ยุกติ มุกดาวิจิตร: “ความไม่สมมาตรระหว่างการเป็นจำเลยกับการเป็นโจทก์ในคดีทางการเมือง”

 

 

บทความนี้เป็นการถอดบทเรียนจากงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 จัดโดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” คือหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวและเอกสารสำคัญในคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยได้คัดสรรคดีความจำนวน 9 คดี ที่สะท้อนความพยายามของนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนในการต่อสู้ทัดทานการรัฐประหาร และการโต้กลับของพวกเขาเหล่านั้นผู้ไม่สยบยอมผ่านการต่อสู้ใน “กระบวนการทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างถึงที่สุด

ในหนังสือบันทึก 9 คดีสำคัญภายใต้ยุคสมัยของ คสช. นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของราษฎรผู้กล้าที่จะกำแหงและยืนหยัดคัดค้านอำนาจอันไม่ชอบธรรม แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามนานาชนิด ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ยังส่องสะท้อนให้เห็นถึงทั้งการใช้อำนาจของกองทัพ และบทบาทการรับรองอำนาจเหล่านั้นโดยสถาบันตุลาการ อันร่วมกันทำให้สังคมไทยติดหล่มอยู่ในระบอบแห่งการรัฐประหารเนิ่นนานยาวนับ 5 ปี

ผู้ร่วมเสวนา

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ”ราษฎรกำแหง”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น University of Wisconsin-Madison

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชาลินี สนพลาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ

นพพล อาชามาส: “บันทึกประวัติศาสตร์ 9 คดีของผู้ไม่สยบยอม”

ประจักษ์ ก้องกีรติ: “บทบาทของตุลาการไทยในการรับรองการรัฐประหาร ในวันที่รัฐมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น: “ตุลาการไทยภายใต้สภาวะลอยนวลพ้นผิด”

***สามารถสั่งซื้อหนังสือ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ได้ผ่านทางเพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 

ในช่วงหลังของงานเสวนา รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยากรท่านสุดท้ายที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ ได้แบ่งประเด็นที่อยากจะพูดออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ข้อสังเกตที่พบเจอหลังจากที่อ่านหนังสือ “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช.”
  2. ประสบการณ์ตรงจากการตกเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐในคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
  3. การกำแหงในรูปแบบที่หลากหลายของเหล่าราษฎร

ในข้อแรก อาจารย์ยุกติได้ชี้ให้เห็นถึงตัวละครใหญ่ๆ 3 ตัว ที่โลดแล่นอยู่ภายในหนังสือของศูนย์ทนายฯ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม ได้แก่ 1. ราษฎรหรือมวลประชาราษฎร 2. ระบอบแห่งการรัฐประหาร 3. องค์กรประชาชน

“ในส่วนของราษฎร สิ่งที่เราเห็นคือพัฒนาการของการกำแหง พื้นที่ของการต่อสู้ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความกล้าหาญในทางการเมือง ออกมาต่อต้านอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งเราเห็นคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กระจายตัวออกไป สิ่งที่น่าสนใจคือ ยิ่งรัฐละเมิดประชาชนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเชื้อเชิญให้ประชาชนออกมากำแหงขึ้นมากขึ้นเท่านั้น เป็นปฏิกิริยาที่ประชาชนมีต่อการละเมิดอำนาจของรัฐ ตัวละครที่สองคือระบอบรัฐประหาร ผมคิดว่า ชัดเจนเลยว่า การบันทึกในหนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงวิธีการที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นบรรทัดฐาน สิ่งที่น่ากลัวคือ มันถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาไปแล้ว แล้วเราควรจะปล่อยให้มันเป็นบรรทัดฐานไปอย่างนี้เหรอ? สิ่งนี้ควรจะเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามและหนังสือเล่มนี้เองก็ได้จุดประกายให้เกิดคำถามดังที่ว่า”

