6 ปีรัฐประหาร: เสรีภาพยังเบาบางแม้ไม่มี คสช.

22 พ.ค. 2563 วันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว คณะทหารภายใต้ชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหารที่ควบคุมบงการสังคมไทยยาวนานกว่า 5 ปี และในทางปฏิบัติอำนาจนั้นยังคงสืบทอดดำรงอยู่ ในโอกาสครบรอบ 6 ปี ประชาชนหลายกลุ่มจึงออกมาทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความไม่ยอมรับและไม่ยอมจำนนตลอดทั้งวัน เช่นเคยพวกเขายังเผชิญกับการปิดกั้น จนถึงคุกคาม ดำเนินคดี เหมือนปีที่ผ่านๆ มาที่ยังมี คสช. โดยเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือที่แตกต่างออกไป

(ภาพจาก มติชนออนไลน์)

มีรายงานข่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาล เข้าพบเพื่อกำชับให้เฝ้าระวังบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใดๆ โดยเฉพาะการยิงเลเซอร์


(ภาพจาก สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ ประชาไท)

ชูป้าย 4 จุด ตัดงบกองทัพ/ไม่เอา ส.ว. ถูกปิดกั้นห้ามเข้าถึงป้ายกองทัพบกและอนุสาวรีย์ ปชต.

ประชาไทรายงานว่า ในช่วงเช้า เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา เคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ได้ทำกิจกรรมชูป้ายผ้าบริเวณด้านหน้าทางเข้ารัฐสภา เกียกกาย, กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.), ทำเนียบรัฐบาล และไปสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ที่หน้ารัฐสภา นักกิจกรรม 8 คน ถือป้ายผ้าที่มีข้อความเรียกร้อง ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย  คสช. ยุติการทำหน้าที่ และให้ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ที่บาทวิถีด้านข้าง บก.ทบ. ทั้ง 8 คน ถือป้ายข้อความ “กองทัพสีเทา” และ “ตัดงบกองทัพแก้ COVID” โดยก่อนเริ่มกิจกรรม ทหารรักษาการณ์บริเวณทางเข้าได้ออกมาห้ามไม่ให้ชูป้ายที่หน้าป้าย “กองทัพบก” พร้อมทั้งนำรั้วเหล็กมาล้อมป้ายเอาไว้

ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ผู้ร่วมกิจกรรมถือป้ายข้อความ “2,191 วัน กับเผด็จการ” ซึ่งเท่ากับจำนวนวันของ 6 ปี รัฐประหาร

ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจุดสุดท้าย กลุ่มนักกิจกรรมพยายามนำพวงหรีด ที่มีข้อความ “2,191” ไปวางที่อนุสาวรีย์ฯ แต่ถูกตำรวจห้ามไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรมบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ซึ่งมีรั้วกั้นอยู่ โดยระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ทางกลุ่มจึงนำพวงหรีดพร้อมทั้งป้ายผ้าทั้งหมดมาชูบนเกาะกลางถนนด้านตรงข้ามอนุสาวรีย์ฯ ก่อนนำพวงหรีดไปวางไว้ข้างต้นไม้บริเวณทางเท้า

นอกจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แล้วทางกลุ่มได้ออกแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 6 ปีรัฐประหารด้วย (อ่านแถลงการณ์ที่เพจ DRG)

(ภาพจาก สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.))

แห่ป้าย “6 ปีแล้วนะไอสัส” ถูกตำรวจใช้ พ.ร.บ.จราจรฯ เปรียบเทียบปรับ-ยึดป้าย

ประชาไทยังรายงานว่า ในช่วงบ่าย สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้ทำกิจกรรมโดยการขับรถติดป้ายภาพ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกฯ คนปัจจุบัน พร้อมข้อความ “6 ปีแล้วนะไอสัส” แห่ไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น หัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เซ็นทรัลเวิลด์ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เมื่อรถแห่มาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 14.00 น. ทางกลุ่มได้นำป้ายผ้า “2563 เผด็จการครองเมือง” เข้าไปติดที่รั้วเหล็กที่กั้นรอบอนุสาวรีย์ฯ ไม่นานก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามารื้อป้ายผ้าออก พร้อมทั้งขอถ่ายรูปบัตรประชาชนผู้ทำกิจกรรม และถ่ายรูปรถ ก่อนจะเชิญตัวสมาชิกส่วนหนึ่งไปพูดคุย  โดยแจ้งว่า จะนำตัวไปดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. ความสะอาด และ พ.ร.บ. จราจร แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าไม่ไป สุดท้ายตำรวจได้เขียนใบสั่งข้อหาไม่พกใบขับขี่ และจอดรถกีดขวางจราจร พร้อมทั้งสั่งให้ปลดป้ายที่ติดอยู่กับรถออก ขณะที่ยังกักตัวผู้ทำกิจกรรมไว้บริเวณอนุสาวรีย์ฯ ไม่อนุญาตให้ออกจากพื้นที่

