รายงานสถานการณ์สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกปี 2557

รายงานสถานการณ์สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกปี 2557

23 มกราคม 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอเสนอรายงานสถานการณ์ “สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึก 2557” ผู้ที่สนใจสามารถ Download ได้ที่ >>>150123 Military Court Thai <<< โดยในรายงานมีเนื้อหาสำคัญดังนี

ศูนย์ทนายฯ เผยรายงาน

“สถานการณ์สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกปี 2557”

ชี้ประชาชนขาดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

          23 มกราคม 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดรายงาน “สถานการณ์สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกปี 2557” ชี้ประชาชนทยอยถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร กระบวนการภายในศาลละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลให้การพิจารณาพิพากษาคดีไม่เป็นไปตามความยุติธรรม และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

ซึ่งในรายงานได้ชี้ให้เห็นว่า การประกาศใช้ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึก ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดและละเลยสิทธิของประชาชนหลายอย่าง กระทบต่อประชาชนในหลายส่วน ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ

  1. พลเรือนทยอยขึ้นศาลทหาร
  2. เจ้าหน้าที่ใช้กฎอัยการศึกในฐานะต้นธารของกระบวนการยุติธรรม โดยเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมประชาชนตามกฎอัยการศึกและนำข้อมูลที่ได้ระหว่างนั้นไปแจ้งความ ดำเนินคดีต่อพลเรือนและขอฝากขังต่อศาล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นผลดีต่อผู้ต้องหาได้
  3. กระบวนการพิจารณาคดีที่แตกต่างจากกระบวนพิจารณาคดีทั่วไป โดยตุลาการขาดความอิสระและเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ขาดทนายขอแรง ห้ามจดบันทึก มีการพิจาณาคดีลับในหลายคดี และประชาชนเข้าถึงศาลทหารได้ยาก
  4. สิทธิในการได้รับการประกันตัว ซึ่งศาลทหารยากที่จะให้การประกันตัวในคดีการเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพที่ขาดโอกาสมารักษาตัวข้างนอก
  5. คำพิพากษา ศาลทหารปราศจาการอุทธรณ์ ฎีกาและมีแนวโน้มลงโทษหนักกว่าศาลพลเรือน ส่งผลให้จำเลยเลือกที่จะรับสารภาพแทนการสู้คดี นอกจากนี้ยังไม่มีการสืบเสาะประวัติจำเลยซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาลดโทษ ซึ่งจะนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมือง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่าการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ถือเป็นหลักสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติจงใจละเลยหลักการดังกล่าวด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึก บัญญัติให้การกระทำบางอย่างเป็นความผิด  และนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร จะเป็นการทำให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเรียกร้องต่อสังคมไทยในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
  2. ยุติการจับกุมและควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก
  3. ขอให้ศาลและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ตีความกฎหมายให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย และยึดหลักสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นกรณียกเว้น
  4. ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารทุกฉบับ และให้พลเรือนขึ้นศาลพลเรือนตามปกติ
  5. ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กำหนดให้การกระทำบางประเภทเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา
  6. ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยเร็ว

1.5.1

Picture Source: Mthai

X