จากขบวนคัดค้านเหมืองแร่อมก๋อย สู่การถูกฟ้องคดีปิดปากของแกนนำชาวบ้าน

เส้นทางคดเคี้ยวยาว 170 กิโลเมตร จาก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หรือระยะทางโดยประมาณ 16.5 กิโลเมตร หากนับจากถนนสายหลักใน อ.อมก๋อย เอง นี่คือระยะทางในการเข้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ “กะเบอะดิน” พื้นที่ห่างไกลในเขตป่าไม้ที่ผลิตอากาศบริสุทธิ์ หนึ่งในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ และยังเป็นพื้นที่สูงอันเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่ไหลลงสู่พื้นที่ราบ

หมู่บ้านกะเบอะดิน ในภาษาของชาวกะเหรี่ยง กะเบอะ แปลว่า เครื่องปั้น,เครื่องมือ เมื่อรวมกับคำว่า ดิน “กะเบอะดิน” จึงแปลได้ว่าเครื่องปั้นหรือเครื่องมือที่ทำจากดิน แม้ว่าอาชีพของชาวบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านใกล้เคียงจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องปั้นดินแต่อย่างใด ชาวบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านใกล้เคียงนั้นประกอบอาชีพปลูกกะหล่ำปลี มะเขือเทศ และฟักทอง เพื่อส่งขายเป็นอาชีพหลัก นอกจากนั้นก็จะเป็นการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และปลูกข้าว เพื่อนำมากินภายในครอบครัว ส่วนที่พอจะเห็นความเกี่ยวข้องกับ “ดิน” ของหมู่บ้านแห่งนี้ ก็คงเป็นเส้นทางเข้าไปยังหมู่บ้าน ที่เป็นดินแดงฝุ่นคลุ้งกระจายสลับการทางคอนกรีตที่แตกร้าวพังไปกว่าครึ่งแล้ว ระยะทาง 16.8 กิโลเมตรตามแผนที่ แต่กลับใช้เวลาในการเดินทางร่วมชั่วโมงจากถนนเส้นหลัก ยิ่งเป็นการเดินทางในฤดูฝนยิ่งต้องเพิ่มเวลา และความพยายามในการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งนี้อีกเท่าตัว ด้วยความห่างไกลนี้เอง ที่ทำให้การดำเนินชีวิตยังคงเป็นไปอย่างเรียบง่าย

            อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านกะเบอะดินและชาวอ.อมก๋อย ก็ต้องแปลกใจ เมื่อมีข่าวว่าจะมีการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่อ.อมก๋อย โดยจะใช้พื้นที่ในการจัดทำเหมืองราว 284 ไร่ ซึ่งพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการขุดเจาะแร่ถ่านหินนั้น อยู่ห่างจากหมู่บ้านกะเบอะดินราว 500 เมตร โดยจากข้อมูลพบว่ากระบวนการในการทำแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ได้ถูกจัดทำเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมกับที่บริษัทเหมืองแร่ได้ยื่นขอสัมปทานบัตรจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่และรอการอนุมัติตั้งแต่ช่วงปี 2543 ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่หลายคนระบุว่าไม่ทราบข้อมูลเรื่องที่จะมีการสร้างเหมืองแร่ดังกล่าวมาก่อนเลย

เมื่อเกิดความตื่นตัวของชาวบ้านในพื้นที่อ.อมก๋อย เกี่ยวกับการเตรียมการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินดังกล่าว ก็ได้มีคำถามว่ากระบวนการเพื่อสร้างเหมืองนั้นอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว และจะเกิดผลอย่างไรบ้างหากมีการสร้างเหมืองแร่เกิดขึ้น นำไปสู่การรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อคัดค้านกระบวนการที่จะผลักดันการทำเหมืองแร่ โดยไม่มีการตั้งคำถามและขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ชาวบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านข้างเคียงได้พยายามแสดงความไม่เห็นด้วย และพยายามเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ดำรงธรรม หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแสดงความห่วงกังวลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดทำเหมืองแร่ โดยประเด็นหลักจากชาวบ้านอมก๋อย มีอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่

  1. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงลำห้วย 2 สาย คือห้วยอ่างขาง และห้วยผาขาว ที่อยู่ในเส้นทางการขุดเจาะทำเหมืองให้ไปทางอื่น โดยการสร้างลำคลองปูนให้ลำห้วยเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งอาจจะกระทบกับระบบนิเวศตามธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในลำน้ำ
  2. ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของอ.อมก๋อยนั้น มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะและหุบเขา อากาศหมุนวนภายในหุบเขา แม้กระบวนการเผาแร่เพื่อใช้งานในโครงการนี้จะถูกดำเนินการที่จังหวัดลำปาง แต่การขุดเจาะแร่ก็จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองและสารปนเปื้อนในอากาศ ส่งผลต่อชาวบ้านในพื้นที่ได้
  3. การขนย้ายแร่ถ่านหินหลังจากการขุดเจาะ ที่จะใช้บรรทุกในการขนส่งแร่และจะมีการสร้างถนนให้ดีขึ้นเพื่อการขนส่งแร่ แต่ไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่การใช้รถบรรทุกขนย้ายแร่ จะมีจำนวนการขนย้ายเป็นร้อยๆ เที่ยวต่อวัน ซึ่งจะมีการรบกวนทางเสียง ฝุ่นควัน และการใช้เส้นทางสัญจรของชาวบ้าน
  4. สุดท้าย คือคำถามต่อขั้นตอนการจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีความน่าสงสัยจนชาวบ้านมองว่าเป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ตัวอย่างเช่น การรวบรวมรายชื่อและสำเนาบัตรประชาชนของชาวบ้านในพื้นที่ผ่านทางผู้นำชุมชน โดยที่ชาวบ้านไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ว่าสำเนาบัตรประชาชนได้ถูกนำไปใช้รับรองการทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการจัดทำเหมืองแร่

