ศูนย์ปราบโกงฯ หนองบัวลำภู ถูกฟ้องตามหลังอุดรฯ ชุมนุมทางการเมือง

ศูนย์ปราบโกงฯ หนองบัวลำภู ถูกฟ้องตามหลังอุดรฯ ชุมนุมทางการเมือง

3 ผู้เฒ่าถูกฟ้องศาล มทบ.24 คดีศูนย์ปราบโกงฯ หนองบัวลำภู ชุมนุมทางการเมือง เปิดป้ายศูนย์ฯ ทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาลและ คสช. ประกันตัวคนละ 10,000 บาท

11 ส.ค.59  เวลา 08.00 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จ.อุดรธานี อัยการศาล มทบ.24 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนิท สมงาม, นายสุวาจิตร คำป้อง และนางจิตตรา จันปุย เป็นคดีหมายเลขดำที่ 71/2559 กล่าวหาว่า จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป อันเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากกรณีจัดกิจกรรมเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.หนองบัวลำภู

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 3 กับพวกรวม 15 คน ได้ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมกับบุคคลอื่นอีกหลายคน บริเวณภายในวัดอุทุมพิชัย จ.หนองบัวลำภู โดยมีการจัดตั้งและเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ในชั้นสอบสวน ทั้งสามคนให้การปฏิเสธ ส่วนในชั้นศาล ศาล มทบ.24 นัดถามคำให้การในวันที่ 14 ต.ค.59

หลังอัยการยื่นฟ้อง จำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันคนละ 10,000 บาท ระหว่างรอคำสั่งอนุญาตจากศาล เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสามไปขังที่เรือนจำกลางอุดรธานี

เวลา 13.00 น. ศาล มทบ.24 มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไข ห้ามจำเลยชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จากนั้น เวลาประมาณ 20.30 น. จำเลยทั้ง 3 จึงได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำกลางอุดรฯ

หนองบัว

นายสนิท สมงาม อายุ 70 ปี เปิดเผยว่า ตนเอง นายสุวาจิตร (67 ปี) และนางจิตตรา (61 ปี) ยืนยันให้การปฏิเสธในชั้นศาล เนื่องจากไม่ได้ทำความผิดอะไร ตน และนายสุวาจิตร ถูกกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.หนองบัวลำภู เรียกตัวเข้าพบกับ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ห้ามไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในวันที่ 19 มิ.ย. และให้เซ็นข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนและนายสุวาจิตรจึงยุติกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของจังหวัดหนองบัวลำภู แต่กลุ่มสตรีศรีหนองบัว ทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้คนที่มาทำบุญในวัดอุทุมพรพิชัยไปลงประชามติ แล้วก็ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ แค่นี้ จะเรียกว่าเป็นการชุมนุมยังไง แต่ตำรวจออกหมายเรียกตน กับนายสุวาจิตร ไปตามคนที่อยู่ในรูปถ่ายมาสอบปากคำ ป้าจิตตราไม่อยู่ในรูปก็ถูกตามมาด้วย บางคนก็ถูกกันเป็นพยาน ถูกแจ้งข้อกล่าวข้อหา 15 คน ตำรวจเกลี้ยกล่อม 12 คน ให้รับสารภาพ บอกว่าไปอบรมหนึ่งวันก็จบแล้ว แต่สามคนนี้ปฎิเสธ ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด แม้จะถูกกดดัน แต่ตนก็จะสู้ต่อไป

วันที่ 19 มิ.ย.59 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในหลายจังหวัดจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ แต่ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 8 จังหวัด ทั้งในภาคอีสาน เหนือ และกรุงเทพมหานคร รวม 142 คน มีผู้ต้องหารับเงื่อนไขสารภาพ แล้วเข้าอบรมให้คดียุติไปแล้ว จำนวน 56 คน คดีศูนย์ปราบโกงฯ จ.หนองบัวลำภู ถูกฟ้องเป็นคดี หลังจากคดีศูนย์ปราบโกงฯ จ.อุดรฯ ถูกฟ้องเป็นคดีแรก เมื่อ 10 ส.ค.59 ที่ผ่านมา

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

หลังประชามติคดีศูนย์ปราบโกงฯ เริ่มยื่นฟ้องศาลทหารแล้ว อุดรฯ จังหวัดแรก 4 ราย

แจ้งข้อกล่าวหา 19 เสื้อแดงอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกง หลังเรียกมาอบรม

ทหารเรียกอีก ชาวบ้านอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกง

Not Free and Fair การรณรงค์ที่ต้องจ่ายด้วยเสรีภาพ: ประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิก่อนออกเสียงประชามติ

ใกล้ถึงวันประชามติ เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง: อัพเดตสถานการณ์การละเมิดสิทธิช่วงประชามติ ยังไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

 

X