รีวิวประสบการณ์ถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักเรียน-นักศึกษา

ปัจจุบัน จำนวนคนใช้โซเชียลมีเดียสื่อสาร ความคิด ความรู้สึกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีทีท่าว่าจะเป็นกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่นนักเรียน นักศึกษา หรือคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ซึ่งการดำเนินคดีร้ายแรงต่อคนอายุไม่มากนักมักถูกจับตาจากสังคมเป็นพิเศษ การถูก “คุมตัวไปคุย” จึงเกิดขึ้นแทนที่อย่างมีนัยยะสำคัญ คนถูกคุมตัวไปคุยต้องเจออะไรบ้าง ?

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านแต่ละขั้นตอนแบบ step by step จากประสบการณ์จริงของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักศึกษา นักเรียน ซึ่งพบเจอหลายสถานการณ์คล้ายกันจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “แบบแผนของการคุมตัวไปคุย”

Step 1 เจ้าหน้าที่ยกโขยงมาหา แสดงสถานะแบบเบลอๆ แล้วนำตัวไปแบบไม่ให้ตั้งตัว

เมื่อเจ้าหน้าที่มาคุมตัวไปคุยด้วยเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์  เจ้าหน้าที่มักไม่ได้มาแค่คนเดียว แต่เดินทางมาเป็นจำนวนมาก บางครั้งมีจำนวน 5-10 คน ประกอบด้วยตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ในบางกรณีมีทหารนอกเครื่องแบบร่วมด้วย โดยอาจเดินทางไปหาที่ มหาวิทยาลัย  ที่ทำงาน หรือ บ้าน โดยไม่มี “หมายเรียก” หรือ “หมายจับ” ตามกระบวนการทางกฎหมาย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่มักไม่แจ้งรายละเอียดว่าต้องการนำตัวไปพูดคุยเรื่องอะไร ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ไม่แสดงตัว ไม่แนะนำตัวว่ามาจากสังกัดไหน หน่วยงานอะไร ชื่อ ชั้นยศใด 

คำพูดยอดนิยมที่จะได้ฟังจากเจ้าหน้าที่คือ  “ขอคุยด้วย” “ขอสอบถามอะไรหน่อย”  หากเราถามหาหมายเรียก หมายจับ หรือแสดงความต้องการจะติดต่อทนาย มักจะได้รับคำตอบว่า “ไม่ได้มาจับ” “กระบวนการยุติธรรมยังไม่เริ่มต้น” หรือ  “แค่สอบถามเท่านั้น” แล้วกดดันพาขึ้นรถ โดยไม่ให้เวลาตั้งตัว โดยมีทั้งกรณีนำตัวขึ้นรถตำรวจและขึ้นรถยนต์ธรรมดาที่ไม่ได้แสดงให้เห็นสังกัด

Note: แม้หลายครั้งเจ้าหน้าที่จะเลือกใช้คำว่า “ขอคุยด้วย” “ขอสอบถามอะไรหน่อย”  เพื่อให้ดูนุ่มนวลขึ้น  แต่กระบวนการเช่นนี้นับเป็นกระบวนการกดดันและซักถามแบบนอกกฎหมายซึ่งเรามีสิทธิปฎิเสธที่จะไม่ไปได้

Step ที่ 2 ถูกนำไปสถานที่ที่ทำให้ตัวเราเหลือเล็กนิดเดียว

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปแล้ว แม้จะเป็นกระบวนการนอกกฎหมาย และเจ้าหน้าที่อ้างว่าแค่ชวนมา “พูดคุย” แต่สถานที่ที่เจ้าหน้าที่ชวนไปพูดคุยนั้นมักทำให้ผู้ถูกชวนคุยกำลังใจลดลงฮวบฮาบ เพราะไม่ใช่ร้านกาแฟหรืออะไรทำนองนั้น แต่เจ้าหน้าที่มักพาไปคุยที่สถานีตำรวจ อาจเป็นสถานีตำรวจในเขตมหาวิทยาลัยหรือเขตบ้านของผู้ถูกคุมตัว โดยใช้ห้องห้องหนึ่งในสถานีตำรวจ หรือใช้สถานที่ใดที่หนึ่งในที่ทำงานของตน ซึ่งมีผลให้ผู้ถูกคุมตัวรู้สึกหวาดหวั่นตั้งแต่เห็นสถานที่


