อีกหนึ่งคดีคนอยากเลือกตั้ง: ทนาย ‘โรม’ รังสิมันต์ ร้องอัยการถอนฟ้องปมแกนนำ RDN50 ก่อนสืบ 23 – 26 มิ.ย.

4 มิถุนายน 2563 – หลังจากที่ศาลอาญา รัชดาฯ ได้มีคำสั่งนัดเพื่อสืบพยานในคดีของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) ซึ่งเป็นการชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ไม่เลื่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 โดยศาลได้นัดวันสืบพยานในคดีตั้งแต่วันที่ 23 – 26 มิถุนายน 2563 และวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2563 ล่าสุด ทางด้านทนายของโรมได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) ให้มีคำสั่งถอนฟ้อง เหตุฟ้องไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างภาระทางคดี อีกทั้งยังมีข้อหาที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ในขณะที่คดีที่มูลเหตุมาจากเหตุการณ์เดียวกัน ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งยกฟ้องและคดีก็ถึงที่สุดโดยที่อัยการไม่อุทธรณ์ต่อ

สำหรับเนื้อหาในหนังสือคำร้อง ได้มีการท้าวความถึงวันที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องโรมในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ก่อนที่จะมีการยื่นฟ้องจำเลยที่เหลืออีก 6 คน เข้ามาในคดีอีกภายหลัง (ในส่วนของอีก 6 คนที่ถูกเพิ่มเข้ามานั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 โดยที่ทางอัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์ต่อ) และได้กำหนดนัดสืบพยานในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2563 ตามลำดับ

>>> อ่านประมวลเส้นทางการพิจารณาคดีของแกนนำทั้งคนที่ ประมวลเส้นทางการพิจารณาคดี RDN: การต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน

>>> อ่านคำพิพากษาในคดีของแกนนำทั้ง 6 คนได้ที่ ยกฟ้อง 6 แกนนำ RDN50 ศาลชี้ไม่ได้ยุยงปลุกปั่น และเป็นไปตามความมุ่งหมายของ รธน. และ ชุมนุมโดยสงบทำได้ตามรัฐธรรมนูญ: อ่านคำพิพากษาคดี “คนอยากเลือกตั้ง” RDN50

ต่อมา ในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 โจทก์ได้ร้องขอให้มีการรวมคดีนี้ของโรมเข้ากับคดีของแกนนำอีก 6 คน เหตุเพราะมีมูลคดีจากเหตุเดียวกัน พยานหลักฐานที่ใช้สืบก็เป็นชุดเดียวกัน แต่ที่โจทก์แยกฟ้องเป็นสองคดีในตอนแรกนั่นก็เพราะพนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาส่งต่อพนักงานอัยการไม่พร้อมกัน และในนัดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ต่อมา โจทก์ได้แถลงต่อศาลในคดีของแกนนำ 6 คน ประสงค์จะให้รวมการพิจารณาของคดีนี้เข้ากับคดีของโรม เนื่องจากมีมูลคดีมาจากสาเหตุเดียวกัน ข้อกล่าวหาเหมือนกัน และหลักฐานที่โจทก์ใช้สืบก็เป็นชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณา จึงขอให้ศาลอนุญาตให้มีการรวมคดี

ในนัดวันที่ 14 มกราคม 2562 คู่ความในคดีของโรมได้แถลงศาล ระบุว่า หลังจากที่ได้มีการฟ้องโรมแล้ว อัยการยังได้มีการฟ้องจำเลยอีก 6 คนเข้ามาในคดีนี้ ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ซึ่งศาลก็ได้นัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 6 ไปเรียบร้อยแล้ว จึงเลื่อนนัดพร้อมเพื่อประชุมคำร้องขอรวมคดีมาเป็นวันนี้ คู่ความยืนยันว่า คดีทั้งสองที่จะขอให้รวมการพิจารณาคดีนั้นเกิดเหตุในวันเดียวกัน มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน หากรวมการพิจารณาจะช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ศาลเห็นชอบตามคำร้องและอนุญาตให้รวมคดีของโรมเข้ากับคดีของจำเลยอีก 6 ราย และได้อนุญาตให้รวมการพิจารณาทั้งสองสำนวนด้วยกัน โดยให้เอาสำนวนคดีของจำเลยทั้ง 6 เข้าไปรวมกับคดีของโรม

