ศิลปะจัดวางไม่ได้รับเชิญผุดหน้าหอศิลป์ กทม. เรียกร้องติดตามการอุ้มหายวันเฉลิม คัดค้าน CPTPP หลายพื้นที่เริ่มเคลื่อนไหว

7 มิถุนายน 2563 เวลา 12.05 น. เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นำหุ่นไล่กากว่า 10 ตัว มาจัดวางหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยหุ่นแต่ละตัวสื่อถึงประเด็นต่างๆ ทั้งการอุ้มหาย ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักเคลื่อนไหวผู้ลี้ภัยไปกัมพูชาก่อนถูกรวบตัวอุกอาจ การคัดค้านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) คัดค้านการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯโดยเรียกร้องให้ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ แทน และการพ้นผิดลอยนวลกรณียืมนาฬิกาเพื่อนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นต้น

 

หลังจัดกิจกรรมราว 15 นาที ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สน.ปทุมวัน ทยอยมาจับตาดูกิจกรรมและสอบถามรายละเอียดการจัดกิจกรรมกับนักศึกษารวมแล้วราว 9 นาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอชื่อ-สกุล นักศึกษา ซึ่งนักศึกษาใช้สิทธิตามกฎหมายปฏิเสธ เมื่อจัดกิจกรรมผ่านไปราว 30 นาที เจ้าหน้าที่ได้เจรจาขอให้นักศึกษายุติการจัดกิจกรรมเพราะ ‘สมควรแก่เวลาแล้ว’ ทั้งนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2558 ซึ่งระบุว่าการจัดกิจกรรมต้องแจ้งให้ตำรวจในท้องที่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ราว 12.45 น. งานศิลปะชั่วคราวได้สลายตัว

 


นอกจากกิจกรรม “หุ่นไล่กากลางเมือง สิ่งที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เงียบ” ที่หน้าหอศิลป์ กทม. ยังปรากฎกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตอบโต้การอุ้มหายหลายแห่ง เช่นการผุดป้าย #ตามหาคนหาย หลายพื้นที่ใน กทม. รวมทั้งบริเวณด้านล่างสถานี BTS ช่องนนทรี การผุดป้าย #อุ้มเขาทำไม บริเวณประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ รวมทั้งแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม และ #thaicantbreathe ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

 

X