สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ในวันที่ความรู้สึกยังติดค้าง เราทำได้แค่มุ่งหน้าเดินต่อ

สิตานันท์ (ซ้าย) วันเฉลิม (กลาง)

ในเบื้องหน้า ‘เจน’ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คงไม่แตกต่างจากผู้หญิงวัย 40 ปลายคนอื่นๆ ร่างสูง ใบหน้ารูปไข่ ผิวขาว ผมตรงยาวสีดำ บุคลิกดูกระฉับกระเฉง ให้ความรู้สึกถึงความมั่นใจในท่าทีและการมองโลก แต่ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนสามัญในสายตาคนทั่วไป เจนยังถืออีกสถานะหนึ่งคือพี่สาวของ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชารายล่าสุดผู้ตกเป็นเหยื่อการอุ้มหายเมื่อ 4 มิถุนายน 2563 กระทั่งวันนี้ หนึ่งเดือนผ่านมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ท่ามกลางความไม่ชัดเจนที่ปกคลุม เจนยังออกเดินทางต่อเพื่อตามหาความเป็นธรรมให้น้องชายร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ร่วมให้ความช่วยเหลือ

ในวันที่การเดินทางและการต่อสู้อย่างยาวนานของต้าร์ต้องหยุดลง การเดินทางของพี่สาวจึงได้เริ่มขึ้น และถึงแม้รู้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะกินเวลายาวนาน และอาจเปลี่ยนชีวิตอย่างไม่อาจหวนกลับ แต่นี่คือภารกิจที่เจนอยากจะอุทิศให้ต้าร์เพื่อไม่ให้ใครได้หลงลืมถึงการต่อสู้ของเขา…

.

‘วันเฉลิม’ ในทรงจำของพี่

“ตอนต้าร์ยังเป็นเด็ก บ้านของแม่ต้าร์กับพ่อของพี่อยู่อุบลราชธานี เราสองคนสนิทกันมาก เพราะเป็นพี่น้องที่เกิดตามกันมา เราเป็นพี่คนโต ต้าร์เป็นคนรอง เราเลี้ยงเขามาตั้งแต่ยังเล็กๆ พอเป็นวัยรุ่นเรามาเรียนที่โคราช กลับบ้านไปก็ไปเลี้ยง ไปดูแลน้อง”

.

เด็กชาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

‘เจน’ เล่าเท้าความถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับน้องชายต่างแม่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงต้นของบทสนทนา ในจำนวนลูกๆ ทั้ง 4 คน ภาพจำของต้าร์ยังคงแจ่มชัดในฐานะเด็กแก่น ร่าเริง และมักเป็นที่รักของผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้าหา เพราะความปากหวานและนิสัยช่างประจบ

“ถึงต้าร์จะชอบอ่านหนังสือ แต่เป็นเด็กกล้าแสดงออกด้วย ไม่ใช่คนเงียบ เป็นเด็กแก่แดด ทโมน คงเป็นเรื่องปกติของเด็กบ้านนอก ชอบจับกลุ่มรวมกันเล่นกับเพื่อนตามประสา”

“ต้าร์เขาเป็นที่รักของเพื่อนสมัยเรียนมัธยม ทุกคนพูดเหมือนกันว่าไอ้ต้าร์เป็นผู้นำที่ไม่เหมือนผู้นำ แต่มันก็ยังชอบนำคนอื่น (หัวเราะ)”

ในสายตาของเจน ต้าร์ในฐานะเด็กหนุ่มเริ่มฉายแววความสนใจประเด็นสิทธิและประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ชั้น ม. 6 จากนโยบายการหาเสียงที่ดูเหมือนแค่ทำเอาสนุก แต่ในปลายทางกลับสามารถซื้อใจเพื่อนๆ ได้อยู่หมัด นายวันเฉลิม ในเวลานั้นได้กลายมาเป็นประธานนักเรียนของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี

“ตอนนั้นที่ต้าร์ได้เป็นประธานนักเรียน เขาจะมีวิธีหาเสียงในทิศทางของเขาที่แปลกแหวกแนวหน่อย (หัวเราะ) คนอื่นอาจจะมีหัวข้อนู่นนี่นั่น มีนโยบาย แต่ต้าร์จะเน้นให้ทุกคนใช้สิทธิ์ของตัวเอง เพื่อนทุกคนสามารถออกความเห็นได้ แล้วค่อยมาช่วยกันทำ อย่างนี้มากกว่า”

