อัยการสั่งฟ้อง 10 แกนนำ คดี UN62 อ้าง หากปลุกระดมมวลชนได้จะทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

วานนี้ (22 พ.ค. 62)  นางสาวศรีไพร นนทรี, นายวันเฉลิม กุนเสน, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายประจิณ ฐานังกรณ์, และนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ เดินทางไปศาลอาญา ถ.รัชดา ตามที่อัยการนัดในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.61 หรือคดี “UN62” 

โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 มีคำสั่งฟ้องแกนนำ 10 ราย นอกจากทั้งห้าคนที่เดินทางมาศาลแล้ว ยังมีอีกห้ารายที่อัยการไม่ได้นัดหมายให้มาศาล ได้แก่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, น.ส. ณัฎฐา มหัทธนา, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายอานนท์ นำภา และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ หลังอัยการส่งฟ้องต่อศาล ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งห้าคนที่เดินทางมาศาล โดยไม่ต้องวางหลักประกัน และกำหนดวันสอบคำให้การในวันที่ 24 มิ.ย. 62

คดีนี้มีเหตุมาจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยการชุมนุมทั้งสองวันถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นโดยตลอด และจบลงที่การจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม 10 ราย ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ และแกนนำที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 5 ราย เข้ามอบตัว นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์ ตำรงจยังออกหมายเรียกผู้ชุมนุมอีก 47 ราย โดย 6 ราย ถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ (ย้อนดูเหตุการณ์ ที่นี่)

พฤติการณ์แห่งคดี : หากสามารถปลุกระดมมวลชนให้จุดติดขึ้นและเลี้ยงกระแสไว้ได้จะทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

คำฟ้องของโจทก์มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 5-22 พ.ค. 61 จำเลยทั้งสิบกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมด้วยการชักชวนให้ประชาชนมาร่วมโค่นล้ม ถอนราก รัฐบาลและ คสช. ผ่านทางเฟสบุ๊ค  โดยในวันที่ 16, 19 และ 20 พ.ค. 61 นางสาวชลธิชา แจ้งเร็วได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแล้วว่า จะรวมพลชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ก่อนเคลื่อนไปสะพานผ่านฟ้า และหยุดที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งและเป็นธรรม และเจ้าหน้าที่ได้ทำหนังสือสรุปการชุมนุมว่า การจัดการชุมนุมนี้มีลักษณะเป็นการชุมนุมทางเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่สามารถให้จัดการชุมนุมได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

วันที่ 21 พ.ค. 61 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการปราศรัยและแสดงความคิดเห็นในลักษณะเป็นการขับไล่และโจมตีการทำงานของรัฐบาล คสช. เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุนรัฐบาล และให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ออกมายืนเคียงข้างผู้ชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและ คสช. ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนและข้าราชการทหารเกิดความกระด้างกระเดื่อง และในวันดังกล่าว พวกของจำเลยได้ทำลายกุญแจที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คล้องไว้ไม่ให้บุคคลใดที่จะมาชุมนุมเข้ามหาวิทยาลัยได้

จนกระทั่งวันที่ 22 พ.ค. 61 เจ้าพนักงานจึงประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดเลิกการชุมนุมด้วยเหตุชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันถือเป็นการให้เลิกการชุมนุมตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยกับพวกร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ และได้เคลื่อนย้ายขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ มุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินนอกจนมาถึงหน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ จำเลยกับพวกประมาณ 500 คน ได้เดินล้ำเข้าไปในช่องทางการจราจรอันเป็นการก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนในการสัญจรไปมา

เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้แผงเหล็กมาตั้งเป็นแนวเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายไปต่อ จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันขับรถชนแผงเหล็กอันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งจำเลยกับพวกได้ร่วมกันยื้อยุด ฉุดกระฉาก ผลักแนวแผงเหล็ก และขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุม จนแผงเหล็กได้รับความเสียหายและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ในขณะนั้น เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมได้ออกคำสั่งให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมทั้งหมดที่มั่วสุมและก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองดังกล่าวให้เลิกการชุมนุม แต่ไม่มีการยอมแต่อย่างใด

โดยจำเลยทั้งสิบกับพวกยังคงปราศรัยด้วยเครื่องขยายเสียงในลักษณะต่อต้านรัฐบาล คสช. และให้ทหารร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล ให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันไม่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริตหรือในเชิงวิชาการ แต่เป็นการปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและทหาร หากสามารถปลุกระดมมวลชนให้จุดติดขึ้นและเลี้ยงกระแสไว้ได้จะทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และประชาชนจะเข้าใจว่ารัฐบาลและ คสช. จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน  

และในระหว่างวันที่ 21 – 22 พ.ค. 61 ไม่ปรากฎชัดว่าใครในกลุ่มผู้ชุมนุม ร่วมกันลักต่อกระแสไฟฟ้าจากตู้จ่ายไฟแรงต่ำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อใช้เครื่องขยายเสียง ต่อหลอดไฟติดตามเต๊นท์ และรถสุขาเคลื่อนที่ รวมเป็นค่าไฟจำนวน 140.24 บาท


สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำกว่า 11 ข้อหา 

อัยการจึงสรุปว่า จำเลยทั้งหมดมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และมาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก

นอกจากนั้นยังมีข้อหาอื่นอีก ได้แก่ ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 15,16 ไม่จัดการชุมนุมตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม, มาตรา 18 ไม่เลิกชุมนุมตามระยะเวลาที่กำหนด, มาตรา 19  ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยมีบทกำหนดโทษไว้ตามมาตรา 27, 29, 30, 31, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ มาตรา 108 และ 148 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร และข้อหาตาม พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ 9 จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยนอกจากโจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายแล้ว ยังขอให้ศาลสั่งให้จำเลยร่วมกันชดใช้ราคากระแสไฟฟ้าจำนวน 140.24 บาท แก่การไฟฟ้านครหลวงด้วย

ข้อสังเกต : หลายข้อหากำลังจะหมดอายุความในวันฟ้อง

ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งห้าที่มาศาล โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน แต่มีเงื่อนไขว่า หากผิดสัญญาประกัน ไม่มาศาลตามกำหนดนัดให้ปรับ 1 แสนบาท ส่วนจำเลยอีก 5 คน ที่โจทก์ฟ้อง แต่ไม่ได้นัดมาปรากฏตัวต่อศาลในวันฟ้องด้วยนั้น ในคำบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งห้าอยู่ในอำนาจของศาลในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.649/2562 และ อ.765/2562 (คดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหน้ากองทัพบก) ขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยทั้งห้ามาพิจารณาพิพากษาต่อไป

คดีนี้เป็นคดีกลุ่มแกนนำ ซึ่งในชั้นสอบสวนมีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 21 ราย แต่อัยการส่งฟ้องในครั้งนี้เพียง 10 ราย โดยหลายข้อหาที่อัยการฟ้องจะหมดอายุความในเวลา 1 ปี นับจากวันที่เกิดเหตุ (22 พ.ค. 61) เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีเพียงโทษปรับ  คือความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 18, 30, 31, พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ มาตรา 108 และ 148 และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 และ 9 ทำให้อัยการต้องเร่งส่งฟ้อง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า จำเลย 5 ราย ที่อัยการฟ้องแต่ไม่ได้นัดให้มาปรากฏตัวต่อศาลในวันฟ้อง  เป็นผู้ที่เคลื่อนไหวจัดการชุมนุมต่อเนื่องมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

 

X