6 ปี เส้นทางการต่อสู้คดี ม.116 ของ ‘บก.ลายจุด’ ก่อนฟังคำพิพากษา 30 ก.ค.นี้

“ผมถูกจับแล้ว”

ในกลางดึกของวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ในหน้าเฟซบุ๊กของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด”ปรากฏการโพสต์สถานะว่า “ผมถูกจับแล้ว” เวลานั้นเขาพักอาศัยอยู่ในบ้านของเพื่อนที่จังหวัดชลบุรี ตำรวจและทหารกว่าสิบนายนำกองกำลังบุกเข้าไปตรวจค้นบ้าน จนมาเจอเขาอยู่ในห้องนอน และนั่น เป็นสถานะเฟซบุ๊กสุดท้าย ก่อนเขาถูกจับกุมตัว และติดตามมาด้วยการถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศกฏอัยการศึกทั่วประเทศ และประกาศเรียกบุคคลไปรายงานตัว

สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกเรียกตัวให้เข้าไปพบกับคณะรัฐประหาร แต่เขาปฏิเสธการเข้ารายงานตัว เนื่องด้วยไม่เห็นว่ากลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่า คสช. นี้ อาศัยอำนาจใดในการเรียกตัวประชาชนไปรายงานตัว ประชาชนมีสิทธิจะปฏิเสธอำนาจอันไม่ชอบธรรมนี้ และเขายังยืนยันคัดค้านการรัฐประหาร ที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหยียดหยามเสียงประชน ตั้งแต่รัฐประหารปี 2534 เขาไม่เห็นด้วย รัฐประหารปี 2549 เขาก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และปี 2557 ก็เช่นกัน

ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังรัฐประหารล่าสุด ในขณะที่หลายคนยังมึนงง สมบัติเป็นคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐประหาร ผ่านทางโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 4 มิ.ย. 57 ก่อนเขาจะถูกจับกุมตัวในวันที่ 5 มิ.ย.

หลังถูกจับกุม สมบัติถูกพาไปสอบสวนที่ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ก่อนถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองปราบปราม เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 57 ในฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 จากการกระทำที่สรุปง่ายๆ แต่ชวนให้งุนงงว่า เขาโพสต์ชักชวนประชาชนไป “ชูสามนิ้ว เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร” 

สมบัติต้องถูกฝากขังในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัวอยู่เกือบ 1 เดือน กระทั่งศาลทหารให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 6 แสนบาท เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557

 

29 กรกฎาคม 2557 อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปรากฏเนื้อหาในคำฟ้องดังนี้

จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

เมื่อระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2557… อันเป็นวันเวลาที่อยู่ในระหว่างการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร… จำเลยบังอาจพิมพ์แล้วส่งข้อความเป็นหนังสือภาษาไทยลงในเว็บไซต์ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กหลายครั้ง ปลุกปั่นยุยงประชาชนให้ออกมาคัดค้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้

 30 พ.ค. 57

“มีรุ่นใหญ่บอกผมว่า เราล้ม คสช. ไม่ได้ ผมยังไม่อยากฟันธง หยุดจากอาทิตย์นี้ผมจะเสนอกิจกรรม “ล้ม คสช.”

“ประยุทธ์ตอนออกทีวี พูดคำว่าสวัสดีแต่ไม่ยกมือไหว้ประชาชน แถมยักคิ้วด้วย สุดยอดจริงๆ”

“เวลา พลเอกประยุทธ์พูดว่าเราจะต้องให้สังคมอยู่ภายใต้กฎหมายนั้น ผมสงสัยว่าท่านข้ามตัวเองหรือเปล่า?”

