ผู้จัดวิ่งไล่ลุงพิษณุโลก ถูกปรับไม่แจ้งชุมนุม 2 พัน เจ้าตัวยันไม่เคยเห็นว่าเป็นความผิด

29 ม.ค. 2563 นายวรชิต กาญจนกำเนิด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และเป็นผู้จัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่บริเวณเวทีสวนชมน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าตนได้ถูกพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพิษณุโลกดำเนินคดีเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และตำรวจได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 2,000 บาท ไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 63 นายวรชิตได้รับหมายเรียกของสภ.เมืองพิษณุโลก ที่ส่งมายังอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อขออนุญาตให้ผู้ถูกออกหมายเรียกซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมาพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 29 ม.ค. 63  โดยหมายเรียกดังกล่าวออกโดยพ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ รองผู้กำกับสภ.เมืองพิษณุโลก ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยมิได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” โดยคดีมี ร.ต.อ.ธีรวุฒิ จันทะขัน เป็นผู้กล่าวหา

ในช่วงบ่ายวันที่ 29 ม.ค. นายวรชิตพร้อมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนนักศึกษา และคนรู้จักที่เป็นนักกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทนายความ ได้เดินทางเข้าพบกับพ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ ตามหมายเรียก โดยตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และได้สอบปากคำเขา โดยสอบถามถึงประวัติส่วนตัว ที่มาที่ไปของกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 เหตุที่เขามาเป็นผู้จัดกิจกรรม รวมถึงความรู้จักกับแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่

นายวรชิตเปิดเผยว่าทางตำรวจแจ้งกับเขาว่าในกิจกรรมวิ่งวันดังกล่าว ปรากฏผู้เข้าร่วมที่สวมใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง มีป้ายข้อความที่มีการกล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีการใช้โทรโข่งกล่าววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ทำให้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเขาในฐานะผู้จัด ไม่ได้ไปแจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง ทำให้ต้องมีการดำเนินคดี และยังเป็นคำสั่งมาจาก “ฝ่ายความมั่นคง” ให้ดำเนินการด้วย

นายวรชิตกับอาจารย์และเพื่อนได้ตกลงกันให้ตำรวจปรับ เพื่อให้คดีสิ้นสุด เนื่องจากไม่อยากมีภาระในการต่อสู้คดีโดยใช้ระยะเวลานาน ทางพนักงานสอบสวนจึงได้ตกลงเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดพิษณุโลก (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

นายวรชิตย้อนเล่าว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางการเมืองแรกที่ตัวเขาเองและเพื่อนร่วมกันจัดขึ้น เนื่องจากในวิชาเรียนรวมของมหาวิทยาลัย ได้มีการให้นักศึกษาทำโครงการเกี่ยวกับประชาธิปไตย และในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ มีกระแสเกี่ยวกับการจัดวิ่งไล่ลุง เขากับเพื่อนจึงอยากใช้กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในวิชาเรียน จึงได้ทำเป็นอีเวนต์ในจังหวัดพิษณุโลกกันขึ้นมา มีการสร้างเพจเฟซบุ๊กและประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนมาร่วมวิ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้เข้าร่วมวิ่งกว่า 200 คน เมื่อจัดเสร็จก็ได้สรุปประสบการณ์เป็นรายงานส่งอาจารย์ด้วย

ในการจัดกิจกรรม ไม่ได้มีการไปแจ้งล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะคิดว่าไม่ใช่เป็นการชุมนุม เป็นเพียงการรวมตัวกันมาวิ่ง และตัวเขาเองได้เป็นผู้ใช้โทรโข่งพูดแนะนำกิจกรรม ทำให้ทางเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม แต่ในการวิ่ง ก็ไม่ได้มีการห้ามปรามหรือปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ที่มาสังเกตการณ์ในกิจกรรม

นายวรชิตระบุว่าเมื่อได้รับหมายเรียก ก็รู้สึกเครียดนิดหน่อย แต่เมื่อได้ปรึกษาหลายๆ คนและมาพบตำรวจแล้ว ก็สบายใจขึ้น เพราะคดีมีเพียงโทษปรับ ทางตำรวจก็เล่าถึงความลำบากใจที่ต้องดำเนินการตามคำสั่ง ตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นความผิดอะไร เป็นแค่การออกไปวิ่งเฉยๆ และยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะถูกปรับไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นความผิด

จนถึงปัจจุบัน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเมื่อวันที่ 12 ม.ค. มีผู้ถูกดำเนินคดีเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมแล้ว 17 ราย ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, บุรีรัมย์, นครพนม, สุรินทร์, ยโสธร, กาฬสินธุ์, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ลำพูน, เชียงราย, พังงา และตรัง

ดูในรายงาน การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

 

X