ให้ความรู้ ผบ.ทบ. ไม่ใช่การชุมนุม: บันทึกสืบพยานคดีไม่แจ้งชุมนุม ค้านเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน”

ศาลแขวงดุสิตสืบพยานคดีไม่แจ้งการชุมนุม กิจกรรมค้านเปิดเพลงหนักแผ่นดิน โจทก์ชี้จำเลยจัดชุมนุมโดยไม่แจ้ง ด้านเพนกวิน-บอล ยืนยันเจตนาให้ความรู้กับ ผบ.ทบ. เพื่อยับยั้งความรุนแรง ไม่ใช่ชุมการชุมนุม

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562  ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานคดีไม่แจ้งชุมนุม ซึ่งอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ฟ้อง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลยที่ 1 และ ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาเป็นผู้จัดชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.488/2562  (อ่านคำฟ้อง ที่นี่) โดยจำเลยทั้งสองได้ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ในวันดังกล่าว ศาลได้สืบพยานโจทก์ 4 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก เสร็จสิ้นในวันเดียว  ศาลนัดฟังคำพิพากษา 28 ต.ค. 2562

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 จำเลยทั้งสองได้ไปทำกิจกรรมคัดค้านการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ด้วยการอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้ไล่ให้ไปฟัง “เพลงหนักแผ่นดิน” และสั่งให้เปิดเพลงดังกล่าวตามคลื่นวิทยุเสียงตามสายของกองทัพบกต่าง ๆ (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ในการสืบพยานโจทก์ พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย เบิกความคล้ายกันว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อนจัดกิจกรรม  และข้อความที่จำเลยทั้งสองโพสต์ก่อนจัดกิจกรรม (19 ก.พ. 62) นั้น แม้ไม่มีข้อความใดที่เป็นการชักชวนให้คนมาชุมนุมและไม่มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม แต่เจ้าหน้าที่มีความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นการนัดชุมนุมโดยปริยาย เนื่องจากว่า ในโพสต์ดังกล่าว มีวัน เวลาและสถานที่ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวสามารถทำได้ และแสดงออกได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และที่ไม่ได้จับกุมจำเลยทั้งสองขณะทำกิจกรรมเพราะไม่มั่นใจว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่

ส่วนพยานโจทก์อีกหนึ่งปาก ซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยทั้งสองที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุ เบิกความว่า พยานทราบถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จากการพูดคุยกับจำเลยทั้งสองก่อนหน้านี้ว่า ทั้งสองต้องการจัดกิจกรรมเพื่อชี้แจงให้ ผบ.ทบ. รู้เกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน และพยานเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นกิจกรรมให้ความรู้กับ ผบ.ทบ. ไม่ใช่การชุมนุม 

ด้านพริษฐ์ และธนวัฒน์ ซึ่งอ้างตนเป็นพยานเบิกความยืนยันถึงเจตนาในการจัดกิจกรรมว่า ต้องการยับยั้งความแตกแยก ความรุนแรงที่อาจจะเกิดในสังคม ด้วยการให้ความรู้กับ ผบ.ทบ. ถึงผลกระทบของการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน”  และให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้กองทัพบกเปิดเพลงดังกล่าวในเสียงตามสาย เนื่องจากเพลงหนักแผ่นดินเคยถูกนำมาใช้ปลุกระดมให้เกิดการสังหารหมู่นักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งนักศึกษาที่เสียชีวิตเป็นรุ่นพี่ของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยที่มีการระบุวัน เวลาที่ชัดเจน ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการนัดชุมนุมนั้น จำเลยยืนยันว่าเป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบ และเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกอุ้มหาย พริษฐ์และธนวัฒน์ยังยืนยันด้วยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

ภาพจากเพจ Wassana Nanuam และความเงียบ มักจะ ดังที่สุด

บันทึกคำเบิกความพยาน

พยานโจทก์ปากที่ 1

พันตำรวจตรี ปฏิญญา ตินโย เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เกี่ยวข้องในคดีเนื่องจากเป็นผู้กล่าวหา และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหว โดยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาของ สน.นางเลิ้ง ให้เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวและการชุมนุมในพื้นที่

