ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

หลังจากสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ถูกแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาออกหมายเรียกพร้อมกับบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ อีก 1 คน คือนายยุทธนา นวลจรัส ด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่ได้เขียนและเผยแพร่บทความวิพากย์วิจารณ์ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่มีคำสั่งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อลงในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของกรุงเทพธุรกิจ

สฤณี อาชวานันทกุล – นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน

ล่าสุดในวันที่ 9 กันยายน 2562 สฤณีได้ไปยื่นคำให้การต่อศาลฎีกา โดยศาลได้รับคำให้การเอาไว้ พร้อมชี้แจงถึงสาเหตุว่าที่ดำเนินคดีครั้งนี้ เพราะมีการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 คือนายยุทธนา ไม่ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาในครั้งนี้ โดยจะเริ่มทำการไต่สวนผู้กล่าวหาในวันที่ 26 กันยายน 2562 และจะเริ่มไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 การอ่านคำพิพากษาจะมีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม ทุกนัดจะเริ่มในเวลา 9.30 น.

การนำข้อหาละเมิดอำนาจศาลมาใช้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในสังคมไทยและสังคมโลก นั่นก็เพราะตัวบทกฎหมายดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยให้ศาลสามารถดำเนินการพิจารณาคดีและตัดสินคดีความเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ไม่ถูกรบกวนหรือถูกชี้นำ ไม่ว่าทั้งจากสื่อหรือสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยที่ศาลได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นของสนามการเมืองที่กำลังถูกแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายโดยผู้มีอำนาจในหลายครั้ง รวมถึงการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลกับสฤณี ที่สังคมมองด้วยสายตาที่กังขา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับบริบททางการเมืองของสังคมไทยที่ “กฎหมาย” ซึ่งควรจะมีเพื่ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคม กลับกลายไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจที่ต้องการจะปิดปากผู้เห็นต่างแทน

 

‘ละเมิด’ หรือ ‘ดูหมิ่น’?

ว่าด้วยองค์ประกอบของข้อหาที่สัมพันธ์กันกับขอบเขตและการทำงานของศาล สองฐานความผิดที่คล้ายและเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ ‘ความผิดฐานดูหมิ่นศาล’ และ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ โดยที่ผ่านมามีการใช้ทั้งสองข้อหาในการดำเนินคดีคนที่ออกมาวิจารณ์คำตัดสินของศาล แต่ในทั้งสองข้อหาในรายละเอียดมีความแตกต่างกันดังนี้

ความผิดฐานดูหมิ่นศาล: เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 198 บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ก็เช่น อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิและนักกิจกรรม ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดูหมิ่นศาลพ่วงกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยในคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นในคดีของ 7 นักศึกษาที่ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดอำนาจศาล และต่อมาพนักงานสอบสวนยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาสองข้อหานี้เพิ่มเติมอีก จากการโพสต์เฟซบุ๊กยืนยันการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลขอนแก่นในคดีของไผ่ ดาวดิน และคดีละเมิดอำนาจศาล และการโพสต์บทกวีชื่อ “บทกวีถึงมหาตุลาการ” วิพากษ์วิจารณ์บทบาทขององค์กรตุลาการ

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล: เป็นความผิดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31 โดยในมาตรา 30 ได้บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความ…หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว … ” ส่วนในมาตรา 31 ได้มีการอธิบายถึงพฤติการณ์อันเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาลหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ (1) ‘ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล’

จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาอย่างมากต่อการตีความ เหตุเพราะ ‘การแสดงออกอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล’ ตาม (1) ซึ่งไม่ได้มีการระบุชี้ชัดลงไปว่าการกระทำหรือการวิพากษ์วิจารณ์ในขอบเขตใดจึงถือว่าเป็นการละเมิดต่ออำนาจของศาล เปิดให้ศาลตีความได้กว้าง อีกทั้งยังไม่มีการนิยามว่าการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นหมายถึงท่าทีและการกระทำแบบใดบ้าง ทำให้ในทางปฏิบัติ มาตรา 31 (1) จึงถูกนำมาใช้อ้างอิงเพื่อดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลกับการกระทำที่หลากหลายอยู่บ่อยครั้ง และยังถูกตีความกว้างขึ้นออกไปจนถึงนอกบริเวณศาลอีก

อาทิเช่น กรณีของ 7 นักศึกษา ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งได้ออกมาจัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ อ่านบทกวี และร้องเพลง บริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ที่ตกเป็นจำเลยในคดีแชร์ข่าวพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทยส่งผลให้ทั้ง 7 คนถูกศาลพิพากษาให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 (1) และ 33 ทั้งในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 ผู้ถูกกล่าวหาได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้ายื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาต่อศาลฎีกา ทำให้สถานะคดีขณะนี้จึงยังไม่สิ้นสุด

 

 

‘ละเมิดอำนาจศาล’ กับสิทธิในการแสดงออกซึ่งความเห็น

แม้บทบัญญัติเรื่องการละเมิดและการดูหมิ่นศาลนั้นถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความสงบเรียบร้อยในระหว่างพิจารณาคดีตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่ในประมวลวิธีพิจารณาความคดีแพ่ง มาตรา 32 ที่ใช้ตั้งข้อหากับสฤณีนั้นก็ยังมีขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่คู่ความในคดีและส่งผลต่อการพิจารณาคดี ในการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาระหว่างการพิจารณาคดีก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งรวมไปถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วย แต่ก็จะเห็นได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลเท่านั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงเนื้อหาในระหว่างการพิจารณาคดีแต่อย่างใด

แม้ว่าทางกรุงเทพธุรกิจจะได้ถอดบทความฉบับย่อดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ไปแล้ว แต่ยังสามารถอ่านบทความฉบับเต็มที่มีข้อความที่เป็นประเด็นทำให้ศาลตั้งคดีไต่สวนสฤณีได้ที่ อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที): กรณี “หุ้นสื่อ” ของผู้สมัคร ส.ส.

