เปิด 12 คดีการเมืองของ “อานนท์ นำภา” ทนายความนักกิจกรรม

ในช่วง 5 ปีเศษ ภายใต้ยุครัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อานนท์ นำภา นับได้ว่าเป็นนักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมากในอันดับต้นๆ คนหนึ่ง คือจำนวนถึง 11 คดี จะเป็นรองก็เพียง “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกกล่าวหาในคดีการเมืองถึง 13 คดี

การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีล่าสุดของอานนท์ คือกรณีการทำกิจกรรมฉายโฮโลแกรมการอ่านประกาศคณะราษฎร จึงนับได้ว่าเป็นคดีการเมืองคดีที่ 12 แล้วที่เขาถูกกล่าวหาแล้ว และนับเป็นคดีแรกภายหลัง คสช. ยุติบทบาทลง แต่สถานการณ์การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกยังคงดำเนินสืบเนื่องมา

ในบทบาทของการเป็นทั้งทนายความ ว่าความให้ผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง และการเป็นนักกิจกรรม คอยแสดงความคิดเห็นและทำกิจกรรมชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมของคณะรัฐประหารและเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ทำให้เขาถูกติตตามจับตาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และล่าสุดชื่อของเขายังปรากฏอยู่ในกระแสข่าวลือถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการนอกกฎหมาย ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

รายงานชิ้นนี้ชวนย้อนทบทวนคดีความที่อานนท์ นำภา ต้องเผชิญจากการทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยเป็นการสรุปบทบาทภาพรวมการตกเป็น “ผู้ต้องหา” ของ “ทนายความ” คนนี้ พร้อมสรุปความคืบหน้าของแต่ละคดี อันมีทั้งสิ้นสุดลงแล้วและยังดำเนินอยู่

 

ทนายความ-นักกิจกรรม-กวี

อานนท์ นำภา ในวัย 35 ปี เป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2549 และเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มทำงานที่บริษัทกฎหมายมีสิทธิและการบัญชี ต่อมาได้ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจากเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2553 และยังร่วมเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

หลังรัฐประหาร 2557 อานนท์เข้าร่วมเป็นทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คอยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร รวมทั้งติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนมาจนถึงปัจจุบัน

อานนท์ยังมีบทบาทในฐานะนักกิจกรรม โดยร่วมก่อตั้งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) ในปี 2558 เน้นทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อชี้ให้เห็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในยุค คสช. ต่อมาเข้าร่วมเคลื่อนไหวในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้ คสช. มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

นอกจากนั้น อานนท์ยังมีบทบาทในฐานะกวี โดยเฉพาะการแต่งบทกวีทางการเมือง ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน ชื่อเรื่อง “เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง” เมื่อปี 2554 และยังเขียนบทกวีลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นระยะ

 

ภาพกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวแอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” จำนวน 8 คน ที่ถูกคุมตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559

12 คดีการเมืองของทนายอานนท์

ผลพวงจากทั้งการเป็นทนายความที่ทำคดีทางการเมือง ช่วยเหลือปกป้องผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้อานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายคดี

หากนับคดีล่าสุดที่เขาถูกกล่าวหาจากการทำกิจกรรมรำลึก 88 ปี เหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 อานนท์ถูกกล่าวหามาแล้วทั้งหมด 12 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว 6 คดี ขณะที่อีก 6 คดียังดำเนินอยู่ (แยกเป็นคดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน 3 คดี และคดีที่อยู่ในชั้นศาล 3 คดี) กล่าวได้ว่าทั้งหมดล้วนเป็นคดีทางการเมือง ที่มาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม

1. คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก

คดีแรกสุดที่อานนท์ถูกกล่าวหาหลังการรัฐประหาร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้จัดกิจกรรม จัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งถูกให้เป็นโมฆะ และกระบวนการเลือกตั้งที่ถูกทำให้หายไปหลังการรัฐประหาร

ระหว่างการทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรมจำนวน 4 ราย ไปที่ สน.ปทุมวัน โดยอานนท์ นำภา เป็นหนึ่งในนั้น ก่อนในช่วงกลางดึกจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และตำรวจให้ประกันตัวออกมา

ต่อมา อัยการทหารมีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 คดีดำเนินไปในศาลทหารเกือบ 4 ปี โดยที่สืบพยานไม่แล้วเสร็จ แต่ภายหลัง คสช. ออกคำสั่งยกเลิกความผิดห้ามชุมนุมทางการเมือง ​ศาลทหารได้สั่งให้งดการสืบพยาน และจำหน่ายคดีออกจากสารบบ​ความ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 คดีจึงสิ้นสุดลง

 

2. คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: โพสต์วิจารณ์ทหารแทรกแซงกระบวนการขั้นตำรวจ

คดีนี้เป็นคดีต่อเนื่องมาจากการถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้มีการนำโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์ จำนวน 5 ข้อความ ที่โพสต์ในระหว่างการถูกควบคุมตัวที่สน.ปทุมวันในกรณีดังกล่าว เข้าแจ้งความกล่าวหาเพิ่มเติมต่ออานนท์ที่สน.ปทุมวัน โดยข้อความทั้งหมดมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารในการแทรกแซงกระบวนการดำเนินคดีของตำรวจ

