ตรวจตราคดี 112 ที่ไม่จบแค่คำพิพากษา กรณีไม่ให้พักโทษไผ่และสมยศ

 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 62 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากจตุภัทร์ ‘ไผ่’ บุญภัทรรักษา เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 805/2562 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษที่มีมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษจตุภัทร์-ผู้ฟ้องคดี ในการประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 62 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาดของคณะอนุกรรมการฯ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 56,172.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ดูองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ พักโทษ ที่นี่)

 

ไม่ให้พักโทษเหตุเพราะเป็นความผิดต่อสถาบัน

มติของคณะอนุกรรมการฯ พักโทษ ซึ่งไม่อนุมัติให้จตุภัทร์ได้รับการพักโทษดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า พฤติการณ์กระทําผิดของจตุภัทร์มีลักษณะความผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย จึงให้ทัณฑสถานอบรมพัฒนาพฤตินิสัยต่อไปนั้น  มีขึ้นขณะจตุภัทร์รับโทษจำคุกแล้วกว่า 2 ปี 2 เดือน จากคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทวิเคราะห์ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าว BBC ไทย ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยเหลือโทษจำคุกอีก 111 วัน

คดีดังกล่าวของไผ่หรือจตุภัทร์เป็นที่สนใจ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับจากการดำเนินคดีซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย (ดูเพิ่มเติมเหตุการณ์นอกกระบวนการปกติในคดีนี้ที่ 112 วัน ของไผ่ในเรือนจำขอนแก่น) จนกระทั่งปลายทางของกระบวนการยุติธรรมเมื่อไผ่ถูกพิพากษาจำคุก และถูกคุมขังมาแล้วใกล้ครบกำหนดโทษ เขาก็ยังถูกปฏิเสธให้ได้พักโทษ หรือได้ปล่อยตัวก่อนกำหนดเช่นนักโทษเด็ดขาดตามปกติ

ก่อนหน้านี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษคดี 112 ก็ถูกคณะกรรมการพักโทษปฏิเสธให้พักโทษมาแล้วเช่นกัน ในวันที่เขาถูกคุมขังเกือบ 6 ปี 8 เดือน อีก 4 เดือนจะครบโทษ 7 ปีที่ศาลพิพากษา ด้วยเหตุผลว่า ขาดองค์ประกอบที่จะสนับสนุนให้พักการลงโทษ แม้สมยศจะอุทธรณ์คำสั่งแต่ไม่มีผล ทำให้เขาตัดสินใจฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการพักการลงโทษที่ไม่เห็นชอบพักโทษ และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เขา

เหตุการณ์เหล่านี้ชวนให้เกิดคำถามว่า อะไรคือวัตถุประสงค์ของการพักโทษ มีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง การเป็นนักโทษ 112 เป็นเหตุให้ไม่อนุมัติให้พักโทษได้จริงหรือ สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่และวัตถุประสงค์ในเรื่องนี้หรือไม่ รวมถึงจตุภัทร์และสมยศมีข้อโต้แย้งมติของคณะกรรมการพักโทษอย่างไร รายงานชิ้นนี้จะไล่เรียงประเด็นต่างๆ เหล่านี้ โดยส่วนหนึ่งอ้างอิงคำฟ้องศาลปกครองที่จตุภัทร์และสมยศเป็นผู้ฟ้องคดี

ภาพโดย ประชาไท

การพักโทษ: ได้ประโยชน์ทั้งรัฐ ผู้ต้องขัง และสังคม

การพักการลงโทษ หรือเรียกสั้นๆ ว่า การพักโทษ หมายถึง การปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด จนกว่าจะครบกําหนดโทษจริง หากผู้ได้รับการพักโทษฝ่าฝืนเงื่อนไขคุมประพฤติ ก็จะถูกสั่งเพิกถอนการพักโทษ และถูกจับตัวกลับไปจําคุกต่อจนกว่าจะครบกําหนดโทษ โดยไม่ต้องมีหมายจับอีก

