ชุมนุมโดยสงบทำได้ตามรัฐธรรมนูญ: อ่านคำพิพากษาคดี “คนอยากเลือกตั้ง” RDN50

คดีทางการเมืองสำคัญหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีการต่อสู้ในเรื่องเสรีภาพการชุมนุม ได้แก่ ชุดคดีของคนอยากเลือกตั้ง โดยเฉพาะในคดีแกนนำการชุมนุมของแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 จนสื่อตั้งชื่อเล่นให้ว่า RDN50 คดีนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน ทั้งในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12

คำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 มีเนื้อหาที่สำคัญ ซึ่งรับรองเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นเอาไว้

เบื้องต้นศาลพิจารณาข้อเท็จจริงในคดี และเห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในคดีนี้ เป็นไปโดยสงบและปราศจากความรุนแรง ซึ่งสามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ “…ข้อเท็จจริง (ที่ทางพยานโจทก์และจำเลยได้เบิกความไป) จึงรับฟังได้ว่าการชุมนุมในคดีนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการใช้กำลังหรือก่อความวุ่นวายเพื่อบีบบังคับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจบริหารประเทศอยู่ในเวลานั้นให้กระทำตามข้อเรียกร้อง…”

ในคำพิพากษา ศาลยังเห็นว่าผู้มีบทบาทจัดการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นนิสิตนักศึกษาและผู้ที่มีอุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ขณะเกิดเหตุ มีรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ใช้บังคับแล้ว แต่ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารปกครองประเทศ จำเลยนำสืบถึงเหตุที่มีการชุมนุม ว่าหัวหน้า คสช. เคยประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วมีเหตุให้ต้องเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง

ศาลชี้ว่าเมื่อพิจารณาจากการปราศรัย การแสดงสัญลักษณ์ และแผ่นป้ายในที่ชุมนุม ซึ่งพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐบาล และคสช. แล้ว “…เนื้อหาหลัก (นอกเหนือจากที่กล่าวถึงคณะรัฐบาล คสช. และผู้นำ) เป็นการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ซึ่งพันเอก บุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์ตอบคำถามถามค้านว่า การพูดของพวกจำเลยในการชุมนุมนั้น ไม่ได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรง การเลือกตั้งเป็นวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การเรียกร้องของพวกจำเลยจึงเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ”

ศาลระบุว่า การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิถีทางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเรียกร้องที่สามารถกระทำได้ภายใต้การรับรองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

“…(พวกจำเลย) อ้างเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ มีเจตนาปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความวุ่นวายรุนแรงแล้ว เห็นว่ากระทำไปเพื่อให้การเรียกร้องเรื่องเลือกตั้งตามความเห็นของพวกจำเลยมีน้ำหนักหนักแน่นขึ้นเท่านั้น ทั้งเมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 แล้ว พวกจำเลยก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอีก ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาจึงเห็นว่า เท่าที่จำเลยทั้งหกกระทำไปในคดีนี้ มิใช่เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง แม้บางถ้อยคำจะไม่เหมาะสมหรือก้ำเกินไปบ้าง เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์และหลักการตรวจสอบแสดงความคิดเห็นวิพากย์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยแล้ว กระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116”

ศาลได้พิเคราะห์ว่าการชุมนุมของจำเลยทั้ง 6 เป็นการชุมนุมมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรง แค่เพียงต้องการสร้างน้ำหนักให้กับการเรียกร้องของตน ศาลได้ตัดสินว่าการกระทำของทั้ง 6 นั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แม้บางถ้อยคำจะไม่เหมาะสมก็ตาม จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม คำพิพากษา RDN50

——————————————————-

อ่านเพิ่มเติม

คำพิพากษาในคดี ยกฟ้อง 6 แกนนำ RDN50 ศาลชี้ไม่ได้ยุยงปลุกปั่น และเป็นไปตามความมุ่งหมายของ รธน. 

เส้นทางการต่อสู้คดี ประมวลเส้นทางการพิจารณาคดี RDN: การต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน

และข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสำคัญในคดีนี้ของฝ่ายโจทก์ เปิดเอกสาร ‘พล.ต.บุรินทร์’ นำส่งคดี RDN50: แจ้งความซ้ำๆ คู่ใช้ IO เพื่อจำกัดเสรีฝ่ายต้าน คสช.

 

 

X