รอมฎอน ปันจอร์: องค์กรเร้นเหนือ ศอ.บต. ดุลอำนาจของชาวจะนะหลังไม่ชนะ และตัวละครใหม่

ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตกเป็นจำเลยของประชาชนหนักหน่วงในช่วง 1-2 เดือนมานี้ ในฐานะเป็นองค์กรเจ้าภาพการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้าง “โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ที่มีส่วนทำให้โครงการฯ ผ่านไปโดยได้ง่าย 11 ก.ค. 63 เวทีรับฟังฯ เกิดขึ้นท่ามกลางการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่นับพันราย และมีประชาชนผู้ประสงค์คัดค้านโครงการเข้าไม่ถึงเวทีจำนวนมาก ความจำเป็นถึงการดำรงอยู่ของ ศอ.บต. องค์กรที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนถูกตั้งคำถามเป็นวงกว้าง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอชวนทบทวนประวัติศาสตร์ของ ศอ.บต. องค์กรที่มีพลวัตผันผวนและมีการปรับโครงสร้างภายในมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งชวนเปิดประเด็นคำถามสำคัญนั่นคือ ศอ.บต. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการชี้ขาดชะตาชาวจะนะจริงหรือไม่ และดุลอำนาจก้าวต่อไปของชาวจะนะอยู่ที่ไหน ผ่านสายตา รอมฎอน ปันจอร์ คิวเรเตอร์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ผู้มีบทบาทสนับสนุนสันติภาพชายแดนใต้มาสม่ำเสมอ และเป็นหนึ่งในผู้ทำวิจัยประเมินแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี 2560-2562 อีกทั้งเป็นอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2563

มุมมองของเขาอาจทำให้เห็นภาพบางประการที่อาจหล่นหาย โดยเฉพาะองค์กรผลพวงจากการรัฐประหารปี 2557 ที่เร้นอยู่ลึกแต่ทรงอิทธิพลกว่าองค์กรที่เห็นได้ชัดอย่าง ศอ.บต. และการวิเคราะห์ “ตัวละครใหม่” ที่อาจมีผลต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ

.

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ ศอ.บต. เข้ามามีส่วนในการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนใต้

ร่องรอยน่าจะอยู่ในช่วงหลัง คสช. ยึดอำนาจ หลังรัฐประหารปี 2557 แต่ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีกฎหมายสองฉบับที่ทำให้เกิดองค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่คือ 1) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคง (กอ.รมน.) ฟื้นขึ้นมาและมีสถานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี หลังหมดอำนาจไปแล้วหลังยุคสงครามเย็น 2) พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายในชั้นพ.ร.บ. ที่รองรับสถานะของ ศอ.บต. โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

.

.

ศอ.บต. มีพลวัตสำคัญเกิดขึ้นหลายช่วง ช่วงหนึ่งคือหลังรัฐประหารปี 2549 หรือหลังยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นอำนาจการจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในมือ กอ.รมน. หรือพูดอีกอย่างคืออยู่ในมือทหารแทบทั้งหมด พอถึงปี 2553 เป็นยุคของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถือเป็นเจ้าของพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เห็นปัญหานี้และต้องการคานอำนาจกับทหารที่ขึ้นมาครองอำนาจและกำกับทิศทางการแก้ไขปัญหา เลยตั้ง ศอ.บต. โดยกำหนดโครงสร้างให้เป็นอิสระจากการกำกับของ กอ.รมน. แต่พรรคที่ใช้ประโยชน์จากกลไกที่ประชาธิปัตย์สร้างขึ้นมาจริงๆ และทำให้ ศอ.บต. เปลี่ยนไปอย่างเร้าใจกลับเป็นพรรคเพื่อไทย

.

ที่ว่าเร้าใจนั้นเร้าใจอย่างไร จำได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยพยายามอธิบายว่า ศอ.บต. เป็นหน่วยงานของพลเรือน เน้นการพัฒนา กอ.รมน. เป็นหน่วยงานความมั่นคง แตกต่างจากสิ่งที่เพื่อไทยทำอย่างไร

ประชาธิปัตย์พูดไว้อย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วอำนาจของ ศอ.บต. กับ กอ.รมน. ไม่ได้ดุลกันเลย เมื่อเทียบกับตอนเพื่อไทยมา คุณูปการของพรรคประชาธิปัตย์คือสถาปนา ศอ.บต. ให้เป็นองค์กรที่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับ จากที่แต่เดิม ศอ.บต. เป็นเพียงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 มีนวัตกรรมสำคัญคือการมี “สภาที่ปรึกษาการบริหารชายแดนจังหวัดภาคใต้” ที่มีสมาชิกไม่เกิน 49 คน มาจากการคัดสรรคัดเลือกกันเอง ไอเดียนี้มาจากการถกเถียงในสภา และมาจากข้อเสนอจากการวิจัยที่ต้องการนำเสียงสะท้อนชาวบ้านเข้ามา เพื่อตรวจสอบให้คำปรึกษากับ ศอ.บต. สุดท้ายได้นวัตกรรมนี้มา แต่การดำเนินงานยังเป็นไปแบบตั้งรับมากกว่า

ไปๆ มาๆ ยุคที่รัฐใช้งานกลไก ศอ.บต. ได้อย่างทรงพลังมากที่สุด และถือเป็นช่วงเวลาเดียวที่ ศอ.บต. ดุลและคานอำนาจ ได้สมน้ำสมเนื้อกับ กอ.รมน. คือยุคพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล หลังปี 2554 เป็นต้นมา ถ้าเป็นประชาธิปัตย์เหมือนเดิม ชาวบ้านคงไม่ได้รู้สึกว่า ศอ.บต. เร้าใจขนาดนี้ สมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. เป็น 2-3 ปี ที่มีจุดเปลี่ยนขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ การทำหลายเรื่องที่ทหารไม่พอใจมาก มาตรการทางการเมืองของทวีเป็นปมหนึ่งที่ทหารต้องการจำกัด