ทั้งนี้ การพักโทษมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ

  1. เพื่อระบายนักโทษออกจากเรือนจํา ลดความแออัดและลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ
  2. เพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยง่าย และลดการกระทำผิดซ้ำ โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยช่วยเหลือแนะนำ ทั้งเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ต้องขังประพฤติดี ตั้งใจศึกษาอบรมและฝึกวิชาชีพ เพื่อจะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น
  3. เพื่อป้องกันสังคม เนื่องจากพนักงานคุมประพฤติยังคงติดตามดูแล สอดส่อง ควบคุมพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับการพักโทษ และนำกลับเข้าจำคุกหากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไข จึงเป็นการป้องกันสังคมโดยทางอ้อม

 

สำรวจกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

19 พ.ค. 60 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษ ปรากฏอยู่ในส่วนที่ 3 ของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งกล่าวถึง ประโยชน์ของผู้ต้องขัง โดยมาตรา 52 ระบุว่า นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และทําการงานเกิดผลดี หรือทําความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เลื่อนชั้น ลดวันต้องโทษจำคุก หรือพักการลงโทษ เป็นต้น โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กําหนดในกฎกระทรวง

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าวตามความใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ทำให้ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับเก่า ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่

เมื่อสำรวจดูระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้ต้องขังจะได้รับ ซึ่งใช้อยู่ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับเก่า พบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่   ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเณฑ์และวิธีการการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุก และการพักการลงโทษ พ.ศ. 2559 และประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2560

ระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ 2559 ข้อ 60-65 กำหนดคุณสมบัติของนักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ ดังนี้

  • เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป
  • ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก
  • มีผู้อุปการะ
  • ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษซึ่งมีผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธาน

ระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ ยังระบุว่า นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพิจารณาให้พักโทษ  อาจได้พักโทษไม่เกิน 1 ใน 3 ของโทษที่ศาลตัดสิน กรณีเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม, ไม่เกิน 1 ใน 4 กรณีเป็นนักโทษชั้นดีมาก และไม่เกิน 1 ใน 5 กรณีเป็นนักโทษชั้นดี ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการจะต้องคัดเลือกจากนักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกใกล้เคียงกับเกณฑ์ดังกล่าว

ภาพโดย ไทยรัฐ

นอกจากกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว ระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ ยังให้อำนาจอธิบดีในการกำหนดหลักเกณฑ์การพักโทษ โดยคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ  ด้วย เช่น ความประพฤติขณะถูกคุมขัง, ระยะเวลาคุมประพฤติ, ประวัติการต้องโทษ, พฤติการณ์ก่อนมาต้องโทษ, พฤติการณ์การกระทำผิด,  ความน่าเชื่อถือของผู้อุปการะ, ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ออกเป็นประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2560 โดยในข้อ 1 นอกจากระบุคุณสมบัตินักโทษที่จะได้รับพิจารณาพักโทษตามที่กำหนดไว้แล้วใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ พ.ศ. 2559 แล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติบางประการเพิ่มเติม เช่น ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยเกี่ยวกับยาเสพติดหรือเครื่องมือสื่อสาร, ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยกรณีอื่นภายในระยะเวลา 2 ปี, มีระยะเวลาคุมประพฤติไม่เกิน 5 ปี, ไม่มีคดีอายัดหรือหมายจับ เป็นต้น

ประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ ข้อ 2 ยังกำหนดคุณสมบัติในส่วนพฤติการณ์ของนักโทษเด็ดขาดเป็นเกณฑ์ไว้อย่างกว้าง ๆ โดยให้อำนาจคณะกรรมการคัดเลือกฯ และคณะกรรมการพักโทษใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เช่น

