เคราะห์ซ้ำกรรมซัดชีวิตแรงงาน: คุยกับศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ

ชวนคุยกับ ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ถึงผลกระทบของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีผลต่อชีวิตคนงาน ไม่ใช่เพียงแค่การถูกเลิกจ้างหรือลดค่าแรง แต่ยังมากไปกว่านั้น ชนิดที่คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลอาจคาดไม่ถึง
.
ศรีไพรต่อสู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เพื่อให้แรงงานมีสิทธิต่อรองกับนายจ้างได้ ทว่าในสถานการณ์โรคระบาด การดำเนินงานของสหภาพแรงงานต้องชะงัก และตัวเธอตัดสินใจหยุดการทำงาน กลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด เพราะกลัวตนเองจะเสี่ยงติดโรคโควิด-19 และกลายเป็นพาหะให้ที่บ้านซึ่งมีพี่ชายป่วยเป็นมะเร็ง และแม่อายุเก้าสิบกว่าปี ที่เธอเป็นห่วงว่า “ถ้าเกิดว่าสองคนนี้เป็น ตายแน่เลย”
.
เธอหันมาขายเสื้อผ้ามือสองตามตลาดนัด แต่ผลจากโควิด-19 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ตลาดนัดปิด เธอต้องหยุดขายและเตรียมรับมือกับปัญหาธุรกิจ นอกจากนี้ศรีไพรยังเป็นจำเลยคดีคนอยากเลือกตั้ง 2 คดี คือคดีแกนนำชุมนุมที่หน้ากองทัพบก (Army57) และคดีแกนนำชุมนุมเดินเท้าไปหน้าสหประชาชาติ (UN62) ซึ่งศาลยังเรียกรายงานตัวตามปกติ ทุกครั้งที่เธอกลับจากการไปรายงานตัวที่กรุงเทพฯ เธอต้องกลับมากักตัวที่บ้าน 14 วัน
.
ทั้งหมดนี้ดำเนินไปพร้อมการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาก่อน และพังทลายยิ่งกว่าเดิมด้วยโควิด 19 พร้อมด้วยแรงซ้ำจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการประกาศเคอร์ฟิวที่ผ่านมา

.

 

ผลกระทบโควิด-19 กับแรงงาน ถูกสั่งหยุดงาน ไม่ได้ค่าจ้างเต็ม”

ปัญหาใหญ่แรกสำหรับแรงงานในช่วงวิกฤตโควิดคือรายได้ เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่ถูกลดค่าจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เช่นลูกจ้างสนามบินบางรายโดนลดค่าจ้างเหลือแค่ 40% ส่วนลูกจ้างบางกลุ่มที่ไม่มีสหภาพแรงงาน บางรายไม่ได้รับเงินชดเชย ถูกสั่งให้ออกจากงานกะทันหัน หรือถูกหลอกลงนามในเอกสารแสดงความสมัครใจลาออกที่พลิกแพลงหลากหลายรูปแบบ

“ลูกจ้างโรงแรมแถวสุขุมวิทบางคนถูกเกลี้ยกล่อมให้เขียนใบลาหยุดโดยไม่ได้ค่าจ้าง เขากลัวว่าถ้าเขาไม่ยอมนายจ้างเขาจะโดนเลิกจ้าง สรุปพอเขาเขียนใบลาฯ เรียบร้อย ถึงวันปิดกิจการนายจ้างประกาศเลิกจ้างทั้งหมด ไปต่อไม่ได้ อย่างนี้ก็มี”

ในส่วนของภาคธุรกิจโรงงาน ส่วนใหญ่ลูกจ้างประสบปัญหาทางบริษัทให้หยุดงาน ลดวันทำงานลง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้ค่าจ้างเต็ม แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดเท่าการขาดสวัสดิการที่เคยได้รับ

“ยังไงนายจ้างก็ไม่มีทางจ่ายเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีที่สุดเท่าที่เห็นจากสถานการณ์ช่วงนี้ คือกรณีของลูกจ้างบริษัทผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำและห้องครัวแห่งหนึ่ง นายจ้างจ่ายให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และจ่ายเงินพิเศษให้ลูกจ้างด้วยคนละ 15,000 บาท ตอนแรกเขาไม่จ่ายให้ซับคอนแทรค (พนักงานเหมาช่วงค่าแรง) พนักงานซับฯ เลยไปเรียกร้องกรรมการบริหารฯ จนได้เงินมาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้เท่ากับพนักงานประจำ ที่อื่นไม่ได้นะ บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่หนึ่งอ้างว่าให้ 100% ลองเข้าไปดูรายละเอียด เขาให้แค่เดือนแรก เดือนต่อไปไม่ได้ หรือให้แค่ไม่กี่วัน