กระทั่งเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย ความสนใจในประเด็นทางการเมืองของต้าร์ผลักพาเขาให้ไกลบ้าน การเลือกมาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้ต้าร์แทบไม่ได้กลับบ้านอีกเลย ได้แต่เทียวไปเทียวมา เจนยังเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมน้องบ้างเป็นครั้งคราว ก่อนย้ายมาพักใกล้ๆ ต้าร์เมื่อเธอได้งานทำที่กรุงเทพฯ

กระทั่งเมื่อเจนได้งานใหม่ที่ทำให้เธอต้องโยกย้ายที่อยู่ ชีวิตของทั้งคู่จึงต้องแยกห่างจากกันอีกครั้ง ในช่วงเวลาแห่งการเติบโตนี่เองที่เส้นทางสู่การเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนชายขอบ วิญญูชนผู้ใฝ่ฝันถึงความเท่าเทียมของต้าร์ทอดยาวออกไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด

แต่นั่นเป็นเรื่องราวก่อนเกิดการรัฐประหารปี 2557 ที่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้เห็นต่างทางการเมืองนับร้อย รวมถึงชีวิตของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ด้วย

.

“เหนืออื่นใดคือความเท่าเทียม”

ถึงแม้งานหลักคือเรียนหนังสือ แต่พลังความฝันของวัยหนุ่ม และปรารถนาในใจที่อยากโอบอุ้มเหล่าผู้ที่ร่วงหล่นจุดประกายให้ ‘ไอ้ต้าร์’ ของเพื่อนๆ เริ่มก้าวเดินบนเส้นทางในสายงานพัฒนา หรือที่เรียกกันจนติดปากว่างาน NGO – งานชื่อเท่ในจินตนาการของคนส่วนใหญ่ ทว่ารายได้กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง

“สมัยนั้น ต้าร์เขาทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย พี่จำได้ว่าเขาทำงานกับกลุ่มที่ทำงานเรื่องเยาวชน Y-ACT (Youth Action for Community and Social Trust: ศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม)”

“ต้าร์เขาเป็นคนชอบทำงานกล่อง (งานที่ทำได้แล้วได้รับความอิ่มเอิบใจแต่ไม่ได้กำไร) ทั้งๆ ที่รู้ว่าใช้ทำมาหากินไม่ได้ แต่ยังชอบ คือเราคุยกันมาตั้งแต่เด็กว่า ตัวเราไม่เอางานด้านนี้แน่ เพราะมันใช้ทำมาหากินไม่ได้ เราบอกน้องมาตลอด แต่น้องบอกว่ามันคือสิ่งที่เขาชอบ เรายังเคยพูดเล่นกับเขาเลยว่า ‘ถ้าชอบทำงานกล่องนัก แกก็แทะข้างกล่องแทนข้าวไปเลย ไม่ต้องมาเอาเงินพี่’ (หัวเราะ)”

“การที่ต้าร์สนใจงานประเภทนี้ไม่ใช่เพราะบ้านเรามีเงินมากกว่าคนอื่น ฐานะทางบ้านเราธรรมดา แต่พ่อแม่เป็นคนสมถะ เลยไม่มีค่าใช้จ่ายมาก เหตุผลจริงๆ ที่ทำให้ต้าร์สนใจงานแบบนี้คือโดยพื้นฐานเขาเป็นคนรักความยุติธรรมมาก ไม่ชอบเห็นใครถูกกดขี่ และเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำช่วยให้เขาเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนเหล่านั้นได้”

นอกจากการทำงานประเด็นคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน งานอีกด้านที่ทำให้ต้าร์กลายเป็นที่รู้จักคือการทำงานเพื่อสิทธิของคนเพศหลากหลาย ในอดีตต้าร์เคยทำงานภาคสนามด้านการให้ความเข้าใจเรื่องเชื้อเอชไอวี (HIV) ทั้งต่อผู้ติดเชื้อและต่อสังคม กับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ในช่วงเวลานั้นเรื่องเชื้อเอชไอวียังคงเป็นประเด็นที่ถูกรุมเร้าด้วยอคติและความไม่เข้าใจ การผลักดันจึงต้องอาศัยพลังใจอย่างมาก

“ต้าร์เขาเป็นคนหัวสมัยใหม่ อย่างเรื่องเพศ ตัวเขาเองเป็นผู้ชายแท้ๆ นะ (หัวเราะ) แต่ไม่ว่าเพศไหนเขาเปิดกว้างหมด เขามีเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศและไม่ชอบเห็นใครถูกรังแกคนเพียงเพราะมีเพศแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าเป็นเพศไหนทุกคนคือคนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน เขาเป็นคนมองโลกอย่างนั้น พอกลุ่มฟ้าสีรุ้งที่ทำงานประเด็นความหลากหลายทางเพศผลักดันประเด็นเรื่องเอดส์ เขาเลยกระโดดมาทำ การเปิดกว้างคือสิ่งที่เขาได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้พอเห็นโอกาสเขาเลยเลือกก้าวให้สุด”

.