สารวัตรสืบสวนเบิกความต่อว่า จากการเฝ้าติดตามพบว่า มีเฟซบุ๊กชื่อ Parit Chiwarak (จำเลยที่ 1) โพสต์กรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินในเสียงตามสายว่า เพลงดังกล่าวถูกนำมาใช้ปลุกระดมเพื่อให้เกิดความขัดแย้งดังเช่นในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเฟซบุ๊กดังกล่าวยังโพสต์ในลักษณะที่มีการนัดหมายให้บุคคลทั่วไปมาที่หน้ากองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก ในวันที่ 20 ก.พ. 2562 เวลา 09.00 น. และก่อนหน้านั้นเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 19 ก.พ. เฟซบุ๊กเดียวกันนี้ได้โพสต์ว่า เรียนพี่ ๆ ทุกท่าน การที่ไปหน้ากองทัพบกไม่ใช่เป็นการชุมนุม แต่เป็นการไปให้ความรู้กับ พล.อ.อภิรัชต์ เกี่ยวกับเพลงหนักแผ่นดิน

พยานโจทก์ปากนี้ยังเบิกความอีกว่า ธนวัฒน์ จำเลยที่ 2 ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกันนี้ว่า  เหตุผลที่ไม่ควรเปิดเพลงหนักแผ่นดิน เนื่องจากจะทำให้เกิดความแตกแยก และได้โพสต์ให้บุคคลทั่วไปมาที่หน้ากองทัพบกในวันที่  20 ก.พ. 2562 เวลา 09.00 น. โดยตั้งเป็นค่าสาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงได้ หลังจาก พ.ต.ต.ปฏิญญา ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงได้ประชุมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง เพื่อแบ่งหน้าที่ในการดูแลควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

ต่อมาวันที่ 20 ก.พ. 2562 เวลา 08.30 น. พ.ต.ต.ปฏิญญาได้ไปที่หน้ากองทัพบกพร้อมกำลังตำรวจประมาณ 30 นาย เพื่อทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม จนเวลา 09.00 น. จำเลยทั้ง 2 กับปรเมศร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม มาถึงหน้ากองทัพบก และพริษฐ์ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกที่พกติดตัวมาด้วย ที่เกาะกลางถนนฝั่งซ้ายของหน้ากองทัพบก โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีข้อความระบุถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่สั่งให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน หลังจากอ่านเสร็จ พริษฐ์ได้นำจดหมายเปิดผนึกมาติดไว้ที่ป้ายกองทัพบก จากนั้นจำเลยทั้งสองถือป้ายพลาสติกที่มีข้อความว่า “หนักแผ่นดิน ไม่อินดี้ ฟังประเทศกูมีดีกว่ามั้ยลุง” และกระดาษอีก 3 แผ่น ข้อความว่า “เพลงหนักแผ่นดินสร้าง” “ความรุนแรง ความเกลียดชัง” “ความเจ็บปวดในสังคม” ก่อนวางไว้ที่พื้นเพื่อให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ 

พยานเบิกความต่อว่า หลังจากนั้นพยานได้เข้าไปสอบถามจำเลยทั้งสองว่า ได้แจ้งการชุมนุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองตอบว่าไม่ได้แจ้งการชุมนุม เนื่องจากมาทำกิจกรรมให้ความรู้ ไม่ใช่การชุมนุม พยานจึงเชิญตัวจำเลยทั้งสองไป สน.นางเลิ้ง และตรวจยึดของกลางจำนวน 5 รายการ ได้แก่ จดหมายเปิดผนึก แผ่นป้ายพลาสติก และแผ่นกระดาษอีก 3 แผ่น ที่ใช้ในการทำกิจกรรม

ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1

พ.ต.ต.ปฏิญญา เบิกความว่า รับตำแหน่งที่ สน.นางเลิ้ง มาแล้ว 2 ปี ก่อนที่จะมากล่าวโทษจำเลย ได้ดูข้อกฎหมายมาแล้วในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่า ผู้ที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คือผู้ที่จัดการชุมนุม พยานยอมรับว่า หากไม่เป็นการชุมนุมก็เท่ากับว่าไม่มีความผิด และตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีเจตนาเพื่ออำนวยความสะดวกหรือรักษาความสงบเรียบร้อย พยานเบิกความอีกว่า ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมก่อนวันจัดจริงไม่นาน ก่อนจะประชุมวางแผนควบคุมและวางแผนการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนและฝ่ายปราบปรามเข้าร่วมด้วย ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นาย ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร และชุดควบคุมฝูงชน 