“ต้านรัฐประหารเป็นผู้ร้าย ทำรัฐประหารเป็นคนดี เหนื่อยนะ”

 31 พ.ค. 57

“การชุมนุมต้าน รปห. พรุ่งนี้ ไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีแกนนำ เป็นแบบตลาดนัด คนใส่หน้ากากเตรียมป้ายมาปล่อยของกัน ปาร์ตี้หน้ากาก”

“การชุมนุมต้าน รปห. ไม่สามารถล้มล้าง คสช. ได้ แต่มันเป็นการประกาศจุดยืนว่าคนไทยกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหาร”

“การดำเนินโครงการใดๆ รบ.เผด็จการทหาร จะไม่มีคำว่าผิด รธน. และผิดระเบียบ กฎหมายไม่ใช่เพราะทำถูกต้อง แต่เพราะเผด็จการทำอะไรถูก” 

 3 มิ.ย. 57

“ถ้าคุณห้าม แต่ประชาชนหยุด คุณชนะ ถ้าคุณห้าม แต่ประชาชนต้าน คุณแพ้”

 4 มิ.ย. 57

“อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารที่ต่อสู้จนได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศส เมื่อ 70 ปีก่อน วันนี้คุณทหารกำลังฉลองชัยชนะเหนือคนในชาติใดบนโลกนี้หรือครับ ถึงต้องมาฉลองกันกลางบ้านกลางเมืองแบบนี้อีก คุณคิดว่าชนะคนไทยแล้วเหรอ?”

“ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสรีภาพ แต่บอกว่ามีความสุข กรวยเถอะครับ”

“ทหารไทยกำลังใช้โมเดลเดียวกับที่ทำไม่สำเร็จในภาคใต้ มาใช้กับคนไทยทั่วประเทศ ล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีก งานการเมืองไม่เหมาะกับทหาร ผมยืนยัน”

“สังหรณ์ใจว่าร่าง รธน.ของ คสช. อาจมีเนื้อหาว่า สส. (ผู้แทนราษฎร) ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา (ลากตั้ง) แบบ รธน.พม่า”

“นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิ.ย. เที่ยงตรง เห็นชอบกดไลค์ ไปร่วมกดแชร์”

การพิมพ์แล้วส่งข้อความของจำเลยตามลำดับที่กล่าวมาเป็นการกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยตัวหนังสือ โดยการนำข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ต่อต้านการควบคุมอำนาจปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการยุยงปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นัดหมายให้ประชาชนทั่วไปออกมาร่วมกับจำเลย ต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. และท้าทายให้เจ้าพนักงานทำการจับกุมจำเลย เป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ให้ประชาชนทั่วไปเห็นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. อันเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

 

แนวทางการต่อสู้คดี: จำเลยไม่ได้กระทำผิด เป็นการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐานโดยสุจริต และไม่ได้ใช้ความรุนแรง 

หลังตกเป็นจำเลย สมบัติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีแนวทางและประเด็นในการต่อสู้ที่สำคัญ คือ

  1. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ซึ่งกำหนดให้การพิจารณาคดีในข้อหาความผิดที่ระบุในประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ต้องอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม การที่นำจำเลยซึ่งเป็นพลเรือนมาดำเนินคดีในศาลทหารขัดกับหลักนิติธรรม
  2. การต่อต้านรัฐประหารเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เนื่องจากการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เรื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดที่มาของฝ่ายบริหารชัดเจนว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการกระทำใดๆ ของ คสช. จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการล้มล้างการปกครองของประเทศ และรัฐธรรมนูญ

จำเลยได้ทำการคัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารโดยสันติวิธี และด้วยเจตจำนงอันบริสุทธิ์ในอันที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิและเสรีภาพอันมีอยู่ด้วย และถูกคณะรัฐประหารปล้นไปจากจำเลย 

 

เวลาในศาลทหารไหลช้า กว่า 5 ปี รวม 25 นัด: สืบพยานโจทก์ 11 ปาก 3 ปี พยานจำเลย 2 ปาก 1 ปี

คดีของสมบัติดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากรูปแบบการนัดพิจารณาคดีที่ไม่ต่อเนื่องในศาลทหาร กล่าวคือศาลทหารมีระยะเวลาทำการเพียงครึ่งวัน (8.30-12.00 น.) โดยมากสืบพยานได้เพียงหนึ่งปากต่อหนึ่งนัด พยานบางปากยังใช้เวลากว่า 3-4 นัด ทั้งยังมีกรณีถึงวันนัดพยานฝ่ายโจทก์ไม่ปรากฏตัว อ้างติดราชการ จึงเกิดการเลื่อนนัดครั้งแล้วครั้งเล่า และนัดไม่ต่อเนื่อง บางครั้งระยะห่างระหว่างนัดยาวนานถึง 3 เดือน 

