ศาลอาญาสั่งพิจารณาลับ คดี 112 “อัญชัญ – แชร์คลิปบรรพต” นัดสืบพยาน ธ.ค.

17 กุมภาพันธ์ 2563 – ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานในคดีของ อัญชัญ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปข้อความเสียงของ “บรรพต”

>>> คดี 112 “แม่จ่านิว” ศาลอาญานัดสืบต่อจากศาลทหารปลายปี – เลื่อนนัด “อัญชัญ” เหตุอัยการไม่ว่าง

โจทก์ จำเลย ทนายจำเลย และนายประกัน มาศาล คดีนี้ เดิมทีก่อนที่จะมีคำสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม ศาลทหารกรุงเทพได้ทำการสืบพยานโจทก์ไปแล้วทั้งหมด 7 ปาก ในนัดนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้แถลงว่า จะขอสืบพยานโจทก์อีก 4 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ด้านจำเลยและทนายจำเลยระบุว่า จะขอสืบพยานจำเลยรวม 2 ปาก ใช้เวลาสืบครึ่งนัด ศาลพิเคราะห์แล้ว ให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยติดต่อกันเป็นจำนวน 2 นัด โดยให้โจทก์ออกหมายเรียกพยานโจทก์ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันนี้ ทั้งนี้ โจทก์และจำเลยได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2563 โดยทั้งสองวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับเช่นเดียวกับศาลทหาร โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการพิจารณาคดีอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ต่อมา นายประกันของอัญชัญได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางไว้ในศาลทหารกรุงเทพเป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 500,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว

>>> ศาลทหารสั่งโอนคดี “อัญชัญ” ม.112 ไปยังศาลยุติธรรม ให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

อัญชัญ: ผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงในยุค คสช.

อัญชัญถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้านระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 หลังอยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกรวม 6 วัน อัญชัญถูกส่งตัวให้ดีเอสไอดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ต่อมา อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องอัญชันต่อศาลทหารกรุงเทพรวม 29 กรรม อัญชัญให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในชั้นศาล

ศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้อัญชัญถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางอยู่เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ก่อนที่เธอจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อปลายปี 2561

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.

การเปลี่ยนแปลงของแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ในรอบปี 2561

X