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเรื่องละเมิดอำนาจศาล ระบุว่า นอกเหนือจากปัญหาเรื่องของความชัดเจน กฎหมายที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลยังมีความล้าสมัยเพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาตามบริบทสังคมตั้งแต่ปี 2477 หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยังไม่มีองค์กรสหประชาชาติ ไม่มีแนวคิดเรื่องการถ่วงดุลระหว่างรัฐและสิทธิเสรีภาพ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นไปเพื่อให้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ในการสร้างความสงบเรียบร้อย สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว เป็นการตัดสินแบบพิเศษที่ลิดรอนสิทธิในการที่จะมีทนายความและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นในคดีอาญา

ในแง่ของเนื้อหาสาระและจุดมุ่งหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 มาตราล้วนถูกออกแบบมาเพื่อ ‘อำนวยให้ศาลสามารถทำการพิจารณาคดีได้โดยปราศจากการแทรกแซง’ กล่าวคือ คดีดังกล่าวต้องเป็นคดีที่ยังติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เมื่อคดีได้มีคำตัดสินจนถึงที่สุดแล้ว สื่อมวลชนและสาธารณชนย่อมควรที่จะมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของสถาบันยุติธรรมอันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนึ่งที่สามารถกระทำได้ตามหลักการ ICCPR

 

จับตาดูการทำงานของศาล

นอกเหนือจากคดีของสฤณีที่ถูกดำเนินคดีจากการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ ยังมีอีกกรณีที่คล้ายกัน นั่นคือกรณีของ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในฐานะของพ่อของจอห์น วิญญู ถูกศาลรัฐธรรมนูญเชิญไปให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะโกวิททวีตข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญในทวิตเตอร์ รวมไปถึงผู้กำกับชื่อดังต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่ถูกขู่แจ้งความดำเนินคดีจาก ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ ผู้กองปูเค็ม กรณีที่ยุทธเลิศรีทวีตพร้อมกับใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปในข่าวศาลรัฐธรรมนูญเรียกตัวโกวิทที่ศูนย์ทนายความฯ รีทวีตมาอีกที

การตัดสินใจเหล่านี้ขององค์กรยุติธรรมในไทยได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐที่ต้องการจะสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเองผ่านการรับรองโดยกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล พร้อมไปกับการพยายามเซนเซอร์ไม่ให้สังคมสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลอันเป็นสิ่งซึ่งควรอยู่ในขอบข่ายที่บุคคลพึงกระทำได้ และไม่ใช่แค่ศาลยุติธรรมเท่านั้นที่กำลังพยายามสถาปนาความถูกต้องหนึ่งเดียว แต่แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังมีความพยายามกระทำการในแบบเดียวกันดังที่ถูกสะท้อนออกมาผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38 วรรค 3 ที่ก็ยังไม่ทราบว่าจะถูกตีความครอบคลุมการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากยังไม่เคยมีคำพิพากษา แต่มักจะถูกใช้นำมาปรามการวิจาณ์ศาลอยู่เนือง ๆ เพราะข้อหาดังกล่าวถูกระบุโทษเอาไว้ในมาตรา 39 ที่มีโทษสูงถึงจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้ว่าข้อหาดังกล่าวจะยังไม่เคยถูกใช้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีคนที่ถูกดำเนินคดีจากการวิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หลังการเลือกตั้งทั่วไปได้ไม่กี่วัน 9 เมษายน 2562 ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์กฎหมายที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้แจ้งความดำเนินคดี (แทนที่จะเป็นศาลดำเนินการเอง) จากเหตุที่ปิยบุตรอ่านแถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แม้กรณีของ รศ.โกวิท และต้อม ยุทธเลิศ ยังไม่ได้กลายเป็นคดีความ แต่ก็น่าสนใจว่า ในกรณีอื่นที่อาจเกิดขึ้นต่อ ๆ ไปในอนาคต ศาลจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป เพราะหากบรรทัดฐานเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ถูกลดระดับลงมาอย่างน่าเป็นห่วง การจะสร้างความโปร่งใสแท้จริงในกระบวนการยุติธรรมของไทยคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อศาลเลือกที่จะโอนอ่อนต่ออำนาจครอบงำจากฝ่ายรัฐและปฏิเสธที่จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง

 

ขอบคุณรูปภาพหน้าบทความจาก: pixabay.com

ขอบคุณข้อมูลจาก: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

อ่านเพิ่มเติม:

10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”

สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาออกหมายเรียกสฤณีฐานละเมิดอำนาจศาล

 

X