อีกหนึ่งคดีฟ้องปิดปาก: ข้อสังเกตจากการยกฟ้องคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ย้อนกลับไปช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ท่ามกลางความพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ คือการตรวจพบจดหมายซึ่งจ่าหน้าซองถึงบ้านเลขที่ของผู้รับ แต่ไม่มีการระบุถึงชื่อผู้รับ และไม่ระบุชื่อของผู้ส่ง ถูกจัดส่งไปตามตู้ไปรษณีย์สาธารณะและที่ทำการไปรษณีย์ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง

>> Not Free and Fair การรณรงค์ที่ต้องจ่ายด้วยเสรีภาพ: ประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิก่อนออกเสียงประชามติ

หากมองผ่านสายตาประชาชนทั่วไป ก็อาจจะเป็นเพียงการส่งจดหมายถึงประชาชนโดยที่มีรูปแบบการจ่าหน้าซองที่แปลกไปบ้างเท่านั้น  จนกระทั่งมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจยึดได้จดหมายจากไปรษณีย์ต่างๆ ได้ราว 10,000 ฉบับ ประกอบกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่แทบไม่มีสื่อมวลชนใด นำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนของจดหมายฉบับดังกล่าว แต่เรื่องราวกลับถูกโหมประโคมตามการให้ “ความเห็น” ของ คสช., กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ระบุว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการ “บิดเบือน” สาระของร่างรัฐธรรมนูญ หรือถูกนำเสนอข่าวในลักษณะว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปลอม” และมีความผิดตาม “กฎหมาย”

>> เมื่อ ‘จม.วิจารณ์ร่างรธน.’ ถูกทำให้กลายเป็น ‘จม.บิดเบือน’: ประมวลสถานการณ์กรณีจับกุมบุคคลภายในมทบ.11

นำมาสู่ฉากการแสดงขนาดใหญ่ภายใต้อำนาจของ คสช. ที่มีการระดมกำลังจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เข้าตรวจค้นบ้านของแกนนำเสื้อแดงหลายราย เพื่อติดตามหาผู้เกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายดังกล่าว มีการตรวจพิสูจน์หลักฐานอย่างละเอียด ทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือและฝ่ามือไปตรวจสอบเทียบกับลายนิ้วมือแฝงที่อยู่บนซองจดหมาย ทดลองถ่ายเอกสารกับเครื่องภายในร้าน เพื่อตรวจสอบเทียบกับหมึกพิมพ์ในเอกสาร การตรวจค้นบางพื้นที่ไม่มีรายงานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่มีหมายศาลหรืออ้างอำนาจใดในการดำเนินการ ราวกับว่าจดหมายที่ถูกกล่าวถึงเป็นอาวุธสงครามชนิดร้ายแรง ที่ไม่อาจปล่อยเดินทางไปถึงมือของประชาชน

ทั้งหมดก่อให้เกิดบรรยากาศความตื่นตกใจของประชาชน ในการแสดงความเห็นไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเกรงว่าพวกเขาอาจกลายเป็น “เป้าหมาย” ของกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจำนวนมาก เช่นเดียวกับการส่งจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นก็เป็นได้ ทำให้การลงประชามติไม่ได้มีบรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีและเป็นธรรมแต่อย่างใด

ภาพขณะเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลทหารเชียงใหม่ (ภาพจากเฟซบุ๊กของวิญญัติ ชาติมนตรี)

 

ผลสุดท้ายปลายทางร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทำประชามติ ก็ได้มีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สร้างระบบการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยออกมา มุ่งหยุดยั้งพรรคใหญ่ในการรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร  หรือก่อให้เกิดวุฒิสภา 250 เสียง ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งยังมีสิทธิร่วมโหวตนายกฯ ที่ค้านสายตาประชาชน จนเกิดเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจของ คสช. ต่อมา

แม้ภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่คดีความของ “ผู้ต้องหาประชามติ” ซึ่งประชาชนถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนอย่างน้อย 212 คน ยังคงดำเนินต่อไป

>> อ่านใน รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี 

จนกระทั่งปี 2563 เกือบ 4 ปีหลังการลงประชามติ คดีที่เกิดขึ้นจากการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจส่วนใหญ่ ได้จบลงโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด เช่น คดีแปะใบปลิวโหวตโน ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือคดีแจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และ สติกเกอร์โหวตโนศาลจังหวัดราชบุรี  รวมถึงคดีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่มีบางคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลย เช่น คดีฉีกบัตรประชามติศาลจังหวัดพระโขนง เป็นต้น

 

