ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่ได้ค่าเยียวยา 5 พัน: ชีวิตเกษตรกร-แรงงาน ผู้ต้องคดีคนไทยยูเค

1

สุทัศน์ ประตัง เป็นลูกชาวนาในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีแชร์โพสต์จากแฟนเพจ KonthaiUk (คนไทยยูเค) โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สุทัศน์ในวัย 37 ปี เรียนไม่จบการศึกษาชั้นม.6 จึงไม่ได้วุฒิการศึกษาระดับม.ปลาย เขาไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาก่อน แต่โลกที่เปิดกว้างขึ้น ทำให้เขาติตตามข่าวสารบนโลกออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2557 สร้างความสนใจให้เขาติดตามเรื่องการเมืองมากขึ้น เขาอ่าน กดติดตาม กดไลค์ กดแชร์เนื้อหาทางการเมือง และนำมาสู่การถูกดำเนินคดี

ต้นเดือนมิถุนายน 2561 สุทัศน์ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อสกุลจริงของตัวเอง แชร์ภาพและข้อความจากแฟนเพจคนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในกระบวนการซื้อเรือเหาะและดาวเทียมของรัฐบาลในช่วงนั้น โดยมีภาพพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ทางเพจทำประกอบด้วย แต่ตัวเขาไม่ได้เขียนข้อความใดๆ เพิ่มจากภาพที่แชร์มาเลย

เช้าวันที่ 12 มิ.ย. 61 สุทัศน์ถูกตำรวจสภ.เทิงเดินทางมาพบที่บ้าน และแจ้งให้ไปที่สถานีตำรวจด้วยกัน เพราะเขาถูกติดตามตัวเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเรื่องอะไร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายจับ ต่อมาตำรวจในพื้นที่พาเขาขึ้นรถไปพบตำรวจท่องเที่ยวผู้รออยู่ที่สนามบินในตัวเมืองเชียงราย ก่อนตำรวจท่องเที่ยว 1 นาย จะพาเขาขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ โดยซื้อตั๋วเดินทางให้ทั้งหมด

วันนั้น สุทัศน์ถูกพาไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีคนอื่นๆ อีกประมาณ 10 คน ซึ่งเขาไม่รู้จักใครมาก่อน ถูกพาตัวมาที่นั่นด้วย ตัวเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการแชร์โพสต์ 1 ข้อความจากเพจคนไทยยูเค โดยไม่มีทนายความหรือญาติอยู่ด้วย และตอนนั้นเขาไม่ทราบว่านั่นคือการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ

สุทัศน์ยอมรับกับตำรวจว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก และได้แชร์โพสต์จากเพจคนไทยยูเคจริง ทำให้เจ้าหน้าที่บันทึกว่าเขายอมรับสารภาพ ทั้งที่เขาไม่ได้ยอมรับว่าข้อความที่แชร์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ยังขอให้สุทัศน์ไปร่วมนั่งอยู่ด้วยในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนร่วมกับผู้ต้องหารวม 12 คน โดยแจ้งว่าไม่มีอะไร เดี๋ยวก็ปล่อยตัวกลับแล้ว  โดยมีพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวเป็นผู้แถลงข่าวการจับกุม ก่อนที่ค่ำนั้น ตำรวจท่องเที่ยวคนเดิมจะพาตัวเขาไปที่สนามบิน และซื้อตั๋วให้ขึ้นเครื่องบินกลับเชียงรายไปพร้อมกัน

ผ่านไป 1 ปีครึ่ง คดีของสุทัศน์ยังไม่จบ โดยค้างคาอยู่ชั้นตำรวจร่วมปี กระทั่งเมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 ตำรวจปอท. ได้ออกหมายเรียกให้เขามาพบ เพื่อทำการส่งสำนวนให้กับอัยการ พร้อมผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน โดยเขาเพิ่งพบในหมายเรียกระบุว่าคดีมี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้รับมอบอำนาจมากล่าวหา

ตั้งแต่ต้นปีนี้ สุทัศน์ต้องขึ้นลงกรุงเทพฯ เพื่อไปตามนัดหมายของตำรวจและอัยการ จนกระทั่งคดีมีการสั่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ในที่สุด

.

