เกือบ 4 ปีหลังประชามติ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรธน. ชี้เนื้อหาไม่ผิดกม.

วันที่ 25 มี.ค. 63 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีการอ่านคำพิพากษาในคดีการส่งจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงก่อนหน้าการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 คดีนี้มีจำเลย 15 ราย รวมทั้งนักการเมืองในตระกูลบูรณุปกรณ์ได้แก่ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-พนักงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น), มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่), มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง

คดีนี้เดิม อัยการทหารได้ส่งฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้มีการโอนย้ายคดีมายังศาลจังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช.  คำสั่ง คสช. และคำสั่งหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยการพิจารณาคดีทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมผ่านมาเกือบ 4 ปี หลังเกิดเหตุ

.

           

วันนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาต่อหน้าจำเลยทั้ง 15 คน และทนายความ แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีและญาติของจำเลยเข้าร่วมฟังการพิจารณา เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างในห้องพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจำเลยมีจำนวนมาก ทำให้ที่นั่งเต็มในห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดเล็ก

จากการสัมภาษณ์จำเลยและทนายความในคดี ได้ความโดยสรุปว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดีจำเลยทั้ง 15 คน ในทุกข้อกล่าวหา โดยศาลได้พิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วินิจฉัยว่าข้อความในจดหมายเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เนื้อหาไม่ได้เป็นการปลุกระดม ข่มขู่ ก้าวร้าวหรือหยาบคาย และไม่ได้ถึงขนาดทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเพียงการแสดงความเห็นให้ผู้อ่านเนื้อหาดังกล่าวได้คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง

ศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดไม่ได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันเป็นการลับ พฤติการณ์ในคดีเป็นเพียงการไหว้วานให้จัดทำเอกสารและส่งจดหมาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 15 คน และให้คืนของกลางในคดีให้แก่จำเลย

.

ความเป็นมาในคดี: “จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมูญ” ที่ถูกทำให้กลายเป็น “จดหมายบิดเบือน”

สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค. 59 ก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 ในวันที่ 7 ส.ค. 59 เมื่อได้มีผู้ส่งจดหมายที่มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยหย่อนลงตามตู้ไปรษณีย์หลายตู้ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เพื่อส่งถึงบ้านเรือนต่างๆ ในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าพบจดหมายดังกล่าวรวมกันทั้งสิ้น 11,181 ฉบับ เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ได้ตรวจยึด และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ส่งจดหมาย

จดหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทความขนาดสั้น ยาว 1 หน้ากระดาษเอสี่ ระบุชื่อบทความว่า “จริงหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดสิทธิ์ของประชาชน” โดยเนื้อหาระบุไล่เรียงถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ การลงประชามติที่จะเกิดขึ้นวันที่ 7 ส.ค. 59 พร้อมกับนำเสนอประเด็นจากร่างรัฐธรรมนูญนี้จำนวน 3 ประเด็นสั้นๆ ได้แก่ เรื่องสิทธิด้านการรักษาพยาบาลฟรี, เรื่องการช่วยเหลือบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี และเรื่องสิทธิการเรียนฟรี พร้อมระบุเพิ่มเติมถึงคำถามพ่วงในการลงประชามติ ทั้งได้เขียนปิดท้ายว่า “อนาคตของประเทศไทยและสิทธิของประชาชนจะหายไปหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับผลประชามติ 7 สิงหาคม 2559 นี้” และไม่ได้มีข้อความตอนใดที่ระบุโดยตรงให้ผู้อ่านไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว แทบไม่มีสื่อมวลชนใดนำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนของจดหมายฉบับดังกล่าว แต่เรื่องราวกลับถูกนำเสนอตามการให้ “ความเห็น” ของคสช., กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ระบุว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการ “บิดเบือน” สาระของร่างรัฐธรรมนูญ หรือถูกนำเสนอข่าวในลักษณะว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปลอม” และมีความผิดตาม“กฎหมาย”

>>> เมื่อ ‘จม.วิจารณ์ร่างรธน.’ ถูกทำให้กลายเป็น ‘จม.บิดเบือน’: ประมวลสถานการณ์กรณีจับกุมบุคคลภายในมทบ.11

.

(เนื้อหาในจดหมายอันเป็นต้นเหตุของคดี)

.

จากเหตุดังกล่าวได้มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เข้าตรวจค้นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่หลายจุด โดยส่วนหนึ่งในนั้น เป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลบูรณุปกรณ์ และยังมีการเข้าตรวจค้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือกด้วย ต่อมามีรายงานการควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องไปยังค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ และส่งตัวไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพมหานคร

ท้ายที่สุด มีการนำตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร กลับมาแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยนักการเมืองในตระกูลบูณุปกรณ์ พนักงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานบริษัทของตระกูลบูรณุปกรณ์ และเจ้าของโรงพิมพ์  ทางตำรวจยังมีการขออำนาจฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ผู้ต้องหาในคดีถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 23 วัน  โดยเมื่อครบกำหนดฝากขังผัดที่สอง และกระบวนการลงประชามติได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ญาติและทนายความได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นครั้งที่ 4 ด้วยหลักทรัพย์รายละ 100,000 บาท และศาลทหารได้อนุญาตให้ประกันตัวในที่สุด

หลังจากนั้น อัยการศาลทหารได้ส่งฟ้องคดีนี้ซึ่งรวมแล้วมีจำเลย 15 คน ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 59 ในนัดถามคำให้การ จำเลย 14 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ถูกจับกุมในคดีนี้เป็นรายแรก และเป็นจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่ศาลทหารพิจารณาว่าจะทำการพิพากษาพร้อมกับจำเลยที่ขอต่อสู้คดี

หลังจากนั้น ได้เริ่มมีการนัดหมายสืบพยานในคดีในศาลทหารนานเกือบ 3 ปี คดีก็ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากกระบวนการสืบพยานในศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า นัดคดีไม่ต่อเนื่องและมักเลื่อนบ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการโอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือน ในช่วงเดือนกันยายน 2562 และได้มีการสืบพยานต่อจนแล้วเสร็จ รวมระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงมีคำพิพากษาคือ 3 ปี 8 เดือนเศษ

อ่านรายละเอียดประมวลเหตุการณ์ในคดีนี้ได้ที่ “2 ปี หลังประชามติที่ไม่เสรี: คดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรธน. ยังดำเนินอยู่ในศาลทหาร”

.

ประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม 

 

ในช่วงเวลาการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ คสช. ที่แม้จะผ่านการลงประชามติและมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แต่กระบวนการแรกเริ่มคือการลงประชามติที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เป็นกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Referendum)

เมี่อในช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และการใช้ “กฎหมาย” ตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปิดกั้นกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งช่วงก่อนและหลังที่จะมีการออกเสียงประชามติ มีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนอย่างน้อย 212 คน (อ่านใน รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี”) 

ปัจจุบันคดีที่เกิดขึ้นในช่วงการออกเสียงประชามติ จากการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจส่วนใหญ่ ได้จบลงโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด เช่น คดีแปะใบปลิวโหวตโน ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือคดีแจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และ สติกเกอร์โหวตโนศาลจังหวัดราชบุรี  รวมถึงคดีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิพากษายกฟ้องในวันนี้ บางคดีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลย เช่น คดีฉีกบัตรประชามติศาลจังหวัดพระโขนง

ทั้งนี้ ยังคงเหลือคดีที่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ได้แก่ คดีแจกใบปลิวประชามติบางเสาธง ที่มีนัดสืบพยานที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 63 นี้ เหตุที่ล่าช้าเนื่องจากคดีนี้ถูกโอนย้ายมาจากศาลทหารเช่นเดียวกัน

.

X