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ศาลเห็นควรให้แยกการพิจารณาคดี เนื่องจากโรมยังอยู่ในสมัยประชุมของสภาผู้แทนฯ

ในส่วนสุดท้ายของหนังสือคำร้องขอความเป็นธรรม จำเลยคือโรมได้เรียนขอต่อพนักงานอัยการ สำนักอัยการสูงสุด ว่าการฟ้องคดีดังกล่าวที่กำลังจะมีการสืบพยานนั้นเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการเพิ่มภาระคดีโดยไม่จำเป็น เนื่องจากข้อหาและฐานความผิดที่อัยการฟ้องมานั้นมีข้อยุติทั้งในทางกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว

ในประเด็นแรก ข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 นั้นถูกประกาศให้ยกเลิกไปผ่านการประกาศใช้คำสั่ง 22/2561 จึงสมควรที่จะพิจารณาให้ตัวจำเลยพ้นไปจากความผิดดังกล่าว ดังที่ศาลที่ได้วินิจฉัยข้อหาตามฟ้องนี้ในคดีของแกนนำ 6 คน

ในประเด็นต่อมา ในส่วนของข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมาตรา 116 ได้มีการเท้าความถึงคดีของแกนนำ 6 คนที่เหลือซึ่งคาบเกี่ยวกับคดีนี้ ว่าเป็นคดีที่มีมูลคดีและเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ในคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้อ่านเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ซึ่งจำเลยเองก็ได้แนบมากับเอกสารคำร้องนี้ มีความว่า

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 6 กับนายรังสิมันต์โรม จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1197/ 2561 ของศาลอาญา … เท่าที่จำเลยทั้ง 6 กระทำไปในคดีนี้มิใช่เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้นในบ้านเมือง แม้บางถ้อยคำจะไม่เหมาะสมหรือก้ำเกินไปบ้างเมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์และหลักการตรวจสอบแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยทั้ง 6 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พิพากษายกฟ้อง

จำเลยคือ รังสิมันต์ โรม ได้ชี้ว่า เมื่อมีการกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดในคดีร่วมกับจำเลยที่เหลืออีก 6 คน ซึ่งในคดีของจำเลยทั้ง 6 และคดีของโรมต่างก็ถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน มีมูลคดีจากเหตุเดียวกัน จำเลยทั้งสองคดีกระทำความผิดในเวลาเดียวกัน พยานหลักฐานที่โจทก์ใช้สืบก็เป็นชุดเดียวกัน และศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของทั้ง 6 ไปแล้ว โจทก์เองก็เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดตามข้อมูลในสำเนาใบสำคัญคดี ออกให้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563

ด้วยเหตุนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระทางคดีอาญา และการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงขอให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) ถอนฟ้องคดีนี้

ขอบคุณรูปประกอบจาก Prachatai.com

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดเอกสาร ‘พล.ต.บุรินทร์’ นำส่งคดี RDN50: แจ้งความซ้ำๆ คู่ใช้ IO เพื่อจำกัดเสรีฝ่ายต้าน คสช.

อัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง RDN 41 คน ส่วนคดี UN62 เลื่อนตรวจพยานอีก

ศาลยกเลิกอ่านคำพิพากษา ‘RDN50’ ด้านจำเลยและทนายความต่างลุกขึ้นแถลงค้าน

ศาลแขวงนัดฟังคำพิพากษา “RDN50” 3 พ.ค.  ส่วน “Army57” สืบพยานนัดแรก 3 พ.ค.

 

X