เวลา 17.30 น. ตำรวจจึงได้นำตัวสมาชิก สนท. ไปยัง สน. สำราญราษฎร์ และสั่งเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. จราจรฯ รวม 2 คน ได้แก่ นายณัชพล ไพรลิน ฐานไม่พกใบขับขี่และสำเนาทะเบียนรถ ปรับ 1,200 บาท และจอดรถกีดขวางจราจร ปรับ 500 บาท และนายอรรณพ อุดหนุน ฐานขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่ติดกระจกข้าง ปรับ 200 บาท พร้อมกันนี้ตำรวจยึดป้าย “6 ปีแล้วนะไอสัส” ไปด้วย ก่อนที่จะปล่อยตัวทั้งหมดในเวลาประมาณ 19.00 น.

ทั้งนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ตัวแทน สนท. ชี้แจงว่า ทางกลุ่มไม่ได้มีเจตนาที่จะจอดรถกีดขวางทางจราจร แต่เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมรถไว้ขณะติดไฟแดง จึงไม่สามารถขยับรถออกจากจุดที่จอดติดไฟแดงได้

ขณะเดียวกันเวลาประมาณ 18.00 น. เพจ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ไลฟ์สด กิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสมาชิก สนท. อีกส่วนหนึ่งได้นำป้ายผ้า “2563 เผด็จการครองเมือง” มาถือที่บริเวณหน้ารั้วเหล็กกั้น พร้อมกับชู 3 นิ้ว ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด โดยก่อนทำกิจกรรมได้มีบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แต่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบและไม่ได้แสดงบัตรเจ้าหน้าที่พยายามผลักดันขัดขวางไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรม และสอบถามว่า จะไปไหน มากันยังไง มากี่คน ทำให้นักศึกษาหญิงโต้เถียงว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิอะไรมาถูกตัวเธอ หลังจากนักศึกษาเดินไปถึงรั้วเหล็ก เจ้าหน้าที่ได้สั่งห้ามติดป้ายผ้าที่รั้ว และพยายามยึดป้ายผ้าที่กลุ่มเตรียมมา พร้อมทั้งขู่ว่าจะดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

สนท. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้อยืนยันว่า การต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดม็อบต่อต้านรัฐบาลนั่นเอง

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย หลังจากมีกิจกรรมชูป้ายแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มนักศึกษา มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. ดุสิต, สน. นางเลิ้ง และชุดปฏิบัติการเสือดำ Black Tiger ได้ตรึงกำลังรอบทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการในพื้นที่ เพื่อป้องกันการยิงเลเซอร์ในวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร


(ภาพจาก iLAW)

แสดงภาพวาดรำลึก “รัดประ ÷ ” – ระดมเงินช่วยเหลือโควิด ถูกห้าม-จับ-ดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อมา ในช่วงเย็น iLaw รายงานว่า เวลาประมาณ 16.30 น. นพ. ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ ได้เดินทางมาทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ โดยนำภาพวาดมาตั้งแสดง ทั้งภาพ พล.อ. ประยุทธ์ และภาพผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด ก่อนหน้านั้นมีการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 40 นาย ขณะที่ทางหอศิลป์ก็ได้นำรั้วเหล็กมากั้นรอบลานหน้าหอศิลป์ฯ พร้อมติดป้ายกระดาษเอสี่มีข้อความ “ห้ามทำกิจกรรมตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

ขณะเดียวกันมีประชาชนที่คาดว่าจะมาร่วมกิจกรรม 30 – 40 คน ยืนกระจายตัวอยู่ในบริเวณ แต่ไม่ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับ นพ. ทศพร

ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบรวม 2 นาย เดินมาพูดกับ นพ. ทศพรทำนองว่า ขณะนี้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และการทำกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้คนมารวมตัวกันแออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค นพ. ทศพรชี้แจงว่า ตนเองเพียงมาทำกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชน และไม่ได้โพสต์เชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมกิจกรรม ต่อมามีเจ้าหน้าที่เทศกิจเดินมาพูดคุยด้วยอีก ในที่สุด นพ. ทศพร ขอจุดเทียนรำลึกถึงปลายฝนและผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่จึงยอมโดยกำชับว่าให้ทำและยุติกิจกรรมโดยเร็ว

ทศพรนำเทียนมาเรียงเป็นคำว่า “รัดประ ÷ ” ระหว่างที่จุดเทียนก็มีชายสวมเสื้อแดงคนหนึ่งนำป้ายข้อความแสดงออกต่อ คสช. มาวางร่วมก่อนเดินออกไปยืนด้านข้าง หลังจาก นพ. ทศพรร้องเพลง “เพื่อมวลชน” และเตรียมประกาศยุติกิจกรรม นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้โพสต์ว่า จะจัดแสดงดนตรีระดมทุนให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนที่หน้าหอศิลป์ ได้เดินมาแจ้งสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะนำตัวเขากับ นพ. ทศพรไปที่ สน. ปทุมวัน และคาดว่าจะมีการตั้งข้อกล่าวหา

จากนั้น ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวทั้งสองขึ้นรถกระบะไปยัง สน. ปทุมวัน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความไม่พอใจของประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม โดยบางส่วนกระโดดขึ้นรถไปด้วย ตำรวจได้ประกาศผ่านลำโพงแจ้งประชาชนที่ยังเหลืออยู่หน้าหอศิลป์ว่า เนื่องจากในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จึงขอให้ประชาชนทยอยกลับบ้าน

ที่ สน. ปทุมวัน เวลาประมาณ 18.30 น. ตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันโดยง่าย ตามข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่อง ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม  โดยทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้น นพ. ทศพร ได้ใช้เงินสดจำนวน 30,000 บาท ยื่นประกันตัว ส่วนนายอนุรักษ์แสดงความจำนงว่า จะนอนในห้องขัง 1 คืน โดยจะรอให้มีคนมาช่วยประกันตัวในวันรุ่งขึ้น (23 พ.ค. 2563) ล่าสุด นายอนุรักษ์ได้รับการประกันตัวแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 นายอนุรักษ์เพิ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาเดียวกันจากการจัดกิจกรรมรำลึก 10 ปี การเสียชีวิตของ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล ที่บริเวณทางลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมฝั่งสวนลุมพินี

(ภาพจาก ดาวดิน สามัญชน)

ต่างจังหวัดก็มา ป้ายวิจารณ์รัฐบาลผุดที่ขอนแก่น-ม.วลัยลักษณ์ ยังไม่พบการคุกคาม

ในต่างจังหวัดพบว่า มีการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 2 แห่ง โดยกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” จัดกิจกรรมชูป้าย “คำสัญญาเลื่อนลอย GUไม่คอยแล้วสึด” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ. ขอนแก่น

(ภาพจาก สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) )

ส่วนที่ จ. นครศรีธรรมราช บริเวณวงเวียนหน้าตึกบริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักศึกษาได้แขวนป้าย “6 ปี ไอ้เหี้ยปลาหยุด” ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของทางมหาวิทยาลัยขับรถมาสอบถามว่าทำอะไรกัน แล้วจึงแยกย้ายกันกลับ

ทั้งสองแห่งยังไม่มีรายงานการคุกคามผู้จัดกิจกรรม

ทั้งนี้ ในการทำกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ในโอกาสครบรอบ 6 ปีรัฐประหารนี้ ผู้เข้าร่วมได้ระมัดระวังโดยมีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 เป็นอย่างดี ทั้งการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างระหว่างกัน

(ภาพประจำเรื่องจาก สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ ประชาไท)

———————————

ชวนอ่านรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน “ราวกับ คสช. ยังไม่จากไปไหน” สรุปสถานการณ์ 6 ปีหลังการรัฐประหาร กับการละเมิดสิทธิที่ยังคงอยู่” >>> https://tlhr2014.com/?p=17788

พร้อมกับข้อมูลคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย >>> ดูเว็บไซต์ฐานข้อมูลได้ที่ https://database.tlhr2014.com/ (ข้อมูลคดีต่างๆ อยู่ระหว่างการอัพเดทเพิ่มเติม)

X