ผู้โพสต์นัดหมาย “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ยืนยันสู้คดี “ไม่แจ้งชุมนุม”

21 ม.ค. 2563 นายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 4 จ.นครพนม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม หลังพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา ลงวันที่ 16 ม.ค. 2563 จากเหตุที่ พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ พิมพา กล่าวหาว่า นายพิศาลจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม

จากนั้น พ.ต.ท.คำดี เฮียงบุญ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองนครพนม ได้แจ้งข้อกล่าวหานายพิศาลว่า จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยนายพิศาลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และนัดหมายจะส่งคำให้การโดยละเอียดเป็นเอกสารในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ พ.ต.ท. คำดี ระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการภายในวันที่ 5 ก.พ. 2563

นายพิศาลกล่าวในภายหลังว่า การที่เขายืนยันปฏิเสธ เท่ากับเป็นการต่อสู้ในหลักการ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมเป็นเพียงการออกกำลังกาย แม้ในวันดังกล่าวมีการอ่านแถลงการณ์แต่ก็เป็นไปโดยสงบ ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ  

ภาพวันจัดกิจกรรม จากเฟซบุ๊ก Phisan Buphasiri

ก่อนหน้านี้ หลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อเช้าวันที่ 12 ม.ค. 2563 ยุติลง ตำรวจได้มาติดตามนายพิศาลที่บ้านและให้ไปที่ สภ.เมืองนครพนม หลังนายพิศาลเดินทางไปถึง ตำรวจระบุว่า จะแจ้งข้อกล่าวหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” และเจรจาให้เขาจ่ายค่าปรับ 1,000 บาท เพื่อให้คดียุติ แต่นายพิศาลยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจจึงกล่าวว่า จะรวบรวมหลักฐานและออกเป็นหมายเรียกให้เขาเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 14 ม.ค. 2563 แต่เมื่อนายพิศาลเข้าพบพนักงานสอบสวน ตามที่นัดหมาย กลับไม่ปรากฏว่า ตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา อีกทั้งยังได้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และพยายามเจรจาให้เขารับสารภาพ พร้อมทั้งจ่ายค่าปรับ 1,000 บาท เช่นเดิม เขาจึงไม่ลงชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาดังกล่าว และยืนยันให้ตำรวจออกหมายเรียกมาให้ถูกต้อง  โดยเขาพร้อมที่จะสู้คดี

ทั้งนี้ บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 นายพิศาลได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า “วิ่งไล่ลุง 12 ม.ค. 2020 นครพนมกะแล่นนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” จากนั้นมีประชาชนเข้ามาดูและแชร์ข้อความต่ออีกหลายคน และในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลา 06.15 น. นายพิศาลมารวมตัวกันกับพวกจำนวน 14 คน บริเวณหน้าลานพญาศรีสัตตนาคราช และอ่านข้อเรียกร้องมีใจความสำคัญคือ 1. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาปากท้องของพลเมืองไทยอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม 2. เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายภายใต้หลักประชาธิปไตยสากลด้วยการเคารพซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3. เรียกร้องให้ “ลุง” หรือผู้มีอำนาจในสังคมดำเนินนโยบายในการพัฒนาประเทศโดยตระหนักถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก  จากนั้นผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันออกวิ่งจากลานพญาศรีสัตตนาคราชไปทางอุโมงค์พญานาคและสลายตัวไป การกระทำดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะตามคำนิยาม มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้จัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 แต่ผู้ต้องหาไม่ได้แจ้งการชุมนุมดังกล่าวต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม 

หลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่มีขึ้นพร้อมกันในหลายจังหวัด ปัจจุบันมีคนถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 9 คน รวม 10 คดี โดยเป็นคดีตามข้อหา “จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม” 8 คดี  ที่กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครสวรรค์, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, นครพนม และกาฬสินธุ์ รับสารภาพและถูกปรับไปแล้ว 2 ราย อีก 6 ราย ยืนยันต่อสู้คดี ส่วนอีก 2 คดี เป็นคดีตามข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ จ.แพร่ และกาฬสินธุ์ ผู้จัดการชุมนุมในทั้งสองแห่งเข้าพบตำรวจและยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับไปแล้ว อีกทั้งในบางจังหวัดยังมีรายงานการคุกคามผู้เข้าร่วมโดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปพบที่บ้านอีกด้วย

 

X