พยานโจทก์ระบุด้วยว่า แม้โพสต์ของจำเลยจะมีลักษณะ “แจ้งเพื่อทราบ” ไม่ได้มีข้อความเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรม  แต่ที่ประชุมมีมติว่า เป็นข้อความเชิญชวนโดยปริยาย แต่พยานยอมรับว่า ตามเอกสารรายงานการสืบสวนระบุว่า กิจกรรมนี้ไม่ใช่กิจกรรมชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับเพลงหนักแผ่นดิน

พยานตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ที่จำเลยเดินไปเกาะกลางถนน เนื่องจากจำเลยต้องการเดินไปหานักข่าว ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่มาบอกให้ไปจัดกิจกรรมตรงนั้น หรือมีเจ้าหน้าที่เดินนำหน้าหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่พยานยอมรับว่าในจดหมายเปิดผนึกไม่มีข้อความปลุกระดมหรือข้อความที่แสดงความรุนแรง เอกสารดังกล่าว เป็นการชี้แจงถึง พล.อ.อภิรัชต์ ว่าไม่ควรเปิดเพลงหนักแผ่นดินในเสียงตามสาย

พยานยอมรับว่า ตามรายงานไม่มีคนอื่นเข้าร่วมกิจกรรม  นอกจากจำเลยทั้งสองและสื่อมวลชน พยานเบิกความต่อว่า หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมจึงนำตัวจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งปรเมศร์ ซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยทั้งสองขึ้นรถตำรวจไปยังสถานีตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 ได้ให้การว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมเป็นเพียงการให้ความรู้ จึงไม่แจ้งการชุมนุม 

พยานเบิกความต่อว่า เคยฟังเพลงหนักแผ่นดินจากใน YouTube  และยอมรับว่าตามที่ได้รับข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต เพลงนี้เป็นเพลงที่สร้างความแตกแยกและนำไปสู่ความรุนแรงในยุค 6 ตุลา รวมทั้งทราบว่า ที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินในเสียงตามสาย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีพรรคการเมืองหนึ่งเสนอนโยบายให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและลดงบประมาณของกองทัพ 

ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2

พยานเบิกความว่า ทราบว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต้องการให้ผู้จัดการชุมนุมแค่แจ้งการชุมนุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม  ไม่ใช่การขออนุญาต อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งการชุมนุม แต่ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการเตรียมกำลังเพื่อควบคุมดูแลการชุมนุม เนื่องจากมีฝ่ายข่าวติดตามความเคลื่อนไหวตลอด 

พยานโจทก์เบิกความต่อว่า ขณะจำเลยทำกิจกรรมมีข้อความบนกระดาษว่า “เพลงหนักแผ่นดินสร้าง” “ความรุนแรง ความเกลียดชัง” “ความเจ็บปวดในสังคม” และตนทราบว่าเป็นข้อความสำคัญที่จำเลยอยากจะสื่อถึง พล.อ.อภิรัชต์ ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งเป็น ผบ.ทบ. จะมีอิทธิพลในการสั่งการต่าง ๆ ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและคำสั่งนั้นจะมีผลทางสังคมหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ แต่ทราบว่า พล.อ.อภิรัชต์ สั่งให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินกว่า 160 สถานีทั่วประเทศ รวมถึงทราบว่า ผบ.ทบ. มีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นจำนวนมาก และกองทัพมีอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก

พยานยังตอบคำถามค้านทนายอีกว่า พยานทราบว่าเพลงหนักแผ่นดินเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การฆ่าหมู่นักศึกษาในยุค 6 ตุลา มาก่อนและทราบว่าสิ่งที่จำเลยทำคือการพยายามหยุดยั้งความรุนแรง ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ แต่ต้องทำภายใต้กฎหมาย เช่น แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง 

ตอบคำถามโจทก์ถามติง

ที่พยานเบิกความว่า โพสต์ของจำเลยทั้งสอง ที่โพสต์ว่าจะมาทำกิจกรรมไม่ได้มีข้อความชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมนั้น แต่โดยส่วนตัวพยานคิดว่าเป็นการเชิญชวนเนื่องจากในโพสต์มีวันเวลาและสถานที่ที่ชัดเจน