วันที่ 4 มี.ค. 58 อานนท์ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ โดยหลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธ คดียังไม่ได้ความคืบหน้าใดๆ ทำให้คดีจึงยังคาอยู่ในชั้นสอบสวน

กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ยื่นหนังสือต่อศาลฎีกาเรียกร้องให้ศาลธำรงอำนาจตุลาการตามระบอบประชาธิปไตย อารยะขัดขืนต่อรัฐประหาร

 

3. คดีใช้เครื่องขยายเสียงในกิจกรรมรำลึก “ลุงนวมทอง”

คดีนี้ กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “รำลึกนวมทอง ชนกองทัพ” เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2558  ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อรำลึกครบรอบ 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่แขวนคอตัวเองเพื่อต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในกิจกรรมได้มีการเคลื่อนขบวนการชุมนุมไปบริเวณทางเท้าหน้ากองทัพบก และใช้เครื่องขยายเสียงขณะจัดกิจกรรม มีการปราศรัยรำลึกถึงลุงนวมทอง และนำเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ก่อนมีการแยกย้ายโดยสงบ

แต่เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2558 พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เชิญตัว อานนท์ นำภา เข้าพบที่สน.นางเลิ้ง ในฐานะตัวแทนผู้จัดกิจกรรม ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยมี พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส ผู้กำกับสน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา ทำให้มีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท เพื่อให้คดีเป็นอันสิ้นสุดไป

 

4. คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์

ภายใต้คำถามของสังคมต่อกรณีความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยกองทัพบก กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาได้จัดกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ โดยมีนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชน ร่วมกันโดยสารขบวนรถไฟสายธนบุรี-หลังสวน ไปยังอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 แต่ระหว่างกิจกรรม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตัดตู้ขบวนที่สถานีรถไฟบ้านโป่งเสียก่อน ก่อนมีผู้ร่วมกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปที่พุทธมณฑล รวม 36 คน ก่อนปล่อยตัว

ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.รถไฟธนบุรี ได้มีการออกหมายเรียกผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 11 คน ให้ไปรับทราบข้อหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน และอัยการทหารจะยื่นฟ้องคดีนี้โดยฟ้องจำเลยจำนวน 6 คน ต่อศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 โดยอานนท์เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ มีการทยอยสั่งฟ้องแยกตามมา ทำให้ต่อมารวมคดีนี้มีจำเลย 8 ราย

หลังคดีดำเนินไปในศาลทหารเกือบ 3 ปี และ คสช. ได้ออกคำสั่งยกเลิกความผิดห้ามชุมนุมทางการเมือง ​ศาลทหารจึงได้สั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบ​ความ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 คดีจึงสิ้นสุดลง

ภาพการเข้าขัดขวางการเดินทางไปทำกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ และการเข้าจับกุมผู้ทำกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 (ภาพโดย Banrasdr Photo)

 

5. คดียืนเฉยๆ 1: เรียกร้องปล่อยวัฒนา เมืองสุข

คดีนี้เกิดขี้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2559 ขณะนั้น เกิดกรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในค่ายทหาร จากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของ คสช. อานนท์พร้อมกับกลุ่มประชาชนจึงได้นัดหมายไปทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระหว่างกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ร่วมกิจกรรม 5 คน ไปที่สน.พญาไท และทำประวัติก่อนปล่อยตัวกลับ

ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 2559 อานนท์ นำภา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม และไม่แจ้งจัดการชุมนุมจากการชุมนุมครั้งนี้ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

คดีนี้มีการฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559 และอานนท์ได้ต่อสู้คดี ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2560 โดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีการแจ้งจัดการชุมนุม แม้ว่าจำเลยและพวกจะยืนในบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้มีการกระทำอื่นๆ อีก ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากการกระทำของจำเลยและพวกเป็นการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องคัดค้าน โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมการชุมนุมนั้น ไม่ว่าจะมีการเดินขบวนหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ศาลลงโทษปรับ 1,000 บาท

ต่อมาวันที่ 31 ม.ค. 2561 ศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายืนลงโทษปรับจำนวนเท่ากับศาลชั้นต้นเช่นกัน ทั้งคดีนี้ ศาลยังไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดลง

 

6. คดียืนเฉยๆ 2: เรียกร้องปล่อยแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์

คดีนี้ต่อเนื่องจากคดียืนเฉยๆ กรณีเรียกร้องให้ปล่อยวัฒนา กล่าวคือเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 59 อานนท์ พร้อมกลุ่มนักกิจกรรม-ประชาชน ได้จัดกิจกรรมยืนเฉยๆ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มแอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ซึ่งขณะนั้นถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร โดยเจ้าหน้าที่มีการควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 16 คน ไปยังสน.พญาไท ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต่ออานนท์ นำภา และพนักงานสอบสวนได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559

