บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ 112 คดีที่ศาลพลเรือนต้องทำคำพิพากษาทั้งที่ไม่ได้สืบพยาน

5 ส.ค. 2562 ศาลทหารกรุงเทพสั่งโอนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ทั้งสองคดีไปยังศาลพลเรือน โดยคดีหนึ่งสืบพยานจนเสร็จสิ้น แต่ศาลทหารกรุงเทพเคยเลื่อนฟังคำพิพากษาเมื่อเดือน มิ.ย. ก่อนจะอ้างว่าไม่มีอำนาจในการทำคำพิพากษา เป็นหน้าที่ของศาลพลเรือน

สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในศาลทหารกรุงเทพ 2 คดี คดีหนึ่งจากการพยายามตั้งคำถามและแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในงานเสวนาของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเมื่อปี 2557 ส่วนอีกคดีจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ควรบรรจุไว้ร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2558

ศาลทหารกรุงเทพสั่งงดการฟังคำพิพากษาของคดีแรก และยกเลิกการสืบพยานคดีที่ 2 ซึ่งสืบพยานไปได้เพียง 4 ปาก เพื่อจำหน่ายคดีออกจากศาลทหารทั้งสองคดี ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 และส่งสำนวนคดีไปยังศาลยุติธรรม โดยให้สัญญาประกันตัวยังคงมีผลต่อไป

หลังศาลอ่านคำสั่ง ทนายความจำเลยตั้งคำถามต่อศาลว่า กรณีคดีแรกนั้นศาลทหารเขียนคำพิพากษาเสร็จแล้วและจะส่งไปให้ศาลยุติธรรมอ่านใช่หรือไม่ เพราะคดีสืบเสร็จแล้ว และมีนัดฟังคำพิพากษา แต่ศาลตอบเพียงว่าศาลทหารไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาแล้ว เพราะขณะนี้เป็นอำนาจศาลยุติธรรมในการทำคำพิพากษา

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การโอนคดีไปศาลยุติธรรมทั้งที่กระบวนการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว อาจทำให้ตุลาการศาลยุติธรรมมีปัญหาในการทำคำพิพากษา เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการสืบพยานด้วยเอง จึงอาจไม่เห็นอากัปกริยาของพยานและจำเลย ต้องเขียนคำพิพากษาจากบันทึกการสืบพยานในสำนวนที่ศาลทหารกรุงเทพส่งไปให้เท่านั้น

นอกจากนี้ คดีดังกล่าวยังเกิดในช่วงกฎอัยการศึก ซึ่งห้ามอุทธรณ์-ฎีกาในศาลทหาร ก็มีปัญหาว่า หากโอนคดีไปศาลยุติธรรมแล้วคู่ความในคดีจะสามารถขออุทธรณ์-ฎีกาได้หรือไม่

 

X