ไต่สวนฉุกเฉินเสร็จสิ้น ศาลแพ่งนัด People Go ฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุม พรุ่งนี้ 

จากกรณีกลุ่มเครือข่าย People Go ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5

ในวันนี้ (9 ก.ค. 63) นอกจากยื่นฟ้องแล้ว โจทก์ทั้ง 5 ได้แก่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม, นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา, นายณัฐวุฒิ อุปปะ, นายวศิน พงษ์เก่า, และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ยังยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โจทก์ที่ 1 จัดกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ในวันที่ 13 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้อง ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้นัดไต่สวนฉุกเฉินในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ณ ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 713 เวลา 13.30 น.  

เวลา 13.35 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้รอสักครู่ เนื่องจากศาลปรึกษาอธิบดี ก่อนศาลจะออกพิจารณาคดีในเวลา 14.10 น. นอกจากทนายความโจทก์ทั้งห้า และโจกท์ที่ 1 นายนิมิตร์ เทียนอุดมแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จาก ilaw, enlaw และประชาไท เข้าสังเกตการณ์ด้วย

 

ยื่นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เรื่องไม่คืบหน้า ต้องขยับให้เป็นประเด็นสาธารณะ

การไต่สวนวันนี้ ทนายโจทก์ติดใจสืบพยานปากเดียว โดยโจทก์ที่ 1 นิมิตร์ เทียนอุดม อ้างตนเองเป็นพยาน 

พยานเบิกความว่า ตนเป็นผู้นำเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยที่เป็นผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีบำนาญถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และใช้สิทธิประชาชนเข้าชื่อกันจำนวน 10,000 รายชื่อ เสนอไปที่รัฐสภา สภาตรวจสอบแล้วเห็นว่า เป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอตามขั้นตอน แต่เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองก่อนนำเข้าสภา เพื่อให้สภาพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายต่อไป

แต่ปัญหาที่ประสบคือ  ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม พยานและเครือข่ายพยายามติดตามทวงถามเรื่อง โดยการโทรศัพท์ติดตาม ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และยื่นจดหมายไปยังศูนย์ดำรงธรรมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากว่า 5 เดือนแล้ว 

พยานและเครือข่ายจึงจะไปทวงถามลายเซ็นนายกรัฐมนตรี ในการรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ในวันที่ 13 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจะจัดกิจกรรมระดมประชาชน 300 คน ไปรวมตัวที่บริเวณเกาะกลางถนน หน้าอาคารสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนิน เดินเท้าจากบริเวณเกาะกลางถนนหน้าอาคารสหประชาชาติ  ไปบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยพิจารณาแล้วว่า ไม่รบกวนสาธารณะ มีพื้นที่กว้างให้ประชาชนเว้นระยะห่างได้ และไม่ได้ลงถนนกีดขวางทางจราจร

 

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่ได้

นิมิตร์เบิกความอีกว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงวันที่ 31 ก.ค. 63 ขณะที่นายกฯ แถลงข่าวก็มีนักข่าวถามว่า การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นการห้ามประชาชนชุมนุมหรือไม่ นายกฯ ตอบว่าไม่ได้ห้ามการชุมนุม ใครจะชุมนุมก็ให้ไปแจ้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

วันที่ 1 ก.ค. 63 พยานจึงส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมไปที่ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง จากนั้นก็ขออำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อส่งอีเมลไปแล้ว พบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งอีเมลตอบกลับมา เป็นข้อสรุปการพิจารณาการชุมนุมสาธารณะว่า ขณะนี้มีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีก 1 เดือน  การชุมนุมอาจเป็นการฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 5 ที่ห้ามชุมนุม มั่วสุม ซึ่งผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบัน ยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขยายเป็นครั้งที่ 3 จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 63 ซึ่งพยานเห็นว่า จากข้อเท็จจริงของกระทรวงสาธารณสุขและการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ นั้น ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 43 วันแล้ว จึงไม่มีเหตุฉุกเฉินใดๆ ในการที่จะควบคุมการระบาดของโควิด และสิ่งที่ประชาชนรับทราบคือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่คือคนที่เดินทางจากต่างประเทศ เราไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ การต่ออายุการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะกระทบต่อสิทธิประชาชนและสิทธิในการจัดกิจกรรมของพยาน กล่าวคือการคงไว้ซึ่งตัวประกาศนี้ กระทบเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

“ที่มาฟ้องศาล เพราะเราใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่ได้ จึงยื่นฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชั่วคราว ครั้งที่ 3 และขอให้คุ้มครองชั่วคราวให้โจทก์ทั้ง 5 กับพวก และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ สามารถดำเนินการชุมนุมในวันที่ 13 ก.ค. นี้ได้ ซึ่งหากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราว ประชาชนในเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะ ก็จะมีความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดี และเกรงว่าจะไม่สามารถจัดการชุมนุมได้”

เสร็จสิ้นการไต่สวนในเวลาประมาณ 15.25 น. ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะคุ้มครองการจัดกิจกรรมของนายนิมิตร์ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องหรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.63) เวลา 13.30 น.

นิมิตร์ เทียนอุดม โจทก์ที่ 1
X