จำคุก 8 ปี คดี ‘ชัชวาล’ ครอบครองอาวุธพบในโพรงหญ้า เหตุเกี่ยวเนื่องคดียิง M79 บิ๊กซีราชดำริ

วันนี้ (20 ก.พ. 63) เวลา 10.00 น. ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของนายชัชวาล ปราบบำรุง ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.391/2563  ข้อหาครอบครองอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ ที่พบในโพรงหญ้าในหมู่บ้าน แถบจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นคดีต่อเนื่องจากคดีการยิง M79 ตกหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มกปปส. เมื่อปี พ.ศ.2557 (ดูความเป็นมาคดีนี้)

คดีนี้ อัยการศาลทหารเคยฟ้องนายชัชวาลเป็นจำเลยในศาลทหารกรุงเทพ คดีใช้เวลากว่า 5 ปี จนสืบพยานทั้งหมดแล้วเสร็จในศาลทหาร ก่อนคดีถูกโอนย้ายมาฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญา เนื่องด้วยหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้โอนย้ายคดีในความผิดบางประเภทที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ให้ไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร ทำให้ในคดีนี้ ศาลพลเรือนกลายเป็นผู้จัดทำคำพิพากษา โดยไม่ได้เป็นผู้พิจารณาคดีนี้มาก่อนแต่อย่างใด

ศาลอาญาได้พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องใน 2 กรรม คือ หนึ่ง มีอาวุธ วัตถุระเบิด และอาวุธสงคราม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ.2490 และพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงโทษจำคุก 9 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี  และสอง ข้อหาไม่นำอาวุธหรือวัตถุระเบิดที่ใช้ในสงครามไปส่งมอบให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 37/2557 เรื่องให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุกจำนวน 2 ปี  รวมโทษให้จำคุกทั้งหมด 8 ปี ริบของกลาง และให้นับโทษต่อจากคดีฐานร่วมกันฆ่าโดยใช้อาวุธสงคราม

ส่วนข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยเรื่องการฟ้องคดีซ้ำกับคดียิง M79 ตกหน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ กับจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ศาลวินิจฉัยโดยสรุปความว่า 1) คดีนี้ไม่เป็นการฟ้องคดีซ้ำกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเหตุการณ์ยิง M79 ตกหน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยในคดีนั้นทั้งหมดจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งตัวชัชชาลจำเลยในคดีนี้ด้วย ด้วยเหตุอาวุธหลายรายการใน 9 รายการที่ตรวจพบและยึดมาได้นั้น พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องไปในคดีฆ่าผู้อื่นที่ตัดสินไปแล้วนั้น 

2) จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง ด้วยหลักฐานสอดคล้องกันว่าผู้ตรวจยึดอาวุธปืนและวัตถุระเบิดเบิกความในชั้นศาลสอดคล้องกับเอกสารการตรวจยึด ส่วนเรื่องที่จำเลยอ้างว่าการลงลายมือชื่อในเอกสารชั้นเจ้าหน้าที่ทหารและชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน ไม่ได้มาจากความสมัครใจและโดนทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพนั้น ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้แจ้งเรื่องนี้ไว้ในชั้นสอบสวน ประกอบกับไม่มีพยานหลักฐานเรื่องการถูกทำร้ายร่างกายดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ สถานที่ที่ตรวจพบอาวุธหนักเพื่อการสงครามในคดีนี้เป็นโพรงหญ้าในหมู่บ้าน เป็นที่สาธารณะ ยากที่เจ้าหน้าที่จะทราบได้ หากจำเลยไม่นำไปหาเอง ทำให้ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริงตามฟ้อง

ทั้งนี้ ศาลอาญาแจ้งสิทธิให้จำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษา  

ก่อนอ่านคำพิพากษา มารดาของชัชวาลซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยนั้น ได้เขามากอดลูกชาย ซึ่งถูกนำตัวมาจากเรือนจำ และชัชวาลได้ก้มกราบมารดาของเขาเป็นเวลาเกือบครึ่งนาที ก่อนมารดาจะให้พรกับลูก 

ก่อนหน้านี้ ชัชวาลและพวกอีก 4 คน ได้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงทางการเมือง กรณี M79 ตกหน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มกปปส. เมื่อปี พ.ศ.2557 และจำเลยได้ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียชีวิตเป็นเงิน 534,700 บาท ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีถึงที่สุดในปี พ.ศ.2560

     >>> ก่อนฟังคำพิพากษาคดีระเบิด M79 ตกหน้า Big C ราชดำริ

>>> ศาลฎีกาพิพากษาคดียิง M79 กปปส. บิ๊กซี ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารจำเลย แต่รับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต

คดีนี้มีข้อสังเกตว่าการพิจารณาคดีทั้งหมดเกิดขึ้นในศาลทหาร เนื่องจากมีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการส่งมอบอาวุธสงครามให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกคสช.ประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร และเหตุที่เกิดอยู่ระหว่างช่วงสถานการณ์พิเศษตามกฎอัยการศึก จึงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลสูงได้ แต่เมื่อคดีนี้ถูกโอนย้ายกลับมาพิจารณาตามกระบวนการในศาลพลเรือน ทำให้สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ตามกลไกปกติ  

ทั้งนี้ ในช่วงหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 นายชัชวาลอ้างว่าระหว่างถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่จังหวัดเชียงรายพร้อมภรรยาก่อนจะถูกจับแยกกัน โดยนายชัชวาลถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.57 ได้ถูกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากสอบสวน และระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ได้ถูกทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ อีกด้วย จากนั้นในวันที่ 9 ก.ค. 57 เขาถูกควบคุมตัวไปยังบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจพบอาวุธในบ้านหลังดังกล่าว ก่อนทำการตรวจยึดเอาไว้ ซึ่งกลายเป็นอาวุธที่นำมาสู่การดำเนินคดีในกรณีนี้

 

X