สืบพยานโจทก์ปากที่ 2

พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์  พยานโจทก์ปากที่สองเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุมที่จะจัดขึ้นในเขตรับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง โดยประชาชนที่ประสงค์จะทำการชุมนุมก็สามารถทำได้ แต่ต้องแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนการชุมนุม การแจ้งการชุมนุมสามารถดำเนินการได้ทั้งทางแฟกซ์ อีเมล หรือมาแจ้งด้วยตัวเองที่สถานีตำรวจ แต่จำเลยทั้งสองคนไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนด

ตอบคำถามค้านทนาย จำเลยที่ 1

พยานเบิกความว่า โพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 (พริษฐ์) ที่แจ้งว่าจะไปยื่นหนังสือให้กับ ผบ.ทบ. นั้น มีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ชัดเจน และมีประโยคที่ว่า “ชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน” จึงเห็นว่าเป็นการเชิญชวนคนให้มาร่วมชุมนุม แต่พยานก็ยอมรับว่าโพสต์ของจำเลยทั้งสองได้ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าว ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่ทำเพื่อให้ความรู้สาธารณะ 

ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุ พยานอยู่ในที่เกิดเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 น. จนกิจกรรมแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาและได้เข้าไปถึงที่เกิดเหตุก่อนจำเลยทั้งสอง ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งแล้ว ยังมีหน่วยควบคุมฝูงชนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งพยานได้ขอกำลังเพิ่มเติมด้วยตนเอง เนื่องจากมีการชุมนุมหลายกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งมีจำนวนไม่พอ แต่ที่พยานไม่จับจำเลยขณะทำกิจกรรมเพราะไม่มั่นใจว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่

พยานเบิกความอีกว่า ในที่เกิดเหตุนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจำเลยทั้งสองแล้ว ยังมีบุคคลที่มีลักษณะคล้ายกับสื่อมวลชน เนื่องจากมีการถือไมโครโฟน และแขวนป้ายที่คอ ทั้งนี้ พยานไม่ได้รับรายงานจากฝ่ายสืบสวนว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องจาก ผบ.ทบ. ให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ในเสียงตามสายของกองทัพบกทั่วประเทศ 

ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2

พยานตอบคำถามทนายจำเลยสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากแรก เกี่ยวกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการที่จะอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย ไม่ใช่การขออนุญาต

ตอบคำถามโจทก์ถามติง

พยานตอบคำถามโจทก์ว่า พยานอ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสองแล้วเข้าใจว่า เป็นการเชิญชวนให้มีการชุมนุม เนื่องจากมีข้อความว่า “แจ้งเพื่อทราบโดยทั่วกัน” และให้ประชาชนที่เห็นด้วยมาร่วมชุมนุม

สืบพยานโจทก์ปากที่ 3

นายปรเมศร์ แรมวัลย์  เกี่ยวข้องเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม พยานเบิกความว่าไปร่วมกิจกรรม เพราะต้องการชี้แจงเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน เนื่องจากเห็น ผบ.ทบ. ออกมาแถลงว่าให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินในเสียงตามสาย พยานรู้จักกับจำเลยทั้ง 2 มาประมาณ 1 ปีกว่าๆ และก่อนหน้านี้เคยร่วมจัดงานเสวนาเกี่ยวกับการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเกิดเหตุขณะพยานยืนถือป้ายอยู่ และจำเลยที่ 1 ยืนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล้อมพยานและจำเลยทั้งสอง และนำตัวไปสอบปากคำที่ สน. นางเลิ้ง

ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2

พยานเบิกความว่า พยานทราบถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ออกไปทำกิจกรรมในครั้งนั้น เนื่องจากมีข้อกังวลว่า การที่ ผบ.ทบ. ออกมาแถลงข่าวให้เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงและสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา จะทำให้เกิดการปลุกระดมเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งในสังคมไทย  และการที่จำเลยไม่ได้แจ้งการชุมนุมนั้น พยานเข้าใจว่ากิจกรรมไม่ใช่การชุมนุมเป็นเพียงการให้ความรู้เท่านั้น นอกจากนี้ ในวันเกิดเหตุบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ เนื่องจากมีตำรวจล้อมไว้อยู่ที่เกาะกลางถนน มีเพียงพยาน นักข่าว ตำรวจ และจำเลยทั้งสองคน ทั้งนี้ พยานเห็นว่า ข้อความของจำเลยทั้งสองที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก ไม่ได้มีข้อความใดที่เชิญชวนหรือให้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบ และพยานทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมจากการคุยกันเป็นการส่วนตัว โดยพยานเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นกิจกรรมให้ความรู้กับ ผบ.ทบ. ไม่ใช่การชุมนุม