ในวันที่ต้องกลายเป็นอื่น – สู่ภาวะสุญญากาศ

เฉกเช่นเดียวกับผู้เห็นต่างทางการเมืองจำนวนมาก เมื่อรัฐประหาร 2557 มาถึง โชคชะตาพัดพาเขาและเธอผู้ต่อต้านอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารระหกระเหินเดินทางออกจากประเทศ เมื่อกฎหมายถูกทำให้กลายเป็นปืนใช้ไล่ล่า หนทางรอดเดียวคือการออกแสวงหาที่ลี้ภัย ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหนจะได้หวนกลับยังมาตุภูมิ ในกรณีของต้าร์ผู้เลือกจะไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. การออกเดินทางในครั้งนั้นของเขาได้สร้างช่องว่างในใจให้พี่สาวนานถึง 2 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะกลับมาประกอบรูปร่างเป็นชิ้นเป็นอันได้อีกครั้ง

>>> อ่านรายละเอียดการถูกเรียกเข้ารับการรายงานตัวและคดีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้ที่นี่ :

ทบทวน “ความผิด” ไม่รายงานตัว คสช.: แรงผลักดันสู่การลี้ภัย 6 ปีของวันเฉลิม

ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมิน ‘กูต้องได้ 100 ล้านฯ’ ถูกอุ้มหาย ขณะคดีแชร์เพจถึงที่สุด ศาลยกฟ้อง

“วันที่น้องหนีไป เรายังไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เขาไม่ได้บอกเรา อยู่ๆ ก็หายไป แต่น้องโทรไปบอกแม่ว่าเขาต้องไปแล้วนะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าไปไหน แม่ก็ไม่รู้ บอกแค่ว่าต้องหนีแล้วแค่นั้น จนกระทั่งเห็นประกาศคำสั่งฯ ของ คสช. เราก็รู้ตอนนั้นเอง”

‘เจน’ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

“หลังจากเขาไปอยู่กัมพูชา 2 ปี เราถึงเพิ่งได้มาคุยกันว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้น น้องเล่าให้ฟังว่า ตอนหนีเขาเอาของติดตัวไปแค่เป้ หนังสือเดินทาง กับเงินแค่นั้น กวาดของใส่เป้แล้วกระโดดลงมาจากห้องชั้น 2 ตอนนั้นคือไม่คิดอะไรแล้ว”

“ตอนติดต่อกลับมา น้ำเสียงเขาไม่ได้กังวลอะไร ยังเล่าว่าสบายดีอย่างนู้นอย่างนี้ บอกเราว่าไม่ต้องห่วง เขาไม่ได้ลำบาก ไม่ได้อดอยาก เราก็สัมผัสได้ว่าเขาสบายดีจริงๆ แต่ไม่เคยไปเยี่ยมเขาที่กัมพูชา เพราะด้วยความที่นามสกุลเดียวกัน เราเลยไม่กล้า”

ทุกอย่างดำเนินอยู่เช่นนั้น ความสัมพันธ์ของครอบครัวกลับมาเชื่อมร้อยกัน ทุกอย่างเหมือนหวนคืนสู่ภาวะ ‘เกือบปกติ’ถึงแม้ตัวไม่ได้อยู่ใกล้ แต่ยังสามารถสัมผัสถึงน้ำเสียง เรื่องราว และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของกันและกันผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์ และเป็นอยู่เช่นนั้นจนเมื่อเกิดเหตุการณ์กลุ่มชายไม่ทราบที่มาบุกเข้ารวบตัวต้าร์ขึ้นรถฮอนด้าไฮแลนเดอร์สีดำบริเวณหน้าที่พักของเขาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563