การพิจารณาคดีในศาลทหารเป็นเวลา 4 ปี ในคดีสมบัติ สืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นจำนวน 11 ปาก ใช้เวลาทั้งสิ้นไป 3 ปี นับจากนัดสืบพยานปากแรกวันที่ 10 มี.ค. 58 จนถึงสืบพยานโจทก์ปากที่ 11 ซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้าย วันที่ 5 ก.พ. 61 

ขณะที่สืบพยานจำเลยไม่เสร็จสิ้จ คือสืบได้จำนวน 2 ปาก เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 61 และ 6 มิ.ย. 61  รวมนัดพิจารณาในศาลทหารทั้งสิ้น 25 นัด ทำให้สมบัติต้องเข้าออกศาลทหารเป็นว่าเล่น

ต่อมาได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ให้โอนย้ายคดีของพลเรือนที่พิจารณาในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 ทำให้กระบวนการในคดีหยุดชะงักไป ก่อนคดีสมบัติจะถูกโอนย้ายมายังศาลอาญา ซึ่งได้นัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 63 และนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 ก.ค. 63

 

ประมวลปากคำพยาน

รายงานชิ้นนี้ประมวลปากคำพยานที่ขึ้นเบิกความในคดีนี้ทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน ระยะเวลาอันยาวนานที่ไหลผ่านได้ปรากฎสิ่งใดเป็นที่ประจักษ์บ้าง ในส่วนของบก.ลายจุด, จำเลยผู้มีภาระทางคดีอยู่กว่า 6 ปี เขากล่าวติดตลกปนขำขื่น ว่าคดีนี้จะแสดงให้เห็นถึงความจืดชืด และความกระอักกระอ่วนของฝ่ายโจทก์ ที่จำเลยตั้งข้อสังเกตว่า “กลายเป็นว่าฝ่ายจำเลยซักฟอกฝ่ายโจทก์แทน” 

ทว่าแม้มันจะจืดชืดเพียงไร แต่ก็เป็นเรื่องราว เป็นบทบันทึก และเป็นหลักฐาน ในคดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ ต้องการจะยืนยันเจตจำนงแห่งการต่อต้านรัฐประหารโดยสันติ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนรุ่นหลังต่อไป 

คดีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ที่ใช้กระบวนการทางคดี “หน่วงขา” สร้างภาระ และหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือจัดการประชาชนผู้เห็นต่างอีกมากมาย ภายใต้ยุค คสช. และยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ผู้กล่าวหาอ้างข้อความจำเลยไม่สุจริต แต่ไม่มีใครยืนยันเนื้อหาโพสต์เป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงหรือไม่

พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข อดีตรองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามกของ ปอท. และเป็นผู้กล่าวหาที่ 1 ในคดีนี้ เบิกความในศาลทหาร ว่าเหตุในคดีนี้อยู่ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก ข้อความในโพสต์ต่างๆ ของจำเลยไม่สุจริต เป็นการต่อต้านรัฐประหาร และอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 

แต่เมื่อทนายถามค้านว่าข้อความของจำเลยหยาบคายหรือยุยงให้ผู้อ่านก่อความรุนแรงหรือไม่ พยานตอบว่าข้อความจำเลยไม่หยาบคาย ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง “บางข้อความเป็นข้อความธรรมดา แต่ถ้าดูข้อความรวมๆ กันแล้วอาจเป็นการยั่วยุปลุกปั่น”  ขณะที่ทนายถามค้านอีกว่าพยานเห็นด้วยกับการปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ พยานไม่ตอบ

อ่านคำเบิกความของ พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข ได้ที่ >> ศาลนัดสืบพ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุขอดีต อดีตรองผบ. ปอท. หัวหน้าชุดจับกุม บก.ลายจุด

ส่วนพยานปากที่สอง ร.อ.เมธาสิทธิ์ พิมพ์อภิฤติยา นายทหารการยิงสนับสนุน ผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ 12 เป็นผู้กล่าวหาที่ 2 กล่าวถึงเหตุที่ตนมาแจ้งความคดีนี้ เพราะเห็นว่าจำเลยต่อต้านรัฐประหารโดยไม่มีเหตุผล ถ้ามีเหตุผลก็จะไม่มาแจ้ง 