Step ที่
3 สร้างบรรยากาศข่มขวัญ บันทึกทุกคำพูด

เมื่อมาถึงในห้อง ตำรวจมักพาผู้ถูกคุมตัวมานั่งที่โต๊ะประชุมสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยตำรวจทั้งนั่งประกบและยืนล้อมเยาวชนไว้จำนวนมาก มีการตั้งกล้องถ่ายวิดีโอการซักถามเกี่ยวกับชีวิต พฤติกรรมและความคิด นำตัวไปถ่ายภาพนิ่ง และถ่ายภาพนิ่งขณะที่ซักถามเอาไว้ ตลอดการซักถาม จะมีตำรวจคอยพิมพ์บทสนทนาไว้ในคอมพิวเตอร์ ทีมซักถามอาจมีทั้งตำรวจหญิงและชาย โดยใช้การพูดคุย 2 รูปแบบ ทั้งทีมที่พูดคุยอย่างดีและรับฟังกับทีมที่ขึงขัง ดุดัน โดยผู้ฟังอาจได้ฟังคำพูดที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เช่น “น้องน่าจะต้องไปตรวจที่ ร.พ. จิตเวชนะ” นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังถูกกำชับว่าไม่ให้เล่าให้ใครฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น กระบวนการการพูดคุยดำเนินไปกว่า 2-5 ชั่วโมงแล้วแต่กรณี และในกรณีจะมีนักวิชาชีพมาพูดคุยกับผู้ถูกคุมตัวก่อนเริ่มการซักถาม บางกรณีเพื่อประเมินสุขภาพจิต และบางกรณีอาจเพื่อให้นักวิชาชีพช่วยรับรองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้คุกคามผู้ถูกคุมตัว

Step ที่ 4 “ขอดูมือถือหน่อย”

สิ่งแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่มักทำกับผู้ถูกคุมตัว คือการตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งอาจรวมถึงคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีหมายศาล ไม่ให้ติดต่อใคร หากมือถือไม่ได้ถูกยึดไปเจ้าหน้าที่อาจขอตรวจว่าเราได้แอบอัดเสียงไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการขอเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกรูปแบบ โดยการขอรหัสผ่าน ซึ่งอาจรวมไปถึงอีเมล์ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ข้อกฎหมายใดๆ เพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูล แต่ใช้ความยินยอมจากผู้ถูกคุมตัวเอง ซึ่งความยินยอมนั้นมักเกิดขึ้นหลังถูกกดดันเป็นเวลานาน อาจหลายชั่วโมง ผู้ถูกคุมตัวบางคนยืนยันที่จะไม่ยินยอมให้รหัสผ่านใดใดเนื่องจากคำนึงว่าโทรศัพท์มือถือส่วนตัวไม่ได้มีเพียงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรา แต่ยังมีภาพของเพื่อนๆ ครอบครัว คนใกล้ชิด หรือบทสนทนาส่วนบุคคล ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จึงทำได้เพียงกดดันให้เปิดโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คต่างๆให้ดูและถ่ายรูปหน้าจอ โดยอุปกรณ์สื่อสารยังคงอยู่ในมือของผู้ถูกคุมตัว แม้บางคนไม่สามารถทนแรงกดดันได้ก็ต้องยอมให้รหัสทั้งหมดแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งการยินยอมมอบรหัสผ่านจะส่งผลอุปกรณ์สื่อสารและบัญชีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คทั้งหมดของตัวผู้ให้ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป  

Note:  ในขั้นตอนนี้หากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายศาล เจ้าของอุปกรณ์สื่อสารสามารถยืนยันที่จะไม่ให้เครื่องมือสื่อสารและไม่ให้รหัสใดๆ ได้ เพราะมีการกระทำหลายอย่างที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจสั่งให้เราทำตามได้หากไม่มีหมายศาล เช่น

  1. คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
  2. สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟลชไดรฟ์, แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
  3. ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
  4. ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้ารหัสผ่าน หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกระทำการดังกล่าว
  5. ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น

Step ที่ 5 ให้เซ็นรับรองว่าโพสต์และบอกให้ลบข้อความ

ผู้ถูกคุมตัวรายหนึ่งซึ่งแสดงความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ผ่านโซเชียลมีเดีย เล่าว่าเจ้าหน้าที่นำเอาภาพแคปเจอร์หน้าจอโทรศัพท์หลายสิบแผ่น มาให้ยืนยันว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความเหล่านั้นจริง จากนั้นให้เซ็นรับรองภาพเหล่านั้น และบางกรณีตำรวจจะขอดูข้อมูลย้อนหลังและให้ลบข้อมูลที่ตำรวจประเมินว่าควรลบออกไป ผู้ถูกคุมตัวหลายคนไม่ทราบข้อกฎหมายว่าตนเองไม่จำเป็นต้องเซ็นเอกสารใดใดทั้งสิ้นประกอบกับรู้สึกเหนื่อยล้าจากการถูกกดดันจึงยอมเซ็นรับรองเอกสาร

Note: โดยธรรมชาติแล้ว ก่อนทุกคนจะตัดสินใจโพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่  มักผ่านการหาข้อมูลมาก่อนแล้วว่าข้อความที่ตนโพสต์น่าจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ด้วยกระบวนการต่างๆ ทำให้ผู้ถูกคุมตัว เริ่มไม่แน่ใจว่าสิ่งที่โพสต์ถูกหรือผิดกฎหมายกันแน่ ทั้งนี้บ่อยครั้งข้อความที่ถูกหยิบยกมาข่มขู่นั้นเป็นเพียงข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” ในสายตาของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการ “มีความผิดทางกฎหมายอาญา” ซึ่งมีหลักการการตีความเคร่งครัด

