ทหารยังคงอำนาจควบคุมตัวพลเรือน : ข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น

9 ก.ค. 2562  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ  (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เพื่อยกเลิกประกาศ / คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 70 ฉบับ  หากนับแต่มีการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557  คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. มาแล้ว 214 ฉบับ, ประกาศ คสช. 132 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. 211 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 557 ฉบับ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 นี้จึงเป็นเพียงการยกเลิกบางส่วน แต่คำสั่ง ประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนใหญ่ยังคงดำรงอยู่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่อคำสั่งดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 

1. ทหารยังคงอำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนโดยปราศจากหมาย

คสช. ยังคงอำนาจให้ทหารเรียกบุคคลไปรายงานตัว  จับกุมบุคคลซึ่งกระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ค้น ยึด อายัดทรัพย์สิน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ก่อนการรัฐประหาร 2557 มีเพียงอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 โดยใช้เฉพาะในเขตพื้นที่ซึ่งในห้วงเวลานั้นมีการประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น ที่ให้อำนาจทหารในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ พร้อมประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลังยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 คงอำนาจทหารในการควบคุมตัวบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการควบคุมตัวภายในค่ายทหาร บุคคลทั่วไปรู้จักอำนาจนั้นในนาม “การปรับทัศนคติ” ตลอด 5 ปีมานี้ มีประชาชนอย่างน้อย 929 คน ถูก คสช. เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร (อ่านรายละเอียดใน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร )

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า อำนาจในลักษณะดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นที่ใช้ได้อย่างจำกัด เฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีมีภัยคุกคามต่อรัฐ และในพื้นที่จำกัดเท่านั้น แต่ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ จนถึงขนาดต้องใช้อำนาจลักษณะดังกล่าวทั่วทั้งประเทศ และหากรัฐเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นจริง ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่ทำให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติ

การคงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ให้ทหารสามารถควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว ญาติหรือทนายความไม่อาจเข้าเยี่ยม และไม่มีการตรวจสอบโดยศาลนั้น เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 และอาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นตามมา

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังเคยให้ข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) ต่อรายงานระยะที่ 2 ของประเทศไทย ในข้อ 22  (d) ว่าไทยควรแก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และประกันว่าจะต่อต้านการควบคุมตัวโดยมิชอบ

2. ความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกมารายงานตัวต่อ คสช. ยังคงอยู่

แม้ คสช. จะยกเลิกความผิดฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 แต่ความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกมารายงานตัวต่อ คสช. ยังคงอยู่ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด  ซึ่ง คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวอย่างน้อย 472 ราย และดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวอย่างน้อย 14 ราย โดยหมายจับบุคคลที่ยังไม่มารายงานตัวจะคงมีผลทางกฎหมายอยู่

ความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ถูกกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมเป้าหมายทางการเมืองของ คสช. โดยเฉพาะ เนื่องจากบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวไม่ใช่ผู้กระทำความผิด หรือหากกระทำความผิดก็มีขั้นตอนตามกฎหมายปกติอยู่แล้ว

เมื่อเข้ารายงานตัวต่อ คสช. และถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ผู้ถูกเรียกรายงานตัวจะตกอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจติดต่อโลกภายนอก บุคคอื่นไม่อาจทราบชะตากรรมของเขา เสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน และศาลไม่อาจยื่นมือเข้ามาตรวจสอบการถูกควบคุมตัวในลักษณะนี้ รวมถึงอาจถูกนำตัวไปพิจารณาคดียังศาลทหารภายหลัง ทำให้บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวบางส่วนเลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง อย่างน้อย 86 ราย (อ่านรายละเอียดใน นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4ปี สิทธิมนุษยชนภายใต้ คสช. และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย ตอนที่ 3

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ควรยกเลิกฐานความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557  เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิดโดยทันที โดยไม่จำเป็นต้องโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับการยกเลิกความผิดฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

3. การโอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหารไปสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ได้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557,  ประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 43/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 50/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ส่งผลให้คดีพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารกลับมาสู่ศาลยุติธรรม ทั้งคดีที่เกิดขึ้นก่อนและหลังคำสั่งฉบับนี้ รวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาของศาลทหารเป็นกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมที่รับโอนคดีด้วย

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารแล้วไม่น้อยกว่า 2,408 ราย (อ่านรายละเอียดใน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร ) อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร รวม 59 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 21 คดี รวมจำเลย 41 ราย มีข้อกังวลถึงการดำเนินคดีพลเรือนในยุค คสช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจำกัดเสรีภาพของเป้าหมายทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทคดีที่พิจารณาในศาลทหาร ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่ง คสช., ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์, ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และความผิดเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้เฉพาะในการสงคราม ดังต่อไปนี้

3.1 คดีที่ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว แต่การพิจารณาไม่เป็นไปตามสิทธิในการได้พิจารณาที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial)

สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเป็นมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมตามข้อ 14 ของ ICCPR โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษา ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยองค์คณะตุลาการศาลทหาร 2 ใน 3 เป็นนายทหารสัญญาบัตร ที่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาด้านกฎหมาย ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าการพิจารณาคดีในศาลทหารอยู่บนมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 