  • ในระหว่างถูกคุมขังมีความประพฤติที่แสดงให้เห็นว่าสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมให้ดีขึ้นเป็นที่ไว้วางใจ
  • ไม่มีพฤติการณ์ที่อาจส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม
  • พิจารณาถึงพฤติการณ์ก่อนมาต้องโทษ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ ประวัติการต้องโทษ เป็นต้น
  • พิจารณาถึงพฤติการณ์กระทำผิดในคดีต้องโทษอยู่ทุกคดี สาเหตุการกระทำผิด และผลกระทบของการกระทำผิดต่อผู้เสียหายและสังคม

นอกจากนี้ ยังกำหนดลักษณะความผิดบางประการ ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ, ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ, ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย, ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดรายสำคัญ, ความผิดที่เป็นที่สนใจของสังคมหรือรายสำคัญ เป็นต้น ซึ่งหากนักโทษเด็ดขาดต้องโทษจากการทำความผิดเหล่านี้ จะได้รับการพิจารณาผ่อนปรนจากคณะกรรมการให้พักโทษได้  ต้องมีเหตุผลพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งสนับสนุน เช่น ขณะกระทำผิดมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หรือเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น

คณะกรรมการคัดเลือกฯ นักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษ จะใช้เกณฑ์เหล่านี้ในการพิจารณา เมื่อได้รายชื่อนักโทษที่ผ่านเกณฑ์ ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ ต้องส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นประธาน และเสนอคณะกรรมการพักการลงโทษ ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน (หรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายกัน) พิจารณาอนุมัติโดยใช้เกณฑ์เหล่านี้เช่นกัน

ขั้นตอนการพักโทษ สืบค้นจากเว็บไซต์ กองทัณฑวิทยา

การทวงถามความยุติธรรม เมื่อไผ่และสมยศไม่ได้พักโทษ

กรณีการพิจารณาพักโทษของไผ่  เรื่องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และคณะกรรมการกลั่นกรอง นำเสนอให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณาแล้ว แสดงว่า กรรมการสองชุดแรกเห็นว่าไผ่มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่กลับติดขัดอยู่ที่คณะอนุกรรมการฯ พักโทษ ซึ่งในการพิจารณาครั้งแรกยังไม่มีมติ  โดยให้ทัณฑสถานฯ ติดตามผลคดีของไผ่ที่ยังไม่ถึงที่สุดอีก 3 คดี เป็นข้อมูลเพิ่มเติม (ดูลำดับเหตุการณ์คุมขังไผ่ในคดี 112 ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม คดีทั้งสามไม่ได้เป็นเหตุตามกฎหมายให้ไม่อนุมัติพักโทษ เนื่องจากไม่ใช่คดีที่มีหมายจับหรือคดีที่พิพากษาลงโทษแล้ว แต่ในการนำเรื่องเข้าพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 คณะอนุกรรมการฯ พักโทษก็มีมติไม่อนุมัติให้ไผ่ได้พักโทษโดยให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาคุณสมบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษแล้วเห็นว่า พฤติการณ์กระทําผิดของจตุภัทร์มีลักษณะความผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย จึงให้ทัณฑสถานอบรมพัฒนาพฤตินิสัยต่อไป

เห็นได้ว่า คณะอนุกรรมการฯ ใช้ลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ เป็นเหตุผลที่ไม่ให้พักโทษ ทั้งที่ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ ลักษณะความผิดดังกล่าว ไม่ใช่เหตุที่จะไม่อนุมัติให้พักโทษ เพียงแต่ต้องมีเหตุผลพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งสนับสนุน ซึ่งกรณีไผ่ในวันที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา เขาเหลือโทษจำคุกอีก 111 วัน หรือ 3 เดือนกว่า ไม่ถึง 1 ปี อันเป็นเหตุผลหนึ่งตามที่ประกาศกรมราชทัณฑ์กำหนดไว้ ที่สนับสนุนให้คณะอนุกรรมการฯ สามารถใช้ดุลพินิจผ่อนปรนให้ไผ่พักโทษได้

ยิ่งเมื่อกลับไปพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการพักโทษซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อรัฐ ผู้ต้องขัง และสังคม โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยง่าย การไม่พักโทษให้ไผ่จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ยังไม่เกิดประโยชน์อันใด