2

ครอบครัวของสุทัศน์ทำนาปีโดยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ต้องอาศัยเช่าที่นาทำกินของคนอื่น โดยค่าเช่าคือแบ่งผลผลิตให้กับเจ้าของที่คนละครึ่ง เขาสมมติว่าหากทำนาได้ข้าว 800 ถัง จะเสียเป็นค่าเช่าให้กับเจ้าของที่ 400 ถัง

ปีที่แล้ว พ่อของสุทัศน์เคยลองทำนาปรัง คือทำนานอกฤดูทำนาปกติเพิ่มขึ้น แต่พบว่ากลายเป็นหนี้เพิ่มกว่า 2 หมื่นบาท เพราะต้องไปเซ็นต์ซื้อพันธุ์ข้าวซึ่งใช้สำหรับปลูกนอกฤดูเพิ่ม ปีนี้ครอบครัวจึงกลับมาทำนาปีเหมือนเดิม

ในช่วงที่ไม่ได้ทำนา พ่อของสุทัศน์ยังไปรับจ้างทำงานก่อสร้าง เช่นงานผสมปูน ปูกระเบื้อง ช่วยต่อเติมบ้านหรือห้องน้ำ ตามที่มีคนในท้องถิ่นว่าจ้าง โดยมีลูกชายติดสอยไปเป็นลูกมือด้วย แต่งานนี้ไม่ใช่งานประจำ รายได้ขึ้นกับมีผู้ว่าจ้างหรือไม่ เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้หลักของครอบครัวจึงมาจากงานรับจ้างมากกว่า โดยเฉพาะถ้ามีงานเข้ามาก แทบถือเป็นรายได้หลัก การทำนานั้นครอบครัวทำในลักษณะแค่พอมีข้าวกิน อาจมีบางปีได้ข้าวเยอะ ทำให้มีขาย แต่การทำนานั้นไม่แน่นอน และไม่ได้รับรายได้มากกว่างานรับจ้าง

คาบเกี่ยวกับการถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมสุทัศน์ ให้ต้องเจอคลื่นลมรุนแรง จากทั้งโรคระบาด การไม่มีเงิน ไม่มีงาน และยังเจอพายุฝนถล่มบ้าน

“สถานการณ์ช่วงนี้เดือดร้อนมาก ใช้ชีวิตไม่ปกติ อยู่แต่กับบ้าน ไม่มีงานทำ รายได้หายหมด เพราะงานก่อสร้างไม่มีคนจ้าง ต่างคนต่างกลัว ไม่อยากไปไหนกัน ที่อำเภอเทิมีคนติดเชื้อแล้ว ทำให้คนในอำเภอแตกตื่น ต้องมีการล้างตลาด ไปไหนต้องใส่หน้ากากตลอด”

สุทัศน์เล่าเรื่องการหาอยู่หากินของครอบครัวว่า ก็ยังพออยู่ไปได้ เนื่องจากข้าวไม่ต้องซื้อ เพราะครอบครัวปลูกเองอยู่แล้ว และยังพอหาเก็บผักหญ้าจากนา ออกไปหาปลา รวมทั้งเลี้ยงไก่ไว้ในครัวเรือน ทำให้ไม่ต้องใช้เงินซื้อหาเท่าไร แต่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ มีปัญหา เช่นหนี้สินของครอบครัว ต้องให้พี่สาวที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ส่งเงินมาช่วยหมุนเวียนจ่ายดอกให้

สุทัศน์คำนวณว่าครอบครัวตนมีหนี้สินกับธนาคารต่างๆ ประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งเคยกู้มาลงทุนทำการเกษตรและสร้างบ้าน ก่อนหน้านี้ยังมีหนี้นอกระบบอีก แต่เขาพยายามช่วยพ่อใช้หนี้ส่วนนี้ไปหมดแล้ว แต่กับหนี้ธนาคารยังต้องจ่ายดอกอยู่ทุกเดือน และถึงตอนนี้ยังไม่มีมาตรการใดๆ ในการพักชะลอการจ่ายหนี้ในช่วงโควิด-19

ครอบครัวของสุทัศน์ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เอาไว้ เขาเล่าว่าตัวเองและหลานชายเป็นผู้ลงทะเบียนในวันแรกที่เปิดออนไลน์ ซึ่งลงได้ยากมาก นั่งทำแทบทั้งวัน เพราะระบบล่ม ในส่วนของตัวเขาและพ่อลงทะเบียนอาชีพเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป ประเภทรับเหมาก่อสร้าง ส่วนแม่ลงทะเบียนเป็นเกษตรกร