ทวีมาด้วยความตั้งใจที่ว่าต้องการเปลี่ยนหลายเรื่อง เขาทำในสิ่งที่ต่างไปจากที่ทหารทำ ตอนนั้นชาวบ้านต้องการ ศอ.บต. มาก เพราะตอนนั้น ศอ.บต. ลงลึก ทำหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องที่ ศอ.บต. ทำแล้วมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มาก คือการจัดตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ (Dewan Bahasa Melayu Thailand) ซึ่งส่งเสริมการใช้ภาษามลายู  ชาวบ้านไม่นึกว่าหน่วยงานรัฐแบบนี้จะทำ รัฐเชิญปราชญ์มลายูสายอนุรักษนิยม ที่เป็นทั้งครูสอนศาสนาและเป็นกวีมาเชิดชู ดึงเข้ามาอยู่ในสถาบันฯ  ตั้งออฟฟิศของสถาบันฯ อยู่ในที่ทำงาน ศอ.บต. เลย ในเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นเรื่องแหลมคมมาก

นี่ยังไม่รวมเรื่องการดูแล การเยียวยา การเข้าถึง การลุยคลี่คลายปัญหาบางปม ตอนแรกๆ ทวียิงมั่วเหมือนกัน แต่เขายิงถูกจุด แล้วชาวบ้านเห็น นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการรุกทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลไทย ซึ่งพีคมากในช่วงเวลาหนึ่ง และสร้างความกังวลในหมู่ข้าราชการจำนวนหนึ่ง ดังนั้นหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หนึ่งในข้าราชการลิสต์แรกๆ ที่เด้งก่อนคือเลขาธิการ ศอ.บต.

.

การยุบ ศอ.บต. ในสมัยพรรคไทยรักไทย มักถูกอธิบายว่าเป็นตราบาปของทักษิณ ชินวัตร และมักถูกอธิบายว่าเป็นเหตุให้ “เสียงปืนแตก” ขึ้นที่ค่ายเจาะไอร้องในปี 2547 เพราะอะไรพรรคเพื่อไทยถึงหวนกลับมาทำให้กลไก ศอ.บต. เข้มแข็งขึ้นเสียเองหลังปี 2553

โครงสร้าง ศอ.บต. สมัยไทยรักไทยกับสมัยเพื่อไทยเป็นคนละเวอร์ชั่น มีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน การยุบ ศอ.บต. ในครั้งนั้นเป็นผลมาจากการประเมินว่าสถานการณ์ที่เผชิญกับการแบ่งแยกดินแดนคลี่คลายและยุติลงแล้ว เป็นความเห็นร่วมกันของหลายฝ่าย ทักษิณจึงตัดสินใจยุติบทบาทของหน่วยงานพิเศษนี้ ซึ่งในตอนนั้นถูกมองว่าเป็นฐานอำนาจของกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หลัง พ.ศ. 2553  ศอ.บต. มีพระราชบัญญัติรองรับหลุดออกจากการควบคุมของ กอ.รมน. พรรคเพื่อไทยเลยใช้กลไกของ ศอ.บต. ภายใต้เวอร์ชั่น 2553 อย่างเต็มประสิทธิภาพ และพรรคไทยรักไทยคงต้องการรุกพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และฐานของทหารเดิมด้วย เขาเลยต้องสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างและทำได้จริง

.

มาถึง ศอ.บต. เวอร์ชั่นปัจจุบันบ้าง ศอ.บต. เวอร์ชั่น 2020  เป็นอย่างไร

หลังรัฐประหารปี 2557 หนึ่งในหลายเรื่องที่ทหารทำ นอกเหนือจากการยึดอำนาจเสร็จ คือ 1.การสั่งย้ายทวีขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี 2.การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 14/2559 อ้างอำนาจตามมาตรา 44 เพื่องดใช้กฎหมายบางมาตราที่เกี่ยวกับ “สภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.” ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่มาจากเลือกตั้งกันเองภายในกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ ศอ.บต. อยู่ภายใต้ กอ.รมน.  แล้วแทนที่ด้วย “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยราชการ คือจังหวัดเสนอชื่อ มีกระบวนการจากภาคส่วนต่าง ๆ ราชการเสนอ มีสัก 30-40 คน แต่กว่าจะแต่งตั้งกันจริง ๆ ก็ลากยาวถึง 4 ปี”[1] เพิ่งจะมีการแต่งตั้งและเริ่มประชุมกันครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 นี่เอง เคยคุยกับคนของ ศอ.บต.เอง เขากังวลว่าหากจัดให้มีองค์กรลักษณะนี้จะเป็นการสะสมอำนาจอิทธิพลของคนในท้องถิ่น ความไม่มั่นใจนี้ยังมีอยู่แม้จะเป็นคนที่ทางราชการแต่งตั้งกันเองก็ตาม

.

.

หลายอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ฟังก์ชั่นของ ศอ.บต. ถูกปรับไป จากที่เราสัมภาษณ์คนทำงานในหน่วยงานโยบาย ไอเดียตอนแรกคือเขาจะยุบ ศอ.บต. เลย แต่เข้าใจว่ามีแรงต้าน ทัดทานอยู่หลายส่วนด้วยกัน ผมเข้าใจว่าหนึ่งในเรื่องที่เขาซีเรียสมากของ คสช. คือเขาไม่อยากได้ชื่อว่าว่าเป็นคนยุบองค์กรที่ทักษิณเคยยุบมาแล้ว เหมือนเมื่อตอนทักษิณสั่งยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43) เมื่อปี 2545 ซึ่งกลายเป็นตราบาปของทักษิณจนถึงทุกวันนี้  ดังนั้นวิธีการของเขาคือลดขนาดและลดบทบาทของ ศอ.บต. ให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของ กร.อมน. ภายใต้ประกาศคำสั่ง คสช.

.