พยานปากนี้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า “ตนศรัทธาในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ฝักใฝ่การปกครองแบบเผด็จการ การปกครองทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ในบางสถานการณ์จำเป็นต้องใช้ระบอบเผด็จการ และในสถานการณ์ปัจจุบัน ตนเห็นว่า ตนศรัทธาในระบอบเผด็จการ” ทั้งยังย้ำว่า ถ้าการปกครองระบอบประชาธิปไตยสามารถทำให้ประเทศชาติอยู่ได้อย่างสงบสุข ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ขึ้น

ทนายให้จำเลยอ่านข้อความ “ต้านรัฐประหาร เป็นผู้ร้าย..” พยานเบิกความว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่แน่ใจว่าผู้โพสต์มีเจตนาอย่างไร และไม่แน่ใจว่าถึงขนาดยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงหรือไม่

ส่วนข้อความ “ประกาศจุดยืน คนไทยกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ..” พยานไม่แน่ใจว่าข้อความนี้เป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ แต่เมื่อฟังแล้วก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องการออกไปก่อความรุนแรง

พยานทั้งสองปากนี้ ยังเบิกความตรงกันว่าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ติตตามพฤติกรรมของจำเลย เนื่องจากจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองชื่อว่า “แกนนอนวันอาทิตย์”  และจากการติดตามพบว่า จำเลยโพสต์ข้อความยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศ คสช. ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. 57 – 4 มิ.ย. 57 ซึ่งอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก

ในขณะที่พยาน 2 ปากถัดมา ได้แก่ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ผู้ตรวจพิสูจน์ทางอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น และ ร.ต.ท.นเรศ ปลื้มญาติ ผู้ตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลาง ล้วนเบิกความในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เบิกความถึงขั้นตอนการตรวจหลักฐานในกระบวนการคอมพิวเตอร์ และระบุว่าจากการตรวจสอบพิสูจน์ไม่ได้พบข้อความตามฟ้องทั้งหมด พบเพียงข้อความชูสามนิ้วเพียงข้อความเดียว

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ ยังตอบคำถามค้านเรื่องการชักชวนไปชู 3 นิ้ว อีกว่าไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือความรุนแรงหรือไม่ ขณะเดียวกันการปฏิญาณตนของลูกเสือ หรือเรื่องอื่นก็มีการใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วเช่นกัน ส่วนการใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วของประชาชนจะสื่อความหมายอื่นๆ หรือไม่ พยานไม่ทราบ

อ่านคำเบิกความของ  พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ได้ที่ >> ตรวจพบแค่ข้อความชวนชู 3 นิ้ว สืบพยานโจทก์คดี บก.ลายจุดโพสต์ต้านรัฐประหาร

อ่านคำเบิกความของ ร.ต.ท.นเรศ ปลื้มญาติ ได้ที่ >> ตำรวจปอท.ขึ้นเบิกความคดีม.116 ของ บก.ลายจุด พบข้อความชวนชูสามนิ้วแค่ข้อความเดียว

นอกจากนี้ ยังมีพยานที่เป็นผู้รายงานผลการตรวจสอบจราจรทางคอมพิวเตอร์อีก 2 ปาก ได้แก่ ผู้จัดการส่วนกฎหมาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด และพนักงานบริษัท ทริปเปิล ทรี อินเตอร์เน็ต

ซึ่งเบิกความถึงวิธีการตรวจสอบหมายเลข IP address ซึ่ง ปอท. ส่งมาให้บริษัทตรวจสอบ เนื่องจากทางบริษัทมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมายกำหนด และสามารถเปิดเผยให้กับหน่วยงานรัฐได้ถ้ามีการร้องขอ ส่วนเรื่องที่ว่าเจ้าหน้าที่ได้หมายเลข IP address มาได้อย่างไรนั้น พยานทั้งสองไม่ทราบ

อ่านคำเบิกความได้ที่ >> ฝ่ายกฎหมาย AIS เบิกความผลตรวจเลข IPในคดีหนูหริ่งโพสต์ชวนชูสามนิ้ว   