หลังปี 2561 เป็นต้นมา สองพี่น้องคุยกันบ่อยขึ้น จนเมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดมาถึง ต่างฝ่ายต่างต้องกักตัว จากที่คุยกันแค่วันละครั้งกลายเป็นวันละหลายครั้ง นอกเหนือจากตอนรู้ว่ามีคนไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ที่อุบลฯ เจนเล่าว่าต้าร์ไม่เคยแสดงท่าทีหรือความกังวลว่าตนอาจกำลังอยู่ในอันตรายผ่านน้ำเสียงหรือบทสนทนา ทั้งๆ ที่น่าจะรู้อยู่แต่แรก และสิ่งนั้นยังคงติดค้างอยู่ในใจของเธอ

“เราสงสัยนะ ทั้งๆ ที่เราคุยกันทุกวัน พี่เข้าใจว่าเขารู้ว่าเรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้น แต่เขาไม่เคยบอกพี่เลย เรารู้สึกว่าลึกๆ เขาคงกลัวเราเป็นห่วง เลยเลือกแสดงความกังวลกับคนรอบข้างของเขาแทน”

“ต้าร์หายไปครั้งนี้ ต่างจากครั้งหลังรัฐประหาร เพราะตอนนั้นอย่างน้อยเราแน่ใจว่าเขายังมีชีวิตอยู่ เรารู้ว่าเขามีเหตุที่ต้องไป แต่วันนี้มันไม่ใช่ เขาไม่ได้ไปเพราะอยากไป แต่มันคือการบังคับให้สูญหาย ต้องให้เจอกับความทรมาน กระทั่งชะตาชีวิตของเขา เรายังไม่รู้เลยว่าเขารอดหรือเปล่า แต่ถึงไม่รอด ก่อนตาย เราก็รู้ว่าเขาต้องทรมานมาก เรารู้เรื่องนี้อยู่เต็มอก และเราต้องทนอยู่กับความคิดแบบนี้ในทุกวัน”

.

สู่การเดินทางราวไร้สิ้นสุด

ในวันที่การต่อสู้ของน้องชายหยุดชะงัก การเดินทางของเจนได้เริ่มขึ้น หนึ่งเดือนที่ผ่านมา เจนเล่าว่า เธอได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน และติดต่อประสานงานองค์กรต่างๆ ไปมากมาย เพื่อหากลไกติดตามการหายไปของวันเฉลิมทั้งในไทยและกัมพูชา

“หลังรู้เรื่องต้าร์โดนอุ้มใหม่ๆ เราช็อคเลย คืองง ถามตัวเองว่าควรจะทำยังไงต่อ เราจะพึ่งใคร ไม่นานก็มีตัวแทนขององค์กรสิทธิองค์กรหนึ่งโทรเข้ามาเป็นสายแรก บอกว่าจะช่วยเราตามหา เราขอความช่วยเหลือกับทุกคนที่โทรเข้ามา เพราะเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นในบ้านเรา มาถึงวันนี้เรารู้สึกขอบคุณที่มีคนเห็นความสำคัญ ช่วยเหลือให้เรามาถึงจุดที่เดินเรื่องต่างๆ ได้ และรู้สึกขอบคุณคนจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ต้าร์”

.

สิตานัน และองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือขณะเข้ายื่นเรื่องที่ กมธ. (คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร)

“หนึ่งเดือนที่ผ่านมาพี่ไปยื่นหนังสือมาแล้วหลายที่ แรกสุดไปกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นไป กมธ. (คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร) สำนักงานอัยการสูงสุด กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) แต่ล่าสุด DSI ยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา”

>>> อ่านรายละเอียดการเดินเรื่องทวงความยุติธรรมให้น้องชายของสิตานันท์ได้ที่นี่

อีกขั้นของการตามหาความยุติธรรม: พี่สาว ‘ต้าร์’ วันเฉลิม ตั้งเรื่องดำเนินคดี ต่อ DSI

พี่วันเฉลิม-แม่สยาม-ภรรยาสุรชัย จี้ 3 หน่วยงานรัฐตามหา ‘วันเฉลิม’ และผู้ลี้ภัยที่สูญหาย

.