นอกจากนี้ ศาลทหารยังพิจารณาคดีอย่างล่าช้ามาตลอด 5 ปี จำเลยบางส่วนโดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ยังไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว การพิจารณาคดีเป็นไปโดยลับ รวมถึงพิพากษาจำคุกจำเลยคดีมาตรา 112 ในอัตราโทษที่สูงกว่าศาลยุติธรรมเกือบเท่าตัว (อ่านเพิ่มเติม 20 เหตุผลที่คดีพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร) ทำให้คดีส่วนใหญ่ซึ่งพิจารณาจบไปแล้วและบางส่วนที่ยังพิจารณาอยู่นั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่อาจเยียวยาความเสียหายซึ่งเกิดจากกระบวนการดังกล่าว ได้ด้วยการโอนคดีไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เท่านั้น

3.2 คดีที่เกิดขึ้นระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้

หลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม นอกจากจะต้องพิจารณาคดีโดยองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางแล้ว ยังต้องสามารถถูกตรวจสอบได้โดยศาลสูงขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คดีที่เกิดระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก (ทั้งพลเรือนและบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารอยู่แล้ว) ไม่สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลสูงขึ้นไป เนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ การคืนความเป็นธรรมแก่กลุ่มบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีดังกล่าวและคดีสิ้นสุดไปแล้ว จึงไม่อาจเพิกเฉยได้และควรให้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้เช่นเดียวกัน

3.3  การทบทวนหมายจับศาลทหาร

นอกจากการดำเนินคดีแล้ว ยังคงมีหมายจับซึ่งออกโดยศาลทหาร แต่ยังมิได้ตัวบุคคลตามหมายมาดำเนินคดีค้างอยู่ ตามสถิติเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 ยังมีหมายจับคงค้างที่ศาลทหารกว่า 528 หมาย (อ่านเพิ่มเติม ทำไม ‘ธนาธร’ อาจต้องขึ้นศาลทหาร: รู้จักศาลทหารยุค คสช.)  เพื่อการทบทวนโดยองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอให้ยกเลิกหมายจับดังกล่าว และทำการทบทวนการออกหมายใหม่โดยศาลยุติธรรม

4. ความรับผิดตามประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ยังถูกยกเว้น

คสช. ออกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 557 ฉบับ แต่ยกเลิกไปเพียง 70 ฉบับ ทำให้ประกาศและคำสั่งส่วนใหญ่นั้นยังดำรงอยู่ และจะอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร จะยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ บรรดาประกาศและคำสั่งรวมถึงการกระทำดังกล่าว ยังคงถูกรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 279 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แม้ คสช. จะหมดอำนาจเนื่องจากคณะรัฐมนตรีชุดแรกเข้ารับหน้าที่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่สามารถตรวจสอบประกาศ/คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช. ได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า บทบัญญัติลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ควรดำรงอยู่ในระบบกฎหมายที่ต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลจากทุกฝ่าย การคงบทบัญญัติที่รับรองความชอบธรรมและยกเว้นความรับผิดในทุกกรณีนั้น ย่อมก่อให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ซึ่งขัดต่อหลักการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐอย่างสิ้นเชิง

5. ข้อเสนอศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เป็นเพียงการยกเลิกประกาศและคำสั่งบางส่วนที่ไม่จำเป็นสำหรับ คสช. แต่มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน อำนาจหลักที่เจ้าหน้าที่ทหารสามารถรักษาอำนาจหรือจำกัดเสรีภาพประชาชนได้จึงยังคงไว้ เช่น การคงไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559

นอกจากนี้ คสช. ยังเตรียมขยายเขตอำนาจของทหารเข้าสู่กิจการพลเรือนในหลายรูปแบบ โดยมีคำสั่งสำคัญ คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเพิ่มอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. เพิ่มงบประมาณ และเพิ่มโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด 

การจัดการแก้ไขผลพวงจากการรัฐประหารของ คสช. จึงมิอาจทำได้เพียงยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาอย่างเป็นระบบทั้งการจำกัดอำนาจกองทัพ การจัดการกับประกาศ/คำสั่ง คสช., กฎหมายจาก สนช. และคำพิพากษา   การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการเยียวยาผู้เสียหายทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกาศ/คำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. และกระบวนการยุติธรรมนั้น ศูนย์ทนายความมีข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

  1. ยกเลิกมาตรา 265 และมาตรา 279  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและการกระทำของ คสช.  รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44, มาตรา 47 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อให้เกิดการตรวจสอบบรรดาประกาศ คำสั่งและการกระทำให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามหลักนิติรัฐ
  2. ทบทวนประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมด โดยจัดการประกาศ/คำสั่ง คสช. ที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองให้สิ้นผล และพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง
  3. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 โดยทันที กรณีเกิดการกระทำความผิด หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่จำเป็นต้องคงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ไว้
  4. การโอนคดีจากศาลทหารไปศาลยุติธรรม ควรรวมถึงการเยียวยาพลเรือนซึ่งถูกดำเนินคดีในศาลทหารและคดีสิ้นสุดแล้ว การให้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีที่เกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงชดเชยค่าเสียหายกับบุคคลซึ่งควรได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว

 

X