ทนายอานนท์และอีก 5 ผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเหตุจัดกิจกรรม 24 มิ.ย. “ลบยังไงก็ไม่ลืม”

13 ก.ค. 63 เวลา 13.45 น.  นายอานนท์ นำภา, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายเอฐ์เรียฐ์​ ฟอฟิ และนายอานันท์ ลุ่มจันทร์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ จากการทำกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” โดยการฉายโฮโลแกรมจำลองการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปีอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ในส่วนของนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากมีนัดส่งฟ้องของอัยการในคดีวิ่งไล่ลุง จ.กาฬสินธุ์​ โดยในวันนี้มีประชาชนมาให้กำลังใจประมาณ 10 คน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ต้องหาจากคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตกัมพูชา 


ในวันนี้​  พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 6 คนด้วย 3 ข้อหา ประกอบด้วย

  1. พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 19  ร่วมกันตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต 
  2. พ.ร.บ.จราจราทางบก มาตรา 114 วาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 
  3. ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 385 กีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ

ทั้งนี้อานนท์ยังถูกแจ้งข้อหาที่ 4 คือใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ทั้ง 4 ข้อหามีเพียงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท, 500 บาท, 5,000 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ

ตำรวจได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดว่า เมื่อทางตำรวจทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมทางเจ้าหน้าที่ได้มีการกั้นด้วยรั้วเหล็กที่ริมฟุตบาทเพื่อไม่ให้คนข้ามไปฝั่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จัดวางไม้ดอกไม้ประดับไว้ จากนั้นกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และอานนท์ นำภา จากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้ร่วมกันทำกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” โดยรวมตัวกันบนทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยอานนท์ได้ใช้เครื่องขยายเสียงและมีการเดินลงบนถนน และกลุ่มได้พยายามกางผ้าสำหรับเป็นจอฉายโฮโลแกรมบนถนน โดยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้นัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการพิจารณาในวันที่ 3 ส.ค. 2563 เวลา 13.00 น.


ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหา ชลธิชา หรือ “ลูกเกด” หนึ่งในผู้ต้องหาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการถูกแจ้งข้อกล่าวหาครั้งล่าสุดว่า “การถูกแจ้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ เป็นการย้ำเตือนว่าเรายังอยู่ในระบอบเผด็จการ แม้จะมีการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 62 แต่ คสช. ยังคงสืบทอดอำนาจและดำเนินโยบายที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพไม่ต่างจากตอนก่อนเลือกตั้ง”

ด้านกรกช สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เสริมว่า “การดำเนินคดีลักษณะนี้ เป็นไปเพื่อขัดขวางการขับเคลื่อนประชาธิปไตย รัฐใช้ข้อหาโทษปรับ ไม่ได้ถึงขนาดจับคนไปขังคุกเหมือนเมื่อก่อน แต่ทำให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวมีภาระทางคดีเพิ่มขึ้น” 

สำหรับกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” นำโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ปี 2475 โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิ.ย. 2563 เพื่อจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรอันเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

คณะผู้จัดได้ฉายภาพโฮโลแกรมจำลองเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อ 88 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาย่ำรุ่งช่นเดียวกับตอนที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศฉบับนี้ หลังจากนั้น จึงนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาวางไว้บนถนนเมื่อฉายภาพเสร็จ และเวลา 05.40 น. กิจกรรมทั้งหมดก็เสร็จสิ้นลง ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบที่จับตาดูอย่างใกล้ชิด และในเวลาต่อมา คณะผู้จัดจากกลุ่ม DRG ได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 13 ก.ค. 2563

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

88 ปี 24 มิ.ย.: ‘วันประวัติศาสตร์ชาติ’ที่ถูกห้ามรำลึกถึง กิจกรรม 21 จุดถูกปิดกั้นคุกคามทั่วไทย

เปิด 12 คดีการเมืองของ “อานนท์ นำภา” ทนายความนักกิจกรรม

ตร.ปล่อย “โตโต้” ไม่ต้องประกัน นัดส่งอัยการ 2 ก.ค. ยังข้องใจใครคือ “กลุ่มคนนิรนาม”

 

X