ศอ.บต. เวอร์ชั่น 2020 มีบทบาทจัดการทรัพยากรของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ในสมัยก่อนรัฐประหาร 2557 ก่อนเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเข้าสู่รัฐสภา 1) ต้องผ่านการให้ความเห็นของสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ก่อน ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ประกอบไปด้วยทั้งนักธุรกิจ ครู ประชาสังคม นักวิชาการ  ฯลฯ  ตัวแทนกลุ่มต่างๆ  2) สภาที่ปรึกษาฯ มีอำนาจให้ความเห็นต่อเลขาธิการ ศอ.บต. ในกรณีมีข้าราชการพลเรือนประพฤติตัวไม่เหมาะสมหรือสร้างความไม่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นดาบของ ศอ.บต. คือเรื่องนี้เลย และทำให้ ศอ.บต. ได้ใจชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นว่า ศอ.บต. เป็นช่องทางที่ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนบางเรื่องได้ เจอข้าราชการที่แย่ก็สั่งย้ายได้ใน 24 ชั่วโมง พูดง่ายๆ ว่าถ้าชาวบ้านมีเรื่องราวร้องเรียนมาสภาที่ปรึกษานี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเข้าสู่เวทีของตัวแทนภาคประชาชนที่หลากหลาย ชื่อเสียงของข้าราชการคนที่ถูกร้องเรียนจะเสียหายไปเลย

คสช. รื้อสิ่งเหล่านี้ออกไป และรื้อโครงสร้างที่อยู่ภายในเนื้อหาของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หลายอย่าง  เช่นใน พ.ร.ก. ปี 2553 มาตรา 3 ระบุให้มีคณะกรรมการศึกษาและแก้ไขพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้  (กพต.) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่คณะรัฐมนตรีอยู่ข้างบน มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ส่วนข้างล่างเป็นข้าราชการหรือฝ่ายปฏิบัติ พูดง่ายๆ ว่าเรื่องภาคใต้ให้จบที่ตรงนี้ ไม่ใช่ ครม.  ทีนี้พอ คสช. มา คสช. ตั้งอีกอย่างคือ   “คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”  (คปต.)  เป็นกลไกใหม่ที่เข้ามาโดยอ้างว่าเป็นกลไกที่จะเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติ ส่วน กพต. นั้นแทบจะไม่มีการประชุมเลย เพิ่งจะมารื้อฟื้นประชุมใหม่ในช่วงหลังการเลือกตั้งหรือในปี 2562 นี่เอง วาระส่วนใหญ่ผลักดันโดย ศอ.บต. โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ในเวลาต่อมา ปี คสช. 2559 ตั้ง “คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” ขึ้นมา โดยมี คปต. ส่วนหน้า ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ คณะผู้แทนพิเศษฯ นี้ทำหน้าที่คล้ายข้อต่อระหว่างฝ่ายนโยบายข้างบนกับหน่วยปฏิบัติข้างล่าง มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหารและมีรัฐมนตรีเป็นประธาน ขึ้นตรงต่อ คปต.ที่มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นประธานอีกชั้น หน้าที่หลักจริงๆ คือเข้ามาเพื่อคุมการจัดทำงบประมาณและกำหนดการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ที่ทำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาคงประเมินว่าหากต้องการควบคุมภาครัฐให้ทำงานอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ จะต้องไปควบคุมเงินงบประมาณให้สอดรับกัน โครงการที่จะอนุมัติต่างๆ ตอนนำขึ้นไปต้องผ่านการเห็นชอบของ คปต. ก่อน[2]  ส่วนจะบูรณาการได้ในทางปฏิบัติหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนด้านที่สอง เพื่อให้เกิดเอกภาพระหว่างกลไกของภาครัฐเอง ผู้กำหนดนโยบายในยุค คสช. จึงเอา ศอ.บต. มาเป็นองค์กรที่อยู่ใต้การกำกับทิศทางโดย กอ.รมน. ตอนแรกวางโครงสร้างให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า อยู่ในพื้นที่ และมี ศอ.บต. ส่วนหลังอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไปๆ มาๆ ในทางปฏิบัติทำไม่ได้อย่างนั้น

.

อำนาจของสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ที่หายไป มีผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

สภาที่ปรึกษา ศอ.บต. เดิม มีอำนาจหลายอย่างที่ถูกระบุในพระราชบัญญัติปี 2553 ยกตัวอย่างเช่น มีอำนาจให้ความเห็นต่อนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตอนแรกมีอำนาจให้ความเห็นชอบแต่สภาฯ ต่อต้านทำให้มีการแปรญัตติออกไป) โดยมีผู้ใช้อำนาจคือ “คณะกรรมการตรวจสอบความจริง” พูดง่ายๆ ว่าสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. เดิม เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายแห่งชาติว่าด้วยจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นทิศทางหลัก รวมทั้งกำหนดทิศทางเรื่องทรัพยากร นี่คือมรดกของรัฐบาลก่อนหน้า

ส่วนคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่ปรึกษาเวอร์ชั่น คสช. มีอำนาจแค่ให้คำปรึกษา ถ้าไม่มีใครขอคำปรึกษาจะไม่ให้ และไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เช่นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเมื่อเกิดประเด็นที่ชาวบ้านกังวล กลไกของ พ.ร.บ. ปี 2553  ที่รองรับอยู่ได้หายไป ฉะนั้นสิ่งที่ คสช. และ กอ.รมน. ทำคือแทรกและกระจายอำนาจจากฝ่ายความมั่นคงลงไปให้ตัวเองควบคุมได้หมด

สิ่งใหม่ที่ปรากฏในยุค คสช. คือ “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”  ที่มาตอนปี 2560 สิ่งที่แผนงานนี้เข้ามาจัดการเป็นอันดับแรกคือการจัดการเรื่ององค์กร นโยบาย ซึ่งตามมาด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติการต่อมา พูดง่ายๆ คือจากเดิมที่ พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553  ระบุกระบวนการไว้ว่าต้องมีแผนใหญ่แผนเดียวในภาคใต้เพื่อคงความเป็นเอกภาพ ซึ่งก็คือ “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้”  ร่างโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และการร่างต้องมีส่วนร่วมของประชาชน มีกลไกรับฟัง แต่หลังยุค คสช. มากลายเป็นมีนโยบายอีกสายหนึ่งที่มาจากตระกูลสายยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถือว่าเป็นแผนระดับ 1 ตามมาด้วยแผนแม่บทด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นแผนระดับ 2 และสุดท้ายคือแผนบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแผนระดับ 3