คดีนี้อานนท์ต่อสู้คดีในชั้นศาลเช่นเดียวกัน แต่ศาลแขวงดุสิตพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท และศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน ให้ปรับในอัตราเดียวกัน

อานนท์ นำภา เข้ารับทราบข้อกล่าวหาดูหมิ่นศาลและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากโพสต์วิจารณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561

 

7. คดีดูหมิ่นศาล: วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลในคดีการเมือง

คดีนี้ อานนท์ถูกพ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ ไปแจ้งความกล่าวหาต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวหาต่ออานนท์กรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีของ 7 นักศึกษาถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล โดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ก่อนที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 61 อานนท์ จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่บก.ปอท. ในข้อหาฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) จากโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ

ต่อมาวันที่ 8 มี.ค. 61 พนักงานสอบสวน ปอท. ยังมีการเรียกอานนท์ไปรับทราบข้อกล่าวหาสองข้อหานี้เพิ่มเติมอีก จากเฟซบุ๊กอีก 2 ข้อความ โดยเป็นข้อความหลังจากถูกกล่าวหาเรื่องดูหมิ่นศาล และอานนท์ได้โพสต์ยืนยันการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลขอนแก่นในคดีของไผ่ ดาวดิน และคดีละเมิดอำนาจศาล ส่วนอีกโพสต์หนึ่งเป็นการโพสต์บทกวีชื่อ “บทกวีถึงมหาตุลาการ” วิพากษ์วิจารณ์บทบาทขององค์กรตุลาการ  โดยกรณีนี้นับว่าเป็นคดีเดียวกันกับการแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรก แต่ถูกกล่าวหาหลายกรรมเพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบัน คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ในกิจกรรม “รวมตัวกัน รวมพลคนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

8-11. 4 คดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง

ตั้งแต่ต้นปี 2561 อานนท์ได้มีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้ร่วมปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้คสช. กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนภายในปี 2561 และยุติการสืบทอดอำนาจต่อ ทำให้เขาถูกดำเนินคดีร่วมกับแกนนำผู้จัดกิจกรรม และผู้ปราศรัยในกิจกรรมครั้งต่างๆ รวมแล้ว 4 คดีด้วยกัน

  • คดีชุมนุมสกายวอร์คห้างมาบุญครอง หรือคดีแกนนำ MBK39 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 61 อานนท์ถูกกล่าวหาร่วมกับนักกิจกรรม รวม 9 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลยที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. 2563 นี้
  • คดีชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน หรือคดีแกนนำ RDN50 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 อานนท์ถูกกล่าวหาร่วมกับนักกิจกรรม รวม 7 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 โดยคดีนี้ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ และการเรียกร้องของกลุ่มจำเลยยังเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
  • คดีชุมนุมหน้ากองทัพบก หรือคดีแกนนำ ARMY57 เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 61 อานนท์ถูกกล่าวหาร่วมกับนักกิจกรรม รวม 10 ราย ถูกกล่าวหาใน 5 ข้อหา คดีนี้ถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญา และศาลกำหนดสืบพยานในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ของปี 2564
  • คดีชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์กรสหประชาชาติ หรือคดีแกนนำ UN62 เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 อานนท์ถูกกล่าวหาร่วมกับนักกิจกรรม รวม 15 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 7 ข้อหา คดีนี้ถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญาแล้วเช่นกัน และศาลกำหนดสืบพยานในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ของปี 2564
ภาพกิจกรรมฉายโฮโลแกรมอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563

 

12. คดีทำกิจกรรมฉายโฮโลแกรมอ่านประกาศคณะราษฎร

คดีล่าสุดซึ่งอานนท์เพิ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีทำกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” จัดฉายโฮโลแกรมจำลองการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 นับเป็นคดีทางการเมืองคดีแรกภายหลังยุค คสช. ที่อานนท์ถูกกล่าวหา

คดีนี้เขาถูกกล่าวหาร่วมกับนักกิจกรรมอีก 6 ราย ที่สน.สำราญราษฎร์ ในความผิดร่วมกันตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ พ.ศ. 2535 ,ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, ตั้ง วาง หรือทำด้วยประการใดที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 114 และ โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ซึ่งเขาถูกตั้งข้อกล่าวหานี้เพียงคนเดียว

ขณะเดียวกัน ควรบันทึกไว้ด้วยว่าในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา อานนท์ยังมีบทบาทการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งยังถูกไล่ล่าแม่มดจากเพจการเมือง ที่อ้างว่ามีการไปแจ้งความอานนท์จากการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ และยังตกเป็น 1 ในจำนวน 4 รายชื่อนักกิจกรรมที่มีกระแสข่าวลือเรื่องความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการแสดงออกอีกด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ยังต้องติดตามจับตารูปแบบการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบการกล่าวหาดำเนินคดี หรือรูปแบบนอกกฎหมายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อนักกิจกรรมผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อไป

 

X