ภรรยา ‘สุรชัย’ ร้องคณะกรรมการฯ อุ้มหาย หลังไม่ทราบชะตากรรมสามีกว่า 9 เดือน 

ภรรยา “สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์” เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีบังคับสูญหาย ขอให้ตรวจสอบชะตากรรมของสุรชัย เจ้าหน้าที่แจงคณะกรรมการฯ สิ้นสุดพร้อม ครม.ชุดก่อน รอ รมต.ใหม่เซ็นแต่งตั้งค่อยส่งเรื่องพิจารณา ขณะคณะทำงานและผู้รายงานพิเศษ UN มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยขอให้ชี้แจงข้อมูลการสอบสวนกรณีการหายไปของสุรชัย และ “ดีเจซุนโฮ” รวมถึงการฆาตกรรมคนสนิททั้งสองของสุรชัย ตลอดจนสถานะของกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับสูญหาย แต่ไร้คำตอบจากรัฐบาล

19 ก.ย. 2562 “ป้าน้อย” นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายสาบสูญไปจากที่พักใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยขอให้คณะกรรมการฯ ติดตามตรวจสอบการหายไปของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร หากมีชีวิตอยู่ นายสุรชัยอยู่ที่ใด และหากมีการทำให้เสียชีวิตแล้ว ศพอยู่ที่ไหน เนื่องจากจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว ที่นายสุรชัยหายตัวไป แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับชะตากรรมของนายสุรชัยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน หายตัวไปจากที่พักพร้อมคนสนิท 2 คน คือ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (ภูชนะ) และนายไกรเดช ลือเลิศ (กาสะลอง) ในช่วงเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-ลาว ครั้งที่ 3 ที่นครเวียงจันทน์ ต่อมา ปลายเดือนธันวาคม 2561 มีการพบศพลอยมาติดตลิ่งริมแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดนครพนมรวม 3 จุด แต่มีเพียง 2 ศพ ที่มีเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบ และผลการตรวจสอบดีเอ็นเอชี้ว่า ศพทั้งสองคือ ภูชนะและกาสะลอง ขณะที่ยังไม่ทราบชะตากรรมของนายสุรชัย

    อ่านเรื่องราวของการหายตัวไปของนายสุรชัยเพิ่มเติมที่ 

นัยนา ภาวินทุ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้มารับเรื่องแทนผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการร่วมของคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ แต่ในวันดังกล่าวติดภารกิจต้อนรับนักศึกษาดูงาน

หลังรับเรื่องจากป้าน้อย นัยนาได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการฯ ที่ได้รับแต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2560 (ดูคำสั่ง) และอนุกรรมการฯ อีก 4 คณะ ที่คณะกรรมการฯ แต่งตั้งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ในปัจจุบันได้หมดวาระไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางกรมคุ้มครองสิทธิได้ทำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่รัฐมนตรียังไม่ได้เซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ อาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดปีงบประมาณ แต่หากมีคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ จะได้นำเรื่องร้องเรียนกรณีการสูญหายของนายสุรชัยเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในทันที (อ่านเพิ่มเติมความเป็นมาและการทำงานของคณะกรรมการฯ ใน วันผู้สูญหายสากล: ความคืบหน้าการหายไปของ “สยาม ธีรวุฒิ” กับการรอคอยของแม่)

 

สามีหาย ภรรยายังต้องแบกรับภาระค่าปรับนายประกัน 

นอกจากขอให้คณะกรรมการฯ ติดตามตรวจสอบการหายไปของนายสุรชัยแล้ว ป้าน้อยยังขอให้คณะกรรมการฯ ทำความเห็นเพื่อนำส่งต่อศาลจังหวัดพัทยาในการขอลดหย่อนค่าปรับนายประกันหรือดำเนินการอื่นตามความเหมาะสม จากกรณีที่นายสุรชัยได้ลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 หลังการประกาศกฎอัยการศึก ในขณะที่คดีบุกล้มการประชุมอาเซียนในปี 2552 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าว นายสุรชัยถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับคนอื่น ๆ อีก 14 ราย ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใด ๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดอื่นรวม 5 ข้อหา กรณีบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 เมื่อนายประกันไม่สามารถนำตัวนายสุรชัยมาศาลได้ ศาลจึงสั่งปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกันเมื่อครั้งขอประกันตัวเป็นเงินถึง 500,000 บาท โดยศาลได้ยึดเงินสดจำนวน 50,000 บาทไปแล้ว ในส่วนที่เหลืออีก 450,000 บาท นายประกันได้ขอผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 จนกว่าจะชำระหมด ซึ่งปัจจุบันยังคงค้างค่าปรับเป็นเงินถึง 390,000 บาท อันจะเป็นภาระให้ป้าน้อยผู้เป็นภรรยาต้องหารายได้ด้วยการขายหนังสือที่นายสุรชัยเขียน, หมวก และเสื้อรณรงค์ เพื่อหาเงินมาให้นายประกันผ่อนชำระอีกกว่า 10 ปี 

ป้าน้อย ในกิจกรรมไว้อาลัยแก่สุรชัยและคนสนิทที่แยกราชประสงค์ เมื่อ 30 ม.ค. 62

คณะกรรมการฯ กรณีบังคับสูญหาย สิ้นสุดอำนาจหน้าที่พร้อม ครม.?

คำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องดูเหมือนยังไม่สามารถคาดหวังต่อการดำเนินการใด ๆ ของกลไกภาครัฐในส่วนนี้ ป้าน้อยเองก็ดูเหมือนจะเข้าใจ “คิดอยู่ว่าจะล่าช้า กว่าจะตั้งกรรมการเสร็จ กว่าจะเริ่มตรวจสอบ เป็นปกติของระบบราชการ โดยเฉพาะในยุคสมัยของเผด็จการ แต่ป้าก็ถือว่ามาทำตามหน้าที่ที่มีโอกาสในการเรียกร้องหาความจริง ป้าก็อยากทำให้ครบทุกขั้นตอน ป้าอาจต้องรอจนกว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ถึงจะได้รู้ความจริงเรื่องของอาจารย์”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตต่อเหตุผลที่ชี้แจงโดยเจ้าหน้าที่ว่า คณะกรรมการฯ และอนุกรรมการชุดเดิมได้หมดวาระไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการฯ ดังกล่าวแต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534  มาตรา 11(6) ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งจะยังมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 42 ทั้งนี้ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ซึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขอื่นใดในการสิ้นสุดลงของคณะกรรมการฯ ทำให้คณะกรรมการฯ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตราบที่ไม่มีคำสั่งอื่นมาเพิกถอน  

 

การเดินทางเพื่อ “ทำให้ครบทุกขั้นตอน”

ท่ามกลางคลุมเครือ ไม่รู้ถึงชะตากรรมที่ชัดเจนของนายสุรชัย รวมถึงท่าทีไม่ใส่ใจดำเนินการติดตามหรือสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของรัฐไทย และแม้ตัวป้าน้อยผู้เป็นภรรยาเองจะค่อนข้างแน่ใจว่า นายสุรชัย ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตแล้ว โดยศพสูญหายไปในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม แต่ป้าน้อยยังคงยืนยันสิทธิที่จะรับรู้ความจริงในชะตากรรมของสามี ตลอดช่วงเวลา 9 เดือนของการหายไปอย่างลึกลับของนายสุรชัย นอกจากการพูดคุย แชท กับคนที่รู้จักสามี ไปดูพื้นที่ที่มีการพบศพทั้งสามจุด เผื่อว่าจะได้พบร่องรอยที่นำไปสู่ความจริง ป้าน้อยยังเดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเงียบ ๆ ตามความตั้งใจ “ป้าก็อยากทำให้ครบทุกขั้นตอน”

  • 7 ก.พ. 2562 ร่วมกับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้สืบหาข้อเท็จจริงการฆาตกรรมสุรชัยและคนสนิท และนำไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันยังไม่ได้รับการติดต่อจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามที่ร้องเรียน
  • 25 ก.พ. 2562 เดินทางเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.สุขสวัสดิ์ บัวอิ่น รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ท่าอุเทน ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเชื่อว่านายสุรชัยถูกฆาตกรรมเสียชีวิตแล้ว และศพถูกถ่วงน้ำทิ้งในแม่น้ำโขง ตามที่มีข่าวว่า มีชาวบ้านพบศพลอยมาติดฝั่งที่บ้านท่าจำปา ม.2 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน แต่ปรากฎว่า ศพดังกล่าวได้สูญหายไป โดยเชื่อว่าศพที่ปรากฎและสูญหายไปในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน ดังกล่าวเป็นศพของนายสุรชัย ผ่านไปเกือบ 7 เดือน รอง ผกก.สภ.ท่าอุเทน จึงยอมรับสายที่ป้าน้อยโทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นอกจากข้อสรุปจากการตรวจสอบรูปภาพว่า ศพที่พบในเขต อ.ท่าอุเทน มีลักษณะคล้ายกับศพที่พบในเขต อ.เมืองนครพนม ซึ่งเป็นศพของกาสะลอง 
  • 5 มี.ค. 2562 เข้ายื่นหนังสือผ่าน อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการบังคับบุคคลสูญหายและเรียกร้องให้ตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนกรณีการอุ้มฆ่านายสุรชัยและผู้ติดตาม ถึงปัจจุบัน อังคณา ลาออกจากกรรมการสิทธิฯ แล้ว และป้าน้อยยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าใด ๆ เช่นกัน