นับตั้งแต่นั้นมาความสงสัย คำถาม และการแสดงความเห็นคัดค้านของชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่จะช่วยคลายความกังวลและหาข้อยุติได้ นำมาสู่การรวมตัวในวันที่ 28 กันยายน 2562 ที่อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยืนยันให้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ ในการจัดทำเหมืองแร่ถ่านหินต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านั้น วันที่ 19 กันยายน 2562 ชาวบ้านอ.อมก๋อยจะได้รวมตัวและเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้เลื่อนเวทีประชาพิจารณ์ออกไปก่อน

เมื่อไม่มีใครได้ยินเสียงคัดค้านชาวบ้านกว่า 800 คน จึงได้รวมตัวเพื่อเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์และแสดงการคัดค้านต่อการจัดทำเหมืองแร่ถ่านหิน เกิดเป็นปรากฎการณ์เดินขบวนต่อต้าน และผู้คัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์จนล้นห้องประชุมที่จัดที่นั่งไว้เพียง 200 ที่นั่ง โดยไม่มีผู้เห็นด้วยกับการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินมาเข้าร่วมเลย

จนในที่สุดตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ย้ำว่าชาวอมก๋อยไม่เอาเหมืองแร่พร้อมกับเชิญตัวแทนบริษัทเหมืองแร่รับหนังสือคัดค้านจากตัวแทนชาวบ้าน และขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ โดยชาวบ้านยังคงปักหลักในสถานที่จัดเวทีประชาพิจารณ์จนถึงเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาสิ้นสุดเวลาราชการในวันนั้น ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อภายหลังจากที่เวทีประชาพิจารณ์ไม่สามารถจัดขึ้นได้แล้ว กลับมีประชาชนในอ.อมก๋อย 2 ราย ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนสภ.อมก๋อย เพื่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ในวันที่ 12 ต.ค. 62 ซึ่งทางบริษัทเหมืองแร่ถ่านหินได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งมีการออกหมายเรียกดำเนินคดี

จากการสอบถามทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีนี้ ทราบว่ามีผู้ถูกกล่าวหาจากบริษัทเหมืองแร่ถ่านหินจำนวน 6 ราย และได้มีการหมายเรียกแล้ว 2 ราย อีก 4 ราย ยังไม่ได้รับหมายเรียก ส่วนสาเหตุที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาเกิดมาจากการออกมาเดินขบวนถือป้ายรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ในอ.อมก๋อย ของประชาชน นักเรียน และนักศึกษากว่า 2,000 คน เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิ.ย. 62 ก่อนที่จะมีการขึ้นปราศรัยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน และแกนนำชาวบ้าน 2 รายได้ถูกบริษัทกล่าวหาดำเนินคดีจากคำปราศรัยดังกล่าว

คดีที่เกิดขึ้นนี้ จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง “คดีฟ้องปิดปาก” (SLAPP) ที่บริษัทเอกชนใช้ “กฎหมาย” มาเป็นเครื่องมือในการคุกคามปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกเพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับประชาชนที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่ในหลายพื้นที่ อาทิเช่น การคัดค้านเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย, การคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร, การคัดค้านเหมืองแร่ลิกไนต์ในพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง, การคัดค้านเหมืองแร่โปรแตซที่อำเภอวานรนิวาส ที่จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

กลุ่มประชาชนที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่ในแต่ละพื้นที่ดังกล่าว ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกทั้งบริษัททำเหมืองแร่และเจ้าหน้าที่รัฐเอง ฟ้องดำเนินคดีพื้นที่ละหลายคดี โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดเลยที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีมากกว่า 20 คดี สร้างภาระให้กับชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหว ทั้งการต้องใช้เวลาในการต่อสู้คดีเป็นระยะเวลายาวนาน ภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และผลกระทบทางจิตใจของผู้ถูกดำเนินคดี โดย “กระบวนการยุติธรรม” เองก็มีไม่มีกลไกเพียงพอที่จะระงับการดำเนินการทำนองนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ (ดูในรายงาน “SLAPPs” การฟ้องปิดปากหลังรัฐประหาร 2557)

คดีของชาวบ้านผู้คัดค้านเหมืองแร่อมก๋อยที่เกิดขึ้นล่าสุด จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ย้ำเตือนว่าสังคมไทย ยังมีการปล่อยให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่า ฉวยใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือ “ฟ้องปิดปาก” ประชาชนผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอยู่ต่อไป

 

X