การขยายตัวของความรุนแรงที่เป็นระบบ: ข้อสังเกตต่อการลอบทำร้ายนักกิจกรรมการเมือง

คืนวันที่ 2 มิ.. 2562 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ถูกชายราว 5-6 คน เข้ารุมทำร้ายที่ป้ายรถประจำทางซอยรัชดาภิเษกซอย 7 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนจะมีการประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพียง 3 วัน และเป็นวันที่จ่านิวประกาศว่าจะไปยื่นรายชื่อผู้ร่วมคัดค้านไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้จ่านิวได้รับบาดเจ็บรุนแรง พบว่าคนร้ายมุ่งทำร้ายไปที่ศีรษะของเขา โดยดูได้จากบาดแผลที่เกิดขึ้นและต้องพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาล ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะต้องพักรักษาตัวเป็นเวลาเท่าใด

.

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เข้าแจ้งความที่สน.ห้วยขวางและหน่วยกู้ภัยให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังเกิดเหตุ

.

ทั้งนี้ การทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 แล้ว และจ่านิวก็กลายเป็นคนที่สาม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เอกชัย หงส์กังวาน และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ได้ตกเป็นเป้าทำร้ายไปแล้ว โดยเอกชัยคนเดียวถูกทำร้ายไปแล้ว 7 ครั้งเผาทำลายรถ 2 ครั้ง และตามมาด้วยฟอร์ดจำนวน 2 ครั้ง

จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีข้อสังเกตหลายประการจากเหตุการณ์ทำร้ายอย่างต่อเนื่องนี้ ทั้งเป็นไปได้ว่าแนวโน้มการทำร้ายลักษณะนี้อาจขยายตัวและมีระดับความรุนแรงสูงขึ้นได้อีก เมื่อดูจากรูปแบบและความถี่ของเหตุการณ์ รวมไปถึงการไม่มีความคืบหน้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี

.

เอกชัยเดินทางไปเยี่ยมฟอร์ดหลังถูกทำร้ายโดยตัวเอกชัยเองก็เพิ่งถูกทำร้ายเมื่อในวันที่ 13 พ.ค. 2562

.

ความถี่ของเหตุการณ์ และจังหวะของการทำร้าย

ในด้านความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เหตุการณ์ทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 ในปีที่แล้วมีเพียงเอกชัยที่ถูกทำร้ายเพียงคนเดียว แต่จำนวนถึง 4 ครั้ง แยกเป็นในเดือนมกราคม 2 ครั้ง และสิงหาคม 2 ครั้ง

แต่เพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2562 เกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมถึง 3 คน ในจำนวนถึง 6 ครั้ง เฉลี่ยเกิดเหตุเดือนละหนึ่งครั้ง นอกจากนี้หากรวมกรณีการลอบเผารถยนต์ของเอกชัยอีก 2 ครั้ง ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่ง จะนับจำนวนรวมการลอบทำร้ายได้ถึง 8 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปี

ถ้าพิจารณาจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับทั้งสามคน มีจุดร่วมที่เหมือนกันทั้งหมด คือกรณีทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากที่ทั้งสามคนออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง และการลอบทำร้ายทั้งหมดเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักกิจกรรมทั้งสามคน ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัวของบุคคลแต่อย่างใด

ในช่วงแรกส่วนใหญ่การลงมือทำร้ายจะเกิดขึ้นหลังจากนักกิจกรรมออกไปทำกิจกรรมเสร็จสิ้น โดยเฉพาะในกรณีของเอกชัยช่วงแรกแทบทั้งหมด จนกระทั่งใน 3 ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นก่อนที่นักกิจกรรม จะออกไปทำกิจกรรม ได้แก่ กรณีของเอกชัยครั้งล่าสุดที่ถูกลอบทำร้ายหน้าศาลอาญาในตอนเช้า ซึ่งในวันดังกล่าวเอกชัยประกาศว่าจะไปทำกิจกรรมเรียกร้องเรื่องผู้ลี้ภัยที่หายตัวไปที่สถานทูตเวียดนาม

ขณะที่ฟอร์ดถูกทำร้ายขณะกำลังเดินทางไปทำกิจกรรมที่หน้าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ส่วนกรณีจ่านิวมีลักษณะก่ำกึ่ง คือถูกทำร้ายขณะเพิ่งเสร็จสิ้นการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (..) งดออกเสียงตั้งนายกรัฐมนตรี ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และประกาศเตรียมจะไปยื่นรายชื่อและข้อเรียกร้องดังกล่าวในการประชุมสภาในวันที่ 5 มิ.. 2562

