ศาลปกครองยกฟ้องคดี ‘สมยศ’ ฟ้องราชทัณฑ์ ชี้ไม่ให้พักโทษ ‘นักโทษคดีความมั่นคง’ ชอบด้วยกม.แล้ว

9 ก.ค. 63 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 687/2561 ซึ่งมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงานและอดีตผู้ต้องขังทางการเมือง เป็นผู้ฟ้องคดี และมีกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ และคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี กรณีมีมติไม่ให้สมยศได้รับการพักการลงโทษ ในระหว่างการถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การได้รับการพักโทษ

สมยศได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 61 ภายหลังจากคณะกรรมการพักการลงโทษได้มีมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษกับเขา ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 60 ด้วยเหตุผลว่าขาดองค์ประกอบที่จะสนับสนุนให้พักการลงโทษ แม้สมยศจะอุทธรณ์คำสั่งแต่ไม่มีผล ประเด็นที่สมยศยื่นฟ้องคดีมี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. หลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดที่ให้คณะกรรมการพักการลงโทษพิจารณาคุณสมบัติก่อนให้ความเห็นชอบพักการลงโทษ นั้นขัดต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังฯ พ.ศ.2559 และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง

2. มติคณะกรรมการพักการลงโทษ ครั้งที่ 3/2561 ซึ่งมีมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ฟ้องได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษดังกล่าว และมติของคณะกรรมการพักการลงโทษที่ไม่ให้พักโทษตน พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการได้รับความเสียหายต่อเสรีภาพในร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

อ่านสรุปข้อต่อสู้คดีนี้ 9 ก.ค. ศาลปกครองนัดพิพากษาคดี ‘สมยศ’ ฟ้องราชทัณฑ์ไม่ให้พักโทษขณะถูกคุมขังตาม ม.112

อ่านปัญหาเรื่องการไม่ได้รับอนุมัติให้พักโทษของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ตรวจตราคดี 112 ที่ไม่จบแค่คำพิพากษา กรณีไม่ให้พักโทษไผ่และสมยศ

.

 สมยศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 61 หลังถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 มา 7 ปีเต็ม (ภาพโดย Banrasdr Photo)

 

ศาลเห็นว่ามติไม่ให้พักโทษสมยศชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ให้พิจารณาพฤติการณ์กระทำผิดประกอบ

สำหรับในวันนี้ สมยศ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เดินทางมาศาล เนื่องจากเดินทางไปร่วมกิจกรรมการฟ้องร้องเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแพ่ง ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 มีผู้รับมอบอำนาจมาฟังคำพิพากษา

ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่าจากการพิเคราะห์กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการพักการลงโทษมิใช่สิทธิของนักโทษเด็ดขาด แต่เป็นประโยชน์ที่ราชการให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษา ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำ หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษ ต้องได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาด โดยมีคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษให้ความเห็นชอบ ดังนั้นการได้รับการพักโทษจึงมิใช่สิทธิของนักโทษเด็ดขาดทุกคน แต่กรณีขึ้นกับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายที่คณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดจะพิจารณาให้คณะกรรมการพักการลงโทษให้ความเห็นชอบ

แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคุณสมบัติได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษ แต่ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การเห็นชอบของคณะกรรมการ ต้องนำพฤติการณ์กระทำความผิด ลักษณะความผิด และความรุนแรงของคดี รวมตลอดทั้งการกระทำความผิดที่ได้กระทำมาก่อน มาประกอบการพิจารณาด้วย

ผู้ฟ้องคดีได้ถูกพิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) คณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดจึงพิจารณาไม่สมควรให้พักการลงโทษ

ศาลจึงเห็นว่าการที่คณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จนมีมติไม่ให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลเห็นว่าหลักเกณฑ์ให้พิจารณาการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐประกอบในการพักโทษ ชอบด้วยกฎหมายและไม่ใช่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ศาลปกครองพิจารณาต่อในประเด็นที่สมยศฟ้องว่าหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 ขัดต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรม ศาลเห็นว่าในข้อ 65 ของระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังฯ พ.ศ.2559 นั้น กำหนดให้ในการพิจารณาพักการลงโทษ ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ รวมทั้งพฤติการณ์กระทำผิด

ขณะที่ในข้อ 2 ของหลักเกณฑ์พิจารณาการพักโทษ กำหนดให้พิจารณาคุณสมบัตินักโทษเด็ดขาดก่อนให้ความเห็นชอบพักการลงโทษ โดยให้คำนึงถึงพฤติการณ์ ลักษณะความผิด และองค์ประกอบอื่นนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 65 ของระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ โดยคำว่าพฤติการณ์กระทำผิดนั้นหมายถึงพฤติกรรมที่เป็นเหตุให้เป็นความผิด

หลักเกณฑ์การพิจารณาการพักโทษของกรมราชทัณฑ์ ข้อ 2 (ข) จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาพักการลงโทษ การกำหนดความผิดที่มีลักษณะเป็นอันตรายต่อสาธารณะและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา จึงไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังฯ พ.ศ.2559 แต่อย่างใด

ส่วนที่สมยศฟ้องว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ขัดกับมาตรา 27 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

ศาลปกครองเห็นว่าการใช้อำนาจของรัฐจะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ต้องเป็นการปฏิบัติต่อคนแตกต่างกันไปตามอำเภอใจโดยปราศจากเหตุผล แต่ตามข้อ 2 (ข) ของหลักเกณฑ์การพิจารณาการพักโทษ ซึ่งกำหนดการพิจารณาคุณสมบัติของนักโทษเด็ดขาด ที่กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ โดยที่รัฐเองก็มีหน้าที่ในการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน การไม่ให้พักโทษต่อนักโทษเด็ดขาดในความผิดตามข้อหานี้ ย่อมน่าจะทำให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ยับยั้งชั่งใจในการกระทำความผิดต่อไป และมีผู้กระทำผิดน้อยลง ศาลจึงเห็นว่าหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ศาลปกครองสรุปว่ามติไม่ให้การพักการลงโทษต่อสมยศไม่ใช่การกระทำละเมิด และผู้ถูกฟ้องจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องแต่อย่างใด และหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 ก็ไม่ได้ขัดต่อระเบียบกระทรวงยุติธรรมและรัฐธรรมนูญ พิพากษายกฟ้อง

 

(ภาพโดย Banrasdr Photo)

.

หลังคำพิพากษา สมยศในฐานะผู้ฟ้องคดีพร้อมทนายความ จะพิจารณาการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

นอกจากคดีของสมยศ ยังมีกรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้พักโทษในขณะถูกคุมขังตามมาตรา 112 จากกรณีแชร์บทความของบีบีซีไทย ซึ่งไผ่ก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นเดียวกันกับกรณีของสมยศ โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลปกครองเช่นกัน

 

X