ตร.ออกหมายเรียกผู้ทำกิจกรรมร้องขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” 6 ราย อ้างฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

12 มิ.ย. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง แกนนำคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ, น.ส.มัทนา อัจจิมา และประชาชนอีก 1 ราย ว่าทั้งสามคนได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 17 มิ.ย. 63 โดยในหมายเรียกระบุว่า คดีนี้มีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และพวกรวม 6 คน เป็นผู้ต้องหา

 ภาพกิจกรรมหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 (ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์)

หนึ่งในผู้ที่ได้รับหมายเรียก ระบุว่าเหตุในการถูกออกหมายมาจากการไปร่วมกิจกรรมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ถนนประชาอุทิศ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชามีความกระตือรือร้นในการสืบสวนกรณีการหายตัวไปของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่พักอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกอุ้มหายเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 เวลาประมาณ 14.30 น. กลุ่มนักศึกษาและประชาชนราว 30 คน นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมารวมตัวหน้าสถานทูตกัมพูชา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายขอความเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายวันเฉลิม และขอให้รัฐบาลกัมพูชา-รัฐบาลไทยช่วยเหลือติดตามคดี ทั้งนำภาพใบหน้านายวันเฉลิมมาติดบนกำแพงสถานทูต ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดของตำรวจ สน.วังทองหลาง โดยมี นายเสาะ พีรี เลขานุการสถานทูต ออกมาเป็นตัวแทนพบแกนนำผู้ชุมนุมและรับข้อเรียกร้อง

ภาพกิจกรรมหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 (ภาพจาก The Momentum)

คดีนี้นับเป็นการนำข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีกับการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์เป็นคดีที่ 3  โดยก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีกับนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ในการจัดกิจกรรมรำลึกกิจกรรมครบรอบ 10 ปี การถูกสังหารของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดงฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63  และอนุรักษ์ยังได้ถูกดำเนินคดีอีกครั้งในการทำกิจกรรมกิจกรรม​เล่นดนตรีเปิดหมวกหาเงินช่วยเหลือ​ชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะโควิด-19 ในวันรำลึก 6 ปีการรัฐประหาร ร่วมกับ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63

 

ในวันเดียวกัน เฟซบุ๊กของนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ยังได้โพสต์ถึงกรณีประชาชนจำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1. เสาวนีย์​ สมพิชัย​ 2. ธานี​ สะสม​ 3. สมจิตร​ สอนศรี​ 4. ธัญวลัย ฝรั่งทอง​ 5. นวพร​ เจริญ​ลาภ
6. วลี​ ญานหงสา 7.​ มณฑา​ แสงเปล่ง 
ได้รับหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมงานรำลึก 10 ปี การถูกยิงเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63 ซึ่งเดิมมีการดำเนินคดีกับนายอนุรักษ์เพียงคนเดียว ทำให้รวมมีผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้รวม 8 คนแล้ว

(ภาพจากเฟซบุ๊ก Anurak Jeantawanich)

ภายหลังมีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 ถึง 30 เม.ย. 63 และต่ออายุมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ถูกประกาศบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย. นั้น ก่อให้เกิดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เริ่มไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายวันไม่ถึง 10 ราย และทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยตั้ง ข้อสังเกตทางกฏหมาย เกี่ยวกับการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและรวมตัวไว้ว่าข้อกำหนด ข้อ 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่ง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” นั้นอาจมีปัญหาในกรณีของ “การทำกิจกรรม” ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในความหมายของการชุมนุมตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อีกทั้งข้อกำหนดข้อ 14 ยังกำหนดคำแนะนำในการจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณี กิจกรรมและงานพิธีของทางราชการให้ยังจัดได้ตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าสามารถดำเนินกิจกรรมได้หรือไม่ เนื่องจากข้อกำหนดในข้อ 5 นั้นกำหนดเป็นบทบัญญัติทางกฎหมาย แต่ข้อกำหนดในข้อ 14 นั้น มีลักษณะเป็นข้อยกเว้นแต่กำหนดเป็นคำแนะนำ

นอกจากนี้ การรวมถึง “การกระทำดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” อาจเป็นการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดมาตรการที่เกินกว่าจำเป็นเพื่อป้องกันโรคระบาด เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางเพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่เมื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การป้องกันโรคระบาดใหญ่นี้ รัฐต้องกำหนดเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขเหตุการณ์ตามประกาศเท่านั้น

ทั้งนี้ในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีกรณีการใช้อำนาจของรัฐออกไปกว้างขวางมากกว่าเพื่อการทำความเข้าใจ และควบคุมการแพร่ระบาด แต่กลับเป็นไปในแง่มุมที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็นหลายกรณี อาทิ เข้ารื้อถอนตลาดริมคลองหัวลำโพง หรือ “ตลาดลาวคลองเตย” ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (อ่านต่อ)  หรือการที่ ศอ.บต. เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ในช่วงการระบาดของโควิด-19 (อ่านต่อ) เป็นต้น รวมทั้งนำมาใช้ดำเนินคดีในกรณีที่เป็นการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง แม้ผู้จัดการจะได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วก็ตาม โดยแนวโน้มในการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะยังมีอยู่ต่อไป แม้จะมีการประกาศ ยกเลิกเคอร์ฟิว และผ่อนปรนระยะที่ 4 แล้วก็ตาม

 

อ่านเรื่องของ’วันเฉลิม’

“หัวใจมันตก มันแตก”: คุยกับเพื่อน ‘ต้าร์’ ในวันที่มิตรสหายถูกอุ้มหายไป
ทบทวน “ความผิด” ไม่รายงานตัว คสช.: แรงผลักดันสู่การลี้ภัย 6 ปีของวันเฉลิม
ครอบครัวยื่นหนังสือ กต.-กมธ. เร่งติดตาม-สืบสวน หลัง ‘วันเฉลิม’ ถูกอุ้มหายหน้าที่พัก 5 วันแล้ว

อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน
ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมิน ‘กูต้องได้ 100 ล้านฯ’ ถูกอุ้มหาย ขณะคดีแชร์เพจถึงที่สุด ศาลยกฟ้อง

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถานทูตกัมพูชารับปากเสนอเรื่อง “วันเฉลิม” ถูกอุ้ม ถึงนายกฯ ฮุน เซน
รำลึก เสธ.แดง 10 ปี คดียังไม่พ้นดีเอสไอ – ตำรวจจับ ‘ฟอร์ด’ ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสี่ยงโควิด-19

 

 

X