ฟ้องเพิกถอนมติไม่ให้พักโทษของไผ่

ด้วยเหตุดังกล่าว ไผ่จึงใช้สิทธิในการฟ้องศาลปกครอง คำฟ้องของไผ่ระบุว่า ในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดให้ได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น การตีความกฎหมายตลอดจนการมีคำสั่งทางปกครองใดในเรื่องการพักโทษจึงต้องตีความเพื่อส่งเสริมสิทธิประโยชน์มากยิ่งกว่าตีความกฎหมายตลอดจนการมีคำสั่งทางปกครองไปในทางลดทอนสิทธิประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด

คำฟ้องยังอธิบายว่า ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 1 ของประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 กล่าวคือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี, ต้องโทษจำคุกครั้งแรก, ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยใด ๆ และไม่มีคดีอายัดหรือหมายจับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ไผ่ยังระบุในคำฟ้องว่า พนักงานคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติ จังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว (ภูมิลำเนาที่ไผ่จะไปอยู่ในช่วงคุมประพฤติ) ได้จัดทำรายงานสืบเสาะข้อเท็จจริงพักการลงโทษและมีความเห็นว่า เห็นสมควรปล่อยนักโทษรายนี้เพื่อคุมความประพฤติเนื่องจากมีมารดารับเป็นผู้อุปการะ ผู้อุปการะมีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่เคยมีความประพฤติใดเสียหายมาก่อน ผู้อุปการะมีการวางแผนให้นักโทษภายหลังปล่อยด้วย และผู้นำชุมชนให้ความเห็นว่าควรปล่อยคุมประพฤติ เนื่องจากมีมารดารับเป็นผู้อุปการะที่ดูแลนักโทษได้

เกี่ยวกับคุณสมบัติด้านพฤติการณ์ คำฟ้องก็ได้อธิบายว่า ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ และตามข้อ 2 ของประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ กล่าวคือ มีความประพฤติดี เห็นได้จากการได้เลื่อนชั้นนักโทษด้วยคะแนนเต็มในทุกมิติ, มีความอุตสาหะ โดยสมัครเข้าศึกษาต่อชั้นปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสอบผ่านในรายวิชาปรัชญาการเมือง, ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล ให้รักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ต้องขัง, ผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น และหลักสูตรสัคคสาสมาธิ ซึ่งเป็นหลักสูตรพัฒนาพฤตินิสัยของกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งไม่เคยมีประวัติการต้องโทษ ทั้งยังเป็นนักศึกษา/นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย/นักปกป้องสิทธิมนุษยชนก่อนมาต้องโทษ ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีได้รับการปล่อยตัวก็มีแผนการทำงานเกี่ยวกับวิชาชีพกฎหมายและศึกษาต่อ

คำฟ้องคดีสรุปว่า เมื่อพิจารณาคุณสมบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการพักโทษแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ) กลับใช้ดุลพินิจพิจารณาโดยอาศัยเพียงลักษณะความผิด ทั้งที่ต้องนำพฤติการณ์ ลักษณะความผิด และองค์ประกอบอื่น มาพิจารณาชั่งน้ำหนักประกอบให้รอบด้านเสียก่อนจะมีมติไปทางใดทางหนึ่ง อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็มิได้นำข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ฟ้องคดีเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี อันเป็นเหตุตามประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ มาพิจารณาผ่อนปรนให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการพักโทษ  จึงทำให้มติไม่เห็นชอบพักการลงโทษผู้ฟ้องคดี เป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาดของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ส่งผลให้คำสั่งไม่อนุญาตพักโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าวได้

