ศาลทหารทยอยโอนคดีไปยังศาลพลเรือน

หลังจากที่ประเทศต้องอยู่ภายใต้บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้คดีพลเรือนถูกนำมาพิจารณาในศาลทหารในความผิดทางอาญา 4 ฐานตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ได้แก่ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการประกาศกฎอัยการศึก พลเรือนยังถูกจำกัดไม่ให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเพื่อทบทวนคำพิพากษาในศาลชั้นสูงขึ้นไป

ประเด็นถกเถียงที่มักจะถูกพูดถึงนั่นก็คือเรื่องของความเหมาะสม เนื่องจากคดีส่วนใหญ่ไม่ใช่การกระทำร้ายแรง ทั้งยังเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นหลัก มากไปกว่านั้น กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารยังมีประเด็นเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ รวมไปถึงยังมีความล่าช้าและมีการกำหนดอัตราโทษที่รุนแรงกว่าศาลพลเรือน

อย่างไรก็ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ส่งผลให้มีการยกเลิกประกาศ คำสั่ง  และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ส่งผลให้คดีพลเรือนที่ตกค้างในกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารถูกโอนไปยังศาลปกติ การโอนคดีเช่นนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย

นับถึงวันที่ 5 ส.ค. 2562 ศาลทหารมีคำสั่งจำหน่ายคดีพลเรือนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือ เพื่อโอนไปยังศาลปกติแล้ว 8 คดี ได้แก่ คดีครอบครองระเบิด RGD5, คดีประจักษ์ชัย 112, คดีอัญชัน 112, คดีพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ 116, คดี ‘บุปผา’ (นามสมมติ) 112, คดีเสาร์ 112 และคดีของสมอล์ล บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ 2 คดี

นอกจากนี้ ศาลทหารยังทยอยนัดคดีพลเรือนที่คงค้างมาเพื่อฟังจำหน่ายคดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าร่วมติดตามฟังคำสั่งและติดตามกระบวนการโอนคดีต่อไปยังศาลพลเรือน ตามหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR – International Covenant on Civil and Political Rights ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาคี ส่งผลให้มีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนในประเทศจะได้การคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักสากลที่ไม่อาจละเมิดได้ และเพื่อประกันสิทธิให้กับผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

 

X