อดีต น.ศ.กลุ่มดาวดินชี้คำสั่งไม่รับฎีกาคดีละเมิดอำนาจศาล สะท้อนการเพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

เมื่อผู้ใช้กฎหมายไม่ได้ยึดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยยึดแค่ตัวบทกฎหมาย แน่นอนว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งต่าง ๆ ย่อมไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง ทั้งที่ความเป็นจริง สิทธิและเสรีภาพไม่ควรมีอำนาจไหนที่มาละเมิดได้”

ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์ อดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน และหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา คดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล ให้ความเห็นหลังศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำสั่งศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาในชั้นฎีกา หลังจากทั้งเจ็ดได้ยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกา เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า การจัดกิจกรรมให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” ที่หน้าศาลขอนแก่นเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (อ่านเพิ่มเติมใน รายงานข่าว)

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2560 เครือข่ายนักศึกษา ได้เดินทางไปให้กำลังใจนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ขณะตกเป็นจำเลยในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย ซึ่งไผ่ถูกถอนประกัน และไม่ได้รับการประกันตัวอีกเลย บรรยากาศของกิจกรรมในวันดังกล่าว มีการอ่านแถลงการณ์ อ่านบทกวี ร้องเพลง รวมทั้งมีผู้นำอุปกรณ์ท่อนไม้มาจัดทำเป็นสัญลักษณ์คล้ายตาชั่งเอียง พร้อมดอกไม้มาวางบริเวณฟุตปาธด้านหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้ศาลมีการตั้งเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ต่อผู้ร่วมกิจกรรม 7 ราย

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ทั้งเจ็ดได้ต่อสู้คดีจนถึงชั้นฎีกา เนื่องจากเห็นว่าการแสดงออกโดยสงบสันติ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ และกิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต ภายใต้หลักการที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีบัญญัติรับรองไว้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น โดยไม่ได้ส่งผลขัดขวางการอำนวยการความยุติธรรมของศาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ การแสดงออกดังกล่าวยังกระทำอยู่นอกบริเวณศาล โดยไม่มีความวุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้น จึงไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ทั้งเจ็ดได้ยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกา เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยคำพิพากษามีใจความว่า การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ย่อมสามารถกระทำได้ โดยเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครอง แต่ก็หาใช่ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัดไม่ ต้องกระทำโดยสุจริต อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่กิจกรรมของนักศึกษาเป็นการนำมวลชนมากดดัน โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือศาล เป็นการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี และกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาล ทำให้ศาลต้องถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งเจ็ดจะต่อสู้คดีด้วยการยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต สันติ ไม่มีความวุ่นวาย ซึ่งประชาชนควรกระทำได้นั้น แต่ในขณะเดียวกันศาลฎีกากลับมีคำสั่งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คำสั่งดังกล่าวสะท้อนถึงความคิดของฝ่ายตุลาการ กับประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

คำสั่งศาลฎีกาสะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ขณะถูกดำเนินคดีเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน กล่าวหลังถูกดำเนินคดีว่า พวกเรามารวมตัวกันเนื่องจากพวกเรามีเพื่อนที่ทำกิจกรรมทางสังคมหลายกลุ่มกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็อยากที่จะมาเยี่ยมพี่ไผ่อยู่แล้ว เราจึงเห็นว่าวันนั้นเป็นวันดีที่พวกเรานักศึกษา 4 ภาค จะมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจพี่ไผ่ เรามีกิจกรรมการอ่านกวีที่เพื่อนเราแต่งเพื่อให้กำลังใจพี่ไผ่ การอ่านแถลงการณ์เพื่อสะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการทางกฎหมายในปัจจุบันและเพื่อสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรม ที่มีปัญหาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ หลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทางกฎหมายนั้น ถูกทำให้บิดเบี้ยวไปจากตำราเรียนที่พวกผมได้เรียนมาตลอด 4 ปี (อ่านเพิ่มเติมใน รายงานข่าว)

ปัจจุบันภานุพงษ์ทำงานอยู่ที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม จ.ขอนแก่น และได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีไว้พิจารณาว่า การที่ฎีกามีคำสั่งดังกล่าวและเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น แสดงให้เห็นว่า ศาลฎีกายังมองไม่เห็นถึงความสำคัญของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทำให้ตนรู้สึกผิดหวังกับศาลสูงสุดของประเทศ ที่ศาลยึดเพียงกฎหมายตามตัวบทอย่างเดียว แต่กลับเพิกเฉยต่อเรื่องสิทธิของประชาชน อีกทั้งกิจกรรมของนักศึกษาไม่ได้กระทบต่อการพิจารณาคดีของศาล เพราะจัดกิจกรรมอยู่ข้างนอก

ภานุพงษ์กล่าวต่อว่า “เมื่อผู้ใช้กฎหมายไม่ได้ยึดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยยึดแค่ตัวบทกฎหมาย แน่นอนว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งต่าง ๆ ย่อมไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง ทั้งที่ความเป็นจริง สิทธิและเสรีภาพไม่ควรมีอำนาจไหนที่มาละเมิดได้”