ตอบคำถามโจทก์ถามติง

พยานเบิกความว่าไม่ได้ให้การในชั้นสอบสวนว่ามีตำรวจล้อมไว้ และพยานยืนยันว่าแม้ในโพสต์ของจำเลยทั้งสองจะมีการแจ้งวัน แวลา และสถานที่ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการเชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุม เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 4

พ.ต.ท.ไพรัช ไสยเลิศ พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 62 เวลา 9.00 น. มีตำรวจได้มาแจ้งความกล่าวโทษแก่จำเลยทั้งสองว่าจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จำเลยทั้งสองถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ พร้อมของกลางซึ่งเป็นแผ่นป้ายที่ใช้จัดกิจกรรม จำนวน 5  รายการ จากการตรวจสอบลายนิ้วมือของจำเลยทั้งสอง พบว่าจำเลยทั้งสองมีประวัติจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งชุมนุมมาก่อน จึงได้มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม.

ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 

พยานเบิกความว่า พยานมีความเห็นว่า ข้อความของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อความที่เชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุม เป็นเพียงการแจ้งว่าจำเลยจะไปจัดกิจกรรม และพยานทราบว่า ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้บัญญัติไว้ว่าหากมีการจัดการชุมนุม โดยผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า จึงจะถือว่ามีความผิด ทั้งนี้ พยานมีความเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองโพสต์เฟซบุ๊ก และเปิดเป็นสาธารณะซึ่งทำให้คนอื่นสามารถเข้าถึงได้ ถือว่าเป็นการเชิญชวนคนมาชุมนุมโดยปริยาย

พยานเบิกความต่อว่า พยานทราบว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูแลความสะดวกและดูแลความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ชุมนุมและผู้สัญจรผ่านไปมา ทั้งนี้ ก่อนการจัดกิจกรรมของจำเลยก็ได้มีการประชุมเพื่อวางแผนดูแลผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้มีการเตรียมการป้องกันเหตุให้กับผู้ชุมนุม พยานเบิกความต่อว่า ในวันดังกล่าวไม่มีการจับกุมตัวจำเลยทั้งสองในที่เกิดเหตุ และการแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยทั้งสองนั้น พยานได้แจ้งตามเอกสารที่ผู้กล่าวหาพิมพ์มาก่อนแล้ว 

พนักงานสอบสวนเบิกความอีกว่า เคยฟังเพลงหนักแผ่นดินตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ทราบว่าเพลงนี้ใช้ปลุกระดมเพื่อฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างไรก็ตามพยานทราบว่าเจตนาของจำเลยที่จัดกิจกรรมก็เพื่อยับยั้งความเกลียดชังและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 

ตอบคำถามโจทก์ถามติง

พยานตอบคำถามโจทก์ยืนยันว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาจัดการชุมนุมเนื่องจากโพสต์ของทั้งสองมีวัน เวลา และสถานที่โดยชัดแจ้ง 

สืบพยานจำเลย ปากที่ 1

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสหภาพ สภานักเรียน นิสิต-นักศึกษาแห่งประเทศไทย และเป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พยานเบิกความว่า ก่อนการจัดกิจกรรมเห็นในข่าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2562 ว่า  ผบ.ทบ. ได้สั่งให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินในเสียงตามสายของค่ายทหาร ตนและเพื่อนรู้สึกกังวลถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นรุ่นน้องนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่เคยถูกสังหารหมู่ในช่วงยุค 6 ตุลา และเพลงหนักแผ่นดินเคยถูกใช้เปิดเพื่อปลุกระดมนำไปสู่ความรุนแรงดังกล่าว และคิดว่า ผบ.ทบ. อาจจะไม่รู้ถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น และไม่รู้ว่าการเปิดเพลงดังกล่าวอาจนำไปสู่ความแตกแยกหรือความรุนแรงอย่างไรบ้าง ตนและเพื่อนทั้งสองจึงต้องไปชี้แจงให้ ผบ.ทบ. ทราบ