> ศาลทหารสืบพยานพนักงาน 3BBคดี ‘หนูหริ่ง’ โพสต์ชวนชูสามนิ้ว

 

คณะพนักงานสอบสวนลงความเห็นข้อความของจำเลย ปลุกระดมให้บ้านเมืองวุ่นวาย คสช. ไม่ต้องการให้ออกมาแสดงความคิดเห็น

ร.ต.อ.เกรียงไกร ทองไพร และพ.ต.อ.วศิน จินตเสถียร์ ตำรวจชุดสอบสวนในคดีนี้ ทั้งสองคนเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมกัน เบิกความในเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน เล่าถึงในเชิงกระบวนการสืบสวน การขอออกหมายจับ และจัดทำสำนวนคดีเพื่อส่งให้อัยการทหาร  

เนื้อความโดยสรุปคือทางตำรวจและทหารได้มีการสอบสวนทางเทคนิคจนทราบที่ตั้งของสมบัติ จึงนำชุดสืบสวน ทหาร และตำรวจ เข้าตรวจค้นบ้าน โดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคลในบ้าน และยึดอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร พร้อมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของสมบัติ 

หลังจากสมบัติถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก นำตัวไปคุมขังไว้ พยานได้รายงานผู้บังคับบัญชา และนำหลักฐานกลับมาที่ ปอท. หลังจากนั้น ปอท. ก็ได้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน และทำเรื่องยื่นขอศาลทหารกรุงเทพฯ ในการออกหมายจับ และจับกุมตัวสมบัติได้ในวันที่ 12 มิ.ย. 2557 ที่กรมสวัสดิการทหาร กล่าวคือขอออกหมายจับ ในขณะสมบัติถูกคุมตัวในค่ายทหารนั่นเอง

พ.ต.อ.วศิน จินตเสถียร์ เบิกความว่าคณะกรรมการสอบสวนในคดีนี้ มีความเห็นว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. ที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ข้อความของจำเลยมีลักษณะปลุกระดม และเรียกร้องให้ต่อต้าน คสช. ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านเดินขบวน เกิดความวุ่นวาย และในขณะนั้น คสช. ไม่ต้องการให้กลุ่มใดๆ ออกมาแสดงความคิดเห็น จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องสมบัติตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

แต่เมื่อทนายความถามค้านในส่วนของข้อเท็จจริง และลงรายละเอียดเนื้อความ พยานทั้งสองมักไม่ขอตอบ หรือตอบว่าจำไม่ได้ เช่นว่าเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการประกาศยึดอำนาจของ คสช. ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 จึงเป็นการล้มการปกครอง จำเลยจึงทำหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ พยานไม่ตอบโดยให้เหตุผลว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี 

หรือเมื่อทนายจำเลยถาม ร.ต.อ. เกรียงไกร ถึงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว พยานไม่ทราบความหมายของสัญลักษณ์ 3 นิ้ว และเมื่อทนายทำสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วให้พยานดู และถามความรู้สึกพยานว่ารู้สึกอย่างไร พยานตอบว่าไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าคนออกมาชูสามนิ้วเยอะๆ อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายก็ได้ 

ทางด้าน พ.ต.อ.วศิน มองว่าข้อความ “นัดชูสามนิ้ว…” เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต แต่ถ้าออกไปชุมนุมเกิน 5 คน ก็จะมีความผิดตามประกาศของ คสช. นอกจากนี้ พ.ต.อ.วศิน ยังเบิกความอีกว่าในการสอบปากคำพยานในชั้นสอบสวน มีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ไม่มีการสอบถามประชาชนทั่วไปว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อความที่จำเลยโพสต์แต่อย่างใด

อ่านคำเบิกความของ ร.ต.อ.เกรียงไกร ทองไพร ได้ที่ >> ศาลทหารสืบพยานพนักงานสอบสวน “คดีหนูหริ่ง” โพสต์ชวนชู 3 นิ้ว 


บก.ลายจุด ยอมรับข้อความตามฟ้องเป็นของตนจริง เหตุที่โพสต์เพราะต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ คสช.