Step ที่ 6 ชุดคำถามที่คาดไว้เลยว่าจะได้พบ

คำถามที่ผู้ถูกคุมตัวทั้ง 3 คนได้พบ เป็นชุดคำถามที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น รู้สึกอย่างไรกับสถาบันกษัตริย์, เราเลือกพรรคอะไรในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เลือกพรรคนั้นเพราะอะไร,  “อย่าทำลายอนาคตตัวเอง” “คิดถึงอนาคตมากๆ” หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่พยายามพูดให้เยาวชน “สำนึกผิด” ในสิ่งที่ทำลงไป ในบางกรณีมีการกล่าวถึงพ่อแม่ โดยบอกว่าหากยังไม่ยุติพฤติกรรม “พ่อแม่อาจถูกดำเนินคดีไปด้วย” ที่สำคัญคือการพูดให้ผู้ถูกคุมตัวยอมรับว่าทุกสิ่งที่ได้แสดงความคิดเห็นหรือโพสต์เป็นความผิด หากเปิดเผยข้อมูลและให้ความร่วมมือ จะไม่มีคดีความติดตัว

Note:  ในทางหลักการ คำตอบที่ได้มาจากคำถามในขั้นตอนนอกกฎหมาย หรือในช่วงที่กระบวนการสืบสวนสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญายังไม่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเช่นนี้ จะไม่สามารถนำมาใช้ดำเนินคดีในภายหลังได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเป็นไปได้ 

Step ที่ 7 ถูกบังคับให้เซ็น MOU

ในบางกรณีผู้ถูกคุมตัวถูกบังคับให้เซ็น “เอกสารข้อตกลงยินยอม” (MOU) โดยจะระบุว่า ได้กระทำการเผยแพร่ข้อมูล ข้อความใดบ้างซึ่งไม่เหมาะสม และเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่กระทำไม่ถูกต้อง และขอสัญญาว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก พร้อมลงลายมือชื่อ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการให้ “เอกสารข้อตกลง” ดังกล่าว กลับมากับผู้ลงนาม อีกทั้งยังไม่ยินยอมให้บันทึกภาพเอาไว้ด้วย

Note: การเซ็นเอกสารใดๆ โดยปราศจากผู้ไว้วางใจหรือทนายความไม่ได้เป็นการการันตีว่าผู้เซ็นจะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย และผู้ถูกหว่านล้อมให้เซ็นมีสิทธิเต็มที่ที่จะไม่เซ็นเอกสารนี้ ศูนย์ทนายความฯ พบว่าบันทึกข้อตกลงในบางกรณีเป็นบันทึกที่ลงชื่อโดยผู้ถูกควบคุมตัวเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวร่วมลงชื่อร่วมด้วย หรือแม้จะมีเจ้าหน้าที่ร่วมลงชื่อ บันทึกข้อตกลงยินยอมนั้นก็ไม่มีสถานะทางกฎหมาย และไม่ควรลงชื่อทั้งที่ไม่ยินยอมหรือสมัครใจ หรือหากเซ็นไปแล้วควรขอสำเนาบันทึกข้อตกลงไว้เป็นเอกสารด้วย 

อ่าน: “ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง” 

แถมท้าย: ทิศทางการ “คุมตัวไปคุย” ที่เปลี่ยนไป

แม้คนรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน จะได้รับประสบการณ์ที่รุนแรงจากการถูกคุมตัวไปซักถามพูดคุยและต้องเซ็น MOU กับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีใครกล่าวว่ากระบวนการเหล่านี้เปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขาได้ พวกเขายอมรับว่าหวาดกลัวแต่ไม่คิดว่าจะเลิกแสดงความคิดเห็นของตน โดยในขณะถูกควบคุมตัว 2 ใน 3 คน ถกเถียงกับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา

ข้อมูลจากกรณีศึกษาทั้ง 3 คน ที่เคยถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์ถึงสถาบันกษัตริย์ข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปลาย พ.ศ. 2562- ต้นปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ยังมีรูปแบบปฏิบัติการที่ต่างออกไปบ้างจากกรณีของทั้ง 3 คน โดยพบว่ามีกรณีผู้ถูกคุกคามที่เป็นเจ้าหน้าที่ของท้องที่แต่ละจังหวัดเองมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงลักษณะของหน่วยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเท่านั้น และการบังคับพูดคุย ยังเกิดขึ้นภายในบ้านของผู้ถูกติดตามคุกคามเอง บางกรณีไม่ได้มีการพาตัวไปที่สถานีตำรวจอีก แต่บางกรณีก็ยังถูกพาไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในท้องที่ ศูนย์ทนายฯ ยังคงติดตามสถานการณ์ของกระบวนการคุกคามเหล่านี้เพื่อประมวลนำเสนอในโอกาสต่อไป

 



 

 

 

 

 

X