ป้าน้อยเข้ายื่นหนังสือต่อ กสม. ภาพโดย ประชาไท

รัฐบาลไทย “ไม่แยแส” ตอบคำถามคณะทำงานและผู้รายงานพิเศษ UN กรณี 4 นักกิจกรรมที่ลี้ภัย 

กรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งต่อมาพบว่า นายไกรเดชและนายชัชชาญเสียชีวิตแล้วนั้น พบว่า เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่เอกสารของ คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances); ผู้รายงานพิเศษเรื่องการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม อย่างรวบรัด และโดยพลการ (the Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary execution); ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (the Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression); และผู้รายงานพิเศษด้านการต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (the Special Rapporteur on torture and other cruel, in human or degrading treatment or punishment (หนังสือลำดับที่ UA THA 3/2019 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2562) ซึ่งส่งถึงรัฐบาลไทยสอบถามถึงกรณีดังกล่าว รวมถึงกรณีการหายตัวไปของ “ดีเจซุนโฮ” นายอิทธิพล สุขแป้น ตั้งแต่ปี 2559 โดยตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวระบุว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน คณะทำงานและผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้ขอคำตอบจากทางการไทยต่อคำถามในประเด็นต่อไปนี้ 

  1. ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง หรือข้อคิดเห็นที่มีต่อประเด็นการฆ่าและการบังคับให้สูญหายของนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย
  2. รายละเอียดทั้งหมดของการสอบสวนที่เกิดขึ้นต่อกรณีการฆาตกรรมนายชัชชาญ และนายไกรเดช และทางการไทยได้มีการระบุและนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดแล้วหรือไม่ หากไม่มีการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โปรดให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว
  3. โปรดให้ข้อมูลถึงชะตากรรมและแหล่งที่อยู่ของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และนายอิทธิพล สุขแป้น หากยังไม่ทราบรายละเอียดดังกล่าว กรุณาให้ข้อมูลการสอบสวน และหากไม่มีการดำเนินการใด โปรดระบุเหตุผล 
  4. จากข้อมูลที่ได้รับ การบังคับบุคคลให้หายสาบสูญยังไม่เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายไทย โปรดให้รายละเอียดกรอบกฎหมายที่บังคับใช้ขณะนี้เพื่อสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสูญหายของนักกิจกรรมไทยในประเทศไทยและประเทศลาว 
  5. ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของสถานะร่างกฎหมายที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายและการทรมานเป็นความผิดทางอาญา และมาตรการที่รับรองถึงการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังไม่มีการชี้แจงใด ๆ ต่อคำถามดังกล่าว 

 

 

นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศพร้อมไกรเดช ลือเลิศ หลังทราบข่าวการประกาศกฎอัยการศึกในเช้าวันที่ 20 พ.ค. 2557 ซึ่งหลายคนคาดหมายได้อยู่แล้วว่า ทหารต้องเข้ายึดอำนาจหลังจากนั้น นอกจากนิสัยรักความเป็นธรรมที่ไม่ยอมรับอำนาจทหารมาตลอดตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ความเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มแดงสยาม รวมถึงข่าวคราวที่รับรู้มาว่าจะถูกดำเนินคดี 112 อีก หลังพ้นโทษเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ได้ไม่นาน ประกอบกับปัญหาด้านสุขภาพ เป็นเหตุผลในการตัดสินใจครั้งสำคัญ (อ่านเพิ่มเติมจากบทสัมภาษณ์ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

หลังการรัฐประหารใน 2 วันต่อมา คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 5/2557 ให้นายสุรชัยเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ในวันที่ 24 พ.ค. 2557 และเรียกซ้ำอีกครั้งโดยคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 10 มิ.ย. 2557 ก่อนศาลทหารอนุมัติหมายจับ ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 ในช่วงการลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน นายสุรชัยยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการจัดรายการเผยแพร่ทางยูทูบวิพากษ์วิจารณ์ คสช. โดยคลิปรายการของนายสุรชัยมีการบันทึกและโพสต์ครั้งสุดท้ายในช่วงสายของวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ก่อนการหายตัวไปในวันที่ 12 ธ.ค. 2561  

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ความหวังในการค้นหาความจริง: กรณีการหายไปของสุรชัยเเละคนสนิท

วันผู้สูญหายสากล: ความคืบหน้าการหายไปของ “สยาม ธีรวุฒิ” กับการรอคอยของแม่

 

X