สำหรับการสืบพยานจำเลยปากแรก จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน สมบัติขึ้นเบิกความเล่าถึงประวัติการทำงานเพื่อสังคมของตน

สมบัติเบิกความว่าตนเชื่อมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตย และจะออกมาคัดค้านหากเกิดเหตุการณ์ที่มีคนออกมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2534 โดยในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 ตนก็ยังเข้าร่วมการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และเคยออกมาต้านการรัฐประหารเมื่อปี 2549

สมบัติยืนยันต่อหน้าศาลทหาร ว่าตนเชื่อมั่นในการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่าเป็นการปกครองที่เคารพสิทธิมนุษยชนและอธิปไตยของประชาชน หลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกยังถูกระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเสมอมา ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ยังมีมาตราที่ให้ประชาชนออกมาต่อต้านการยึดอำนาจปกครองที่ไม่ได้มาด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยด้วยสันติวิธีได้ และยังบัญญัติไว้ด้วยว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนอีกด้วย

สมบัติยังเห็นว่าการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจนั้นไม่ถูกต้อง ผิดทั้งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 การทำรัฐประหารนับเป็นการกบฏล้มล้างการปกครอง และในเมื่อตนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารจึงไม่ยอมรับคำสั่งเรียกไปรายงานตัวของ คสช. และได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ว่าการทำรัฐประหารของ คสช. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

สมบัติยอมรับว่าข้อความบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ถูกนำมาฟ้องในคดีนี้เป็นของตนจริง เหตุที่โพสต์เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าตนและประชาชนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ คสช. และยังเป็นการแสดงออกที่สุจริต ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

สมบัติเห็นว่าถ้อยคำของตนที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ไม่ได้เป็นการยั่วยุทำให้เกิดความวุ่นวายและยังเป็นการแสดงออกตามปกติในสื่อสังคมออนไลน์ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็ได้รับรองการแสดงออกแบบนี้เอาไว้ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อีกทั้งยังมีอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 ที่ระบุว่าทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกอีกด้วย

สมบัติเบิกความอีกว่าสำหรับตน สิทธิเสรีภาพเป็นสิทธิที่มีมาแต่เกิด ติดตัวกับมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติ ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นตนจึงได้ให้การปฏิเสธตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นการแสดงออกโดยสุจริตไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

เขาอธิบายความหมายของการชูสามนิ้ว ว่าคือสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งมาจากบทภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ข้อความชักชวนดังกล่าวก็ไม่มีผลทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ไม่เป็นเรื่องที่ก่อความวุ่นวาย แต่เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คสช. 

อ่านคำเบิกความทั้งหมดของสมบัติได้ที่ >> เปิดคำเบิกความ สมบัติ คดีโพสต์ชวนชู 3 นิ้ว ผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116

 

‘หมอนิรันดร์’ อดีต กสม. เบิกความโพสต์ชวนชูสามนิ้วเป็นเสรีภาพการแสดงออก

พยานจำเลยปากที่ 2 คือ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ขึ้นเบิกความถึงการตรวจสอบกรณีของนายสมบัติว่า ทาง กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยที่ถูกควบคุมตัว เพราะฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และยังได้รับเรื่องร้องเรียนลักษณะดังกล่าวอีก จึงได้เข้าตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าว เป็นไปตามกรอบสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบจะเชิญทั้งฝ่ายจำเลย และเจ้าหน้าที่ คสช. เข้ามาให้ข้อมูลด้วย โดยเป็นไปในลักษณะการไต่สวนสาธารณะ นอกจากนั้นยังเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวทั้งในค่ายทหารและเรือนจำอีกด้วย

ทาง กสม. ยังพิจารณาว่าการแสดงออกต่างๆ นั้นเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีการใช้อาวุธหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงก็จะมีการตรวจสอบด้วยว่าเกิดการซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายหรือไม่ โดยการตรวจสอบนี้ไม่ใช่เป็นการจับผิดเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เพื่อที่รัฐจะได้ดำเนินการได้อย่างสง่าผ่าเผย ยังมีการใช้กระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะเกิดกรณีที่มีการใช้อาวุธเกิดขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกรณีของจำเลยในคดีนี้ นายแพทย์นิรันดร์เห็นว่าการแสดงออกของสมบัติเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบสันติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และปราศจากอาวุธ 

