อุทธรณ์ที่ไม่มีโอกาสรับฟัง หลัง “นที” ผู้ป่วยจิตเภทคดีโพสต์วิจารณ์กษัตริย์ ฆ่าตัวตาย

ตามพฤติการณ์แห่งคดีและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เมื่อได้พิจารณาทั้งอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพที่จำเลยป่วย ภาวะแห่งจิตที่จำเลยเป็นโรคจิตเภท มีอาการเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายได้ ซึ่งจำเลยต้องทานยาตลอดชีวิต รวมทั้งสภาพความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์ร้ายแรง และเหตุอื่นๆ ย่อมมีเหตุอันควรปรานี  

“หากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย ก็ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษลงเบากว่าเดิม และรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสได้เข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช  ไม่ต้องประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือได้รับโทษจำคุกให้มีมลทินมัวหมองอันจะทำให้จำเลยไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ  และเพื่อให้จำเลยมีโอกาสได้สร้างคุณงามความดีตอบแทนสังคมต่อไป”

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของ คำอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ของ สิชล (นามแฝง) หรือชื่อจริง นที (สงวนนามสกุล) ชายอายุ 29 ปี ผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งมีอาการกระวนกระวาย หลงผิด คิดว่ามีคนปองร้าย คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า และมีอำนาจบางอย่างบังคับตัวเองอยู่

 

นทีถูกดำเนินคดีจากการที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กวิจารณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ข้อความ โดยข้อความทั้งสองไม่ได้เป็นถ้อยคำหยาบคาย แต่มีลักษณะการให้ข้อเสนอแนะ และเป็นถ้อยคำเกี่ยวกับสถานะของพระเจ้าแผ่นดิน เดิมนทีถูกแจ้งข้อหาในข้อหาตามมาตรา 112 ก่อนจะเปลี่ยนมาถูกสั่งฟ้องในข้อหามาตรา 116 และ พ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แทน 

เขาสู้คดีอยู่เกือบ 2 ปี จากศาลทหารสู่ศาลพลเรือน วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ศาลได้พิพากษายกฟ้องในข้อหา 116 คงเหลือไว้ลงโทษตาม พ...คอมพิวเตอร์ฯ ให้จำคุก 3 ปี ศาลเห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา 

 “เนื่องจากจำเลยรับว่าจำเลยโพสต์ข้อความทั้งหมด อันเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อจำเลยโพสต์และแชร์ ก็เข้าองค์ประกอบตาม 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (3) พิพากษาจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท อ้างเหตุลดโทษตามมาตรา 65 พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ลดหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี

“พิพากษาลงโทษ เนื่องจากถึงแม้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นจิตเภทจริง เพราะมีแพทย์เจ้าของไข้มาเป็นพยาน แต่ขณะที่โพสต์ จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าขณะนั้นไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือไม่”

ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และขณะนี้คดีของเขาอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์

 

 

อุทธรณ์ที่ไม่ได้ฟังผล

คำอุทธรณ์ดังกล่าว ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนทีเดินทางไปยื่นที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ต่อมา วันที่ 11 เมษายน นทีหายตัวไปจากบ้าน ก่อนจะพบเป็นศพในวันที่ 12 เมษายน เสียชีวิตเนื่องจากกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย หลังจากพยายามมาแล้วสองครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

ประเด็นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์มี 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องข้อกฎหมาย โดยฝ่ายจำเลยยืนยันว่า ในเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย จึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อหานำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จึงไม่เป็นความผิดไปด้วย ศาลจึงไม่สามารถนำ พ...คอมพิวเตอร์ฯ มาลงโทษจำเลยได้ 

ประเด็นที่สอง ในเรื่องข้อเท็จจริง คำอุทธรณ์ยืนยันเรื่องอาการป่วยของจำเลย ว่าขณะเกิดเหตุในคดี จำเลยป่วยเป็นจิตเภท โดยมีหลักฐานทั้งจากใบรับรองแพทย์ คำเบิกความของพยานซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลย และคำเบิกความของตัวจำเลยเอง

“จำเลยนำสืบว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยไม่สามารถบังคับตนเองได้ จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยโพสต์ขอโทษเรื่องที่จำเลยลงข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยโพสต์ข้อความลักษณะดูหมิ่นสถาบันบ่อยครั้งเนื่องจากควบคุมตัวเองไม่ได้  โดยแพทย์หญิงชูนุช เจริญพร นายแพทย์วิญญู ชะนะกุล แพทย์ด้านจิตเวช เบิกความว่าอาการของจำเลยเป็นอาการของผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นอาการของโรคที่รักษาหายขาดได้ยาก”

