การสถาปนา “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเชิงรุก”: หลักการกลายพันธุ์ในคำวินิจฉัยศาล รธน. ยุบไทยรักษาชาติ

ศุภณัฐ บุญสด

20 พฤศจิกายน 2562 ถือว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง ผ่านการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติการเมืองของประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นตัวแสดงที่สำคัญในปรากฎการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” ที่ศาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการข้อพิพาทยุ่งเหยิงในทางการเมืองต่าง ๆ คำวินิจฉัยหลายฉบับของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบต่อการเมืองของประเทศอย่างมาก ทั้งการยุบพรรคการเมือง การวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่มบุคคลที่ใช้เสรีภาพในทางปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ และรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นต้น

นอกจากสร้างผลกระทบทางการเมืองแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังได้สร้างผลกระทบต่อกฎหมายในวงกว้างอีกด้วย เพราะคำวินิจฉัยหลายฉบับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยข้อกฎหมายหลายประการ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญชวนประชาชนมองย้อนกลับไปข้างหลังถึงผลงานต่าง ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาเป็นวัตถุในการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยหลายฉบับที่มีปัญหาในทางกฎหมาย ผ่านชุดบทความที่มีชื่อว่า“วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

สำหรับบทความชิ้นแรกของชุดบทความนี้ เริ่มจากการวิเคราะห์คำวินิจฉัยที่ 3/2562 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ดูคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็ม) เนื่องจากการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นบุคคลที่พรรคเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคำวินิจฉัยฉบับนี้ของ

ศาลรัฐธรรมนูญสร้างปรากฎการณ์ทางกฎหมายที่สำคัญ คือผลของคำวินิจฉัยได้ดัดแปลงหลักประชาธิปไตยเชิงรุก (Militant democracy) ที่ระบบกฎหมายไทยรับมาจากต่างประเทศให้กลายพันธุ์เป็นแบบไทย ๆ ในชื่อที่ขอตั้งว่า “หลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเชิงรุก” โดยจะขอไล่เรียงอธิบายผลทางกฎหมายของคำวินิจฉัยในรายละเอียด ดังนี้

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยเชิงรุก 

ในเบื้องต้นเราจะต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยเชิงรุกเสียก่อน แนวคิดนี้ถูกผลิตขึ้นในช่วงการเรืองอำนาจของฟาสซิสต์ในยุโรปโดย Karl Loewenstein นักกฎหมายและทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมนี แนวคิดนี้ถูกสร้างมาเพื่อปรับปรุงจุดอ่อนที่ร้ายแรงของระบอบประชาธิปไตยที่มีกระบวนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่สังกัดอยู่ภายใต้ระบอบนี้ ให้สามารถเคลื่อนไหวตามแนวความเชื่อทางสังคมและการเมืองของตนได้อย่างอิสระ จนกระทั่งเปิดช่องทางให้กับกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้อาศัยประโยชน์จากกระบวนการนี้ใช้เผยแพร่ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยต่อสังคมและไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจ จนเข้ามาปิดฉากระบอบประชาธิปไตยลงได้ เช่นในกรณีการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีและอดอลฟ์ ฮิตเลอร์

โดยแนวคิดประชาธิปไตยเชิงรุกนี้เสนอให้กำจัดจุดอ่อนดังกล่าวของระบอบประชาธิปไตยโดยติดอาวุธหรือเครื่องมือทางกฎหมายให้กับระบอบประชาธิปไตยเพื่อปกป้องตนเอง โดยการตรากฎหมายออกมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย

Karl Loewenstein นักกฎหมายและทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมัน ผู้คิดหลักประชาธิปไตยเชิงรุก

แนวคิดนี้ได้ถูกหลายประเทศนำเข้าไปปรับใช้ในหลายรูปแบบ เช่น ประเทศฟินแลนด์ได้ใช้กระบวนการศาลประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมาย และตรากฎหมายให้กลุ่มขบวนการขวาจัดหรือฟาสซิสต์ภายในประเทศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ประเทศเอสโตเนียได้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้อำนาจพิเศษกับประธานาธิบดีในการยกเว้นรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดการกับพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฟาสซิสต์ เป็นต้น

