ศาลอาญาสั่งจำหน่ายคดี “ประจักษ์ชัย” ผู้ป่วยจิตเวชข้อหา 112 เพราะเสียชีวิตแล้ว

17 ธ.ค. 2562 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกได้สั่งจำหน่ายคดีของประจักษ์ชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันนี้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่นัดทนายและคู่ความมาเพื่อสอบถามเรื่องการเสียชีวิตของจำเลย 

นัดครั้งนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 11 ธ.ค. 2562 ทนายความของประจักษ์ชัยขอให้ศาลจำหน่ายคดีของเขาออก แต่ศาลแจ้งว่ายังทำไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องรอให้อัยการได้รับคำแถลงยืนยันการเสียชีวิตของประจักษ์ชัยจากพนักงานสอบสวนในคดีเสียก่อน จึงจะสามารถพิสูจน์ว่าจำเลยได้เสียชีวิตตามกฎหมายตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 แล้วจริง

จากข้อความไม่กี่บรรทัด สู่การดำเนินคดีในศาลหหาร

คดีความของประจักษ์ชัยเริ่มมาจากเขาเขียนคำร้องต่อศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำร้องดังกล่าวมีข้อความเพียงแค่ไม่กี่บรรทัด จนนำไปสู่การดำเนินคดีตามความผิดมาตรา 112 ในศาลทหารกรุงเทพฯ กระทั่งถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดก่อนที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในวันนี้กินระยะเวลากว่า 5 ปีตั้งแต่ปี 2558 – 2562 

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 ขณะที่คดียังต่อสู้คดีในศาลทหารชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยได้เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในทางเดินอาหารเสียก่อน ตั้งแต่ก่อนการโอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือน โดยทนายเคยยื่นขอให้ศาลทหารจำหน่ายคดีออกไป เนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่ศาลทหารกรุงเทพอ้างว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 จึงต้องโอนสำนวนต่อให้กับทางศาลยุติธรรม (ศาลพลเรือน) เป็นผู้ดำเนินการต่อ 

เมื่อผู้ป่วยจิตเวชกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม

ระหว่างถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ประจักษ์ชัยได้ถูกส่งตัวเข้ารับการตรวจรักษาที่สถาบันสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยจิตแพทย์ลงความเห็นว่าเขาเป็นโรคจิตเภท และขณะก่อเหตุก็ทำไปเนื่องจากมีอาการ แพทย์ที่ทำการตรวจรักษายังระบุอีกว่าประจักษ์ชัยมีอาการหลงผิดชัดเจน อีกทั้งยังมีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และมีระบบความคิดไม่ต่อเนื่องไม่สามารถเรียบเรียงความคิดเป็นรูปร่างได้ แม้ว่าการสนทนากันในช่วงแรกจะสามารถพูดคุยได้รู้เรื่อง แต่เมื่อคุยไปนาน ๆ จึงจะเห็นว่าระบบความคิดไม่ต่อเนื่อง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของคนไข้จิตเภท

นอกจากนั้น แม่และพี่สาวของประจักษ์ชัยเล่าว่า ตั้งแต่อายุ 18-19 ปี เขาเริ่มปรากฏอาการทางจิต ลักษณะอาการคือตะโกนเสียงดังด้วยคำที่ไม่มีความหมาย หัวเราะหรือพูดคนเดียว โดยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลและได้รับยามา แต่ปกติไม่เคยทำร้ายใคร และยังสามารถทำงานได้ 

แม้คดีนี้ จิตแพทย์ได้เคยมีความเห็นสรุปชัดเจนว่าประจักษ์ชัยนั้นมีอาการทางจิตจริง ทำให้ศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะสู้คดีได้ และให้ประกันตัวจำเลยด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท แต่เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 จิตแพทย์ได้ให้การต่อศาลทหารในนัดประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ระบุว่าอาการของจำเลยดีขึ้นแล้วสามารถสู้คดีได้ ศาลทหารจึงได้เริ่มมีการพิจารณาสืบพยานต่อ จนกระทั่งจำเลยได้เสียชีวิตลง

ผลพวงที่ไม่สิ้นสุดของศาลทหาร

ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557) ได้กำหนดให้ความผิดทางอาญา 4 ฐานตามประกาศ คสช. ได้แก่ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดจากการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร อีกทั้งคดีพลเรือนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกยังถูกจำกัดไม่ให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเพื่อทบทวนคำพิพากษาในศาลชั้นสูงขึ้นไป

แม้ในประกาศดังกล่าวจะมีการระบุว่า การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารนั้นเป็นไป “เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการจัดการคดีในเขตอำนาจ แต่หากเราพิจารณาอย่างใกล้ชิดแล้วจะพบว่า ประเด็นปัญหาของศาลทหารนั้นมีอยู่มากในหลายจุดด้วยกัน และที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งได้ถูกสะท้อนออกมาในคดีของประจักษ์ชัยนั่นก็คือเรื่องของ ความล่าช้า ของกระบวนการพิจารณาคดี 

ในปัจจุบัน แม้หลายคดีจะถูกโอนย้ายจากศาลทหารมายังศาลพลเรือนเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม คดีส่วนใหญ่ยังไม่ถึงที่สิ้นสุดและถึงแม้จะมีบางคดีที่มีคำตัดสินจนถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยก็ต้องเสียทั้งเวลาและโอกาสในการทำงานหรือการศึกษาอันเป็นมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้จากการที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหาร ซึ่งถูกกังขาในเรื่องของความโปร่งใสและอำนาจชี้นำจากกองทัพ

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

คุยกับจิตแพทย์: เมื่อผู้ป่วยจิตเภทเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม

 

X