ล่าสุด (15 เม.ย.) สุทัศน์เล่าว่าแม่ได้รับแจ้งว่าไม่ได้รับเงินเยียวยาแล้ว เพราะเกษตรกรไม่อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้ ส่วนของตนกับพ่อนั้น ยังไม่มีการตอบรับใดๆ แต่คิดว่าไม่น่าจะได้ เพราะทราบว่าอาชีพ “รับเหมาก่อสร้าง” ก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยา ปัจจุบันเขายังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลผลกระทบโควิด-19 ต่อกลุ่มอาชีพเกษตรกรและคนทำงานรับจ้างก่อสร้างอย่างไร

“ไม่กี่วันก่อน พายุเข้าแรงมาก กระเบื้องหลังคาหักลงมาหลายแผ่น บ้านเสียหายเยอะ ตอนนี้ให้ผู้ใหญ่บ้านมาดู เพื่อขอความช่วยเหลือในการซ่อมแซม เราไม่มีเงินอยู่แล้ว มาเจอเรื่องนี้ด้วย ภาวนาไม่ให้ฝนตกอีก เพราะซ่อมหลังคายังไม่ได้ ไม่มีเงินซ่อม งงว่าชีวิตเจออะไรหลายอย่างพร้อมกันแบบนี้ เราแทบไม่มีความหวังเลย”

ความหวังในปัจจุบันของครอบครัวสุทัศน์คือการรอหน้านาปี ที่จะมาถึงราวช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งยังไม่รู้ว่าการระบาดของไวรัสจะลดลงแล้วหรือยัง ถ้ายังระบาดอยู่ จะส่งผลกระทบต่อการทำนาหรือไม่

ในส่วนคดีความที่เกิดขึ้น ยังสร้างภาระให้ชีวิตของสุทัศน์โดยในการประกันตัวในชั้นศาลช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลเรียกหลักทรัพย์ในคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถึง 1 แสนบาท ซึ่งครอบครัวเขาไม่มีเงิน ทำให้พี่สาวต้องไปกู้ยืมเงิน 16,000 บาท สำหรับไปเช่าหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งเงินหมื่นกว่าบาทส่วนนี้ พี่สาวยังต้องใช้หนี้และจะไม่ได้เงินคืนอีกด้วย

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สุทัศน์ต้องนั่งรถทัวร์จากอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ไปกรุงเทพฯ เพื่อต่อสู้คดี รวม 4 ครั้งแล้ว ไปกลับเที่ยวหนึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท บางรอบเขาไม่มีเงินเลย จึงต้องหยิบยืมเงินเพื่อนเป็นค่ารถไปต่อสู้คดี ซึ่งถึงตอนนี้ยังใช้หนี้เพื่อนไม่หมด เหลือหนี้อีกราว 500 บาท

แม้จะยากลำบากขนาดไหน สุทัศน์ ประตัง ยังยืนยันจะต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดใด แม้ผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีเดียวกันหลายคนเลือกยอมรับสารภาพไปแล้วก็ตาม โดยล่าสุด ศาลอาญาได้เลื่อนวันกำหนดนัดพร้อมคดี ออกไปเป็นวันที่ 3 ส.ค. 63 เนื่องจากระบาดของไวรัสโควิด-19

“คดีนี้เปลี่ยนชีวิตเราไปเหมือนกัน ผมยังคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไร เป็นแค่การแชร์ข้อมูล โดยผมไม่ได้เขียนขึ้นเอง ไม่ได้โพสต์ข้อความอะไรเอง คนแชร์มีหลายหมื่นคน โดนไม่กี่สิบคน เหมือนกับเลือกปฏิบัติ ตามสุ่มจับเรา เหมือนเอากฎหมายมากลั่นแกล้งกัน เราไม่ได้มีเจตนาทำให้รัฐบาลเสียหายตามที่เขากล่าวหา เลยรู้สึกไม่ยุติธรรม รู้สึกถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ” สุทัศน์กล่าว

#TLHRJusticeDistancing

.

ดูรายงานข่าวการสั่งฟ้องคดีแชร์เพจคนไทยยูเคส่วนของสุทัศน์ ได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=16320

X