สำหรับคดี “จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ” มีประชาชนที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน 15 ราย ในจำนวนนี้มีนักการเมืองที่เป็นที่รู้จักในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-พนักงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ทั้งหมดถูกข้อกล่าวหาร้ายแรง 4 ข้อหา ได้แก่  ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น), มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่), มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ทำให้จำเลยในคดีต้องผ่านการพิจารณาคดีในศาลทหาร คือศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นเวลากว่า 3 ปี ก่อนที่จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช. 9/2562 ทำให้มีการโอนย้ายการพิจารณามายังศาลพลเรือน ซึ่งใช้เวลาพิจารณาอีกราว 6 เดือน ก่อนที่จะได้มีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด

กลุ่มจำเลยในคดีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้ว่าจ้างทนายความเอกชนเข้าช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นเป็นระยะ และพบว่าการสืบพยานในช่วงการพิจารณาของศาลทหาร มีอุปสรรคในการติดตามคดี เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก และจำเลยในคดีมีจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ศาลทหารไม่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าฟังในห้องพิจารณาคดี เพื่อให้ที่นั่งกับทางจำเลยและทนายความเป็นหลัก โดยที่ศาลทหารเองก็ไม่ได้สั่งให้มีการพิจารณาเป็นการลับและไม่มีการจัดหาห้องพิจารณาอื่นมารองรับผู้เข้าฟังการพิจารณาอื่นๆ แต่อย่างใด การติดตามสังเกตการณ์การสืบพยานคดีนี้จึงมีข้อจำกัดเกิดขึ้น

 

นอกจากนั้น ศูนย์ทนายสิทธิฯ ยังพบข้อสังเกตที่ควรตระหนักถึงในคดีนี้อยู่ 5 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

1. นับตั้งแต่มีการดำเนินคดีนี้เกิดขึ้น ได้มีการสร้างภาพและนำเสนอข่าวสารของคดีอย่างคึกโครม ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความน่าหวาดกลัวต่อประชาชน และการทำให้เป็น “เรื่องร้ายแรง” จากข่าวการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เข้าตรวจค้นสถานที่หลายจุด และการจับกุมบุคคลเข้าควบคุมตัวในค่ายทหาร ด้วยเหตุเพียงแค่มีการส่งจดหมายที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ออกไปจำนวนมากเท่านั้น ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีบางส่วนยังมีสถานะเป็นนักการเมือง “ฝ่ายตรงข้ามกับ คสช.” ในขณะนั้น

การใช้ข้อหาอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมทั้งข้อหาอั้งยี่และซ่องโจร มากล่าวหาในคดีนี้ และทำให้คดีดูมีลักษณะเป็นความผิดที่ “ร้ายแรง” และยังทำให้คดีถูกนำไปพิจารณาโดยศาลทหารอีกด้วย

หากมองให้กว้างออกไปกระบวนการที่ดุดันอันไม่สมเหตุผล ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เลือกใช้เพื่อปฎิบัติการจัดการกับจดหมาย มีลักษณะเป็นการข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ในช่วงระหว่างการลงประชามติ ก่อให้เกิดความกลัวในการแสดงความคิดเห็นขึ้นในสังคม อาจกล่าวได้ว่าคดีนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีที่มีการฉวยใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร” เพื่อ “การฟ้องร้องปิดปากประชาชน หรือ SLAPPs”  ที่เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57

 

2. ผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินคดี นำมาสู่การปรับเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างน้อยในกรณีของ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ต้องลาออกจากตำแหน่งรองนายก อบจ. เชียงใหม่ ภายหลังเกิดเหตุ และกรณีของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ที่ภายหลังถูกดำเนินคดี ได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 44/2559 พักการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกอบจ.เชียงใหม่ และต่อหลังจากนั้นเกือบ 2 ปี ได้มีการใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2561 คืนตำแหน่งนายกอบจ.เชียงใหม่ให้ โดยมีพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ภายหลังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ให้ต้นสังกัดตรวจสอบข้อกล่าวหา ปรากฏว่าไม่มีความผิดอย่างที่ถูกข้อกล่าวหา และมีการรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็ได้มีคำสั่งให้คืนตำแหน่งดังกล่าว โดยที่การคืนตำแหน่งดังกล่าวยังเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำพิพากษาเสียอีก ทำให้ดูเหมือนว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. เองก็ “ตระหนัก” ว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามที่มีการกล่าวหามาตั้งแต่ต้น

นอกจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ทราบว่าผู้ถูกดำเนินคดีบางรายได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจอีกด้วย โดยเฉพาะการที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน ถูกเจ้าหน้าทหารเข้าสอบสวน ต่อมาศาลทหารยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวในช่วงของการฝากขังสองผัดแรก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 23 วัน ผู้ถูกดำเนินคดีบางรายต้องเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพกับแพทย์ในโรงพยาบาล และบางรายต้องเข้าพบจิตแพทย์เป็นเวลาถึงสองปี เพื่อรักษาผลกระทบต่อจิตใจที่เกิดขึ้นจากการถูกคุมขังดังกล่าวด้วย ยังไม่นับผลกระทบจากครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดี ที่เกิดความเครียดและญาติของผู้ต้องหาบางรายก็มีปัญหาสุขภาพตามมาเช่นกัน