พริษฐ์เบิกความต่อไปว่า วัตถุประสงค์ของการโพสต์เฟซบุ๊กก่อนการจัดกิจกรรมคือ เพื่อให้ ผบ.ทบ. ทราบว่าจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกจะได้เตรียมคนมารับหนังสือ และในขณะนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง หากตนไปยื่นหนังสือแล้วหายตัวไปให้เป็นที่ทราบว่าได้หายไปที่หน้ากองทัพบก รวมทั้งแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามเฟซบุ๊กของตนตลอดทราบว่า จะไปทำกิจกรรมที่หน้ากองทัพบกเพื่อชี้แจงให้ ผบ.ทบ. ทราบถึงความรุนแรงของเพลงหนักแผ่นดิน ไม่ได้ไปชุมนุม และไม่ได้ให้คนนอกเข้าร่วม จึงไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตนคิดว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการไปให้ความรู้กับ ผบ.ทบ. เท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรองไว้

พยานเบิกความต่อว่า หลังจากที่ไปถึงหน้ากองทัพบก ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอให้ข้ามไปอ่านจดหมายเปิดผนึกที่เกาะกลางถนน เนื่องจากหน้ากองทัพบกมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ตนและเพื่อนจึงเดินตามตำรวจไปที่เกาะกลางถนน และอ่านจดหมายเปิดผนึกโดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที จากนั้นผู้กำกับและฝ่ายสืบสวนเดินมาบอกว่าเสร็จกิจกรรมแล้วไปโรงพักกันเถอะน้อง แต่ตนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าขอวางกระดาษข้อความก่อนและแปะจดหมายเปิดผนึกไว้เพื่อให้ ผบ.ทบ. ได้อ่าน โดยได้ติดไว้ตรงป้ายของ กทม. ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจไปที่ สน.นางเลิ้ง ทั้งนี้ขณะจัดกิจกรรมไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินมาห้าม และตนคิดว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มีความผิดตามฟ้อง

ตอบคำถามค้านของโจทก์

พยานตอบคำถามโจทก์ ที่ถามถึงเนื้อหาของเพลงประเทศกูมีว่า มีเนื้อหาเสียดสีสังคมที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในสังคม และเป็นข้อเท้จจริงที่ปรากฎอยู่ตามสื่อทั่วไป พริษฐ์มีความเห็นว่า ผบ.ทบ. สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับเพลงหนักแผ่นดินได้ในฐานะส่วนตัว แต่ในกรณีนี้เป็นการให้สัมภาษณ์ในฐานะ ผบ.ทบ. ถือว่าเป็นการชี้นำจึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ถ้าเป็นต่างประเทศอาจจะโดนปลดหรือต้องลาออก ขณะเดียวกันพยานก็ต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกัน พริษฐ์ตอบคำถามโจทก์ โดยยืนยันว่า โพสต์ของตนซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ แม้จะมีการแจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่ชัดเจนในการจัดกิจกรรม แต่ก็เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแจ้งให้คนมาชุมนุม

ตอบคำถามติงของทนายจำเลย

พริษฐ์เบิกความว่า นอกจากตนเป็นนักศึกษาแล้วยังทำกิจกรรม และเคลื่อนไหวในหลายประเด็น และไม่เคยจัดการชุมนุมมาก่อน แต่เคยไปปราศรัยตามงานที่คนอื่นจัด ส่วนจดหมายเปิดผนึกนั้นตนได้เป็นคนทำขึ้นมาเอง และจำไม่ได้ว่าทำกี่แผ่น แต่มากกว่า 1 ฉบับ  เพนกวินเบิกความต่อว่า ที่ได้ย้ายไปจัดกิจกรรมที่เกาะกลางถนน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าตรงหน้ากองทัพบกมีพระบรมฉายาลักษณ์ อีกทั้งสื่อมวลชนก็ถูกเชิญไปเกาะกลางถนนทั้งหมด ตน จำเลยที่ 2 และปรเมศร์ จึงข้ามไปทำกิจกรรมตามที่เจ้าหน้าที่บอก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมไว้ ไม่ได้มีประชาชนคนอื่นเข้ามาร่วม 