ฟ้องเพิกถอนมติไม่ให้พักโทษของสมยศ

การไม่อนุมัติให้พักโทษสมยศ พฤกษาเกษมสุขก็เช่นกัน ขั้นตอนไปติดขัดอยู่ที่คณะกรรมการพักการลงโทษ คณะกรรมการให้เหตุผลว่า สมยศ (ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ยังขาดองค์ประกอบที่จะสนับสนุนให้พักโทษ ในส่วนของพฤติการณ์กระทำผิด อายุขณะกระทำผิด อายุขณะที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษ ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงระยะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตหรือพิการที่ช่วยเหลือตังเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย

ภาพโดย AFP

สมยศได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 61 โต้แย้งมติดังกล่าวของคณะกรรมการพักโทษว่า  แม้ผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาดในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112  แต่ก็มีเหตุผลพิเศษสนับสนุนให้คณะกรรมการพักโทษใช้ดุลพินิจพิจารณาผ่อนปรนให้ได้รับการพักโทษ  กล่าวคือเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี หรือเพียง 4 เดือน 5 วัน ณ วันที่คณะกรรมการพักโทษพิจารณา อันเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นแต่อย่างใด ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้ร้ายแรง โดยผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดเองโดยตรง รวมทั้งในระหว่างถูกคุมขังมีความประพฤติดี โดยได้รับคะแนนความประพฤติเต็ม 100 คะแนน ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่จะได้รับการพักโทษ

คำฟ้องของสมยศจึงขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการพักการลงโทษที่ไม่เห็นชอบการพักโทษผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากมีความผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 (กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 64,569.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายต่อเสรีภาพในร่างกาย

นอกจากนี้ สมยศยังขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการคัดเลือกฯ และคณะกรรมการพักโทษ พิจารณาให้ความเห็นชอบการพักโทษโดยคำนึงถีงลักษณะความผิด รวมทั้งให้อำนาจผ่อนปรนให้พักโทษหากมีเหตุผลพิเศษสนับสนุน   เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้อดังกล่าวขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ พ.ศ. 2559 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

คำฟ้องอธิบายเหตุผลว่า ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ  ข้อ 65 ให้อำนาจอธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์การพักโทษ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของนักโทษเด็ดขาดและปัจจัยอื่น ๆ แต่ไม่ได้กำหนดเรื่องลักษณะความผิดไว้ การออกประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ โดยกำหนดลักษณะความผิดจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในการบังคับตามคำพิพากษาต่อนักโทษที่ถูกศาลพิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกตามอัตราโทษที่ศาลเห็นว่าเหมาะสมแก่คดีไปแล้ว อันขัดต่อหลักความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

บทสรุป: การฟ้องคดีเพื่อเป็นบรรทัดฐานไม่ให้รัฐเลือกปฏิบัติ

การไม่ได้พักโทษของนักโทษ 112 สองคนในเวลาห่างกันไม่นาน เป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาลงมติของคณะกรรมการในระดับกระทรวงซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย และหากพิจารณาวัตถุประสงค์ของการพักโทษ ก็อาจกล่าวได้ว่า คณะกรรมการพักโทษไม่ได้ยึดกุมวัตถุประสงค์เป็นหลักในทั้งสองกรณี ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนักโทษทางการเมืองที่ต้องโทษจำคุกจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะในความผิดตามมาตรา 112 นำมาสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แม้คำพิพากษาในทั้งสองคดีจะไม่มีผลให้ทั้งสองคนออกมาจากที่คุมขังทันทีเนื่องจากพ้นโทษก่อน แต่จะถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับนักโทษ 112 คนอื่น ๆ อาจรวมถึงนักโทษเด็ดขาดในคดีอื่นซึ่งถูกเลือกปฏิบัติด้วย

นอกจากสะท้อนปัญหาการใช้ดุลพินิจอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว กรณีทั้งสองยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจออกโดยนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนด และขัดต่อหลักความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญ แม้ว่าประกาศดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากจะต้องมีการออกกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการเรื่องการพักโทษ ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 แต่คำพิพากษาของศาลปกครองในเรื่องนี้ก็จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับกฎกระทรวงดังกล่าวที่กำลังจะออกมาด้วย

 

 

X