หากลองมองกรณีการอุ้มหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ สยาม ธีรวุฒิ หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ญาติๆ ยังต้องทนอยู่กับความรู้สึกติดค้าง ไม่รู้ว่าคนที่รักนั้นยังอยู่หรือจากไปแล้ว สำหรับเจน ต่อให้ปลายทางของการเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรมครั้งนี้ คำตอบที่รออยู่คือความเจ็บปวด แต่อย่างน้อยน่าจะทำให้ชีวิตของเธอและครอบครัวก้าวต่อไปได้

“เราต้องบอกตามตรงว่า เราไม่รู้ว่าสุดท้ายคำตอบของการเดินทางครั้งนี้คืออะไร บอกตามตรงว่าท้อ ยิ่งเราไม่รู้หรอกว่าเรากำลังสู้กับอะไร ไม่รู้หรอกว่าเราจะได้ชีวิตน้องคืนมาไหม ไม่รู้หรอกว่าน้องเป็นหรือตาย แต่ถึงเขาเสียชีวิต ครอบครัวก็ขอแค่ศพ เราขอเอามาทำพิธีทางศาสนา พี่เชื่อว่าคนเราทุกคนต้องอยากกลับบ้าน เราแค่อยากให้เขาได้กลับบ้าน ถึงจะเป็นศพก็ช่าง เราต้องการคำยืนยันว่าเขาอยู่หรือเขาไปแล้ว ไม่ใช่ต้องเจอกับความเลื่อนลอยเหมือนแม่น้อย (ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาสุรชัย) เหมือนแม่น้องสยาม (กัญญา ธีรวุฒิ) ชีวิตคนที่อยู่ข้างหลังมันเดินต่อไม่ได้”

.

> อ่านเรื่องราวการเดินทางตามหาความยุติธรรมของทั้ง กัญญา ธีรวุฒิ และ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ได้ที่นี่:
ฟังเพื่อนพูดถึง ‘สยาม ธีรวุฒิ’ : 1 ปี ที่เพื่อนหายไป คำถามในเสียงเพลง คำตอบในสายลม

สยาม ธีรวุฒิ: จากลูกชายของแม่ สู่ “ศัตรูของชาติ” และการเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรม

อุ้มหาย เรื่องหาย ตั้งแต่ตั้งเรื่อง ผ่านกรณีสยาม

ภรรยา ‘สุรชัย’ ร้องคณะกรรมการฯ อุ้มหาย หลังไม่ทราบชะตากรรมสามีกว่า 9 เดือน

ความหวังในการค้นหาความจริง: กรณีการหายไปของสุรชัยเเละคนสนิท

รำลึก “สุรชัย แซ่ด่าน กับสหาย” ด้วยอาลัย แม้ก่อนหน้านี้ตำรวจไม่ให้ใช้พื้นที่ราชประสงค์

“ปลายทางของการเดินทางครั้งนี้ เราแค่อยากรู้ว่าเขาเป็นหรือตาย อยากให้จบโดยเร็ว เราจะได้ใช้ชีวิตต่อได้ ไม่อย่างนั้นเราต้องมานั่งผวา มานั่งรอคอย การรอคอยไปเรื่อยๆ มันทรมาน”

แต่ในความเจ็บปวดทั้งหลายที่ประเดประดังเข้ามา ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือเรื่องของต้าร์ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้สังคมไทยหันมาสนใจประสนใจประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยมากขึ้น สวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านเริ่มถูกพูดถึง ซึ่งถ้าต้าร์ได้รับรู้ เจนเชื่อว่าเขาคงกำลังยิ้มอย่างภูมิใจ

“ถ้าปัจจุบันนี้เขายังอยู่ พี่รู้นิสัยน้องของพี่ดี เขาต้องพูดขำๆ ว่า ‘เป็นไงล่ะ ตอนนี้เรื่องกูดังแล้ว หลังจากเรียกร้องมานาน เมื่อก่อนใครเรียกร้องอะไรก็เสียงไม่ดัง’ แต่ตอนนี้เหมือนเขาได้เรียกร้องสิทธิให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องเจอชะตากรรมเดียวกัน คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคืออะไร มันคือความไม่ยุติธรรม พี่ว่าตอนนี้เขาคงภูมิใจที่สุดแล้ว”

แน่นอนว่าแม้กระแสสังคมจะเป็นไปในทางด้านบวก แต่การออกมาเคลื่อนไหวแบบเปิดหน้าเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้น้องชาย ส่งผลกระทบหลายอย่างถึงชีวิตเธอ การงานที่ต้องชะงัก การถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมืองที่ไม่อาจหลีกหนีได้ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวที่ต้องถอยห่างออกมา

“ทุกอย่างในชีวิตเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราจำเป็นต้องปฏิเสธที่จะถกปัญหากับบางคน คือเราบอบช้ำแล้ว เจอกระแสจากคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบน้องเราด้วย กับบางคนแม้จะเป็นเพื่อนแต่เราเลือกไม่รับโทรศัพท์ ตอนนี้เราเลือกทางเดินของเรา ตั้งใจจะไม่ยุ่งกับใครที่ทำให้เราไขว้เขว”

.