ประเทศที่ถือว่าเป็นแม่แบบสำคัญที่ได้นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในการออกแบบรัฐธรรมนูญคือประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีประสบการณ์เลวร้ายโดยตรงจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างพรรคนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นในอดีตขึ้นอีก กฎหมายพื้นฐาน (basic law) จึงได้ถูกติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการต่อสู้กับการทำลายระบอบประชาธิปไตยไว้หลายส่วน เช่น การห้ามแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายพื้นฐานที่กระทบต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การมอบอำนาจให้การศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้บุคคลสูญเสียสิทธิ หากบุคคลใช้สิทธิดังกล่าวมาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย หรือให้มีอำนาจวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใช้เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม โดยมีเป้าหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและแนวคิดตามข้อตกลงระหว่างประเทศ อีกด้วย

ตัวอย่างเครื่องมือทางกฎหมายข้างต้น ได้เข้ามาจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยของประเทศเยอรมนี ปรากฎให้เห็นผ่านการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคสังคมนิยมไรซ์ซึ่งเป็นพรรคที่สานต่ออุดมการณ์ของพรรคนาซี กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในยุบพรรคทั้งสองพรรคว่าอุดมการณ์และแนวทางเคลื่อนไหวของพรรคทั้งสองตั้งอยู่บนหลักการที่ไม่ยอมรับหลักการพื้นฐานในระบอบเสรีประชาธิปไตย

จากที่เรียบเรียงมาข้างต้นทั้งหมด เราจึงสามารถสรุปสาระสำคัญของหลักประชาธิปไตยเชิงรุกที่ปรากฎในโลกสากลได้สั้น ๆ ว่า เป็นหลักการที่อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจตามกฎหมายจำกัดหรือยกเว้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ หากบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพไปในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าหลักการนี้ในทางสากลมุ่งคุ้มครองระบอบประชาธิปไตยเป็นหัวใจสำคัญ

 

การนำเข้าหลักการประชาธิปไตยเชิงรุก เข้าสู่ระบบกฎหมายไทย

บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่สร้างข้อห้ามมิให้บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพไปทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกกระทำการดังกล่าว หรือสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ปรากฎขึ้นครั้งแรกในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และบทบัญญัติในทำนองนี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อมาทั้งในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

อย่างไรก็ตามการนำหลักประชาธิปไตยเชิงรุกเข้ามาสู่ระบบกฎหมายไทย มีการต่อขยายเพิ่มเติมให้กับคุณสมบัติระบอบที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองขึ้นมาเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยคำว่าอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มาต่อท้ายระบอบประชาธิปไตยจะกลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่แสดงว่าหลักการสากลดังกล่าวนี้ได้กลายพันธุ์ไปในทิศทางใด ผ่านการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้นอกจากบทบัญญัติข้อห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลและพรรคการเมืองที่เพิ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ข้างต้นแล้ว การตรากฎหมายห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้อำนาจศาลมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำดังกล่าว ได้ปรากฎขึ้นมาตั้งแต่พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511 แล้ว และมีการสืบทอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ปรากฎอยู่ในมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

แม้ว่าประเทศไทยจะมีบทบัญญัติห้ามเช่นนี้มาอย่างยาวนาน แต่ปรากฎว่าคดีแรกที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง เพราะกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพิ่งมาเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมา ได้วินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเหตุที่พรรคได้ออกใบรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ เพื่อให้สมาชิกพรรคมีคุณสมบัติที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคดียุบพรรคที่สองก็ตามมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคแผ่นดินไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคไทยรักไทย ก็เนื่องมาจากเหตุการปลอมแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคเพื่อให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

กล่าวได้ว่าการที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคทั้งสี่ เป็นเพราะการทุจริตที่เกิดในระหว่างกระบวนการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้กระบวนการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์และยุติธรรมเป็นหลักเท่านั้น แต่ไม่ได้วินิจฉัยลงรายละเอียดให้เห็นว่าพรรคทั้งสี่ข้างต้น มีอุดมการณ์หรือมีการกระทำมุ่งทำลายหลักการพื้นฐานในระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างไร ในทำนองเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีสั่งยุบพรรคการเมืองขวาจัดกับซ้ายจัด อย่างพรรคสังคมนิยมไรซ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีแต่อย่างใด

 