จะเห็นได้ว่าเมื่อกลุ่มคนร้ายเลือกลงมือภายหลังทำกิจกรรมแล้ว ไม่ได้ทำให้นักกิจกรรมเลิกนัดทำกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป ก็เปลี่ยนมาลงมือก่อนเพื่อทำให้เขาได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถไปทำกิจกรรมได้แทน และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาด้วยคือการนำเสนอของสื่อถูกเบี่ยงเบนประเด็นจากประเด็นทางการเมือง ที่พวกเขาต้องการจะสื่อจากกิจกรรม มาเป็นเรื่องที่พวกเขาถูกทำร้ายร่างกายแทน

อีกทั้ง การลงมือทำร้ายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกับการจัดกิจกรรมของพวกเขา ก็เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้ผู้ที่ต้องการจะร่วมกิจกรรม หรืออาจจะรวมไปถึงผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้ชักชวนทำกิจกรรมทางการเมืองว่า หากริอ่านจะออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย จะต้องเจออะไรบ้าง เป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับรู้ข่าวสาร กลายเป็นต้นทุนความเสี่ยงสำหรับการจัดกิจกรรมต่อไปที่ผู้จัดจะต้องนำมาคิดคำนวณ ก่อนทำกิจกรรมไปโดยปริยาย

กล่าวได้ว่าการลอบทำร้ายนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนี้จึงทั้งละเมิดต่อสิทธิในความปลอดภัยบนเนื้อตัวร่างกายของผู้ถูกทำร้าย และกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในสังคมด้วย

.

พัฒนาการของการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ

ตั้งแต่เอกชัยเริ่มถูกดักทำร้ายร่างกายมาจนถึงกรณีจ่านิว เราจะเห็นพัฒนาการของทั้งรูปแบบและระดับความรุนแรงที่ใช้กระทำต่อนักกิจกรรมทั้ง 3 คน จากแรกเริ่มที่เป็นเพียงการดักชกต่อยหรือสาดน้ำปลาร้า จนถึงการใช้กลุ่มคนรุมทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธที่เป็นท่อนไม้และท่อนเหล็ก ซึ่งเป็นการกระทำที่เห็นได้ว่าประสงค์ต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นจำนวนผู้ร่วมลงมือก่อเหตุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากแรกเริ่มที่คนลงมือก่อเหตุมีเพียง 1-2 คน แต่ในกรณีของเอกชัยในช่วงหลัง เพิ่มมาเป็น 3-4 คน กรณีของฟอร์ด 6 คน และจ่านิวที่มีผู้ร่วมลงมืออย่างน้อย 5-6 คน ทั้งกรณีในช่วงหลัง ผู้ลอบทำร้ายยังมีการใส่หมวกกันน็อคปิดบังอำพรางใบหน้า และทำเช่นนี้ทุกๆ ครั้ง ในลักษณะคล้ายคลึงกันขณะเข้าทำร้ายนักกิจกรรมแต่ละคน

จากจำนวนของบุคคลดังกล่าว จึงไม่ได้มีลักษณะของกรณีการลงมือแบบปัจเจกบุคคล แต่ดำเนินการเป็นกลุ่มก้อนอย่างเป็นระบบ มีการติดตามเส้นทาง ความเคลื่อนไหว และกำหนดการของนักกิจกรรมที่ตกเป็นเป้าหมายมาอย่างดี มีการวางแผนและหาจังหวะการเข้าทำร้าย มีการวางคนคอยกันไม่ให้คนเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกทำร้าย และมีจำนวนผู้มาเกี่ยวข้องจำนวนมาก

ส่วนกรณีการเผาทำลายทรัพย์สินที่เกิดกับเอกชัยรูปแบบอาจจะแตกต่างออกไป แม้ว่าวิธีการและสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะดูรุนแรง แต่ก็มีความชัดเจนด้วยว่าคนร้ายไม่ได้ประสงค์ทำลายตัวบ้านพักเพื่อเอาชีวิตของเอกชัย เนื่องจากรถจอดอยู่ห่างจากตัวบ้านทำให้ยากที่ไฟจะลามไปถึง

วิดีโอจากกล้องวงจรปิดหน้าบ้านของเอกชัย

.