“เมื่อไม่ได้ค่าจ้างเต็มจะมีปัญหาเรื่องรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามมา เพราะลูกจ้างอยู่ไม่ได้ถ้ามีค่าจ้างอย่างเดียว แต่อยู่ได้ด้วยสวัสดิการ ถ้ามีการหยุดงานเกิดขึ้น สวัสดิการหลายตัว เช่นเบี้ยขยัน เงินพิเศษ เงินค่าข้าว ค่าเดินทาง ฯลฯ จะถูกตัดไปด้วย”

 

ลูกจ้างไม่ได้อยู่ด้วยแค่ค่าจ้าง แต่อยู่ด้วยสวัสดิการบางส่วน พอมาอยู่บ้านแล้วรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น

ศรีไพรกล่าวว่าสวัสดิการของโรงงานได้แก่ค่าครองชีพ ค่ากะ เบี้ยขยัน อาหารโรงอาหารของโรงงาน มีส่วนลดค่าใช้จ่ายของพนักงานโรงงานได้มาก

“ถ้าลูกจ้างไปทำงานตามปกติเขาจะได้กินอาหารราคาสวัสดิการจากโรงอาหารของโรงงาน อย่างราคาอาหารข้างนอก 40-50 บาท ในโรงงานจะกินกัน 15 บาท บางที่กินฟรีเลย บางที่ให้ข้าวฟรี เขาซื้อแค่กับข้าวซึ่งโรงงานกำหนดราคาไว้ว่าขายห้ามเกินกี่บาท

“พออยู่บ้านเขาต้องจ่ายเอง ราคาแตกต่างกันแน่นอน สมมติเขามีเงินเดือน 15,000 บาท เขามีกำหนดจ่ายค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าของใช้ในบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน ฯลฯ มันถูกคำนวณออกมาหมดแล้วว่าเขาจ่ายได้โดยดำรงชีวิตได้ถ้ามีสวัสดิการของโรงงานร่วมด้วย พอเขาไปทำงานไม่ได้ ถูกสั่งหยุด ค่าจ้างลดลง โดยส่วนมากค่าจ้างจะเหลือ 75% ค่ากะไม่ได้ อย่างกะกลางคืนบางที่ได้ 80-100 บาท ต่อชั่วโมง เดือนหนึ่งรายได้เขาหายไปหลายพัน ที่เคยกินอยู่ราคาถูกๆ ต้องมากินแพงขึ้น”