อ่านคำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้ได้ที่ >> หมอนิรันดร์’ เบิกความคดี ‘หนูหริ่ง’ 116 ยืนยันโพสต์ชวนชูสามนิ้วเป็นเสรีภาพการแสดงออก

 

ชำนาญ จันทร์เรือง

ชำนาญ จันทร์เรือง’ พยานผู้เชี่ยวชาญชี้สมบัติแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และ ICCPR

การนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายในคดีนี้ย้ายมาสืบพยานที่ศาลพลเรือน เมื่อได้โอนย้ายมาจากศาลทหารแล้ว โดยศาลอาญานัดสืบเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา พยานปากสุดท้ายคือ นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชำนาญเริ่มต้นเบิกความว่าการรัฐประหารนั้นเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสิ้นสุดลง และมีการพิสูจน์แล้วว่ารัฐประหารไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ 

แม้มีรัฐประหาร แต่สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยก็ยังคงอยู่ ในประกาศ คสช. ช่วงท้ายได้เขียนไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศยังมีอยู่เช่นเดิม ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทำให้ประชาชนยังมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ทั้งประชาชนยังมีสิทธิต่อต้านคัดค้านการได้อำนาจการปกครองที่ไม่เป็นธรรมได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 65 และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 69

ตามที่จำเลยในคดีนี้ได้โพสต์ข้อความ ชำนาญอ่านข้อความตามฟ้องทั้งหมดแล้ว เห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามปกติทั่วไป ไม่ได้เป็นความเท็จ และช่วงนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญออกมารับรองยกเว้นการกระทำความผิดของ คสช.

อ่านคำเบิกความโดยสรุปทั้งหมดของพยานจำเลยปากนี้ได้ที่ >> สืบพยานเสร็จสิ้น คดี “บก.ลายจุด” โพสต์ชวนชูสามนิ้ว ศาลนัดพิพากษา 30 ก.ค. นี้

 

แถลงการณ์ปิดคดี “หากการใช้เสรีภาพโดยสุจริตไม่เพื่อคัดค้านการรัฐประหารไม่สามารถกระทำได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ทหารใช้อำนาจเข้ายึดอำนาจการปกครองอยู่ร่ำไป”

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานตั้งแต่ศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม ที่ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 6 ปี ก่อนที่ศาลอาญาจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น. นี้ ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นหนังสือเพื่อสรุปข้อต่อสู้คดี ประเด็นสำคัญได้แก่ 

การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากการรัฐประหารและเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งการแสดงความคิดเห็นของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่ง พ.ศ. 2550 ซึ่งบังคับใช้อยู่

จำเลยยอมรับว่าได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตนจริง ข้อความที่จำเลยโพสต์ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. เป็นการกระทำตามหน้าที่ของประชาชนในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นการแสดงออกโดยสุจริต 

ทั้งการกระทำของจำเลยตามฟ้องก็เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ พ.ศ. 2557 แต่อย่างใด จำเลยจึงเชื่อว่าตนมีสิทธิในการคัดค้านการยึดอำนาจได้ อีกทั้งประเทศไทยยังเข้าร่วมเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) จึงมีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นบรรดาสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงยังคงได้รับการคุ้มครองอยู่ แม้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น

คดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาโดยกระบวนการของทหารมาตั้งแต่ต้น จำเลยถูกจับและควบคุมตัวโดยทหาร อีกทั้งข้อกล่าวหาก็เป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองที่มุ่งหวังผลทางการเมือง เพื่อให้กฎหมายจำกัดการแสดงออกโดยสุจริตของจำเลยเท่านั้น โดยเฉพาะหากพิจารณาจากคำฟ้อง ถ้าการกระทำที่แสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตเพื่อคัดค้านการรัฐประหารไม่สามารถกระทำได้แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ทหารใช้อำนาจเข้ายึดอำนาจการปกครองอยู่ร่ำไป โดยปราศจากเสียงท้วงติงของประชาชน.

 

X