คำสั่งศาลไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ภานุพงษ์กล่าวอีกว่า ที่บอกว่าคำสั่งของศาลฎีกาในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างนั้น เนื่องจากคดีอื่น ๆ จะใช้คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดี จะเห็นได้ว่า กฎหมายไทยมีปัญหาไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่ให้คุณค่าต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายเหล่านี้จึงควรถูกแก้ไข โดยเริ่มจากรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ และควรให้ศาลยึดโยงกับประชาชน ด้วยการเลือกตั้งผู้พิพากษาทุกระดับชั้น เพราะปัจจุบันผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้ง อีกทั้งผู้พิพากษาเป็นผู้ใช้กฎหมายและเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้กฎหมาย และรับผิดชอบทางสังคมด้วยนั้น ผู้พิพากษาจึงต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับศาลว่า ไม่ได้แยกออกจากประชาชนอย่างเด็ดขาด

 

การสร้างความกลัวเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการยอมจำนนต่อกระบวนการยุติธรนม

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ อดีตนักศึกษากลุ่มดาวดิน ขณะถูกดำเนินคดีเป็นนักศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่นเดียวกันกับภานุพงษ์ ปัจจุบันจุฑามาส ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าเหตุที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหายื่นฎีกานั้น เนื่องจากต้องการยืนยันในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ควรถูกจำกัด และไม่ควรมีข้อยกเว้นกับการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ไม่ว่าจะที่ใดหรือหน่วยงานใด และกิจกรรมที่จัดอยู่นอกรั้วบนฟุตปาธ ก็ไม่สามารถกดดันศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใด ๆ ได้ เพราะกิจกรรมจัดขึ้นที่ข้างนอกศาล ไม่ได้ไปรบกวนการพิจารณาคดีในห้องพิจารณา เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อให้กำลังใจ “ไผ่ จตุภัทร์” เท่านั้น  ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการไม่รับพิจารณาในคดีนี้ของศาลฎีกา เพราะเห็นว่าหน่วยงานรัฐต่าง ๆ แม้แต่องค์กรตุลาการ จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประขาชนได้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา

จุฑามาสเห็นว่า การที่ประชาชนไม่สามารถแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยสุจริตได้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าศาลไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน เมื่อบรรทัดฐานของการวิพากษ์วิจารณ์ถูกจำกัด ศาลจึงถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่สามารถแตะต้องได้ ทำให้ศาลมีอำนาจอยู่เหนือองค์กรอื่น แต่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบศาลได้ และในฐานะที่ตนเองเรียนนิติศาสตร์ก็อยากจะมีความหวังกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่สามารถแตะต้องได้ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องเริ่มจากที่ศาลสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

การถูกดำเนินคดีสร้างภาระการต่อสู้คดีให้จำเลย

อาคม ศรีบุตตะ อีกหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ให้ความเห็นถึงกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีดังกล่าวว่า หากศาลมองว่ากิจกรรมของนักศึกษาคือการกดดันศาล จนทำให้ศาลอาจจะเกิดความไม่สบายใจ นั่นก็เป็นเพียงความรู้สึก แต่การตัดสินคดีไม่สามารถใช้ความรู้สึกได้ อีกทั้งกิจกรรมของนักศึกษาก็ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาคดี เพราะอำนาจในการพิจารณาคดีขึ้นอยู่กับศาล และเจตนารมณ์ของกฎหมายละเมิดอำนาจศาล มีเพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยราบรื่น แต่กิจกรรมของนักศึกษาไม่ได้จัดกิจกรรมภายในบริเวณศาล หรือภายในห้องพิจารณาคดี และไม่ได้ทำให้เกิดความวุ่นวายจนไปกระทบการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ดังนั้น คดีนี้จึงไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ อาคม, ภานุพงษ์ และจุฑามาส ยังกล่าวคล้ายกันว่า การถูกดำเนินคดีส่งผลกระทบทั้งต่อครอบครัว และตัวของพวกเขาเอง โดยในส่วนของครอบครัว ทำให้เกิดความกังวลมากเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดี เพราะครอบครัวไม่อยากให้มีปัญหากับศาล และไม่อยากให้ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ยังมีผลกระทบกับตัวเอง ได้แก่ เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ทั้งระหว่างที่ต่อสู้คดีและช่วงที่ต้องมารายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติ หรือการไปบำเพ็ญประโยชน์ตามกำหนดที่ศาลลงโทษ และที่สำคัญคือเสียเวลาชีวิตกับคดีที่ไม่ควรเป็นคดี อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนยืนยันว่า การถูกดำเนินคดีไม่ได้สร้างความกลัวต่อพวกเขา แต่เป็นการสร้างความเบื่อหน่ายต่อกระบวนการมากกว่า

 

 

 

 

 

 

 

 

X