แถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งหาตัวผู้กระทำความผิด กรณีทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมทางการเมือง

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย อย่างน้อย 3 รายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ได้แก่ นายเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งถูกทำร้ายร่างกายถึงเจ็ดครั้ง และเผารถยนต์สองครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เอกชัยถูกทำร้ายร่างกาย หน้าศาลอาญาขณะเดินทางไปร่วมการพิจารณาคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูกทำร้ายร่างกายสองครั้ง ภายในช่วงปี 2562 ล่าสุดถูกทำร้ายร่างกายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ขณะกำลังเดินทางไปร่วมชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา (ชั่วคราว) และล่าสุดกรณีทำร้ายร่างกายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2562 บริเวณถนนรัชดา ซอย 7 ภายหลังจากทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภางดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้าย กังวลเป็นอย่างยิ่งถึงรูปแบบการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดระยะเวลาห้าปีภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นับจากการปิดกั้นการทำกิจกรรม การติดตามข่มขู่คุกคามไปยังบ้านพัก การควบคุมตัวโดยมิชอบ และการดำเนินคดีเพื่อปิดปาก จนกระทั่งปี 2561 เกิดการทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ กลุ่มชายฉกรรจ์จะอำพรางใบหน้า แต่งกายรัดกุมมิดชิดสีดำ ใช้ไม้และโลหะเป็นอาวุธ รวมถึงลักษณะการทำงานแบบแบ่งหน้าที่กันทำ และเหตุการณ์การคุกคามมักเกิดในห้วงเวลาก่อนหรือหลังการทำกิจกรรมด้านประชาธิปไตย ซึ่งรูปแบบการทำร้ายร่างกายนี้มีแนวโน้มระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ถี่มากขึ้น และผู้ได้รับความรับความเสียหายเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังไม่มีความคืบหน้าและไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

กิจกรรมที่เอกชัย, อนุรักษ์ และสิรวิชญ์ได้เคยจัดขึ้นหรือได้เข้าร่วมล้วนแล้วแต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งกระทำโดยสันติ ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเป็นการดำเนินการโดยใช้กลไกตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวจึงต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 34 และมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตลอดทั้งได้รับความคุ้มครองเสรีภาพในการใช้สิทธิดังกล่าวตามข้อบทที่ 19 และข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมทั้งสามรายอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว ยังสะท้อนความล้มเหลวในการปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิอันเด็ดขาดอันไม่อาจยกเว้นได้ไม่ว่ารัฐนั้นจะปกครองในรูปแบบใด ตามมาตรา 28 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และข้อบทที่ 6 และข้อบทที่ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ทั้งนี้ หากปล่อยให้เกิดการคุกคามนักกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ จนยกระดับถึงการทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมารับผิดชอบและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อาจทำให้เกิดการคุกคามในรูปแบบที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับจนถึงการสูญเสียชีวิต ประชาชนย่อมหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม ตลอดจนขาดความมั่นคงแน่นอนในชีวิต ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวล้วนแต่เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้าย จึงเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันค้นหาความจริงเกี่ยวกับการคุกคาม ตลอดจนสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อสามนักกิจกรรมอย่างรวดเร็ว เป็นกลาง และโปร่งใส

2. ให้รัฐไทยให้การปกป้องและคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

3. ให้รัฐไทยสร้างบรรยากาศที่นำมาซึ่งการยอมรับความหลากหลายทางความคิดของประชาชน ที่มีต่อกรณีการเรียกร้องเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การตรวจสอบการทำหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือการตรวจสอบเหตุทุจริตในการบริหารงานรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกองทัพ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

X