หลักการที่กลายพันธุ์จากคำวินิจฉัยที่ 3/2562 ของศาลรัฐธรรมนูญ

การวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญที่มุ่งวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคการเมืองดังกล่าว เป็นการกระทำที่มุ่งทำลายหลักการพื้นฐานระบอบการปกครองของประเทศไทย ปรากฎเป็นคดีแรกในคดีระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง กับพรรคไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นบุคคลที่พรรคเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของพรรคไทยรักษาชาติว่าเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขณะอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ 7 มี.ค.2562

คำวินิจฉัยวินิจฉัยที่ 3/2562 ที่มีความยาวจำนวน 25 หน้าดังกล่าว ไม่ได้มีส่วนใดของคำวินิจฉัยที่มุ่งบรรยายว่าอุดมการณ์หรือการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร แต่การให้เหตุผลทั้งหมดที่ปรากฏในคำวินิจฉัยดังกล่าว กลับมุ่งไปที่สถานะทางรัฐธรรมนูญของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจสรุปได้ว่า สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของประเทศไทย เป็นสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทย เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทุกหมู่ชน ดังนั้น สถานะของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงจึงต้องทรงเป็นกลางและอยู่เหนือการเมือง โดยหลักการนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 และคำวินิจฉัยที่ 6/2543 ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ เป็นอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญและเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มีระบบกลไกปกป้องสถานะทางรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ดังกล่าว ไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองจนเกินขอบเขตเพื่อบั่นทอนหรือทำลายได้ดังนั้น การที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์ชั้นสูงเป็นบุคคลที่พรรคเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงความเป็นกลางในทางการเมืองและดำรงอยู่เหนือการเมือง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกเซาะกร่อนและบ่อนทำลายลง

หากวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฎในคำวินิจฉัยที่ 3/2562 ของศาลรัฐธรรมนูญ เราจะพบว่าได้มีการอ้างหลักการประชาธิปไตยเชิงรุกเป็นฐานคิดทางกฎหมายหลักในคำวินิจฉัยดังกล่าว เพียงแต่ใช้คำที่แตกต่างออกไปคือกลไกปกป้องระบอบ (self-defending democracy) แต่ในรายละเอียดก็ได้มีการบรรยายองค์ประกอบในทำนองเดียวกัน คือการที่รัฐธรรมนูญมีกลไกปกป้องตนเองจากการใช้เสรีภาพที่มุ่งหวังทำลายระบอบการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ

เพียงแต่ในทางสากล หลักประชาธิปไตยเชิงรุกให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการติดอาวุธทางกฎหมายให้กับศาลและองค์กรของรัฐในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย แต่หลักการเช่นนั้น เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยผ่านการตีความของศาลรัฐธรรมนูญและผ่าน “อัตลักษณ์” ทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์สูงสุดเหนือสิ่งอื่นสิ่งใด มันจึงได้ถูกดัดแปลงให้กลายพันธุ์ไปเป็น “หลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเชิงรุก” ที่มีความแตกต่างจากสากลในรายละเอียดสาระสำคัญอย่างมาก

กล่าวคือ แม้ว่าจะให้ความสำคัญในการติดอาวุธทางกฎหมายให้กับศาล แต่การติดอาวุธให้ศาลดังกล่าว ไม่ได้มุ่งหมายให้ความสำคัญกับการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การปกป้องหรือพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์จากการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลและพรรคการเมืองเป็นสำคัญแทน จนเราอาจกล่าวได้ว่าการติดอาวุธทางกฎหมายไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นอาวุธที่ไม่ได้ถูกหันไปที่ศัตรูของระบอบประชาธิปไตยเหมือนเช่นในยุโรป แต่เป็นอาวุธที่ถูกหันและพร้อมยิงไปที่ศัตรูของสถาบันพระมหากษัตริย์

สำหรับบทความลำดับต่อไปของชุดบทความ “วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะพาผู้อ่านไปสำรวจและวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน คือ คำวินิจฉัยที่ 7/2559 กรณีที่คณะรัฐมนตรีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีจะสามารถปรับปรุงคำปรารถในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชนได้อีก โดยคำวินิจฉัยนี้จะให้คำตอบที่สำคัญต่อคำถามที่ว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้วเป็นของใคร จะเป็นของประชาชนตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ต้องติดตามกันตอนต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม ประมวลข้อถกเถียงนักกฎหมาย โต้ข้อกำหนดศาล รธน. “ห้ามวิจารณ์โดยไม่สุจริตฯ”

 

X