กล่าวโดยสรุปคือจริงๆ แล้วกระดูกสันหลังของแผนงบประมาณภาครัฐ ทั้งหมดกำหนดโดยฝ่ายความมั่นคงที่มาจาก คสช. ในทางปฏิบัติเราจะเห็นได้ว่านโยบายในสายตระกูลนี้ต่างหากที่มีอิทธิพลในเวลานี้ ส่วนในสายของหน่วยงานนโยบายเดิมอย่าง สมช. นั้น อาจยังมีอยู่และเป็นมรดกของยุคที่ยังพอเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างถูกลดทอนความสำคัญไป

ผมเข้าใจว่าปี 2560 รัฐบาล คสช. แบ่งงานด้านการพัฒนาให้ ศอ.บต. แบ่งงานด้านความมั่นคงให้ กรอ.มน. และมีหน่วยงานข้างบนสองหน่วยงานนี้ที่จะดูว่างานไหนควรได้รับการจัดการหรือแบ่งงบประมาณยังไง คือ คปต. ซึ่งคนไม่ค่อยเห็น ทั้งที่คนชี้จริง ๆ ว่าต้องไปทำอะไรตรงไหนคือ  คปต. การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นมรดกตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้าถูกเขี่ยออกไป

.

คปต. ประกอบไปด้วยใครบ้าง

มีอดีตแม่ทัพ อดีตรองแม่ทัพ อดีตเสนาธิการทหาร อดีตเสนาธิการกองทัพบก อดีต ผอ.ศอ.บต. ที่อยู่ในฝ่ายอนุรักษนิยม ข้าราชการฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้กับ คสช. จะอยู่ในนี้หมด คปต. จะเป็นคนเคาะโครงการทั้งหลายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นใน “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”  จะมี 13 แผนงาน ที่สอดรับกับ “แผนบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2562-2565” ซึ่งถือเป็นแผนระดับสาม ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยไม่ได้สอดคล้องหรือตอบสนองนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่เดิม

เราจะเห็นว่าการริเริ่ม “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั้นเดิมประกอบไปด้วยพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เริ่มคิดกันจริงจังในปี 2559 และเริ่มขับเคลื่อนในช่วงปี 2560 และเพิ่งมาขยายเป็น อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อปีที่แล้ว จริง ๆ  หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะหรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่ได้อยู่ในแผนเดิม แต่ถูกสอดแทรกเข้ามาในช่วงประมาณ ปี 2561 และคนมีอิทธิพลในการสอดแทรกเข้าใจว่าน่าจะเป็น คปต. นี่คือในแง่ของโครงสร้างอย่างเป็นทางการ แต่จริงๆ ในสายการพัฒนาเมกกะโปรเจกต์ มันเริ่มมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว  เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าเทพา ที่ อ.เทพา จ.สงขลา กับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มาจากแม่น้ำสองสาย คือมีอยู่ในแผนเดิม และมาผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกับสามเหลี่ยมเศรษฐกิจฯ ในตอนหลังทาง ศอ.บต. ก็อ้างกฎหมายของตนเองที่มีบางมาตรารองรับอำนาจในการประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (ดูมาตรา 10) ซึ่งจริงๆ แล้วน่าถกเถียงอยู่ว่าจะขัดกับนโยบายหลักตามพระราชบัญญัติเดียวกันนั้นหรือไม่ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เพิ่งสอดเข้ามา

.

เพราะอะไรปี 2561 ถึงเป็นปีที่เหมาะจะสอดแทรกเรื่องเหล่านี้กลับเข้ามาอีกครั้ง

จะนะมีฐานเรื่องอุตสาหกรรมอยู่เดิม ไม่ช้าก็เร็วต้องมีคนผลักดันให้เกิดขึ้น ยิ่งเร็วยิ่งดีสำหรับนักลงทุน เขาต้องรีบทำช่วงนี้เพราะคงมีการประเมินว่าเหตุการณ์ความไม่สงบนั้นลดระดับลงแล้ว นักลงทุนจึงต้องรีบช่วงชิงในห้วงเวลานี้ เปรียบเทียบกับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เมื่อ 20 ปีก่อน ก็เร่งทำในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ตอนนั้นเป็นช่วงแผ่วลงไปของขบวนการพูโล มีปรากฏการณ์หลายอย่างทีคล้ายคลึงกับตอนนี้ เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง มีการจับกุมตัวแกนนำได้ มีการดำเนินคดี มีเหตุระเบิดบ้างนิดหน่อย แต่หลักๆ รัฐประเมินว่าเอาอยู่ ซึ่งเป็นโอกาส เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาแหล่งพลังงานและอุตสาหกรรมเกิดขึ้นต่อเนื่องขึ้นในจะนะเมื่อราว 20 ปีก่อน จากเดิมที่มีทางเลือกจะขุดก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยแล้วลากมาขึ้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เพราะใกล้กว่า กลายมาเป็นขึ้นที่จะนะ บวกกับการเมืองมาเลเซียที่ตอนนั้นรัฐบาลประธานาธิบดีอัมโนอยากพัฒนาพื้นที่ในฝั่งตะวันตกในภาคเหนือ แทนที่จะทุ่มเทให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม จึงเกิดการร่วมทุนและแบ่งปันประโยชน์กันในตอนนั้น

.

.

สำหรับในช่วงนี้ ถ้าเรามองกราฟสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เผินๆ จะเห็นความรุนแรงพุ่งขึ้นอยู่สองช่วง คือปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปี  2550 พอ 2551 เริ่มลดลง แล้วพุ่งขึ้นอีกรอบตอนปี 2555-2556 จากนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงจนถึงปัจจุบัน ผมเข้าใจว่าเป็นผลจากการประเมินว่าความรุนแรงลดลงและพื้นที่นิ่งพอแล้วที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม

.