สืบพยานจำเลยปากที่ 2

ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่าตนเคยเป็นประธานสภานิสิต มีหน้าที่ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศ และเหตุที่ไปทำกิจกรรมเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2562  พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้แถลงข่าวว่าให้เปิดเพลงหนักแผ่นดินในคลื่นวิทยุเสียงตามสายของกองทัพบก ตนและจำเลยที่ 1 รวมถึงปรเมศ จึงเกิดความกังวลเนื่องจากเพลงนี้ทำให้เกิดความรุนแรงในยุค 6 ตุลา 2519 ซึ่งในช่วงนั้นเคยใช้เพลงนี้เปิดเพื่อปลุกระดมให้เกิดการฆ่านักศึกษา อีกทั้งเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังมีนิสิตจุฬาฯ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของตนเสียชีวิต เป็นเหตุให้ตนออกมาทำกิจกรรมเพื่อยับยั้งความรุนแรงนี้ โดยการอธิบายให้ พล.อ.อภิรัชต์ เข้าใจและให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งตนได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กก่อนจะมาทำกิจกรรมว่าจะมาให้ความรู้ และก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้นำโพสต์ของตนไปวิจารณ์ นั่นหมายถึงว่า พล.อ.อภิรัชต์ ได้ติดตามเฟซบุ๊กของตนอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันตนไม่ได้มีช่องทางการติดต่อ พล.อ.อภิรัชต์ ได้เลย จึงใช้ช่องทางนี้ (เฟซบุ๊ก) สื่อสารไปถึง พล.อ.อภิรัชต์

ทั้งนี้ ก่อนการจัดกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ขอให้ไปจัดอยู่เกาะกลางถนนเนื่องจากนายสั่งมา จากนั้นตนจึงได้ย้ายมาจัดกิจกรรมที่เกาะกลางถนน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้เชิญนักข่าวมาที่เกาะกลางถนนด้วย ตนและจำเลยที่ 1 ได้อ่านจดหมายเปิดผนึก  โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที นอกจากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพยานในคดีนี้ นำตนและจำเลยที่ 1 ไปที่สถานีตำรวจ วันดังกล่าวไม่มีประชาชนภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรม และตนคิดว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญที่ได้รับรองไว้

ตอบคำถามโจทก์ถามค้าน

ธนวัฒน์เบิกความว่า ตนทราบว่ามีการเปิด เพลงหนักแผ่นดิน ในเสียงตามสายของกองทัพบกจริง จากเฟซบุ๊กของวาสนา นาน่วม ซึ่งเป็นนักข่าวประจำกองทัพบก แต่ในคดีนี้ไม่ได้ยื่นเข้ามาเป็นพยานด้วย และในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อน เนื่องจากไม่ใช่การชุมนุม เป็นเพียงการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แก่ ผบ.ทบ. และเนื่องจากต้องการจะสื่อสารกับ ผบ.ทบ. จึงต้องไปที่หน้ากองทัพบก แต่ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่กันไว้ ธนวัฒน์เบิกความอีกว่าตนไม่ได้เป็นคนนัดให้นักข่าวมาทำข่าวในกิจกรรมนี้  ธนวัฒน์รับว่าก่อนหน้านี้เคยถูกดำเนินคดีไม่แจ้งการชุมนุมจริงในคดีเผาพริกเผาเกลือ แต่กิจกรรมดังกล่าวก็เป็นการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของคนล้านนา ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยกเว้นให้ไม่เป็นความผิด 

ตอบคำถามทนายจำเลยถามติง

ธนวัฒน์เบิกความยืนยันว่ากิจกรรมในครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เป็นกระแส แต่ต้องการให้ ผบ.ทบ. ยกเลิกการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน ส่วนที่มีนักข่าวมานั้น ตนไม่ได้เป็นคนนัดหมาย และยืนยันว่าการโพสต์ เฟซบุ๊กของตนนั้นเพื่อจะสื่อสารกับ ผบ.ทบ. เท่านั้น และขอยืนยันตามคำให้การในเอกสาร

X