“เราน่าจะสังเกตลงไปอีกว่า ในคดีที่รัฐฟ้องประชาชน ในบางคำพิพากษาและคำวินิจฉัยที่ดูเหมือนประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ที่จริงแล้วประชาชนชนะหรือเปล่า? หรือแค่มีการเลี่ยง แต่โดยนัยแล้วยังปกป้องอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ก็พยายามไม่ให้บอบช้ำกับประชาชน จริง ๆ ผมสงสัยว่า ในกลุ่มคดีทางการเมืองที่กระบวนการยุติธรรมแสดงให้เห็นถึงการพยายามปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง ผมคิดว่าอาจจะเท่ากับศูนย์ ซึ่งตรงนี้ผมอาจจะผิดก็ได้ นอกจากนั้น ใน 9 คดีในหนังสือ สิ่งที่เห็นชัดที่สุดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบรัฐประหาร ในกรณีที่คดีอยู่ในศาลทหารกับอยู่ในศาลพลเรือน เราเห็นโอกาสที่เราจะต่อสู้ในศาลพลเรือนได้มากกว่า เป็นไปได้มากกว่าที่เราจะพบเรื่องของการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากกว่าในศาลทหาร”

“สาม องค์กรประชาชนซึ่งเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย อย่างในกรณีของศูนย์ทนายฯ ที่คอยช่วยเหลือประชาชน คิดไม่ออกเลยถ้าไม่มีองค์กรแบบนี้เข้ามา ประชาชนจะเป็นอย่างไร มันช่วยชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งขององค์กรภาคประชาชนด้วยเช่นกัน ซึ่งงานของพวกเขาเหล่านี้ยังรออยู่อีกมากในอนาคต อีกเรื่องคือ ปัจจุบันเรามีการแสดงออกที่สอดคล้องกับการกำแหงของราษฎรและเงื่อนไขของสังคมใหม่ ๆ ผมอยากจะเรียกการทำงานของไอลอว์กับศูนย์ทนายฯ ว่าคือนิติศาสตร์หลังยุคนิติราษฎร์ การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์จะเป็นการเคลื่อนไหวของกฎหมายในระดับมหาชน แต่สิ่งที่ขาดหายไปก็คือองค์กรที่จะเข้ามาช่วยปกป้องสิทธิของประชาชนในระดับรากหญ้า”

“ประเด็นที่สอง ผมอยากจะเล่าประสบการณ์ตรงในฐานะที่เป็นเหยื่อที่ถูกอำนาจรัฐละเมิด ข้อสรุปที่ผมได้คือ มันมีความไม่สมมาตรระหว่างการเป็นโจทก์กับการเป็นจำเลยในคดีทางการเมือง ในคดีความที่รัฐเป็นโจทก์ฟ้องประชาชน มันเป็นความเสียเปรียบทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญ ในฐานะที่เป็นจำเลย เราแทบจะตอบโต้อะไรไม่ได้เลย ตัวอย่างคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผมโดยตรง แต่ก็มีส่วนที่สัมพันธ์ ในงานประชุมวันนั้น น่าสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐเลือกดำเนินคดีกับกลุ่มนักวิชาการที่ถือป้ายซึ่งมีไม่ถึง 5 คนด้วยซ้ำ มีการบิดเบือนการแสดงออกว่าเป็นการต่อต้าน คสช. มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเดินเพ่นพ่านภายในงาน สิ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันคือ นักวิชาการจากต่างประเทศที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ภายในวันนั้นและถูกข่มขู่คุกคามเป็นจำนวนมาก ถูกรบกวนความเป็นส่วนตัว ต้องเจอปัญหาในการเดินทางเข้าออกประเทศ แม้บางคนจะเป็นผู้พำนักในไทยถาวร แต่มีชื่ออยู่ในกลุ่มเป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกกักตัว ถูกสอบสวนในห้องพิเศษ”

