ศาลสั่งปรับ 1,000 บาท ‘พะเยาว์ อัคฮาด’ เล่นละครใบ้รำลึกถึงลูกสาว ฐานไม่แจ้งการชุมนุม

วันนี้  (19 ก.ค. 62) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาในคดีของนางพะเยาว์ อัคฮาด หรือ “แม่น้องเกด” จัดกิจกรรมเล่นละครใบ้ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 61 โดยไม่แจ้งการชุมนุม ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท ตามมาตรา 10 และมาตรา 28 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  เนื่องจากศาลเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ

นางพะเยาว์เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 และเพื่อนๆ

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 61 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เครือข่ายเครือข่ายวิญญูชนผู้ยังได้รับผลกระทบจากเผด็จการ หรือ “ค.ว.ย.” ได้จัดกิจกรรม “แก้แค้น ไม่แก้ไข” โดยผู้ทำกิจกรรม 4 ราย ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด, นายกฤษณะ ไก่แก้ว, นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ได้ร่วมกันแต่งกายเป็นยมบาล และสวมชุดอาสาสมัครพยาบาล ถือคำว่า “บัญชี หนัง หมา” ซึ่งมีรูปภาพของเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 พร้อมภาพผู้นำรัฐบาลและกองทัพในขณะนั้น

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สำราญราษฎร์ได้ควบคุมตัวผู้ทำกิจกรรมทั้ง 4 รายไปยังสถานีตำรวจ ก่อนมีการแจ้งข้อหาต่อนางพะเยาว์ อัคฮาด ฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งให้ผู้รับแจ้งชุมนุมทราบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 (ดูในรายงานข่าว จับ ‘แม่น้องเกด’ ฐานไม่แจ้งการชุมนุม)

นางพะเยาว์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อทวงถามความเป็นธรรมจากคดีของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด บุตรสาวตน ซึ่งได้ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ในเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา ซึ่งคดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า และเนื่องจากวันที่ 10 ธ.ค. 61 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ตนได้ตัดสินใจไปทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งปกติจะมีการทำกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางสังคมและประวัติศาสตร์ เพื่อให้สังคมตระหนักและไม่ลืมเหตุการณ์การล้อมปราบประชาชนในปี 2553 จึงได้ทำกิจกรรม “ละครใบ้” ซึ่งตนได้รับบทเป็นบุตรสาวของตนเอง โดยได้สวมชุดที่เปื้อนเลือดของลูกสาวซึ่งได้เก็บรักษาไว้ เพื่อเตือนใจและเป็นกำลังใจในการต่อสู้ และมีเพื่อนตนรับบทเป็นยมทูตถือบัญชีหนังหมา (ดูรายละเอียดในรายงานข่าว ‘แม่น้องเกด’ ให้การคดีชุมนุมไม่แจ้ง ยัน ‘ละครใบ้’ เป็นอีกหนทางร้องความเป็นธรรมให้ลูกสาว )

ส่วนในการสืบพยานเพื่อต่อสู้ในคดีนี้ มีประเด็นหลักที่พนักงานอัยการนำสืบจากพยาน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) กิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่  (2) เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะ นางพะเยาว์ในฐานะผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งความประสงค์ว่าจะจัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย หรือไม่  (3) พื้นที่จัดการชุมนุม ซึ่งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่สาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะได้หรือไม่ (ดูรายละเอียดในรายงานข่าวศาลนัดพิพากษาคดี “แม่น้องเกด” ไม่แจ้งชุมนุม 19 ก.ค.นี้ หลังรับบทลูกสาวเล่นละครใบ้ )

อย่างไรก็ตาม ศาลแขวงดุสิตได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์เชิญชวนคนมาร่วมกิจกรรมทางเฟซบุ๊กในที่ 10 ธ.ค. 61 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นที่สาธารณะ จำเลยจึงเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม แม้จะนำสืบได้ว่าเป็นการทำกิจกรรมเพื่อรำลึก และนัดหมายแต่งกายมาเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ไม่มีลักษณะการกระทำอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลคนอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้ เมื่อจำเลยจัดกิจกรรมในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง

เมื่อจำเลยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ จำเลยจึงกระทำความผิดตามมาตรา 10 ประกอบกับมาตรา 28 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 ลงโทษปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ริบของกลาง คือไม้กวาดและแผ่นป้าย “บัญชี หนัง หมา”

 

X