การล่าชื่อถอดถอน กกต. เป็นสิทธิ – พื้นที่มหาวิทยาลัยควรเปิดกว้างต่อเสรีภาพการแสดงออก

ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา นักศึกษาและประชาชนในสังคมบางส่วนได้ตั้งคำถามและข้อสงสัยถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ตั้งแต่ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้ง จนนำมาสู่การรวบรวมรายชื่อของประชาชนเพื่อร้องเรียนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานขององค์กรอิสระอย่าง กกต.ตามขั้นตอนตามกฎหมาย  

ในการรวบรวมรายชื่อดังกล่าว กลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศกระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆอย่างน้อย 23 จุด ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและสถานที่สาธารณะ แต่ปรากฎว่าการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 8 แห่ง ถูกผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ กดดันไม่ให้ใช้สถานที่หรือสั่งให้ยุติกิจกรรม จนต้องย้ายสถานที่จัดหรือยกเลิกกิจกรรม นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบยังติดตามการทำกิจกรรมในแทบทุกพื้นที่ รวมถึงเดินทางไปบ้านของนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมแล้วอย่างน้อย 1 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการดำเนินการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอน กกต. นั้นเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย จึงมีความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1. การรวบรวมรายชื่อเพื่อร้องเรียนการทำงานของ กกต. ต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า อาจมีการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 235 ประกอบมาตรา 234 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นการใช้สิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตรวจสอบ ถ่วงดุล และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามขอบเขตแห่งมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญ และตามข้อบทที่ 25 (ก) (ข) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีส่วนร่วมต่อการดำเนินการขององค์กรจัดการเลือกตั้ง

2. การรวบรวมรายชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอน กกต. เป็นสิทธิและขั้นตอนตามกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อลงชื่อและรวบรวมเอกสารไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. จึงไม่ใช่การชุมนุมที่เป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป การกระทำดังกล่าวจึงไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ ตามนิยามการชุมนุมสาธารณะในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่อาจอ้างหรือใช้กฎหมายดังกล่าวมาจำกัดและสร้างเงื่อนไขในการดำเนินการ ไม่ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในสถานศึกษา ในพื้นที่เอกชน หรือในที่สาธารณะก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การคัดค้าน กกต. ในพื้นที่สาธารณะในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามนิยามการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมนั้นยังได้รับการรับรองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากนี้ การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายใดๆ ยังเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

3. เสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงออกนั้น นอกจากบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเคารพและไม่ละเมิดแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังมีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองการใช้เสรีภาพนั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีใน ICCPR ข้อบทที่ 19 และข้อบทที่ 21 นอกจากนี้พึงตระหนักว่าปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สามารถอ้างบทบัญญัติใดในการริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมได้

การขัดขวางการทำกิจกรรม หรือการติดตามบุคคลไปยังที่พักด้วยเหตุการร่วมกิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากฐานอำนาจทางกฎหมาย เป็นการละเมิดเสรีภาพ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งนักศึกษาหรือประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามข้อ 1 และข้อ 2 นั้น ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ให้ความร่วมมือในกรณีที่เกิดการคุกคามลักษณะดังกล่าวได้

4. มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการแสวงหาความรู้ และการจุดประกายทางปัญญา ควรเป็นพื้นที่อันเปิดกว้างสำหรับการใช้สิทธิและเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ในสังคม

การที่มหาวิทยาลัยกล่าวอ้างถึงความเป็นกลางทางการเมืองเข้ากดดันหรือขัดขวางไม่ให้นักศึกษาจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อดังกล่าว หรือการข่มขู่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อนิสิตนักศึกษาของตนเองที่ออกมาทำกิจกรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

มหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้และค่านิยมประชาธิปไตยจึงควรยอมรับให้มีการแสดงออกของนักศึกษาที่มีความเห็นอันหลากหลายได้โดยเท่าเทียม และโดยปราศจากการแทรกแซงหรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่จะทำให้นักศึกษาไม่อาจแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกได้อย่างเสรี

X