ศรีไพรเสริมว่าไม่ใช่แค่ราคาอาหารที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่คนงานบางคน ทั้งชีวิตแทบจะกินอยู่กับโรงงาน ฝากท้องไว้กับโรงอาหารโรงงานและร้านอาหารตามสั่งในวันหยุด คนงานหลายคนไม่มีถ้วยชาม หม้อหุงข้าว หรือตู้เย็น ทำให้ต้องตระเวนหาซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวเหล่านี้ตามร้านทั่วไป หลังจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พวกเขาซื้ออาหารแล้วนั่งกินที่ร้านไม่ได้ และพบปัญหาต่อมาคือห้างสรรพสินค้าไม่เปิดขายอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหม้อหุงข้าวที่หาซื้อลำบาก หรือถ้าจะสั่งซื้อออนไลน์ คนงานจำนวนมากยังซื้อของหรือทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ไม่เป็น
.
“นี่เป็นผลกระทบส่วนหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีใครหยิบยกเอามาพูดมากนัก เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดในชีวิตประจำวัน บางคนเขามีทุกอย่าง เขาไม่รู้หรอกว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่ยังไม่มีเลย ไม่มีแม้แต่ตู้เย็น พวกคนงานไม่มีใครมาซื้อตู้เย็นได้ในช่วงนี้หรอก เพราะว่าราคามัน 5,000-6,000 บาท เขาไม่มีปัญญาซื้อ แต่อย่างน้อยหม้อหุงข้าวสักใบ เขาอาจมีปัญญาซื้อ แต่เขาซื้อไม่ได้ เพราะมันไม่มีขาย ทำให้คนลำบากอยู่”
.
.
.
ประกาศเคอร์ฟิวซัด ลูกจ้างทำงานกะดึกไม่ได้  โดนจับปรับสี่หมื่น ทั้งที่มีใบรับรองจากบริษัท
.
ไม่เพียงแค่การหยุดการจ้างงานที่ทำให้รายได้ลดลงเท่านั้น เมื่อมีประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เป็นต้นมา ผู้ฝ่าฝืนมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท มีผลให้ลูกจ้างทำงานกะกลางคืนทำงานไม่ได้ โดนจับปรับกันถ้วนหน้า แม้มีใบรับรองจากบริษัทแล้วก็ตาม
.
“ล่าสุดที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้คือเรื่องเคอร์ฟิว ลูกจ้างทำงานกะกลางคืนมีปัญหาหนักมาก ในย่านรังสิตถูกจับหลายคน บริษัทต้องวิ่งวุ่นไปสถานีตำรวจแล้วเสียค่าปรับ แม้ทนายบริษัทไปเจรจายืนยันว่าเป็นลูกจ้างบริษัทเขาก็ไม่ยอม ประกาศของอธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานไม่มีอะไรชัดเจนเลย ข้อ 1 บอกให้ลูกจ้างที่เป็นผลัดทำงานได้ สอดรับกับคำประกาศของคณะรัฐมนตรี แต่ว่าพอมาข้อ 4, 5 ปรากฏว่าถึงที่สุดแล้วให้นายจ้างเปลี่ยนกะไม่ให้ตรงกับเคอร์ฟิว ตำรวจหรือกรมควบคุมโรคที่เขามาประจำตามจุดต่างๆ ยังไงเขาก็ไม่ยอม เขาอ้างว่านี่คือเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน แต่เขาไม่ได้ดูข้อละเว้น ว่าลูกจ้างเข้าผลัด ทำงานเป็นกะ ชัดเจนว่าได้รับการละเว้น ทำให้ถึงที่สุดแล้วไม่ได้รับการละเว้น
.

“คนงานโดนจับกันเยอะมาก ไม่ใช่เขาออกมาจากบ้านโดยไม่มีใบรับรองนะ นายจ้างทำให้ก่อนจะมีประกาศฯ ด้วยซ้ำ รับรองว่าลูกจ้างคนนี้อยู่บริษัทจริง เข้าทำงานช่วงจังหวะวันเวลานั้นจริง ฝ่ายบริหาร กรรมการบริษัทหรือผู้จัดการใหญ่เป็นคนเซ็นรับรอง ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ ตำรวจอ้างว่าต้องมีลายเซ็นของผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอเท่านั้นถึงจะใช้ได้ แล้วลองคิดดูว่าลูกจ้างในจังหวัดปทุมธานีมีจำนวนตั้งเท่าไร ต่อให้เซ็นจริงคุณก็เซ็นไม่ทัน ระยะเวลาการประกาศล่วงหน้าแค่ 2 วัน ใครจะไปทำอะไรทัน รัฐเองไม่ได้บอกก่อนว่าคุณต้องมีใบอนุญาตที่มีตราประทับของอำเภอหรือจังหวัด ผู้ว่าฯ ต้องเซ็นทุกกรณีนะ บอกแค่เป็นบางกรณีเท่านั้น”

ศรีไพรยังเล่าถึงคืนที่สองของการประกาศเคอร์ฟิว ว่าในคืนนั้นมีรถขนปลาโดนจับสิบคันรวด แม้จะเป็นรถขนอาหารก็ตาม ซึ่งเจ้าของรถยอมจ่ายค่าปรับคันละ 40,000 บาททุกคัน เพราะไม่อยากเสียเวลา หยุดการทำมาหากินเพื่อไปศาล

“ทุกคนอยู่ในความกลัว นอกจากเสียความมั่นคงในหน้าที่การงานแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! ชีวิตเราไม่มั่นคงอะไรเลย เราไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งอยู่ๆ เราจะโดนจับไหม”

ไม่เพียงเท่านี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ยังทำให้ศรีไพรกังวลถึงคนงานหลายคนที่เป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่ม หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย

“คนงานส่วนใหญ่เขากินเหล้ากัน เขาไม่รู้หรอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกับชีวิตเขายังไง หกโมงเย็นโดนจับพร้อมกัน 17 คน ประกันตัวได้ 5 คน คนละ 50,000 บาท นอกนั้นไม่มีเงินประกันตัว ก็รอขึ้นศาล มันเป็นปัญหา”

