกับโอนคดีทั้งหมดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหารขณะนี้เข้าสู่ระบบการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เพื่อประกันว่าสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการคุ้มครองจากศาลยุติธรรม และรับรองว่าการพิจารณาคดีอาญาจะไม่ต่ำกว่ามาตรฐานในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และที่สำคัญเพื่อลดปัจจัยและปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดีของศาลทหารให้หมดไป

และเนื่องด้วยวาระการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลใหม่และพรรคการเมืองที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจำเป็นต้องสร้างวาระการจัดการปัญหาการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อพลเรือนทั้งในศาลทหารและศาลยุติธรรมที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีพลเรือนหลายคดีในศาลทหารที่ยังไม่เสร็จสิ้น

การพิจารณาคดีที่มีวันหมดอายุ

การกำหนดวันนัดอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนได้มีเวลาทำมาหากิน

อาจเป็นคำตอบให้กับเสียงของจำเลยและญาติจำเลยในห้วงยามที่พวกเขาและคนที่เขารักถูกดำเนินคดีจากการใช้อำนาจของ คสช. ในสมัยรัฐประหาร 2557

.

———————————————-

[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (พฤศจิกายน, 2559). ทนายสิทธิฯ เล่าเรื่อง: ปัญหาการทำงานของศาลทหาร “การจองจำไม่มีวันหมดอายุ”. เข้าถึงได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=2922.

[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (พฤศจิกายน, 2557). เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร. เข้าถึงได้ที่ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/11/13/static-case-in-military-court/.: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (สิงหาคม, 2558). เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ปี 2. เข้าถึงได้ที่ https://tlhr2014.com/th/?p=1650. และ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (กุมภาพันธ์, 2560). พลเรือนยังคงขึ้นศาลทหาร: เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ปีที่ 3. เข้าถึงได้ที่ https://tlhr2014.com/th/?p=3498. : โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLAW). (สิงหาคม 2561). สีปี ศาลทหาร คดีพลเรือนยังคงค้างอย่างน้อย 281 คดี. เข้าถึงได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/4yearsofmilitarycourt., ทั้งนี้ ทางศูนย์ทนายความฯ ยังไม่พบการรายงานอย่างเป็นทางการในสถิติใหม่

[3] การนับจำนวนพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารในความเรียงฉบับนี้ไม่นับรายชื่อพลเรือนซ้ำ แม้ว่าจำเลยจะถูกฟ้องในหลายคดี

[4] ดูตารางนัดหมายคดีประจำเดือนมีนาคม 2562 ที่เว็บไซด์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

[5] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง. (กรกฎาคม, 2559). ‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินการ ม. 112 กับผู้ป่วยจิตเภท. เข้าถึงได้ที่  https://www.tcijthai.com/news/2016/18/scoop/6305.

[6] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (พฤศจิกายน, 2559). ทนายสิทธิฯ เล่าเรื่อง: ปัญหาการทำงานของศาลทหาร “การจองจำไม่มีวันหมดอายุ”. เข้าถึงได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=2922.

[7] เรียบเรียงจากร่างข้อเสนอต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นธรรม ภายใต้ระบอบ คสช. ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

[8] ดูระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีอาญา พ.ศ. 2560 และระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่อง พ.ศ. 2545

.

X