“อีกส่วน คดีคนอยากเลือกตั้ง คดีนี้ก่อให้เกิดภาระอะไรกับตัวผมบ้าง อันนี้สะท้อนจากตัวเอง ตอนแรกผมเดินทางไปที่ชุมนุม ซึ่งเขามีการรวมตัวกันก่อนที่ มธ. ท่าพระจันทร์ ในวันอาทิตย์ ไปเพื่อสังเกตการณ์และร่วมชุมนุม และก็ไปอีกในหลาย ๆ ครั้ง วินาทีที่มีการตั้งขบวนผมก็ยืนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วในตอนนั้นเองก็ถูกถ่ายรูป กลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเรียก 57 คน ถ้าผมจำไม่ผิดในคดี ARMY 57 ในระหว่างที่ถูกเรียกตัว ผมต้องเดินทางไปราชการในต่างประเทศ มีหนังสืออนุมัติชัดเจน ทำให้ไม่สามารถไปรายงานตัวได้ ก็ได้ทำจดหมายแจ้งไปว่า จะไปรายงานตัวหลังจากที่กลับมา ปรากฏว่าผมโดนหมายจับก่อน ก็เลยเดินทางไปกับทนายความ ประเด็นที่ผมสงสัยคือ ผมไม่ได้รับความยุติธรรมในการถูกหมายจับ เพราะในระหว่างนั้น ผมได้แจ้งไปแล้วว่าผมจะมารายงานตัว ไม่ได้จะหนี แต่ติดราชการอยู่ต่างประเทศ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการขอดูเอกสารว่าเจ้าหน้าที่ได้ส่งเอกสารหลักฐานจากทางผมไปให้ศาลพิจารณาหรือเปล่า ถ้าเจ้าหน้าที่ส่งไป ศาลได้พิจารณาอย่างไร”

“ถ้ามองในมุมของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเห็นว่า พวกเขาแทบจะไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำอะไรเลย หรือกว่าความรับผิดชอบจะไปถึงก็เป็นเรื่องยุ่งยากมาก อย่างกรณีที่ผมถูกออกหมายจับ กว่าจะได้ความยุติธรรม ตอนนี้ทนายก็ได้ทำเรื่องเพื่อที่จะขอดูเอกสารที่ศาลพิจารณาในการออกหมายจับ ขอตั้งแต่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ จนฎีกา ทั้งสามศาลบอกรอให้ดำเนินคดีจนจบก่อน ตอนนี้คดีเพิ่งจะจบในศาลชั้นต้น แล้วเมื่อไหร่จะได้เห็นเอกสารชุดนั้น คิดว่าจนตายก็ไม่น่าจะได้เห็น”

“ในประเด็นที่ 3 อยากจะทิ้งท้ายในเรื่องการกำแหงของราษฎร จากหนังสือเล่มนี้ชวนให้คิดถึงเรื่องลักษณะของการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มันขยายตัวไปมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลาที่เราศึกษาเรื่องขบวนการประชาชนในปัจจุบัน เราจะเห็นมิติใหม่ ๆ ของวิธีที่ถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิ่งออกกำลังกาย การใช้มีมบนโลกอินเทอร์เน็ต การสื่อสารที่แยบยลและก้าวไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้น อย่างการชุมนุมออนไลน์ การใช้แฮชแท็ก เหล่านี้คือการเคลื่อนไหวในอีกรูปแบบ แม้จะมีคนมองว่ามันไม่ได้มีประสิทธิผล แต่ผมคิดว่า ในแง่การทำงานเชิงอุดมการณ์ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ใช้เวลาในโลกออนไลน์มากกว่าสื่อกระแสหลัก ต่อให้จับพวกเขาไปอบรม ให้รักนั่นรักนี่ แต่เขาอยู่ในพื้นที่เฉพาะซึ่งมีการตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา เขาสามารถค้นคว้าและค้นหาได้เอง ซึ่งเราไม่ควรดูเบาการเคลื่อนไหวของ Netizens เหล่านี้ เพราะเขามีการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองและเรียนรู้ทางการเมืองในลักษณะหนึ่งเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน เราก็จะเจอคดีความที่เกี่ยวกับโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราก็ต้องการองค์กรประชาชนที่จะเข้ามาช่วยเหลือ รองรับคดีความประเภทดังกล่าว ไม่แน่หนังสือเล่มต่อไปอาจจะเป็นเรื่องราษฎรกำแหงออนไลน์ก็ได้ (หัวเราะ)”

 

X