“นี่พี่ยังเป็นกังวลอยู่ว่า คนงานบางคนจะตายไหม ถ้าไม่ได้กินเหล้า มันมีคนที่เป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่มเยอะมากนะ แล้วต้องหยุดแบบฉุกเฉิน บางคนอาจมีตุน แต่บางคนไม่ได้มีเงินซื้อตุน เขาซื้อแบบป็นกั๊ก เป็นก๊ง เป็นกรึ๊บ จะมีแบบนี้เยอะ ส่วนมากคนงานไม่มีปัญญาซื้อเป็นขวดหรอก นอกจากกินกันหลายๆ คนแล้วหารกัน ทีนี้พอกินกันหลายๆ คนแล้วหารกันก็โดนจับ”


สภาวะเสี่ยงติดโรคระบาด: ผู้บริหารกลับจากประเทศเสี่ยง แล้วไม่กักตัว

ศรีไพรเล่าถึงความกังวลของแรงงานเรื่องความเสี่ยงติดโควิด-19 ว่า ในสังคมแรงงานย่านรังสิต ปัญหาหลักก็คือ ฝ่ายบริหารไปญี่ปุ่นกลับมาแล้วไม่กักตัว

“ฝ่ายบริหาร นายจ้างคนไทยที่ไปญี่ปุ่นแล้วกลับมา หรือนายจ้างคนญี่ปุ่นกลับมาแล้วก็ไม่ถูกกักตัว พอไม่กักตัว มาทำงานในโรงงานปุ๊บ กลายเป็นว่าเอาเชื้อมาติดเพื่อนร่วมงาน แล้วต้องถูกกักตัวกันเป็นสิบๆ คน หลายโรงงานเจอแบบนี้ ทำให้พวกเรากังวล”

“คนงานบางที่ถึงขนาดยอมนะ ยอมหยุดจ่าย 75% ก็ยอม ขอให้ได้หยุดเถอะ เพราะเขากลัวว่าจะเอาโรคไปติดครอบครัว อย่างพี่ก็กลัวมาก พี่ไม่ได้กลัวเพราะพี่เป็นนะ แต่พี่กลัวว่าถ้าเกิดพี่เป็นแล้วพี่กลับมาที่บ้าน พี่ชายต้องไปโรงพยาบาลประจำ เขาเป็นโรคปอด อ่อนแออยู่แล้ว แล้วแม่ก็อายุเก้าสิบกว่าแล้ว คือถ้าเกิดสองคนนี้เป็น ตายแน่เลย พี่เลยรู้สึกว่า เราจะเสียใจมาก ถ้าเกิดเราเอาโรคมาติดเขา เลยตัดดีกว่า หยุดการทำงานทั้งหมด”

 


โรคระบาด–พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ–เคอร์ฟิว สถานการณ์บังคับให้โรงงานสั่งปิด

หลายโรงงานถูกสั่งปิดไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน เนื่องจากหลายโรงงานต้องผลิตงานกะดึกด้วย ซึ่งเมื่อเปิดกะดึกไม่ได้ จึงต้องหยุดชั่วคราว ประกอบกับโรงงานในไทยส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ เช่นโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซต์ มักนำเข้าอะไหล่จากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน จึงได้รับผลกระทบจากการปิดท่าเรือ การขนส่งทั้งหมดหยุดชะงัก หรือแม้แต่จะส่งสินค้าออกไปต่างประเทศก็ทำไม่ได้

ศรีไพรเล่าถึงกรณีคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์เหล่านี้ ว่าถ้ามีสหภาพแรงงานพวกเขาจะได้ค่าชดเชย แต่ถ้าไม่มี จะแล้วแต่กรณีว่านายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันอย่างไร

“หลายคนไม่คิดเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน คิดแค่ว่าจะต่อรองยังไงให้ค่าจ้างที่ถูกตัดไป เหลือ 40% ให้ได้เต็มมา 100% หรืออย่างน้อย 75% กับถ้าเกิดถูกเลิกจ้าง มีค่าชดเชยหรือว่าสิทธิอื่นใดที่เขาควรได้ตามกฎหมาย” ศรีไพรกล่าว

 

การดำเนินการของสหภาพแรงงานหยุดชะงัก จัดประชุมใหญ่ประจำปีไม่ได้

“ตอนนี้ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพิ่ม พวกพี่ทำกันแค่ผ่านโซเชียลมีเดีย อยู่ในช่วงฝึกใช้แอ็พพลิเคชัน zoom เพื่อประชุมกัน แต่การไปพบปะกันไม่มีแล้ว เพราะว่ามันอันตราย”

