คดีปาระเบิดศาลอาญา โอนจากศาลทหาร นัดพร้อมวันนี้ ศาลเรียกหลักประกัน 5 แสน

วันนี้ 28 ม.ค. 2563 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ นัดพร้อมคดีมหาหิน กับพวกรวม 14 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ปาระเบิดเข้าไปในบริเวณลานจอดรถศาลอาญา โดยเป็นคดีที่โอนจากศาลทหารกรุงเทพมายังศาลยุติธรรม หมายเลขคดีดำที่ อ.3045/2562 

ก่อนจะเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณา ศาลได้นัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค 2563 เวลา 13.00 น. และศาลมีคำสั่งให้คนที่ได้ประกันตัวเมื่อครั้งคดีอยู่ในศาลทหาร ทำสัญญาประกันใหม่ โดยให้เพิ่มหลักทรัพย์เป็นคนละ 500,000 บาท ทุกคน จากเดิมที่ศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ที่ไม่เท่ากัน 

ทั้งนี้ จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าในวันนี้จะมีการเพิ่มหลักทรัพย์ประกัน ทำให้มีอุปสรรคปัญหาเนื่องจากจำเลยไม่สามารถเตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตามที่ศาลมีคำสั่งในวันนี้ได้ เช่น กรณีจำเลยที่ 8 นายชาญวิทย์ จริยานุกูล อายุ 65 ปี ซึ่งแต่เดิมศาลทหารกรุงเทพอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันในวงเงิน 50,000 บาท ไม่สามารถหาหลักทรัพย์อีก 450,000 บาท มาวางเพิ่มได้ทันในวันนี้ 

ขณะเวลา 16.22 น. ทนายจำเลยและจำเลยกำลังพยายามเตรียมเรื่องหาหลักทรัพย์เพิ่ม และทนายขอปรึกษาอธิบดีเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ข้อ 2 วรรคสาม กำหนดให้การโอนคดีพลเรือนในศาลทหารมาศาลยุติธรรมนั้นไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว ซึ่งหากจำเลยต้องเพิ่มหลักประกันในอัตราสูงจนจำเลยไม่สามารถหามาเพิ่ม และเป็นเหตุให้ต้องเข้าเรือนจำ ทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีขณะที่ได้รับการประกันก่อนหน้านี้ ก็เป็นการกระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยได้

ล่าสุด เวลา 16.53 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท ทุกคน และในกรณีของจำเลยที่ 8 ที่หลักทรัพย์เดิมจากศาลทหารวางไว้ที่ 50,000 บาทนั้น ศาลมีคำสั่งให้นำหลักประกันมาวางเพิ่ม 450,000 บาท ภายใน 15 วัน

มีข้อสังเกตว่า กระบวนการทำสัญญาประกันใหม่ในศาลยุติธรรมมีความล่าช้า เป็นเหตุให้จำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกควบคุมตัวอยู่หลายชั่วโมง โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากมีปัญหาเรื่องการโอนย้ายหลักทรัพย์ประกันจากศาลทหารสู่ฝ่ายการเงินของศาลยุติธรรม สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้มีการวางแนวการปฏิบัติในคดีที่รับโอนมาจากศาลทหารให้ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความสับสน 

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ไม่ใช่คดีโอนจากศาลทหารคดีแรกที่ศาลเรียกหลักประกันเพิ่มและมีความล่าช้า กรณี “ช่างตัดแว่นเชียงราย” ซึ่งเป็นคดีแรกที่โอนจากศาลทหารสู่ศาลพลเรือน เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้ระบุว่า ต้องมีการเตรียมเงินประกันตัวหรือหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากที่ใช้เงินประกันตัวจำนวน 100,000 บาทในศาลทหาร เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท หรือหลักทรัพย์ที่มีราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 280,000 บาท แต่ต่อมาไกล่เกลี่ยกันได้ โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายสราวุทธิ์ระหว่างการพิจารณาคดี ด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท หลังจากจำเลยถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง

เหตุเกิดปี 2558 ในช่วงกฎอัยการศึก

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 มีเหตุการณ์ปาระเบิดที่บริเวณลานจอดรถศาลอาญา เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุจำนวน 2 คน ได้แก่ นายมหาหิน ขุนทอง และ นายยุทธนา เย็นภิญโญ ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอีก 12 คน (นางสาวณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง, นางสาวธัชพรรณ ปกครอง, นายวิชัย อยู่สุข, นายนรภัทร เหลือผล, นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นางสุภาพร มิตรอารักษ์, นางวาสนา บุษดี, นายณเรศ อินทรโสภา, นายวสุ เอี่ยมละออ, นายเจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ, และนายสมชัย อภินันท์ถาวร) 

จำเลยในคดีนี้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และเป็นคดีที่เกิดระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ในศาลทหาร จำเลย 4 ราย ได้แก่ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นายนรพัฒน์ เหลือผล และนายวิชัย อยู่สุข ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว โดยการชกต่อย การกระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลจากผู้ต้องหาดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ต้องหาบางรายยังถูกช็อตด้วยไฟฟ้าและยังคงปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนัง เมื่อถูกนำตัวส่งให้ตำรวจดำเนินคดี

ร่องรอยการซ้อมทรมาน นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน

จำเลยทั้ง 14 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, เป็นอั้งยี่, ร่วมกันพยายามฆ่า และร่วมกันก่อเหตุระเบิด ได้ประกันตัวเพียง 9 คน อีก 5 คน ยังไม่ได้ประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์มากพอ กรณีของนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 หลังจากถูกจำคุกกว่า 2 ปี และนายชาญวิทย์ จริยานุกูล เพิ่งได้รับการประกันได้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา หลังจากถูกจำคุกนานกว่า 4 ปี

ทั้งนี้ เมื่อคดีถูกโอนมายังศาลยุติธรรม จำเลยในคดีก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์-ฎีกาคำพิพากษาได้ตามกระบวนการของศาลยุติธรรมโดยปกติ .

ชาญวิทย์ จริยานุกูล (คนกลาง)  ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ที่มาภาพ Suwanna Tallek
X