พยานบุคคลทั้งหมด ได้แก่ ตัวจำเลย บิดาของจำเลย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชซึ่งเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียในคดี ได้เบิกความชัดเจนว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิต เป็นจิตเภท ทั้งก่อน ขณะ และหลังกระทำความผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคหนึ่ง   

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดีนี้ เนื่องจากจำเลยเสียชีวิต ผลคำพิพากษาจากการยื่นอุทธรณ์จะเป็นเช่นไร นทีไม่มีโอกาสได้รับรู้อีกต่อไป และผลคำวินิจฉัยจากศาลชั้นต้นที่ทำให้เกิดคำถามหลายประการนั้น ก็ไม่ได้ถูกทบทวนโดยศาลชั้นที่สูงขึ้นไป

 

คดีที่ไม่ฟ้องด้วย 112 

นทีเป็นชายหนุ่มรูปร่างสันทัด ผิวขาว นัยน์ตาโศก จากคำบอกเล่าของ วีรนันท์ ​ฮวดศรี ทนายความผู้รับผิดชอบคดีของนที เขาสุภาพ พูดน้อย ส่วนใหญ่เวลาที่เขาพูด คำพูดที่ออกมามักจะเป็นคำถาม เอาใจใส่ และจะคอยถามไถ่ทนายอยู่เสมอว่าเป็นอย่างไรบ้าง           

ด้านวีรนันท์เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของลูกความ ก็ตกใจอย่างมาก ตอนนั้นก็ช็อก เราคิดว่าเขาจะไปหาแม่เขาที่ต่างจังหวัด ก็ทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน เพราะล่าสุดเพิ่งเจอเขาวันที่ 7 นี้เอง ก็ไปยื่นอุทธรณ์กัน ไปเจอกันที่ศาล เขายังเซ็นท้ายอุทธรณ์ให้เราอยู่เลย ก็ยังพูดกัน เขาก็มีความกังวลเรื่องคดีอยู่ เขากลัวว่าจะติดคุก กลัวไม่ได้รักษาต่อ เราก็บอกว่าไม่ต้องกลัว ทำใจให้สบายนั่นแหละ”

ย้อนกลับไป ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้พบกับนทีครั้งแรกที่ศาลทหารด้วยความบังเอิญ จากการที่ราชทัณฑ์แจ้งว่ามีคดี 112 ค้างอยู่ และยังไม่มีทนายความ การพบกันครั้งแรกจึงเป็นการพบกันผ่านลูกกรง

เขาถูกจับกุมด้วยข้อหามาตรา 112 ที่หมายจับออกโดยศาลทหาร ในวันที่ 26 กันยายน 2561 ถูกฝากขังอยู่ 48 วันจนอาการกำเริบ ภายหลังศาลทหารปล่อยตัว เพราะมีคำสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 112  ต่อมาเมื่อคดีย้ายมาศาลอาญา จากข้อหา 112 เปลี่ยนเป็นมาโดนฟ้องในข้อหามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน เนื่องจากนโยบายเปลี่ยน 

ตามที่ปรากฏในคำเบิกความของพยานโจทก์ พันตำรวจโท สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้ เขาเบิกความตอบคำถามค้านว่า ผู้กล่าวหามาร้องทุกข์กับพยานว่ามีผู้โพสต์เข้าข่ายข้อหาลบหลู่ ในข้อหา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้มาร้องทุกข์กล่าวหาในมาตรา 116 ด้วย

“การตั้งเรื่องกล่าวหาทั้งหมด เป็นคำสั่งฟ้องข้อหาหมิ่น ตามมาตรา 112 และข้อหานำเข้าสู่ระบบอันเป็นเท็จ พรบ.คอมฯ 14 (3)” พ.ต.ท. สัณห์เพ็ชร เบิกความต่อศาล

 

อย่าให้การต่อสู้ของนทีเสียเปล่า สังคมต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยจิตเภท

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ilaw พบว่าภายหลังการรัฐประหาร ปี 2557 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 12 ราย

กรณีของนทีเป็นหนึ่งในอีกหลายคดีของผู้ป่วยจิตเภทที่ต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรม ยังมีผู้ป่วยจิตเภทอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้  และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในศาลยุติธรรมหลังจากโอนย้ายมาจากทหาร อย่างน้อยอีก 4 คดี ได้แก่ ฤาชา, บัณฑิต, เสาร์ และบุปผา

บทเรียนจากการต่อสู้คดีให้กับนที ทำให้ทีมทนายความพบว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยจิตเภท คือความเข้าใจของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ทนายความและจำเลยจะนำเสนอให้ศาลเข้าใจ แม้จะไม่ใช่ในคดีมาตรา 112 ก็ตาม

บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่อัยการ ทนายความ ผู้พิพากษา ตลอดจนผู้คนในสังคม ยังขาดความเข้าใจต่อผู้ป่วยจิตเภทและอาการของโรค เพราะส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเภทจะต้องมีอาการคลุ้มคลั่ง พูดจาไม่รู้เรื่องตลอดเวลา สื่อสารไม่ได้ หรือเหม่อลอยจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ แต่แท้จริงแล้ว ผู้ป่วยจิตเภทยังพอสามารถใช้ชีวิตปกติได้อยู่บ้าง สามารถรับทราบในเรื่องทั่วๆ ไป หรือสถานการณ์ปัจจุบันได้ ขึ้นอยู่กับสภาพอาการและการรักษา เพียงแต่พวกเขาอาจยังมีความคิดความเชื่อบางอย่างแตกต่างกับบุคคลทั่วไป ซึ่งจะส่งผลต่อการแสดงออกและการกระทำของพวกเขาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ จากคำพิพากษาในคดีนที เห็นได้ชัดว่า ศาลต้องการพยานหลักฐานที่ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยสามารถพิสูจน์ได้ไหมว่าขณะนั้นตนเองป่วย ปัญหาก็คือไม่มีแพทย์หรือพยานปากไหนที่จะสามารถยืนยันได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น เขามีสติรู้ตัวหรือไม่ หรือมีอาการป่วยหรือไม่ จึงต้องอาศัยพยานแวดล้อม และข้อมูลการตรวจรักษาทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ อย่างในกรณีของนที ทั้งพ่อของเขาและแพทย์ที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ล้วนให้การสอดคล้องกันว่านทีมีอาการป่วยอยู่แล้ว จึงสันนิษฐานได้ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดในขณะมีอาการป่วยเช่นกัน

“อย่างกรณีนที เขาก็เบิกความไว้ชัดเจน นทีบอกว่าเขาเองก่อนหน้านี้เคยโพสต์ เคยลบโพสต์ แล้วก็เคยขอโทษ แล้วเขามาโพสต์เรื่องนี้อีก เขาบอกว่าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เหมือนมีพลังงาน เหมือนมีมนุษย์ต่างดาวมาคอยควบคุม บงการ ชักใยเขาอยู่ อันนี้ก็คือเราถามกี่ครั้งๆ เขาก็จะตอบอย่างนี้ตลอด เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในการที่เขาทำ” ทนายความกล่าว

แต่ศาลไม่ได้นำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณา คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยป่วยหรือไม่

“แม้จำเลยจะนำสืบว่ามีอาการป่วยทางจิต แต่มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะกระทำความผิดไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เมื่อพิเคราะห์อาการป่วยของจำเลยก่อน ขณะ และหลังกระทำความผิดตามทางนำสืบของจำเลย น่าเชื่อว่าสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง จำเลยต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าว แต่เห็นสมควรลดโทษให้ตามพฤติการณ์แห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง      

 

ตั้งแต่ขณะนทีถูกจับกุม จนถึงวันที่เขาเสียชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อผู้ป่วยจิตเภท ความไม่เข้าใจอาการของผู้ป่วย ตลอดจนช่องโหว่ของกฎหมายที่กลายเป็นทำร้ายและละเมิดสิทธิอันพึงมีของผู้ป่วย ที่ไม่เพียงจะต้องต่อสู้กับภาวะจิตเภทของตนในระดับชีวิตประจำวันแล้ว หากผู้ป่วยผิดพลั้งถูกกล่าวหาดำเนินคดี กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นก็ยิ่งซ้ำเติมพวกเขาเหล่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากทนายยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดี ศาลจะนัดกำหนดวันนัดพร้อมระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อทำคำสั่งจำหน่ายคดี โดยศาลกำหนดวันนัดพร้อม สอบถามการตาย ในวันที่ 22 มิ.ย.63 ก่อนจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในวันเดียวกัน

แม้คดีของเขากำลังจะสิ้นสุด แต่อย่างน้อย การต่อสู้คดีตลอดจนการเสียชีวิตของนทีก็ได้ก่อเกิดการตั้งคำถาม ถกเถียงในสังคม ถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อผู้ป่วยจิตเภทต่อไป

 

(อัพเดทเนื้อหา: 22 มิ.ย.63)


อ่านการต่อสู้คดีของนทีได้ที่ : ย้อนรอยคดี สิชลชายผู้คิดว่าตนเป็นพระพุทธเจ้า โพสต์วิจารณ์กษัตริย์ ก่อนศาลลงจำคุกตามพ.ร.บ.คอมฯ 3 ปี 

อ่านปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้ป่วยจิตเภท ได้ใน “การดำเนินคดี 112 กับผู้ป่วยจิตเภทหลังรัฐประหาร” และ “คุยกับจิตแพทย์: เมื่อผู้ป่วยจิตเภทเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม” 

 

 

 

 

X