แสดงว่าความสงบหรือไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลต่อการเข้ามาของโครงการพัฒนา

ผมคิดว่าตรรกะแบบที่เราใช้มองการเมืองปาตานี มองการพัฒนามันไม่ง่ายขนาดนั้น  ตอนนั้นเราวิเคราะห์กันเรื่องโรงไฟฟ้าเทพา พบว่าโซนเทพา มีลักษณะพิเศษอยู่ 2-3 อย่าง คือมีช่วงสถานการณ์ความไม่สงบลดลง จน 4 อำเภอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ปี 2553 และมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งต่างจากโซนปัตตานี ที่มีความรุนแรงหนาแน่นอยู่เสมอ เช่น อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ ที่เป็นโซนปฏิบัติการของกลุ่ม BRN ที่ยังมีการก่อเหตุอยู่บ้าง แม้ไม่ได้เยอะมากแต่มีพีคเป็นช่วงๆ พอสถานการณ์ทาง อ.เทพา ลดลง เลยมีสัญญาณเรื่องการพัฒนาเข้ามาหลายอย่าง เช่นโรงไฟฟ้า โรงงานรับซื้อทุเรียนของจีนมาตั้งที่ อ.เทพา ตรงชายแดนก่อนเข้าปัตตานี เพราะฉะนั้นโซนเทพาจะเป็นคล้ายๆ ประตูไปสู่ชายแดนใต้ อยู่ในโซนที่ปลอดภัยในความหมายของนักลงทุน เข้าใจว่านั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐเร่งรีบจัดการ เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าเทพาจะเดินหน้าเร็วมากในแง่การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างกะทันหันจนชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน แต่คน อ.เทพา เคลื่อนไหวเชื่อมต่อเรื่องทรัพยากรกับคน อ.หนองจิก ผ่านเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายชาวบ้าน ทำให้สถานการณ์แหลมคมมากขึ้น เมื่อบวกความมั่นคงลงไป แต่เดิมตอนโรงไฟฟ้าเทพา  กอ.รมน. ลงมามีบทบาทเต็มที่ หลังๆ เบาไป ผมเข้าใจว่าเขาคงสรุปอะไรบางอย่าง

มีอีกเซ็นส์หนึ่งที่ผมค้นพบและน่าสนใจคือกลุ่มคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า อ.เทพา เป็นอีกกลุ่มที่พูดภาษาใต้ ไม่ได้มีอัตลักษณ์ร่วมทางชาติพันธุ์เป็นคนมลายู ขณะที่ฝ่ายหนุนโรงไฟฟ้าพูดภาษามลายู ประกอบไปด้วยนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเมืองอีกแบบหนึ่ง

จะนะมีการเมืองและทุนทางการเมืองของเขาอยู่อีกแบบ  แม้จะมีเหตุรุนแรงอยู่บ้างในพื้นที่จะนะตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับที่อื่น พื้นที่นี้ยังไม่ได้เป็นโซนเคลื่อนไหวหลักเดิมของขบวนการปลดปล่อยปาตานีอยู่แล้ว ต่างจากโซนสะบ้าย้อย เทพา ฝั่งที่อยู่ติดกับทางปาตานี โซนทางยะลา ติดยะหา ติดหนองจิก โคกโพธิ์

กรณีจะนะควรจะพิจารณาแยกไปเลย เขามีฐานมวลชนต่อต้านเดิมในพื้นที่ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองปาตานี หรือการแบ่งแยกดินแดนอะไรเลย เป็นชาวบ้านที่ห่วงใยฐานทรัพยากรของตนเอง นี่คือชาวบ้านที่มีประวัติศาสตร์การคัดค้านการวางท่อก๊าซมาแต่เดิม ธรรมชาติคนจะนะจะไม่อินกับการเมืองปาตานีมาก เขาอินกับสิทธิชุมชน เรื่องบ้านของเขา เครือข่ายของจะนะมีต้นทุนแบบนี้ แต่ทีนี้พอ  ศอ.บต. ออกหน้ามาผลักดันเรื่องนี้ มี กอ.รมน. เข้ามาเสริม เรื่องนี้จะเปลี่ยนไปเหมือนกัน

.

ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่จะนะมีจุดร่วมระหว่างกลุ่มต่อต้านอำนาจของฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มต่อต้านเรื่องทรัพยากรอยู่ไหม

เท่าที่ผมรู้ ผมว่าคนละกลุ่ม แต่ว่านี่คือไพ่สำคัญที่เจ้าหน้าที่หรือกลุ่มทุนใช้ลดความชอบธรรมของฝ่ายต่อต้านเหมือนกัน และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะเคลื่อนอย่างไรของเครือข่ายด้วย ผมสังเกตเห็นตั้งแต่ขบวนการเคลื่อนไหวของ อ.เทพา เขาระมัดระวังและพยายามมากที่จะไม่ให้เกิดความเชื่อมโยงกับการเมืองปาตานี การเมืองเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่ว่าในแง่ประเด็น ผมคิดว่ามันมีประเด็นเชื่อมกันอยู่ เพราะมันพูดถึงสิทธิความเป็นเจ้าของ เรื่องการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมตนเอง มันมีร่องรอยแบบนี้ เพียงแต่ที่ผมสังเกตในเวลานี้ ผมยังไม่เห็นการเชื่อมร้อยประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนในฝ่ายต่อต้านมากนัก ผมเห็นว่าจริงๆ แล้วมันเป็นไพ่หนึ่งของฝ่ายรัฐ แต่ผมเองว่ารัฐไม่อยากเล่นไพ่นี้ถ้าไม่จำเป็น

แต่เหตุการณ์ในวันที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. เมื่อ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมาทำให้ผมคิดผิด เพราะเห็นได้ชัดว่านอกจาก ศอ.บต. จะดึงดันเดินหน้าเวทีโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ แล้ว มาตรการในการพิทักษ์ปกป้องเวทีดังกล่าวกลายเป็นฉายภาพให้เห็นว่ามีการกีดกันความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างไร กระบวนการทั้งหมดได้ทำลายความชอบธรรมของตัวโครงการและ ศอ.บต. เสียเอง แม้ว่าจะมีความพยายามจำกัดการใช้กำลังตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ภาพที่เห็นนั้นแข็งกร้าวและปิดกั้นอย่างมาก ทำให้นึกไม่ออกเลยว่าโครงการพัฒนาที่จะเดินหน้าต่อไปนั้น จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงอะไรอีกบ้าง

.

.