แต่ถึงกระนั้นการทำลายรถของเอกชัยก็ส่งผลให้เขาไม่สามารถเดินทางไปที่ต่างๆ รวมไปถึงเดินทางไปทำกิจกรรมได้ด้วยตนเองอีกต่อไป เอกชัยต้องกลับมาใช้การเดินทางด้วยขนส่งมวลชนอีกครั้ง หลังจากเขาได้เปลี่ยนวิธีเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยการขับรถไปเองเพื่อความปลอดภัย หลังจากที่ถูกดักทำร้ายมาก่อนแล้วหลายครั้ง

เราอาจสันนิษฐานได้ว่า การเดินทางด้วยขนส่งมวลชนของเอกชัยเคยเป็นช่องโหว่ในการเดินทาง เปิดโอกาสให้คนร้ายสามารถลงมือทำร้ายเอกชัยได้ และเมื่อรถถูกเผาทำลายไป ทำให้เกิดช่องโหว่นี้ขึ้นมาอีกครั้ง และเราก็สามารถพิสูจน์สันนิษฐานนี้ได้จากเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่คนร้ายตามสะกดรอยและขึ้นรถประจำทางตามหลังเอกชัยมาก่อนเริ่มลงมือตั้งแต่เอกชัยยังอยู่บนรถประจำทาง โดยการพยายามถีบเอกชัยลงจากรถ และตามลงมาทำร้ายต่อที่ป้ายรถประจำทางหน้าศาลอาญา

.

การติดตามจับกุมคนร้ายที่ไร้วี่แววความคืบหน้า

แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งหมด 12 ครั้ง (เอกชัย 9 ครั้ง, ฟอร์ด 2 ครั้ง และจ่านิว 1 ครั้ง) แต่กลับมีเพียง 3 ครั้งที่ติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ คือ 2 ครั้งแรกที่คนร้ายเปิดใบหน้าเข้าทำร้ายเอกชัย และยังเป็นบุคคลเดียวกัน และกรณีที่คนร้ายสามคนดักใช้อาวุธทำร้ายในซอยขณะเอกชัยกำลังเข้าบ้านพักเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 แต่ก็ต้องกล่าวว่าตำรวจจับคนร้ายได้เพียงคนเดียวและยังไม่สามารถติดตามผู้ก่อเหตุอีก 2 คน ได้

ความคืบหน้าล่าสุดในกรณีหลังนี้ คือมีการฟ้องร้องบุคคล 1 ราย ในคดีทำร้ายร่างกาย ไปยังศาลอาญา โดยคดีจะเริ่มพิจารณาสืบพยานในวันที่ 16-17 ..2563 หากนับเวลาตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงเริ่มสืบพยานจะใช้เวลาถึง 1 ปี 4 เดือน ทั้งมีรายงานว่าคนร้ายที่ถูกจับกุมได้ในกรณีนี้ ยังไม่ยินยอมให้การหรือให้ข้อมูลใดๆ กับเจ้าหน้าที่

ขณะที่การลอบทำร้ายนักกิจกรรมในปี 2562 ซึ่งมีลักษณะรุนแรงมากขึ้น และมีกลุ่มคนร้ายจำนวนมากขึ้น กลับไม่มีกรณีใดเลยที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ลงมือกระทำการมาได้

แม้ว่าเกือบทั้งหมดคนร้ายได้สวมหมวกนิรภัยปิดบังใบหน้าและมีการถอดป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ แต่เหตุการณ์เกือบทั้งหมดยังเกิดขึ้นในที่สาธารณะที่มีกล้องวงจรปิดให้ติดตามหาตัวคนร้ายได้ หากมีการประสานติดตามภาพจากกล้องวงจรปิดอย่างต่อเนื่องไปจนถึงจุดหมายปลายทางการหลบหนีของคนร้าย แต่กลับไม่พบความคืบหน้าใดๆ ในกรณีที่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้วของเอกชัย แม้ว่าเบื้องต้นกรณีที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดจะมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ได้ก็ตาม

การไม่สามารถหรือไม่ดำเนินการในการติดตามจับกุมกลุ่มคนทำร้ายมาดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำร้ายยังคงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ลงมือดูเหมือนไม่จำเป็นต้องหวั่นเกรงสิ่งใด

.

การขยายตัวของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย

สืบเนื่องจากปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ นอกจากความถี่ของเหตุการณ์ที่มีมากขึ้นแล้ว จำนวนผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายก็มีมากขึ้นด้วย ในปี 2561 จะเห็นได้ว่ามีเพียงเอกชัยรายเดียวที่ตกเป็นเป้าหมายในการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ในปีนี้ ก็ปรากฎว่ามีกรณีของฟอร์ดเพิ่มขึ้นมาในเดือนมีนาคม และตามมาด้วยกรณีของจ่านิวเป็นกรณีล่าสุด

จึงอาจจะอนุมานได้ว่าการขยายเป้าหมายทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมได้เริ่มขึ้นแล้วภายในครึ่งปีแรกนี้ และอาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อีกหลังจากนี้ หากดูจากกรณีที่นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักกิจกรรมจากม.ธรรมศาสตร์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อวันที่ 1 มิ.. ที่ผ่านมา ตนได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายตนเองและจ่านิว แล้วก็เกิดเหตุทำร้ายร่างกายจ่านิวขึ้นจริงๆ ในคืนวันที่ 2 มิ..

นอกจากภาพรวมหลักๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ควรกล่าวถึงด้วยคือ การก่อเหตุดังกล่าวมักเกิดขึ้นในบริเวณที่สาธารณะที่มีคนเดินผ่านไปมาหรือเกิดขึ้นท่ามกลางผู้คน เช่น ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยงานราชการ ที่ป้ายรถประจำทาง กลางถนนของชุมชน แสดงถึงความอุกอาจในการลงมือของคนร้าย และในกรณีของฟอร์ดตามที่ปรากฎในรายงานข่าว ประชาชนในบริเวณที่เกิดเหตุให้ข้อมูลว่าเห็นคนร้ายพกพาสิ่งคล้ายอาวุธปืนที่บริเวณเอว ทำให้ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ (ซึ่งคนร้ายเองก็มีอาวุธที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ท่อนไม้, ท่อนเหล็ก อยู่แล้ว)

การที่กลุ่มนักกิจกรรมถูกรุมทำร้ายด้วยอาวุธในที่สาธารณะและปรากฏเป็นข่าว ยังอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวต่อสาธารณชนว่า ผู้ที่ตกเป็นเป้าทำร้ายไม่มีใครรับประกันได้ว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับพวกเขาที่ไหน เมื่อไร และคนร้ายที่ลงมือจะมีวิธีการใช้ความรุนแรงแบบใด

ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าคนร้ายต้องการหมายถึงชีวิตผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย เห็นได้จากเมื่อคนร้ายลงมือแล้วเห็นว่าผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายได้รับบาดเจ็บในระดับหนึ่งก็หยุดลงมือ และรูปแบบของอาวุธที่ใช้ยังเป็นท่อนไม้หรือท่อนเหล็กที่ทำให้ถึงชีวิตได้ยากกว่ามีดหรือปืน แต่การใช้ความรุนแรงดังกล่าวมีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปได้อีก เมื่อดูระดับอาการบาดเจ็บของกรณีทั้งสามคนที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรณีที่เกิดขึ้นช่วง 5 ครั้งล่าสุด คนร้ายเล็งเป้าหมายที่ศีรษะ มีเพียงกรณีที่ฟอร์ดถูกทำร้ายครั้งแรกที่เขาใช้มือป้องกันไว้ได้และแย่งอาวุธมาได้ก่อนทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งการเล็งเป้าหมายลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ถูกทำร้ายอย่างมาก

.

ภาพบาดแผลบนศีรษะของเอกชัยหลังถูกคนร้ายใช้ไม้กระบองตีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 ที่มาภาพเฟซบุ๊กเอกชัย หงส์กังวาน

สภาพบาดแผลของเอกชัยหลังถูกรุมชกต่อยเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2562 ภาพจาก Anurak Jeantawanich

สภาพบาดแผลของฟอร์ดจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2562 ภาพจาก Anurak Jeantawanichบาดแผลบนศีรษะของจ่านิวหลังถูกทำร้ายในคืนวันที่ 2 มิ.ย.2562 ภาพจาก Ratthapol Supasopon

.

ถึงที่สุด การไร้ความคืบหน้าใดๆ ในการติดตามจับกุมคนร้ายครั้งที่ผ่านๆ มา จึงเหมือนเป็นการรับประกันว่าหากมีการก่อเหตุขึ้นอีก คนร้ายก็จะไม่ถูกจับกุม ระดับความรุนแรงในการลงมือจึงสามารถเพิ่มขึ้นได้ จนถึงการเอาชีวิตของนักกิจกรรมได้อีกด้วย

.

X