กิจกรรมของสหภาพแรงงานตอนนี้ต้องหยุดชะงักไป รวมทั้งกิจกรรมวันแรงงาน 1 พ.ค. นี้

“ตอนนี้คุยกันแล้วว่าเราคงไม่ได้ไปเดินขบวน แต่เราจะเขียนข้อเรียกร้อง แล้วนัดให้คนงานโพสต์พร้อมกันทางออนไลน์ รณรงค์แบบนั้น”

ส่วนงานในโครงการงานสัมมนาฯ ที่วางแผนไว้ และการพบปะคนงานซึ่งต้องพบปะอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต้องยกเลิกไป ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายแรงงานบังคับให้สหภาพแรงงานต้องประชุมรับรองงบดุล (งบแสดงฐานะทางการเงิน) ทุกปี แต่ปีนี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะจัดช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำต้องยกเลิกไปด้วยสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

“มันมีปัญหาว่าเราจัดประชุมรับรองงบดุลฯ ไม่ได้ เพราะคนงานต้องประชุมกันหลังเลิกงานตอนเย็น แล้วประชุมกันที่ร้านอาหาร ทีนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามร้านอาหารเปิดแบบทุกคนไปนั่งกิน สั่งได้แต่กลับบ้าน เราต้องไปใช้ที่ประชุมเป็นโรงอาหาร หรือห้องประชุมโรงเรียน ซึ่งเขาไม่อนุญาตให้ใช้ พอไปขอบริษัทบริษัทก็ไม่ให้ใช้อีก เพราะสหภาพฯ ต้องรายงานรัฐถ้ามีการประชุมใหญ่ บริษัทกลัวโดนเล่นงานจากการให้ใช้สถานที่ เลยกลายเป็นว่าเราหาที่ประชุมไม่ได้ เลยไม่มีประชุม พักหลังนี้ต่อให้หาได้ก็ไม่จัดแล้ว ไม่กล้า

“ตอนนี้เราขอเลื่อนการประชุมรับรองงบดุลฯ ออกไป ทางเจ้าหน้าที่แรงงานบอกว่าเลื่อนได้แต่ยังไงปีนี้ต้องประชุม เพราะกฎหมายคือกฎหมาย พี่สับสนว่ากฎหมายไหนใหญ่กว่ากันระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ กฎหมายแรงงาน”

ศรีไพรตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมใหญ่หรือประชุมงบดุลประจำปีของสหภาพแรงงานควรมีข้อยกเว้นได้ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะเบาบางลงเมื่อไร อีกทั้งไม่เห็นมาตราการจากรัฐที่ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะดีขึ้น

“พี่เบื่อรัฐบาลทำเหมือนชี้โพรงให้กระรอก สิ่งที่ประกาศหลายครั้งกลายเป็นแนวทางให้นายจ้างลิดรอนสิทธิคนงาน ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่ดูเหมือนจะทำไม่ได้ เช่นนายจ้างบอกให้ลูกจ้างออกกะทันหัน สั่งหยุดงานไม่จ่ายเงิน แล้วให้ลูกจ้างไปไล่เบี้ยกับเงินกับประกันสังคม ฯลฯ กลับทำได้และผลักภาระให้ลูกจ้างต้องมาฟ้องร้องกันอีก”

.

จัดประชุมใหญ่ไม่ได้ มีผลต่อการยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้าง

เมื่อไม่มีการจัดประชุมใหญ่ สิ่งแรกที่มีผลคือการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี เพราะกรรมการสหภาพแรงงานจะยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ สมาชิกต้องโหวตให้อำนาจกรรมการในที่ประชุมใหญ่

“อย่างตอนนี้ที่บริษัทมอเตอร์ไซต์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่งมีปัญหามาก เพราะตามกำหนดลูกจ้างต้องยื่นข้อเรียกร้องเดือนมิถุนายน ถ้าเราไม่ได้จัดประชุมใหญ่ก่อนจะโหวตยังไง”

“ถ้าเกิดเราไม่ยื่นข้อเรียกร้อง จะมีปัญหาว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปีจะระบุแค่ปีต่อปีเท่านั้น ส่วนปีต่อไปถ้าเราไม่ยื่นฯ นายจ้างจะไม่ขึ้นให้หรือขึ้นแบบตามใจเขาก็ได้ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับลูกจ้างมาก ถ้าไม่ได้เจรจา ยังไงคิดว่าคงหาหนทางยื่นฯ ให้ได้ อาจต้องใช้วิธีการแบบเดิมๆ เหมือนตอนไม่มีสหภาพแรงงาน คือล่าลายมือชื่อแล้วยื่นในนามลูกจ้าง ไม่ใช่ในนามสหภาพแรงงาน อาจต้องทำวิธีนั้น กับอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าเราไม่ซีเรียส ข้อบังคับใดที่เราไม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะมีผลไปอีกหนึ่งปี

“มีบริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว นายจ้างปรี๊ดแตกเลยว่ามายื่นอะไรช่วงนี้ คุณไม่เห็นเหรอเขามีโควิดกัน ทั้งๆ ที่เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์นะ แต่อาศัยสถานการณ์แบบนี้พยายามลิดรอนสิทธิของลูกจ้าง”

 

กลุ่มที่ถูกลืม:  ลูกจ้างร้านอาหาร ร้านนวด แรงงานก่อสร้าง คนงานที่ถูกโกงมาก่อน

ศรีไพรกล่าวว่าก่อนช่วงโควิดระบาดมีลูกจ้างอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้ามานานจากปัญหาเศรษฐกิจ นั่นคือลูกจ้างร้านอาหาร ร้านนวด และคนงานก่อสร้างซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิหรือกฎหมายแรงงานเลยสักนิดเดียว ณ เวลานี้ ทุกคนยิ่งกระจัดกระจายไปหมด

“พวกพี่ไปช่วยแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานก่อสร้างไว้ เขาถูกโกงค่าแรง เป็นหนี้สินกันบานตะไท ลูกจ้างหลายคนไม่ใช่แค่ไม่ได้เงินช่วงโควิดแล้วไม่พอกิน แต่เขาถูกโกงมาก่อนช่วงโควิดแล้ว มานั่งตัวสั่นคุยกับเรา เพราะไม่ได้เงินเดือนและเป็นหนี้เป็นสินรอบตัว

“ที่ผ่านมามีคนงานที่พี่ช่วยอยู่ 26 คน ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน พวกพี่ต้องเรี่ยไรเงินในกลุ่ม ซื้อมาม่า ไข่ ปลากระป๋อง ข้าวสารไปให้ เพื่อให้เขามีกินช่วงหางานใหม่ แต่ปรากฏว่าพอเขาได้งานใหม่ กลายเป็นว่ามาเจอโควิดก็ถูกระงับงานอีก พี่ไม่อยากจินตนาการเลย ตอนนี้ไม่กล้าโทรหา เพราะเราก็แย่ ลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมที่เคยเข้มแข็งอยู่บ้างตอนนี้กลับช่วยใครต่อไม่ได้

“เขาถูกโกงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีปัญหาระยะยาวมาแล้ว พอมาเจอโควิดอีกก็เหมือนตาย ยิ่งช่วงนี้ศาลไม่ทำงาน คดีที่เขาฟ้องร้องไว้ชะงัก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องโควิดหรอก ถึงที่สุดแล้วยังไงความจน ความไม่มีกินที่เกิดขึ้นจะทำให้เราตายก่อน

“ดังนั้น พี่นึกไม่ออกเลยว่าวันข้างหน้ามันจะเป็นยังไง.”

ศรีไพรทิ้งท้าย พร้อมถอนหายใจยาวหนักหน่วง กับสถานการณ์ที่มองไม่เห็นทางออก กฎหมายที่บังคับใช้อย่างไม่มีข้อยกเว้น และรัฐที่ไร้มาตรการเยียวยาผู้คนอย่างทั่วถึง

ในมุมมองของศรีไพร การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นลูกโซ่แห่งความเดือดร้อนต่อเนื่องขั้นสุดท้าย ก่อนหน้านี้ชีวิตแรงงานได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้วันที่ศรีไพรกลับมาอยู่ต่างจังหวัด ดูแลครอบครัวและมีภาระจากคดีคนอยากเลือกตั้ง เธอยังไม่ทิ้งเรื่องการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน และติดตามทวงสิทธิ ตลอดจนผลกระทบที่แรงงานได้รับจากสถานการณ์โรคระบาดเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้ต่อไป

 

 

#TLHRJusticeDistancing

อ่านเรื่องราวในคดีของศรีไพรได้ที่  อัยการเตรียมฟ้องคดีแกนนำคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก (ARMY57) 6 มี.ค. 62  และ คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62 นัดสืบพยาน ม.ค.-มี.ค.64

 

 

 

X