ไม่ต้องพูดถึงบทบาทของหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ เราเห็นทั้งปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารที่คอยด้อยค่าและแพร่มลทินให้กลุ่มคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ การเคลื่อนไหวมวลชนกดดันเพื่อขับไล่คนอย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ หรือการปล่อยข่าวว่ากลุ่มคัดค้านฯ เป็นแนวร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ของตัวโครงการยิ่งแย่และยิ่งทำให้ดูขาดความชอบธรรมหนักเข้าไปอีก ผมมองว่านี่เป็นการคิดอย่างลวกๆ ว่าวิธีนี้จะสกัดหรือลดความชอบธรรมของกลุ่มคัดค้านฯ ได้ แต่กลับส่งผลด้านตรงกันข้าม ไพ่ใบนี้กลับมากินตัวเอง

ที่น่าสนใจและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือการปรากฏตัวของฝ่ายที่สาม หรือกลุ่ม “สหกรณ์ชุมชนต้นแบบ” ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางให้พวกเขาแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตกระแสไฟฟ้า แทนที่จะให้อยู่ในมือของเอกชนเพียงอย่างเดียว พวกเขาประกาศว่าจะสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ หากได้รับประโยชน์เหล่านี้ด้วย และจะคัดค้านหากรัฐปิดกั้นการมีส่วนแบ่งปันผลประโยชน์ดังกล่าว นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น อย่างน้อยในกรณีของการพัฒนาจะนะ เพราะสำหรับกลุ่มนี้มีจุดยืนว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบที่จะมีขึ้นในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าและสามารถแลกเปลี่ยนได้หากได้ประโยชน์ชดเชย ส่วนการแบ่งสรรผลประโยชน์เหล่านั้นจะคุ้มค่า ครอบคลุม หรือเป็นธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

.

การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจอนาคตของชาวจะนะ เท่ากับการเคลื่อนไหวของชาวจะนะ ต้องคาบเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสู้ในประเด็นสิงแวดล้อมโดดๆ โดยไม่สู้ในประเด็นสิทธิความเป็นเจ้าของ หรือการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมตนเองจะมีโอกาสชนะมากแค่ไหน

สำหรับความคิดเห็นของผม ผมยืนอยู่บนจุดที่ผมเสนอให้ทุกฝ่ายมีความคิดเห็นขัดแย้งกันได้โดยไม่ใช้กำลัง เรารับฟัง ข้อเรียกร้องและเหตุผลของทุกฝ่ายได้ แต่ไม่สามารถยอมรับเรื่องการใช้กำลังเกินขอบเขตหรือใช้มาตรการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันจุดยืนนี้ก่อนนะครับ

ส่วนประเด็นเรื่องการพัฒนา เมื่อพิจารณาจะพบว่ามีรากฐานจากการป้องกันและปราบปรามการก่อความไมสงบ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น รัฐใช้วาทกรรมการพัฒนาในฐานะเครื่องมือทางการเมืองมาตลอด แต่เดิมประเด็นของการพัฒนาเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน มีถนน น้ำไหล ไฟสว่าง พอมาในยุคปัจจุบันแม้เปลี่ยนประเด็นเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่เป็นวาทกรรมเดียวกันที่แทรกตัวเข้ามา และใช้วิธีการเดียวกันคือไม่ฟังชาวบ้านและกำหนดจากข้างบน ดังนั้น ในความเห็นผมมันจะดีมากถ้าการเคลื่อนไหวของกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่เพิ่มเติมประเด็นเรื่องการพัฒนาโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันกับการหาข้อยุติ หรือการแสวงหาฉันทามติการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ

.

กลับไปเรื่องโครงสร้างที่คุณรอมฎอนอธิบายเมื่อสักครู่นี้ คิดว่าทำไมคนเห็นแค่ ศอ.บต. และ กอ.รมน. แต่องค์กรข้างบนอย่าง คปต. หรือ กลุ่มผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ถึงซ่อนได้มิดชิดจากความรับรู้ของคนขนาดนั้น อย่างเวลาอ่านข่าวเราจะเจอแต่ ศอ.บต. มากกว่า

นั่นสิ น่าสนใจมากนะ ทำไมเราไม่เห็นการปรากฏตัว ทั้งที่เขามีตัวตน มีเว็บไซต์ด้วยนะ ถ้ามองจากมุมชาวบ้านหรือถ้ามองจากสายบังคับบัญชาตามกลไกรัฐจะมองเห็น ศอ.บต. ก็สมเหตุสมผล  เพราะโครงสร้างถูกจัดวางมาให้ ศอ.บต. เป็น “หน้าร้าน” ที่จะเห็นได้ก่อน แต่องค์กรที่จะชี้จริงๆ คือ คปต.

ผมคิดว่าเพราะ คปต. เป็นองค์กรที่ตั้งโดยคำสั่ง คสช. ซึ่งขณะนี้ผลจากประกาศคำสัง คสช. ได้ทยอยเปลี่ยนรูปมาเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เหมือนกลไกพิเศษอื่นๆ ที่แต่งตั้งในยุค คสช. ซึ่งค่อยๆ ถูกไล่เปลี่ยนให้กลายมาเป็นการแต่งตั้งภายใต้คำสั่งนายกฯ ปกติ ด้วยเหตุที่ว่าองค์กรเหล่านี้ตั้งขึ้นมาตามกลไกพิเศษ ในสถานการณ์ที่รัฐยึดอำนาจ ไม่ได้เป็นองค์กรถาวรที่ตั้งมั่นมากนักเหมือน กอ.รมน. และ ศอ.บต. ซึ่งสององค์กรหลังเป็นองค์กรที่ชาวบ้านสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น รู้ว่าการพัฒนา การเยียวยา และงบประมาณต้องมาจาก ศอ.บต. แต่สิ่งที่คนไม่เห็นคือการกำหนดว่าอะไรควรอยู่ตรงไหนยังไง การเคาะโครงการหรือจัดสรรทรัพยากร กลไกพวกนี้อยู่ที่ คปต.  ในเอกสารการประชุมการสรุปงาน แม้แต่เอกสารของโครงการต่างๆ จะชี้ให้เห็นเลยว่า คตป. มีอิทธิพลมากในการชี้ขาด ซึ่งเป็นอำนาจที่สมัย คสช. ให้ไว้

