ชุมนุมสกายวอล์คยังไม่จบ! เจ้าหน้าที่ ปอท. เรียกเหยื่อล่าแม่มดเข้าให้ถ้อยคำ

14 มกราคม 2563 – จากเหตุการณ์การชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ บริเวณสกายวอล์ค ด้านหน้าของห้างสรรพสินค้ามาบุญครองเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับธนาธรกับนักกิจกรรมแล้ว  ยังมีประเด็นเรื่อง “การล่าแม่มด” ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง สืบเนื่องมาจากรูปภาพบนแผ่นป้ายของผู้ชุมนุมที่มีประโยคภาษาอังกฤษ โดยมีภาพแบคกราวด์ด้านหลังเป็นรูปของรัชกาลที่ 9 จำนวน 2 รูป ซึ่งถูกโพสต์ขึ้นในสื่อเฟซบุ๊กในวันเดียวกันกับที่มีเหตุการณ์ชุมนุม ซึ่งในเวลาต่อมา เพจเฟซบุ๊ก “ทีนิวส์” ได้นำชื่อของผู้โพสต์และชื่อของกลุ่มคนที่คอมเมนท์ใต้รูปดังกล่าวทั้งหมด 4 คน มาเสียบประจานบนหน้าเพจของตนเอง ส่งผลให้หนึ่งในผู้เสียหายต้องสูญเสียงานประจำไปจากการเข้าร่วมการชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน

ซึ่งในวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในผู้ที่ถูกล่าแม่มดจากการโพสต์ภาพดังกล่าวได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ที่ ปอท.  หลังจากที่ได้รับหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 (1)

ระหว่างการให้ถ้อยคำ เจ้าหน้าที่ได้ถามคำถามเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว  ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมหรือไม่และได้ร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่  เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและเป็นผู้โพสต์ภาพหรือไม่  โดยสอบถามว่า มีการตัดต่อภาพหรือไม่ และมีเจตนาในการโพสต์ภาพอย่างไร  มีเจตนาสื่อต่อสถาบันหรือไม่  นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามด้วยว่าได้ลบบัญชีเฟซบุ๊กและลบโพสต์แล้วหรือไม่  โดยขอให้เปิดมือถือให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูด้วย  อย่างไรก็ตาม  ทางผู้ให้ถ้อยคำได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้เปิดมือถือให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูเนื่องจากมีข้อมูลส่วนตัวด้วย

ผู้ให้ถ้อยคำได้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ด้วยว่า ได้เข้าพบเพื่อให้ถ้อยคำ เนื่องจากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีเจตนาพาดพิงสถาบัน  แต่เจตนาสื่อถึงผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น  ภายหลังการให้ถ้อยคำเจ้าหน้าที่ได้ให้ลงชื่อในบันทึกในเอกสาร ซึ่งเป็นเอกสาร “ลับ”  โดยระหว่างการให้ถ้อยคำมีทนายความและเพื่อนอยู่ร่วมในการให้ถ้อยคำด้วยโดยตลอด

ทั้งนี้  เจ้าหน้าที่แจ้งว่า  การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสืบสวน  ยังไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด  การให้ถ้อยคำนี้ยังไม่ใช่การให้ถ้อยคำในฐานะผู้ต้องหาหรือพยาน  แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลของเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอีกหรือไม่  ซึ่งบันทึกถ้อยคำดังกล่าวอาจนำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้  โดยขั้นตอนเช่นนี้อาจกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของผู้ที่ถูกเรียกไปให้ถ้อยคำได้

 

อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง:

ทำยังไงดี! ถูกบริษัทไล่ออกเพราะไปม็อบ

X