ศาลทหารสั่งโอนคดี “อัญชัญ” ม.112 ไปยังศาลยุติธรรม ให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

19 ก.ค. 62 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ในคดีของนางอัญชัญ (สงวนนามสกุล) ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 29 กรรม จากกรณีอัพโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” ลงในเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊ก ตั้งแต่ช่วงปี 2557-58  แต่ศาลทหารได้สั่งงดการพิจารณาคดี และให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม หลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562

เดิมนั้นในนัดนี้ศาลทหารนัดสืบพยานเป็นพยานโจทก์ปากที่ 8 ได้แก่ เจ้าหน้าที่ไอซีทีผู้ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน แต่ศาลทหารได้แจ้งคู่ความว่าเนื่องจากได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช.  คำสั่ง คสช. และคำสั่งหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยในข้อที่ 2 กำหนดให้การกระทำความผิดตามประกาศคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆ ไปยังศาลยุติธรรม

ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกต่อไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ และงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ โดยให้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม ก่อนส่งสำนวนให้จ่าศาลถ่ายสำเนาสำนวน และเอกสารประกอบคดีต่างๆ ทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

สำหรับนางอัญชัญ ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นอดีตข้าราชการของกรมสรรพากร และยังประกอบอาชีพขายตรงสินค้าสมุนไพรต่างๆ  อัญชัญถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมจากบ้านพักเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 58 ถูกนำตัวไปในค่ายทหาร 5 วัน ก่อนถูกกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการอัพโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” ลงบนเว็บไซต์ยูทูบ และในเฟซบุ๊ก โดยเธอถูกฟ้องร้องจากคลิปเสียงที่มีข้อความมากถึง 29 กรรม ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 57 ถึง 24 ม.ค. 58

อัญชัญถูกฝากขังและจองจำในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 58 โดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลทหารระบุเหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 61 ศาลทหารกรุงเทพจึงได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์ที่ญาตินำมายื่นเป็นสลากออมสินมูลค่า 500,000 บาท ทำให้รวมแล้ว เธอถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 10 เดือนเศษ

ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่อัยการทหารสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 58 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 4 ปี 2 เดือนเศษ คดีนี้สืบพยานโจทก์ไปได้จำนวน 7 ปาก จากพยานโจทก์ทั้งหมด 11 ปาก และยังมีพยานจำเลยที่ยังไม่ได้สืบอีก 2 ปาก คดีนี้ศาลทหารยังสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับอีกด้วย

อัญชัญนับเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหา/จำเลย จำนวน 14 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” โดยแต่ละรายถูกฟ้องแยกเป็นคนละคดีกัน ด้วยจำนวนกรรมที่ไม่เท่ากัน โดยเธอเป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วยจำนวนกรรมมากที่สุด คือ 29 กรรม และเป็นผู้ต้องหา/จำเลยเพียงคนเดียวที่ยังต่อสู้คดีอยู่ ขณะที่คดีของคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ “เครือข่ายบรรพต” ถูกฟ้องร้องเพียง 1 กรรม รวมทั้งตัวบรรพตเองซึ่งเป็นผู้กล่าวคลิปเสียงต่างๆ ทั้งหมดให้การรับสารภาพ และถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษระหว่าง 3-5 ปี เกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว

 

อ่านความเห็นของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562

ทหารยังคงอำนาจควบคุมตัวพลเรือน : ข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น

 

X