พูดง่ายๆ มี คปต. เป็นองค์กรระดับนโยบายอยู่ข้างบน ส่วนระดับปฏิบัติการมี กอ.รมน. ภาคสี่ส่วนหน้ากับ ศอ.บต. ส่วน คปต. มีตัวตนในแง่ของการสกรีน กำกับ และมีสถานะพิเศษมากในแวดวงราชการเอง ยกตัวอย่างเช่นเวลาตั้งงบประมาณในแต่ละปี คนที่นั่งหัวโต๊ะคือคนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นคนในกำกับสำนักนายกฯ อย่าง ศอ.บต. และ กอ.รมน. แม้จะมีองค์กรอยู่ข้างบนสององค์กรนี้อีกชั้นคือ สมช. ซึ่งมีฟังก์ชั่นตามปกติเหมือนสมัยก่อนรัฐประหาร 2557 คือทำนโยบาย แต่คนนั่งหัวโต๊ะจริงๆ คือ คปต. โดยมีคนของ สมช.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในนามสำนักเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.)

 .

ถ้าเข้าใจไม่ผิดในอดีตหรือแม้แต่ปัจจุบัน ศอ.บต. เป็นหน้าร้านที่มีความเป็นมิตรพอสมควรสำหรับประชาชน

บางแง่มุมใช่เลยครับ คือ ศอ.บต. เป็นที่ผ่อนปรน ช่วยประสาน ช่วยดูดซับแรงเสียดทาน แต่บทบาทการดูดซับความเดือดร้อนใจของชาวบ้านน้อยลงเรื่อยๆ ในยุค คสช. เพราะถูกสปอยล์ และคุณเชื่อไหม มันตลกมาก ผมยังนั่งแซวกับคนของ คปต. เอง ผมนั่งดูงบประมาณของ คปต. อีก 2-3 ปีข้างหน้า พบว่าของ ศอ.บต. ลดฮวบ จากเดิมได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท หมายความว่าในแง่ฟังก์ชั่นของ ศอ.บต. ไม่ช้าก็เร็วจะถูกลดบทบาทหนักกว่านี้ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ แต่ ศอ.บต. ในเวลานี้คุณต้องทำตามคำสั่งหน่วยงานความมั่นคง

.

ปัจจุบันประชาชนยังต้องการ ศอ.บต. อยู่ไหม

ตอบยาก เพราะปัจจุบันนี้ไม่รู้ว่า ศอ.บต. ทำอะไรให้กับชาวบ้าน ฟังก์ชั่น ของ ศอ.บต. สำหรับชาวบ้านน้อยลงเรื่อย ๆ  สิ่งที่ ศอ.บต. ตอบโจทย์คือสร้างความเป็นเอกภาพให้ปฏิบัติการของฝ่ายรัฐเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ตอบต่อสภาพปัญหาและความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป นี่เป็นข้อวิพากษ์ของผม

.

ฟังดูเหมือน ศอ.บต. มีความคล้ายองค์กรอื่นๆ หลังรัฐประหาร 2557 ที่ คสช. คงชื่อเอาไว้ แต่ลดทอนดุลการตรึงตรวจสอบอำนาจรัฐลง

ผมว่าสถานการณ์เป็นอย่างนั้น พร้อมๆ กับการกำหนดกลไกของรัฐ แผน นโยบาย งบประมาณ  ยังมีการทำให้แน่ใจว่าคนของตัวเองจะต้องดูแลการใช้เงิน  โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะผู้แทนพิเศษเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ผลกระทบอีกด้านที่น่าสนใจ ผมว่าถ้าเราไปคุยกับพวกข้าราชการ ศอ.บต. จะได้อีกมุมหนึ่ง ซึ่งน่าเห็นใจมาก ตอนที่ตั้ง ศอ.บต. ใหม่ๆ และ ศอ.บต. ยังมีโครงสร้างที่กำกับด้วยพลเรือน ตอนนั้นคนที่มาทำงานบางส่วนมีความตั้งใจอยากแก้ปัญหา และเชื่อมั่นกลไกแบบนี้ เชื่อมั่นว่าการทำงานของพลเรือนได้ใจชาวบ้านมากกว่า สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านมากกว่า มีคนแบบนี้จริงๆ  ตอนนี้คนเหล่านี้ไม่มีกำลังใจแล้ว ใครมีช่องทางไปก่อนก็ไป ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ระบบไม่เอื้อให้คน  ศอ.บต. ตอนนี้ถูกลดขนาดลง หรือพูดง่ายๆ คือถูกตอน

.

คิดว่าขณะนี้ดุลอำนาจฝั่งประชาชนจะนะอยู่ตรงไหน ที่จะเอาไปใช้ต่อรองกับรัฐได้

ผมยังยืนยันเหมือนเดิมคือรวมตัวของชาวบ้านสำคัญที่สุด ถ้าการรวมตัวและการยืนหยัดของชาวบ้านทำได้ การขยับไปสู่การแสวงหาพันธมิตรจะทำได้ง่ายขึ้น ชาวจะนะมีจุดแข็งคือเหนียวแน่นกับข้อเสนอว่าหน้าตาของการพัฒนาควรเป็นยังไง คุณูปการของชาวจะนะคือเขาชลอความเสียหายของพื้นที่นี้ได้เยอะเลย จริงๆ ตามแผนการพัฒนาฯ ต้องมาเต็มกว่านี้ ต้องมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและมีผลกระทบกว้างขวางกว่านี้  แต่ทำไม่ได้ แต่ชาวจะนะอาจต้องมองให้ออกว่ามีกลไกไหนที่ควบคุมหน้าร้านอย่าง ศอ.บต. อยู่ และสร้างดุลอื่นๆ ไปด้วย ถึงอย่างนั้น การปรากฏตัวของฝ่ายที่ 3 นี่เองที่เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คงต้องดูว่าการรวมตัวเพื่อถ่วงดุลกับอำนาจรัฐและทุนใหญ่ทั้งภายในประเทศและข้ามชาติที่จะเป็นไปได้ขนาดไหน