 

3. การพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อในศาลทหาร โดยนับตั้งแต่เริ่มการพิจารณาคดี ทางอัยการทหารได้อ้างพยานโจทก์ในการเข้าสืบจำนวนกว่า 110 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็มีการอ้างพยานอีกกว่า 30 ปาก ทำให้รวมแล้วมีพยานมากกว่า 140 ปาก ที่คู่ความจะนำเข้าสืบต่อศาล ซึ่งตลอดระยะเวลาราว 3 ปี ได้ทำการสืบพยานไปทั้งหมดจำนวน 14 นัด โดยเฉลี่ย 2-3 เดือน ศาลทหารจะทำการนัดสืบพยานหนึ่งครั้ง และในนัดหนึ่งทำการสืบพยานได้จำนวน 1-2 ปาก รวมระยะเวลาทั้งหมดสามารถสืบพยานโจทก์ไปได้เพียงราว 16 ปาก ก่อนที่จะคำสั่งหัวหน้าคสช. 9/2562 ทำให้มีการโอนย้ายคดีมาพิจารณาต่อที่ศาลพลเรือน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่าระหว่างการพิจารณาคดี ทนายความจำเลยได้ปรึกษากับอัยการศาลทหารหลายครั้งเพื่อขอตัดพยานโจทก์ ที่จะนำเข้ามาให้ข้อเท็จจริงซ้ำกันกับพยานคนก่อน หรือกระทั่งฝ่ายจำเลยจะยอมรับคำให้การพยานบางส่วนที่ไม่ได้มีผลต่อการต่อสู้คดีของจำเลยทั้งหมด ซึ่งสามารถจะกระทำได้และจะส่งผลให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น แต่จนกระทั่งมีการโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือนก็ยังไม่มีการตัดพยานโจทก์เกิดขึ้นแต่อย่างใด

 

4. การพิจารณาคดีในศาลพลเรือนหลังโอนย้ายมาจากศาลทหาร สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว จากการที่ทนายจำเลยและอัยการได้พูดคุย เพื่อยอมรับคำให้การเป็นเอกสารของพยานโจทก์ที่เหลืออีกราว 80 กว่าปาก เนื่องจากฝ่ายจำเลยเห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่ได้เข้ามาให้ข้อเท็จจริงที่สำคัญในคดี และเป็นประเด็นการให้การที่ไกลจากประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลย จึงทำให้ท้ายที่สุดพยานโจทก์ที่ต้องมีนำมาเข้าเบิกความที่ศาลพลเรือนต่ออีกเพียงราว 5-6 ปาก และฝ่ายจำเลยได้อ้างตัวจำเลยทั้ง 15 คนเข้าเบิกความโดยไม่มีพยานจำเลยอื่นๆ ทำให้คดีพิจารณาเสร็จสิ้นเร็วขึ้นในที่สุด

 

5. คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ วินิจฉัยในเรื่องเนื้อหาในจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เนื้อหาไม่ได้เป็นการปลุกระดม ข่มขู่ ก้าวร้าวหรือหยาบคาย และไม่ได้ถึงขนาดทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเพียงการแสดงความเห็นให้ผู้อ่านเนื้อหาดังกล่าวได้คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง และพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดยังไม่ได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันเป็นการลับ พฤติการณ์ในคดีเป็นเพียงการไหว้วานให้จัดทำเอกสารและส่งจดหมาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 15 คน และให้คืนของกลางในคดีให้แก่จำเลย

>> อ่านได้ใน “เกือบ 4 ปีหลังประชามติ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรธน. ชี้เนื้อหาไม่ผิดกม.

ทั้งนี้ การพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาทางคดีที่เกิดขึ้นในคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงอำนาจของศาลเท่านั้น ในกระบวนการยุติธรรมทั้งพนักงานสอบสวนซึ่งมีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และความผิดของผู้ต้องหา และพนักงานอัยการที่ได้พิจารณาสำนวนการสอบสวนในคดี สามารถมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาสู่ศาลได้ หากเห็นว่าพยานหลักฐานในคดีไม่เพียงพอต่อการฟ้องผู้ต้องหา หรือพยานหลักฐานที่มีในคดีไม่สอดคล้องกับข้อกล่าวหาที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ต้องหาที่ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองผ่านกระบวนการพิจารณาอันยาวนาน

กระบวนการพิจารณาอันยาวนานในคดีนี้ จึงกลับหัวกลับหางหลักการว่าด้วยการสันนิษฐานว่าบุคคลถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกตัดสินโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ามีความผิด กลายเป็นการสร้างภาระให้กลุ่มจำเลยให้ต้องต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างยาวนาน กว่า 3 ปี 8 เดือน

 

X