หากเราจะเรียนรู้จากความสูญเสีย

.

จนกว่าหมอกควันของความไม่ชัดเจนมลาย เจนพูดอย่างชัดเจนว่าอยากอุทิศช่วงเวลาที่เหลือเพื่อต่อสู้หาความเป็นธรรมให้น้องชาย และคาดหวังอย่างที่สุดว่ากรณีของต้าร์จะเป็นกรณีอยุติธรรมสุดท้ายที่เกิดขึ้น

“ตอนนี้วันเฉลิมได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความยุติธรรม การต่อสู้ที่ผ่านมาของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัย ในความเป็นจริงยังมีผู้ลี้ภัยอีกมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนรอไปประเทศที่ 3 และติดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่มีหลักประกันความปลอดภัยใดๆ รองรับ ตอนนี้เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรเพื่อช่วยพวกเขาได้บ้าง แต่ตัวพี่ก็ยังอยากหาทางทำเท่าที่ทำได้”

“เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้จักทั้งป้าน้อยทั้งแม่ของสยาม หรือผู้ลี้ภัยคนอื่น เพราะไม่ได้อินกับเรื่องนี้ แต่พอเรื่องมาเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเรา แค่เราเห็นหน้าแม่น้อย เห็นหน้าแม่กัญญา มันเหมือนคนหัวอกเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องพูดคำไหน รับรู้ได้ถึงความเสียใจของทุกคนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งแม่น้อยและแม่กัญญาเคยพูดว่าอยากให้กรณีของพวกเขาเป็นกรณีสุดท้ายเหมือนเราเหมือนกัน เราเองก็อยากให้กรณีของวันเฉลิมเป็นกรณีสุดท้าย ถึงได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายขึ้นอีก”

ในฐานะพี่สาว ความมุ่งหวังอีกอย่างในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ต้าร์ คือการทำให้สังคมจดจำต้าร์ ไม่ใช่แค่ในฐานะของเหยื่อจากกระบวนการนอกกฎหมาย แต่คือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้เรียกร้องสิทธิที่อุทิศชีวิตให้อุดมการณ์ – นามอันแท้จริงของเขาที่เป็นอยู่ตลอดมา

“เราอยากให้ทุกคนจดจำต้าร์ในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย มากกว่าเหยื่อทางการเมือง เพราะสิ่งที่เขาโดนก็คือผลจากการต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ เขาจึงกลายมาเป็นผู้ลี้ภัย พี่อยากให้สังคมจดจำเขาในฐานะนั้น”

“ที่มากไปกว่านั้น เราอยากทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อให้เรื่องไม่เงียบ ให้ได้มีส่วนผลักดันกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย และช่วยผลักดันให้ผู้ลี้ภัยได้ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ) เพื่อรอไปประเภทที่สามอย่างปลอดภัย เราเป็นห่วงชีวิตของคนที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพราะเขาออกไปไหนไม่ได้เลย ต้าร์ไปแล้ว ไม่เป็นไร แต่เราอยากให้เขาเป็นสัญลักษณ์ในการช่วยหลือคนที่ยังอยู่ ต้าร์อาจช่วยอะไรด้วยตัวเขาเองไม่ได้แล้ว แต่ผู้ลี้ภัยที่เหลือยังพอมีทางที่เราจะทำอะไรได้อยู่”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

‘ต้าร์’ วันเฉลิม ในเรื่องเล่าของสหาย: แด่ความหวัง ความฝัน และการเปลี่ยนแปลง

ทิชา ณ นคร: เราต้องการความกล้าหาญแบบ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตร.ออกหมายเรียก สมาชิกสนท.จากกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” อ้างผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สนท. ผูกโบว์ทวงความยุติธรรมวันเฉลิม ถูกออกหมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ อีก 2 คดีรวด

ตร.ออกหมายเรียกผู้ทำกิจกรรมร้องขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” 6 ราย อ้างฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ประมวลบรรยากาศกิจกรรมร้องความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” เจ้าหน้าที่เข้ากดดัน สนท. แต่ไม่มีการดำเนินคดี
.

X