รัฐสภาทำหน้าที่อะไรได้บ้าง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.ประชาธิปัตย์เขตจะนะ-เทพา คิดยังไง เขาเป็น ส.ส. คุณไง อนุมัติ อาหมัด หนึ่งในแม่ทัพพลังประชารัฐและนักธุรกิจคนสำคัญ ทั้งสองเป็นมุสลิมเชื้อสายปาทานที่ทรงอิทธิพล ในปัจจุบันทั้งสองยังทำงานร่วมกันในองค์กรบริหารศาสนาอย่างคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย คนแรกเป็นเลขาธิการ ส่วนคนหลังเป็นรองเลขาธิการ พวกเขาอยู่ตรงไหนครับ? ตอนช่วงการเลือกตั้ง ทุกองค์กร ทุกพรรคการเมืองที่ประชันขันแข่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นพลังประชารัฐ ชูเรื่องการกระจายอำนาจ เราต้องผลักเขากลับมาคุยเรื่องนี้ มันมีต้นทุนแบบนี้อยู่  

.

.

อีกประการหนึ่งถ้าเราออกแบบกรอบการต่อสู้เรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะมี ส.ส.ประมาณ 10 กว่าคน ที่ต้องเข้าหาและทำงานด้วย ส.ส. มีสองประเภทคือตัวแทนพื้นที่โดยตรงกับ ส.ส. ที่ทำงานในเชิงประเด็น มีอยู่ในระดับกรรมาธิการต่างๆ  ตอนนี้กรรมาธิการหลายชุดทำงานอย่างโดดเด่น เช่นกรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นกรรมาธิการที่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลอีกด้าน นี่ยังไม่รวมกรรมาธิการวิสามัญที่เหลือที่ตั้งในเวลานี้ และอยู่ในกระบวนการตรวจสอบติดตามกระบวนการสันติภาพ กลไกเหล่านี้ต้องฉวยใช้

และเป็นไปได้มั้ยที่เราต้องสร้างสมดุลจากหน่วยงานราชการกันเองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้า ศอ.บต. ไม่เวิร์ก มีหน่วยงานอื่นๆ อีกมั้ย เช่น สภาพัฒน์ฯ สมช. คุณต้องหาพันธมิตรให้ออก ว่าคุณจะไปเจาะที่ไหน ต้องหาวิธีการมองปัญหา โดยไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของบริษัทอุตสาหกรรมหรือกลุ่มทุน อยู่ที่คุณจะไหลประเด็นของคุณไปสุดตรงไหนบ้าง หรือแม้กระทั่งการยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นการคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันสามารถดึงความสนใจของฝ่ายความมั่นคงได้อีกแบบ

อีกพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจก็คือกระบวนการสันติภาพ เป็นไปได้หรือไม่ที่การถกเถียงกันในโต๊ะเจรจาสันติภาพจะมีการหารือในเรื่องทิศทางการพัฒนาและบรรดาทางเลือกต่างๆ นี่คือสิ่งที่ต้องคิด

.

คิดว่าการวางกรอบการต่อสู้เรื่องกระบวนการสันติภาพกับทรัพยากรเข้าด้วยกันเป็นสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องจะนะซื้อหรือไม่

ผมเข้าใจเรื่องความระแวงสงสัย วาทกรรมการแบ่งแยกดินแดนของรัฐหนักหน่วงมาก แล้วคุณจะพลิกมาสู่การเปิดพื้นที่ในการอนุญาตให้ความเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองที่อยู่บนพื้นที่เดียวกันและสานประโยชน์ร่วมกัน มีจุดร่วมเดียวกันได้อย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยากมาก บางเรื่องต้องละวางความเชื่อเดิมๆ ที่มีอยู่ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่อาจมาพร้อมความเสี่ยง แต่ประเด็นคืออยู่แบบเดิมไม่ได้ไง การปักหลักสู้เฉพาะประเด็นสำคัญ แต่บางครั้งคุณอาจต้องลุกออกมาจากฐานที่มั่นอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องคิดให้สุด มององค์ประกอบให้สุด

.

แต่ถ้าไม่สู้ด้วยกันอาจโดนกินรวบได้ ?

แน่นอน ไม่ใช่ว่าเราไม่มีประสบการณ์ มันเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน เวลาเขาจะกินรวบเขากินได้ พอรัฐประเมินว่าดุลอำนาจเปลี่ยน ตัวเองได้เปรียบกว่า แม้ว่าไม่ชนะแต่ว่าได้เปรียบกว่า อาจด้วยสถานการณ์ที่ลดลง มีแรงต้านน้อย หรือไม่มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามในเขตพื้นที่ที่จะพัฒนา ก็กินรวบเลย คนที่เดือดร้อนก็คือคนที่อยู่ในที่ตรงนั้น ไม่ใช่คนที่สามารถโยกย้ายเลื่อนขั้นไปรับตำแหน่งใหม่ที่อื่นได้.

.

.

เชิงอรรถ

[1] 5 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คำสั่งลงวันที่ 4 เม.ย.59 และประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกัน

สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือการกำหนดแนวทางแต่งตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นแทน “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553

จากสภาที่ปรึกษาฯ เดิมมีที่มาหลากหลายทั้งจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้แทนกลุ่มสตรี หอการค้า สื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ รวมไม่เกิน 49 คน

แต่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 มีสมาชิก 60 คน มาจาก 1.การเสนอชื่อของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไม่เกิน 45 คน 2.เสนอชื่อจากผู้ว่าราชการ จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา จังหวัดละไม่เกิน 2 คน และ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนไม่เกิน 5 คน

.

[2] จากเว็บไซต์ของ คปต. http://korportorsuanna.com/th/committee ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษมาแล้วหลายคณะ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 แต่งตั้ง พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะ มี พลเอกจำลอง คุณสงค์ เป็นรองหัวหน้า พลเอก ปราการ ชลยุทธ, พลเอกวิวรรธน์ ปฐมภาค, พลเอกมณี จันทร์ทิพย์, นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม, และนายจำนัล เหมือนดำ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้แทนพิเศษ ขณะเดียวกันได้แต่งตั้ง พลเอกวัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข อันเป็นหนึ่งในนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

.

X